ความขัดแย้ง (Conflict) กรณีตัวอย่างที่ 1


เมื่อเรื่องกำลังจะลงเอยด้วยดี ควาญ(คนกลางทุกคน)ก็จะนัดหมายให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายมาพร้อมกันที่จุดศูนย์กลาง และทำตามข้อตกลงให้แล้วเสร็จ ไม่ติดค้างกันอีก หากคราวหลังมีปัญหากันอีกในเรื่องเดิม ต่อไปจะถือว่าขัดแย้งกับคนกลางเสียเองแล้ว หากไม่รุนแรงอะไรมาก สังคมก็จะไม่คบค้าสมาคมด้วย นี่เป็นบทลงโทษที่คนในชุมชนจะกลัวครับ

     ช่วงเช้าได้คุยกับคุณ Mr_Jod แห่ง Blog สรุปบทเรียนที่ได้จากการศึกษาในห้องเรียนTU ทาง MSN ซึ่งนาน ๆ ครั้ง ที่ผมจะใช้ นอกจากใครเข้ามาทักพร้อมทักเปิดประเด็นเลย อย่างวันนี้ได้ ซึ่งประเด็นคือ “ผมจะสอบถามเรื่อง conflict กับ negotiation ครับ" ผมสัญญากับน้องเขาไว้ว่าจะเขียนบันทึกเรื่องนี้เล่าให้(ฟัง)อ่านจากประสบการณ์ของผมเอง

     ความขัดแย้ง (Conflict) ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ (จว.พัทลุง) มีมาแต่ครั้งบุหราณ (โบราณ) เป็นเรื่องปกติที่มีมาถึงปัจจุบัน มักจะเกิดจากการเสียศักดิ์ศรี การลบหลู่กัน หรือที่เรียกว่าได้เชิงเสียเชิงกัน มากกว่าเรื่องอื่น ๆ ซึ่งก็มีเหมือนกันเช่นผลประโยชน์ หรือ ทัศนคติไม่ตรงกัน ยกตัวอย่างการรุกดม (ทำแนวรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินข้าง ๆ) เรื่องเสียที่ดินไปเพียงนิดหน่อย (ไม่ถึงศอก หรือ 50 ซม.) ไม่เท่าไหร่ แต่ที่หมายเอาชีวิตกัน เพราะเหมือนเสียศักดิ์ศรีที่เข้ากล้ารุกล้ำเข้ามา เตือนแล้วก็ไม่ฟัง แต่พอผู้เฒ่าผู้แก่ที่นับถือกันทั้ง 2 ฝ่าย มาไกล่เกลี่ย แล้วให้ขอโทษขอโพยกัน ก็กลับเป็นปกติ (เหตุการณ์กรณีพิพาทเรื่องการรุกล้ำแนวรั้ว เมื่อปี 2543 และผมร่วมเป็นคนกลางในการจัดเวทีพูดคุยกัน ที่สถานีอนามัยด้วย) ผู้เฒ่าผู้แก่คนที่นับถืออย่างนี้ เรียกว่า ควาญ ซึ่งผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้แล้วที่ คนมีควาญ

     ควาญ หากแปลตามความหมายของคนเลี้ยงช้าง ก็แสดงถึงพลังในการบังคับสัตว์ใหญ่ได้ ซึ่งเขาต้องรู้ในศิลปะการบังคับช้าง ด้วยหากเอาเรี่ยวแรงไปบังคับกันตรง ๆ ไม่สามารถทำได้ แต่ควาญช้างสามารถบังคับช้างได้ ก็ต้องรู้ดีว่าจะบังคับอย่างไร ส่วนควาญที่เป็นคนบังคับคน หรือ คนกลาง ซึ่งเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่คนนับถือ หรือเป็นคนที่สังคมยอมรับ (ไม่ต้องสูงอายุก็ได้) ที่สำคัญคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายให้การยอมรับ เป็นคนนักเลง (ไม่ใช่อันธพาล) ใจกว้าง มีคุณธรรม เป็นกลาง ประวัติดีหน่อย ไม่เคยเอาเปรียบใคร และไม่เป็นญาติฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าจะเป็นญาติก็ต้องเป็นญาติของทั้ง 2 ฝ่าย เท่า ๆ กัน การที่จะรับเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยให้ จึงไม่ใช่คน ๆ เดิมจะเป็นได้ทุกครั้ง ทุกกรณี เสมอไป

     การจะรับหรือปฏิเสธ การเป็นคนกลางให้คู่กรณี ก็จะมีเงื่อนไขว่า สามารถเป็นกลางให้ได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็จะเกิดคำว่า “เสียผู้ใหญ่” คนกลางที่ว่าจึงพิจารณาอย่างรอบคอบว่าตน หรือทีมของตน จะสามารถเป็นควาญได้ไหม เพราะหากเป็นไม่ได้ หรือเพียงไม่แน่ใจ เขาก็จะไม่รับ และไม่เข้าไปยุ่ง แต่ในข้อเท็จจริงของชุมชน ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าใครเป็นครวญใคร หรือจะให้ครวญคู่ใด มาจับคู่กันแล้วไปเป็นควาญของทั้งคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย

     การเริ่มต้นจัดเวทีในการไกล่เกลี่ย คือ คนกลาง หรือ ควาญทั้งหมดมานั่งพูดคุยกันก่อน เรียกว่ามาวางแผนกัน เอาข้อมูลที่รู้มาแลกเปลี่ยนกัน จากนั้นใช้วิธีไปสอบถามที่ละฝ่ายเพิ่มเติม (คนกลางไปเป็นทีม) หรือจะเรียกมาที่บ้านคนกลาง หรือจุดศูนย์กลาง เช่น ใต้ถุนบ้านพักของสถานีอนามัย ตามกรณีตัวอย่างนี้ ก็ได้ ส่วนใหญ่ก็จะถามกันตรง ๆ ว่าถ้าจะให้เลิกรา (ไม่ขัดแย้งกัน) จะให้ทำอย่างไร คนกลางจะต่อรอง จนมาพอดี ๆ กัน เช่นเขาขอให้กราบ ก็จะต่อรองเป็นยกมือไหว้ขอโทษ ไม่ต้องถึงกับกราบ อย่างนี้เป็นต้น หรือการชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับกันได้ อันนี้อาจจะใช้การพูดคุยหลายครั้ง ก็มีเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ 1-2 ครั้ง ก็รู้เรื่องแล้ว

     เมื่อเรื่องกำลังจะลงเอยด้วยดี ควาญ(คนกลางทุกคน) ก็จะนัดหมายให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายมาพร้อมกันที่จุดศูนย์กลาง และทำตามข้อตกลงให้แล้วเสร็จ ไม่ติดค้างกันอีก หากคราวหลังมีปัญหากันอีกในเรื่องเดิม ต่อไปจะถือว่าขัดแย้งกับคนกลางเสียเองแล้ว หากไม่รุนแรงอะไรมาก สังคมก็จะไม่คบค้าสมาคมด้วย นี่เป็นบทลงโทษที่คนในชุมชนจะกลัวครับ

     อยากให้น้อง Mr_Jod และเพื่อน ๆ ลองจับความรู้ แล้วบันทึกต่อท้ายไว้ดีไหมครับ จะได้ช่วยกัน discuss กันต่อ และเกิดเป็นแก่นความรู้ (Core Competence) จริง ๆ

     เรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยผมอยู่สถานีอนามัย จะเห็นว่าหมออนามัย เข้าไปยุ่งกับเขาทุกเรื่อง ถ้าเขายอมรับเรา ผมจึงนำเสนอบ่อย ๆ ว่าเวลาวัดประเมินคุณภาพบริการในบริบทของสถานีอนามัยนั้น ให้พยายามวัดถึงส่วนนี้ด้วยสำหรับการพัฒนาคุณภาพ ไม่ว่าจะใช้มาตรฐานอะไรก็แล้วแต่ อ่านต่อกรณีที่ 2

หมายเลขบันทึก: 8825เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2005 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท