สัญญายืมใช้คงรูป 3


สัญญายืมใช้คงรูป 3

สิทธิของผู้ให้ยืม               

๑.สิทธิในการบอกเลิกสัญญา   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตร ๖๔๕ บัญญัติว่า ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา ๖๔๓ นั้นก็ดีหรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา ๖๔๔ ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้[1]กล่าวคือเป็นกรณีที่ผู้ยืมไม่สงวนรักษาทรัพย์ที่ยืมในระดับวิญญูชนตามหน้าที่ของผู้ยืมที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๔๔ และกรณีที่ผู้ยืมไม่ใช้ทรัพย์ที่ยืมโดยชอบตามหน้าที่ของผู้ยืมที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๔๓ จึงก่อให้เกิดสิทธิในการบอกเลิกสัญญาแก่ผู้ให้ยืมตามมาตรา ๖๔๕ อันเป็นสิทธิในการบอกเลิกสัญญาตามที่กฎหมายกำหนด ตามนัยมาตรา ๓๘๖ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ทั้งนี้ในการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาของผู้ให้ยืมนี้ไม่จำต้องให้มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ทรัพย์ที่ยืมก่อนแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าผู้ยืมไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนดังระบุเอาไว้ในมาตรา ๖๔๓และ๖๔๔ ก็เป็นการเพียงพอที่ผู้ให้ยืมจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้แล้ว               

๒.สิทธิในการเรียกทรัพย์ที่ยืมคืน   โดยหลักแล้วสิทธิในการเรียกทรัพย์ที่ยืมคืนจะเกิดมีขึ้นต่อเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในการยืม หรือในกรณีไม่มีกำหนดระยะเวลา สิทธิในการเรียกคืนทรัพย์ที่ยืมจะเกิดต่อเมื่อผู้ยืมใช้สอยทรัพย์ที่ยืมเสร็จแล้ว หรือได้ล่วงเวลาไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์นั้นเสร็จแล้ว หรือผู้ยืมจะเรียกคืนเมื่อไรก็ได้ ถ้าเป็นกรณีมิได้กำหนดเวลาคืนไว้และในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปเพื่อการใด                ปัญหาที่น่าพิจารณาคือ หากในระหว่างระยะเวลายืมหรือระหว่างที่ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์ที่ยืมยังไม่เสร็จสิ้น ผู้ให้ยืมมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพย์ที่ให้ยืมไป อันเป็นเหตุจำเป็นที่ไม่อาจคาดหมายได้ ดังนี้ผู้ให้ยืมจะสามารถเรียกคืนทรัพย์ที่ให้ยืมได้หรือไม่?ในกรณีที่ทรัพย์ที่ยืมเกิดตกไปอยู่ในมือของบุคคลภายนอก ผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเอาทรัพย์นั้นคืนได้โดยตรงในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์               

๓.สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ราคาทรัพย์หรือชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่ทรัพย์ที่ยืมสูญหายหรือบุบสลายเพราะความผิดของผู้ยืม (มาตรา ๒๑๓, ๒๑๕, ๒๒๒)อย่างไรก็ตาม ผู้ให้ยืมไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าสึกหรอหรือการเสื่อมสภาพแห่งทรัพย์ที่ยืมอันเกิดขึ้นตามปกติจากการใช้ทรัพย์ที่ยืมนั้น               

.ถ้าผู้ให้ยืมเป็นเจ้าของทรัพย์สินผู้ให้ยืมมีสิทธิ์ที่จะได้ดอกผลอันเกิดแก่ทรัพย์สินที่ให้ยืมในระหว่างการยืมใช้ทรัพย์สินนั้น               

หน้าที่ของผู้ให้ยืมโดยหลักแล้วสัญญายืมใช้คงรูปเป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทนและไม่มีค่าตอบแทน จึงเป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้แก่ฝ่ายผู้ยืมแต่เพียงฝ่ายเดียว

ผู้ให้ยืมหาได้มีหนี้หรือหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อผู้ยืมแต่อย่างใด แต่ต้องบอกกล่าวให้ผู้ยืมทราบถึงการชำรุดบกพร่องหรือบุบสลายแห่งทรัพย์ที่ให้ยืม ต้องไม่ขัดขวางในการที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินตามสัญญา ต้องรับผลแห่งภัยพิบัติแห่งทรัพย์สินที่ให้ยืมเอง ไม่ว่าจะเป็นการต้องส่งมอบทรัพย์ที่ยืมในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้วหรือเหมาะแก่การใช้ให้แก่ผู้ยืม หรือต้องรับผิดในการชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์หรือการรอนสิทธิ แต่อย่างไรก็ตามอาจจะมีหนี้ของผู้ให้ยืมเกิดขึ้นได้ซึ่งไม่ใช่หนี้อันเกิดขึ้นโดยตรงจากสัญญายืมใช้คงรูป หากแต่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในภายหลังที่ทำให้ผู้ให้ยืมต้องมีความรับผิดชอบได้               

๑.หน้าที่ในการเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์ที่ยืมในกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ให้ยืมโดยตรง จึงเป็นการสมควรอยู่เองที่ผู้ให้ยืมจะต้องรับผิดชอบ               

๒.หน้าที่ในการรับผิดเพราะความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินที่ยืมกล่าวคือผู้ยืมอาจได้รับอันตรายหรือความเสียหายอันเป็นผลจากความชำรุดบกพร่องของทรัพย์ที่ยืมได้โดยเหตุนี้หากผู้ให้ยืมรู้ว่าทรัพย์ที่ยืมมีความชำรุดบกพร่องจะต้องได้มีการบอกกล่าวให้ผู้ยืมทราบเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นแก่ตัวผู้ยืมหากละเลยไม่บอกกล่าวผู้ให้ยืมต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้โดยอาศัยกฎหมายเรื่องละเมิด และในกรณีที่ทรัพย์ที่ยืมได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ดังนี้ย่อมมีปัญหาว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างผู้ยืมกับผู้ให้ยืม ซึ่งในกรณีนี้ผู้ยืมควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ที่ยืม ทั้งนี้ต้องพิจารณาโดยอาศัยหลักกฎหมายในเรื่องละเมิดเช่นกัน               

๓.หน้าที่ในการรับผิดเพื่อการรอนสิทธิ?กล่าวคือหากมีบุคคลภายนอกมากล่าวอ้างแก่ผู้ยืมว่าตนมีสิทธิในทรัพย์ที่ยืม ทรัพย์ที่ยืมมิใช่ของผู้ให้ยืม และเรียกให้ผู้ยืมส่งคืนให้แก่ตน อันเป็นกรณีที่มีการรอนสิทธิ ดังนี้ผู้ให้ยืมจำต้องรับผิดในการรอนสิทธินั้นหรือไม่ จากที่ได้พิจารณามาแล้วว่าสัญญายืมใช้คงรูปนี้เป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทนและไม่มีค่าตอบแทน ผู้ได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวตามสัญญาคือผู้ยืม ด้วยเหตุนี้ผู้ให้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิแต่อย่างใด                ปัญหาต่อมาคือ ในระหว่างกำหนดระยะเวลายืม ผู้ให้ยืมจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ยืมให้แก่บุคคลภายนอกได้หรือไม่ และผู้รับโอนกรรมสิทธิ์จะต้องรับโอนภาระหน้าที่ให้ผู้ยืมยืมทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดเวลายืมหรือไม่ สำหรับในเรื่องนี้เห็นได้ว่าผู้ให้ยืมสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ยืมได้ และผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ก็ไม่จำต้องรับภาระหน้าที่ตามสัญญายืมแต่อย่างใด ส่วนผู้ยืมที่ได้รับความเสียหาย ก็ไม่น่าที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากผู้ให้ยืมได้เพราะผู้ให้ยืมไม่มีความรับผิดในการรอนสิทธิตามที่ได้พิจารณามาแล้ว 

ความระงับแห่งสัญญายืมใช้คงรูป ความระงับแห่งสัญญายืมใช้คงรูปในกรณีปกติ               

. กำหนดระยะเวลายืมไว้สัญญาระงับเมื่อพ้นกำหนดที่ตกลงกันไว้
  .
เมื่อมีการเรียกให้คืนทรัพย์ที่ยืมตามมาตรา๖๔๖ถ้าไม่กำหนดเวลายืมไว้ มาตรา ๖๔๖ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว ตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้ เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้กำหนดเวลายืมไม่ได้ตกลงกันไว้แน่นอนแต่ตกลงยืมไปเพื่อการใดครบกำหนดเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยเพื่อการนั้นแล้ว กำหนดเวลายืมไม่ได้ตกลงกันไว้ แต่ตกลงยืมไปเพื่อการใด หากเวลาล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยเสร็จแล้วผู้ให้ยืมเรียกทรัพย์สินที่ให้ยืมนั้นคืนได้กำหนดเวลายืมไม่ได้ตกลงกันไว้และไม่ได้ตกลงยืมไปเพื่อการใดผู้ให้ยืมเรียกทรัพย์สินที่ยืมคืนเมื่อใดก็ได้
                ๓.เมื่อผู้ยืมได้คืนทรัพย์ที่ยืมให้แก่ผู้ให้ยืมผู้ยืมย่อมมีสิทธิใช้ทรัพย์ตามที่ปรากฏในสัญญา แต่หากปรากฏว่าผู้ยืมได้คืนทรัพย์ที่ยืมก่อนกำหนด ย่อมถือได้ว่าเป็นการเลิกสัญญา  

ความระงับแห่งสัญญายืมใช้คงรูปในกรณีพิเศษ               

๑.ความมรณะของผู้ยืม (มาตรา๖๔๘)ทั้งนี้เนื่องจากสัญญายืมใช้คงรูปเป็นเรื่องเฉพาะตัว การที่ผู้ให้ยืมยินยอมให้ผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์เป็นเรื่องที่ผู้ให้ยืมเห็นแก่ประโยชน์ของผู้ยืมเป็นการเฉพาะตัว ดังนี้หากผู้ยืมมรณะจึงไม่อาจให้ทายาทสืบสิทธิการใช้ทรัพย์ต่อไปได้  แต่กรณีที่ผู้ให้ยืมมรณะนั้นหามีผลทำให้สัญญายืมใช้คงรูประงับไปแต่อย่างใด ทายาทของผู้ให้ยืมมีความผูกพันตามสัญญาต่อไป ผู้ยืมยังคงมีสิทธิใช้ทรัพย์ที่ยืมต่อไปจนสิ้นสุดสัญญา                               

๒.เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาในกรณีที่ผู้ยืมฝ่าฝืนหน้าที่ตามมาตรา ๖๔๓, ๖๔๔ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิในการเลิกสัญญาแก่ผู้ให้ยืม และเมื่อผู้ให้ยืมได้บอกเลิกสัญญาตามสิทธิของตนแล้ว สัญญายืมใช้คงรูปย่อมระงับสิ้นไป                

๓.เมื่อทรัพย์ที่ยืมเกิดการสูญหายหรือสิ้นสภาพไปเมื่อวัตถุแห่งสัญญาไม่อยู่หรือไม่มีตัวตน สัญญาก็ย่อมระงับไป สิ่งที่ต้องพิจารณาตามมาก็คือใครจะต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือสิ้นสภาพไป 

อายุความแห่งสัญญายืมใช้คงรูป

มาตรา ๖๔๙ บัญญัติว่า "ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือน นับแต่วันสิ้นสัญญา"   การพิจารณาว่าจะใช้อายุความตามมาตรา ๖๔๘ ในกรณีใดบ้าง เช่น ผู้ยืมยืมรถยนต์จากผู้ให้ยืมแล้วทำผิดหน้าที่ตามมาตรา ๖๔๓ เช่น นำรถยนต์ไปขนดินจนรถเสียหาย ผู้ยืมคืนรถให้ผู้ให้ยืมในสภาพรถเสียหาย ผู้ให้ยืมจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ยืม ต้องฟ้องภายในอายุ ความตามมาตรา ๖๔๙ คือ ๖ เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญา
          แต่หากผู้ยืมนำรถไปขนดินจนรถเสียหายและไม่ยอมคืนรถให้แก่ผู้ให้ยืม ผู้ให้ยืมจึงฟ้องให้คืนรถ หากคืนไม่ได้ ให้ใช้ราคารถ ดังนี้ ตามแนวคำพิพากษาฎีกาถือว่าไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา ๖๔๙ จึงต้องใช้อายุความธรรมดา ตามมาตรา ๑๙๓ /๓๐คือ ๑๐ปี ดังนี้ จึงต้องแบ่งอายุความออกเป็น

                ๑.การบังคับเอาทรัพย์คืนตามสัญญา(อายุความธรรมดา๑๐ปี)
                กรณีทรัพย์ที่ยืมยังมีตัวอยู่ ไม่ได้สูญหายหรือถูกทำลายไป
   

(๑) ถ้าผู้ให้ยืมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ยืมใช้คงรูปนั้น ผู้ให้ยืมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้โดยอาศัยหลักอำนาจของเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามมาตรา ๑๓๓๖ โดยไม่มีอายุความ จนกว่าจะสิ้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น
(๒) ถ้าผู้ให้ยืมไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือแม้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ได้อาศัยสิทธิตามสัญญายืมใช้คงรูปฟ้องร้องเรียกทรัพย์คืนโดยไม่ใช้อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ดังกล่าว ต้องใช้หลักอายุความทั่วไป ตาม มาตรา
๑๙๓ /๓๐มาใช้บังคับ มาตรา ๑๙๓ /๓๐อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี มาตรา ๑๙๓ /๑๒อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…” ดังนั้นต้องเรียกร้องทรัพย์คืนภายในกำหนดอายุความ๑๐ ปี นับแต่เวลาที่จะต้องคืนทรัพย์ อันเป็นเวลาที่สัญญาระงับลงนั่นเอง  กรณีทรัพย์ที่ยืมสูญหายหรือถูกทำลาย ผู้ให้ยืม มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ยืมใช้ราคาทรัพย์ อายุความ ๑๐ ปี นับแต่ขณะที่จะต้องใช้ราคาทรัพย์ที่ยืมนั้น    ๒.การเรียกร้องค่าทดแทนตามสัญญา(อายุความพิเศษ)
มาตรา ๖๔๙ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้นท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา

กรณีผู้ให้ยืม
                ก. ค่าทดแทนความเสียหายเมื่อผู้ยืมปฏิบัติผิดสัญญา ตาม มาตรา ๖๔๓,๖๔๔
    ข. ค่าทดแทนความเสียหายเมื่อผู้ยืมปฏิบัติผิดสัญญาไม่ส่งทรัพย์สินคืนเมื่อถึงกำหนด แล้วความเสียหายเกิดแก่ทรัพย์สินนั้นแม้จะด้วยเหตุสุดวิสัยตามมาตรา ๖๔๓ ประกอบ๖๔๔    ค. ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบ และค่าส่งคืนทรัพย์สิน ตามมาตรา ๖๔๒ ซึ่งผู้ให้ยืมได้จ่ายแทนผู้ยืมไปก่อน
                ง. ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมตามปกติซึ่งผู้ยืมจะต้องออกตามมาตรา ๖๔๗ และผู้ให้ยืมได้ออกแทนไปก่อน
 กรณีผู้ยืม
                ก. ค่าทดแทนความเสียหายเมื่อผู้ให้ยืมส่งมอบทรัพย์สินซึ่งชำรุดบกพร่องให้แก่ผู้ยืมโดยไม่แจ้งให้ผู้ยืมทราบ ทั้งที่ผู้ให้ยืมรู้อยู่แล้วก่อนการส่งมอบว่าทรัพย์สินนั้นชำรุด อาจเป็นอันตรายหรือเกิดความเสียหายแก่ผู้ยืมได้ ซึ่งเมื่อผู้ยืมนำทรัพย์สินไปใช้แล้วเกิดความเสียหายขึ้น
    ข. ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืม ในกรณีจำเป็นอันมิใช่การบำรุงรักษาทรัพย์สินตามปกติ ซึ่งผู้ให้ยืมจะต้องเสีย แต่ผู้ยืมได้ออกทดรองไปก่อน 



ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๔๕ 
หมายเลขบันทึก: 88198เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2007 01:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท