พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ


พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
            สัญญาเช่าพื้นที่อาคารสนามบินสุวรรณภูมิของบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่คณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ตัดสินว่าเป็นโมฆะเพราะขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยสัญญาระหว่างรัฐและเอกชน ที่หากเข้าไปตรวจสอบกันอย่างจริงจังแล้วก็คงอยู่ในสภาพไม่ต่างกัน คือทำการซอยสัญญาเป็นสัญญาย่อยหลาย ๆ สัญญา เพื่อไม่ให้เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ก่อนหน้ากรณีคิง เพาเวอร์ไม่นาน ก็มีกรณีศาลปกครองจังหวัดระยองตัดสินว่า สัญญาร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัท อีสต์วอเตอร์ และการประปาส่วนภูมิภาค ในโครงการก่อสร้างระบบประปาที่จังหวัดระยอง เป็นโมฆะขัด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพราะมีการลดวงเงินก่อสร้างลงให้ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท โดยตัดงานบางส่วนออกแต่โอนไปให้บริษัทอื่นในกลุ่มเดียวกันทำแทน ซึ่งศาลเห็นว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ  จากข้อมูลของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กรรมการ ทอท. ระบุว่า ยังคงมีสัญญาจัดซื้อจัดจ้างอีก 58 รายการ ที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบว่าอาจขัดต่อ พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ. 2535  ยังไม่รวมโครงการของกระทรวงอื่น ๆ คำถามคือ เหตุใดจึงมีความพยายามหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน กฎหมายนี้มีอะไรนักหนาที่ทำให้เอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐขี้ฉ้อกลัวกันนัก พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มีวิวัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัยเพื่อสร้างระบบตรวจสอบและความโปร่งใสในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ที่ระยะหลังมีการให้สัมปทาน ให้สิทธิ และการร่วมทุนแก่เอกชนมากขึ้นเรื่อย ๆ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ โครงการร่วมการงานไม่ว่าจะเป็นสัมปทาน การให้สิทธิ สัญญาซื้อขาย หรือการร่วมลงทุน ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป จะต้องเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ     ตามประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กำหนด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ  และแทนที่จะอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงหรือหน่วยงานคู่สัญญาเพียงแห่งเดียว โครงการภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จะมีหน่วยงานกลางหลายหน่วยงานเข้าร่วมกำกับดูแล เช่น กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามาช่วยวิเคราะห์และพิจารณา คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินโครงการในทุก ๆ ขั้นตอน ประเด็นนี้กระมังที่ทำให้ไม่มีใครอยากให้โครงการของตัวเข้าไปอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ เพราะจะงุบงิบอะไรก็ลำบาก มีสายตาคนอื่นคอยจับจ้องอยู่ตลอด ซึ่งด้านของเอกชนยายเม้าท์พอเข้าใจได้ เพราะต้องทำทุกอย่างเพื่อผลกำไรสูงสุด แต่ในส่วนของหน่วยงานรัฐคู่สัญญานี่รับได้ยาก เพราะการร่วมมือกับเอกชนหาทางเลี่ยงกฎหมายที่คอยปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ ก็เท่ากับจงใจทำให้รัฐเสียหาย  ดังนั้น สัญญาใดที่มีเจตนาหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ นอกจากจะลงโทษเอกชนโดยให้สัญญาเป็นโมฆะแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อคือต้องลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ    ที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ฐานที่สมรู้ร่วมคิดและละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ แต่ดูเหมือนกรณีคิง เพาเวอร์ นอกจากยังไม่เห็นเค้าว่าจะมีการไล่เบี้ยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังทำท่าจะสมานฉันท์กับเอกชนที่กระทำผิดด้วย โดยอ้างว่าต้องคำนึงถึงคู่สัญญาจำนวนมากของคิง เพาเวอร์ ซึ่งยายเม้าท์ว่าเป็นอีกหนึ่งความคิดที่ไม่เข้าท่าของคนในรัฐบาลนี้ โพสต์ทูเดย์  29  มีนาคม  2550
หมายเลขบันทึก: 87324เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2007 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ชอบอ่านมาก  ติดตามบทความอยู่ตลอดนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท