รู้จักกับวงสะพาน


<< 1 >>

วงดนตรี สะพาน ณ ปัจจุบันยังทำงานทางดนตรีอย่างต่อเนื่อง  แม้ว่าเสาหลักสะพานต่างแยกย้ายกันทำงานคนละถิ่นที่  ภาวะการย้ายแยกของสะพานนั้นหาใช่ว่าเป็นดั่ง สะพานขาด  ตามรวมชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นของ กนกพงศ์  สงสมพันธุ์  ผู้ให้กำเนิดชื่อวงไม่  นกเพลงพื้นถิ่นในวัยวันนี้  ยังแน่นในความรู้สึกการทำงานร่วมคิดกันสองคนเหมือนเดิม  แม้ว่านกเพลงหนึ่งนั้นจะบินร่อนล่องไพรอยู่ไกลถึงแดนเหนือที่เมืองน่าน  และอีกหนึ่งยังบินว่อนเวียนวนในเมืองพระ – นครศรีธรรมราช  พวกเขาก็ยังมั่นอยู่ในวิธีคิดตามรูปแบบนักเพลงอิสระ.. ไม่เปลี่ยนแปลง...

สองหนุ่มนกเพลงพื้นถิ่น  อันเป็นเสาหลักเพลงสะพานในวันปัจจุบันนั้น  ประกอบด้วย  พีชพงศ์  พิทักษ์  และ สุเมธ  สอดจิตต์

<< 2 >>

สะพาน เสาที่หนึ่ง - พีชพงศ์  พิทักษ์

สุเมธ  สอดจิตต์  ได้เขียนบทความคล้ายบันทึก กล่าวถึง พีชพงศ์  พิทักษ์  ในคอลัมน์ เรื่องราวชาวเพลง ของ  สารนครศรีธรรมราช  ฉบับเดือน พฤษภาคม ๒๕๔๖  ในชื่อเรื่อง ให้เพลงทำหน้าที่ของมันไป  ตามเนื้อหาสาระที่ตัดตอนมาบางส่วน  เชิญอ่าน...

               

<< 3 >>
ให้เพลงทำหน้าที่ของมันไป

...เพลง “สะพานไม้หมาก” ทำหน้าที่ขับกล่อมวิญญาณคนไกลถิ่นให้หวนรำลึกลำคลองเก่าแก่ที่บ้านเกิดอีกครั้ง  สื่อสำเนียงปักษ์ใต้โดยไม่มีภาษากลางผสมอยู่ร้อยรัดเป็นท่วงทำนองเรียบง่ายแต่หามีท่อนใดขัดขืนฝืนความรู้สึกไม่  นั่นเป็นเอกลักษณ์หนึ่งในการประพันธ์เพลงภาษาถิ่นใต้ของ “พีชพงศ์  พิทักษ์” นักร้อง  นักดนตรี  นักแต่งเพลง  นักพูด  นักคิด  นักเขียน  ปัญญาชนผู้ติดครุยสองสถาบัน  และข้าราชการหนุ่มระดับ 6 ในตำแหน่งรองหัวหน้าศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดน่าน 

“พืช” เป็นชื่อเล่นของเขาที่เราเพื่อน ๆ ใช้เรียกขาน ในขณะที่ครอบครัวญาติพี่น้องเรียกว่า “โอ”  “ลูกโอ” หรือ “น้องโอ”

เขาเกิดในครอบครัวอันอบอุ่น  บิดาเป็นข้าราชการเกษียณอายุในตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช  และมารดาเป็นข้าราชการบำนาญสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ

วัยเยาว์ของพีชพงษ์ เติบโตใกล้ลำน้ำแห่งท้องทุ่งของอำเภอชะอวด  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ชีวิตเด็กของเขาผูกพันอยู่กับของเล่นพื้นบ้าน เช่น  ว่าวนก  ดาบไม้ปอ  และปี่ซังข้าว  มีวิถีที่เงียบเชียบอยู่ในโลกส่วนตัวและการตั้งคำถามต่อสรรพสิ่งในแง่มุมที่ชวนคิด  เขาเคยเล่าให้ผมฟังว่า  ตอนเด็กชอบพูดกับสุนัข  และนั่งเหม่อตามคันนาดูฝูงวัวได้อย่างเนิ่นนาน 

จากโรงเรียนประจำอำเภอในระดับมัธยมต้น   เขาเดินทางเพื่อศึกษาต่อในระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช... 

สุเมธ  กล่าวถึงการรู้จักกันในวินาทีแรกไว้ว่า

  ...สามปีที่อยู่ร่วมรั้วสถาบัน  เราได้ทักทายกันเป็นครั้งแรกในวันสุดท้ายที่เขาพักครึ่งการสอบเอ็นทรานซ์เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย  การแจมกีตาร์ด้วยเพลง “คนหลังเขา” ของวง “คนด่านเกวียน” คือสื่อมิตรภาพเบื้องต้น อันทำให้หลังจากนั้นอีกสองปี จึงได้มีอนาคตและความคิดฝันอันผูกร้อยร่วมกันมาตลอดวัยหนุ่ม  ในนามของคณะโฟล์คซองเล็ก ๆ โดยกลุ่มนักศึกษาจากหัวเมืองปักษ์ใต้  ซึ่งนิยามความหมายร่วมกันเพื่อเป็น “สื่อเชื่อมวัฒนธรรมของสองฝั่งฟาก”  วงดนตรี “สะพาน” จึงก่อเกิดขึ้นในปี ๒๕๒๙

สุเมธ กล่าวถึงวาระที่สะพานต้องย้ายแยกกันในเบื้องท้ายบทความว่า

...ต้นพฤษภาคม ๒๕๔๔

ผมขับรถทางไกลกลับจากจังหวัดน่าน  ก่อนหน้านั้น.. ผมบอกกับเขาว่าเราควรแยกอยู่ให้ห่างกันบ้าง เพื่อจะได้มีเรื่องใหม่มาเล่าสู่กันฟัง  เขาควรจะกลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัวพร้อมหน้าสามี ภรรยา บุตร  มิใช่จะมาไล่จับฝันกับผมเช่นนี้อีกต่อไป  ห้าปีในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ภายใต้ต้นมะขามสัปดาห์ละสามวัน  คือความผูกพันแห่งบทเพลงที่เราร่วมกันสานก่อ

.......................................

มาวันนี้ไม่มีแล้วพานไม้หมาก

สองฝั่งฟากสะพานคอนกรีตทอดยาวข้ามคลอง

น้ำล่องไหล เปลี่ยนทิศทาง  น้องลืมหายหนีหน้าพ้น

พานยิ่งใหญ่  น้องยิ่งไกลสูญเลยลับตา

น้ำล่องไหล เปลี่ยนทิศทาง  น้องลืมหายหนีหน้าพ้น

สะพานใหญ่  น้องยิ่งไกลสูญ.. เลยลับตา

สุเมธ  สอดจิตต์ - ผู้เขียน ได้กล่าวถึงความโดดเดี่ยวของบทเพลงสะพานไว้ในบทสรุปท้ายสุดของบทความว่า

..แว่วท่อนสุดท้ายของบทเพลงแห่งวันวาน 

บัดนี้.. ชายหนุ่มร่างสันทัด ใบหน้ารูปกลมผมสั้นเกรียน  ผู้มีเสียงร้องทุ้มหวานเป็นเอกลักษณ์  ยังคงขับรถล่องไพรช่วยเหลือชาวไทภูเขาผู้ตกขอบในสังคมดงดอยแดนเหนือ – น่าน อีกต่อไป  ขณะที่ผมยังเวียนว่ายเป็นกลุ่มชนคนล้นขอบของสังคมเมือง...

“ให้เพลงทำหน้าที่ของมันไป  ให้เพลงทำหน้าที่ของมันไป...”

<< 4 >>

สะพาน  เสาที่สอง - สุเมธ  สอดจิตต์

สุเมธ  สอดจิตต์  ขออนุญาตเขียนรายงานตัวตนของ สุเมธ  สอดจิตต์ ไว้สักเล็กน้อย เพื่อเป็นบันทึกหนึ่งที่เขาได้เข้าร่วมสังฆกรรมกับวง สะพาน.. 

เชิญอ่านตามสะดวก...

<< 5 >>

...ลุ่มน้ำปากนคร  อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  คือแผ่นดินแม่ที่ให้ลมหายใจอุ่นแต่วัยเยาว์

บิดา – มารดา เป็นชาวนา และชาวประมง  มีพี่สาวห้าคน  พี่ชายหนึ่งคน  เป็นบุตรชายคนสุดท้องของครอบครัว

มัธยมต้นชอบวิชาศิลปะ  ชอบหนีเรียนเข้าอ่านหนังสือห้องสมุด  มัธยมปลายเล่นกีตาร์  ตั้งวงดนตรีกับเพื่อนๆ ในโรงเรียน  เป็นวงโฟล์คซองสี่ชิ้น  ชื่อ โควาทาน (แผลงมาจากวรรณกรรมอินเดีย ชื่อ โคทาน ของ เปรมจันทร์  แปลโดย จิตร  ภูมิศักดิ์)

แรงบันดาลใจจากลุ่มวรรณกรรม นาคร  ที่ร่วมกันก่อตั้งโดย นักเขียน กวี  นักดนตรี แถบหัวเมืองปักษ์ใต้  ซึ่งรวมตัวครั้งแรกที่บ้านปากนคร ในปี ๒๕๒๔ นำสู่วิถีดนตรี  ศิลปะ  และวรรณกรรม

จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ  นครศรีธรรมราช  วิชาเอกเกษตร  สาขาสัตวบาล

ทิ้งด้ามจอบสมัยมัธยมปลาย  เรียนดนตรีอย่างจริงจัง  ที่ สหวิทยาลัยทักษิณ  สงขลา (วค.สงขลา)  วิชาเอกดนตรี  หลักสูตรอนุปริญญาสองปี (เน้นวิชาชีพดนตรีโดยเฉพาะ) ปฏิบัติเครื่องดนตรีหลัก คือ ไวโอลิน  เครื่องรอง คือ ฟลุต  ส่วนกีตาร์ฉกฉวยเวลาฝึกยามว่าง

ปี ๒๕๒๙ ขณะเรียน สหวิทยาลัยทักษิณ สงขลา  ได้ประสานกับภาควิชานาฏศิลป์  ทำวงดนตรี รองเง็ง  เล่นนำในตำแหน่งไวโอลิน  โดยแกะเพลงของ อ.ขาร์เด  แวเด็ง  และปวารณาเป็นศิษย์นอกระบบในกาลต่อมา

กลางปี ๒๕๒๙ ร่วมงานกับเพื่อนๆ ชมรมอาสาพัฒนา  และชมรมศิลปวัฒนธรรมปักษ์ใต้  มอ.หาดใหญ่ ในนามวง สะพาน 

๒๕๓๑ ตกงาน  อยู่บ้าน  ทำนากุ้ง

๒๕๓๒ ตกงานในเมืองกรุง  สามเดือน  อาศัยอยู่ในสำนักพิมพ์นาคร  และเพื่อนนักเขียน กนกพงศ์  สงสมพันธุ์

๒๕๓๒-๒๕๓๔  บรรจุเป็นข้าราชการครู ตำแหน่ง ครู ๒ ระดับ ๒ โรงเรียนสีออศิลปศาสตร์  อำเภอกุมภวาปี  จังหวัดอุดรธานี  สอนระดับมัธยมศึกษาต้น  รายวิชาดนตรี และวิชาอื่นๆ

๒๕๓๕-๒๕๓๙ ย้ายไปเป็นครูสอนที่ โรงเรียนแม่ลานวิทยา  อำเภอแม่ลาน  จังหวัดปัตตานี  รายวิชาศิลปะกับชีวิต  เกษตร  และวิชาพระพุทธศาสนา

๒๕๔๐-๒๕๔๔ ย้ายกลับสู่ภูมิลำเนาเดิม  เป็นครูหมวดสังคมศึกษา  โรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช  สอนวิชาโลกในยุคปัจจุบัน  กฎหมาย  ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ และวิชา พระพุทธศาสนา ระดับมัธยมต้นเป็นหลัก

๒๕๔๕-๒๕๔๖ ลาศึกษาต่อระดับปริญญาโท  สาขาวิชา มานุษยดุริยางควิทยา  คณะศิลปกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ประสานมิตร  ระหว่างศึกษาต่อ  ทำงานเพลงเสร็จสองชุด คือ สะพาน # ๓  วิถีอิสระ  และ สะพาน # ๔  รสนิยมป่า แต่ไม่ได้วางขาย  เพราะไม่มีเงินทุน   และรับตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารเกี่ยวกับดนตรี  ศิลปะ วรรณกรรม นาม RESOUND MAGAZINE

ปัจจุบัน  ยังรับตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร RESOUND ฉบับปิดเทอม  กลับไปเป็นข้าราชการผมยาว ที่รอเข้ากลุ่มกับพวกเพื่อนข้าราชการ ๕ เปอร์เซ็นต์ของกระทรวงศึกษาธิการ  เพราะยังทำวิทยานิพนธ์ของคนผมยาวไม่เสร็จ   อาศัยเวลาว่างทำงานในฐานะนักดนตรีที่ขอเขียน  ในคอลัมน์  บันทึกเพลงทักษิณ  ของหนังสือพิมพ์สมิหลาไทมส์  ภายใต้การกำกับดูแลของหัวหน้ากองบรรณาธิการ วิชาญ  ช่วยชูใจ.

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 8771เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2005 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบ! นิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท