พิจิตร : ตัวอย่างคุณกิจสู่คุณอำนวย


เรื่องเล่าจากคุณผดุง
พิจิตร : ตัวอย่างคุณกิจสู่คุณอำนวย
เรื่องเล่าจากคุณผดุง
                ก่อนเริ่มทำนาอินทรีย์ ทำนาจำนวนมาก รายได้ต่ำ ต้นทุนสูง ดินเสื่อม พบวิกฤติหลักคือหนี้สินซึ่งเป็นแรงบันดาลใจอยากหาทางออก เริ่มแรกได้เรียนรู้จากวปอ. เป็นเวลา 4 คืน 5 วัน เมื่อต้นปี 2545  ทำให้เห็นตัวอย่างความสำเร็จจากคนทำจริง และพบความรู้ในด้านต่างๆ เช่น ปุ๋ย การขยายพันธุ์ ฯลฯ ซึ่งครอบคลุมพอที่แต่ละคนจะนำไปใช้ในแปลงเกษตรจริงของตนเอง
                จากการเรียนรู้ที่วปอ. ครั้งนั้น ก็ลงมือทำ นำความรู้มาลองใช้จริงที่สวนไม้ผล จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ในครั้งนั้น ได้นำไปสู่การเรียนรู้จากมูลนิธิข้าวขวัญ กลับมาจึงได้นำความรู้มาใช้ในการทำนา ตั้งแต่การคัดพันธุ์ การใส่ปุ๋ย การปรับปรุงดิน การดูแลรักษาโรค วัชพืช มีการจดบันทึกเก็บข้อมูลข้าวอย่างสม่ำเสมอและละเอียดเป็นหลักฐานยืนยันเป็นรูปธรรม
                บันทึกการเจริญเติบโตของข้าว ตั้งแต่ 1 เมล็ด แตกออกเป็น 136 ต้น และได้รวงข้าวสมบูรณ์ 100 รวง จนถึงการเก็บเกี่ยวแล้วได้ผลผลิตเท่าใด คำนวณจากต้นทุนแล้วได้ได้กำไรหรือขาดทุนอย่างไร เหล่านี้เป็นวัฒนธรรมใหม่ของชาวนาที่การจัดการความรู้เข้าไปมีส่วนหนุนเสริมให้ “ทำนาโดยใช้ความรู้” 
ผลจากการเรียนรู้ที่ข้าวขวัญและการกลับมาทำนี้ ทำให้เลิกซื้อพันธุ์ข้าวปลูกได้ในที่สุด ซ้ำยังสามารถขายพันธุ์ข้าวให้เพื่อนบ้าน เหลือขายโรงสี และสามารถกำหนดราคาได้ แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ขายข้าวเปลือกให้พ่อค้า  การเรียนรู้อีกอย่างหนึ่งที่พบคือแท้จริงแล้วพ่อค้าไม่มีความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ข้าว เพราะซื้อมาจากชาวนาเหมือนกัน ซ้ำร้ายคุณภาพก็ไม่ดีพอ ปลูกแล้วกลายพันธ์ ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ
การลงมือเปลี่ยนแปลงเลยแบบไฟแรง คิดเร็ว ทำเร็ว พบว่าไม่ใช่แนวทางที่ดี แท้จริงควรใช้ความอดทน รอคอยอยู่ 2-3 ปี กว่าจะเห็นผลชัดเจน การเปลี่ยนจากทำนาสารเคมีเป็นนาอินทรีย์ต้องค่อยๆลด และเลิกในที่สุด (คล้ายการหักดิบซึ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย)
หลังจากได้เปิดตัวเองเรียนรู้และลองทำมาหลายครั้งจนเป็นนิสัยไปแล้ว ก็เริ่มเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ เช่น เวทีที่นักวิชาการในจังหวัดมาจัดที่ตำบล ทำให้ได้มีโอกาสรู้จักแมลงในนาข้าว และเป็นองค์ความรู้ที่ประจักษ์ด้วยตัวเองว่า การใช้สารเคมีฉีดเมื่อเห็นแมลงเท่านั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเราได้ฆ่าแมลงที่ไม่เป็นอันตรายต่อต้นข้าว ซ้ำยังเป็นแมลงที่คอยกำจัด ลดปริมาณแมลงศัตรูข้าวอีกต่างหาก
จุดสูงสุดของนาข้าวอินทรีย์เต็มรูปมาถึงเมื่อได้มีโอกาสพบกับข้าวขวัญอีกครั้ง และนำข้าวพันธุ์อ่างทองมาปลูก เห็นผลชัดมาก ได้ 102 ถัง จึงเลิกสารเคมีหันมาทำนาแบบอินทรีย์เต็มรูปแบบ
เมื่อตัวเองทำได้ผลให้เห็นชัด มีบัญชีรายรับรายจ่ายในการทำนา ทราบต้นทุน กำไร ชัดเจน สามารถเปรียบเทียบกับเกษตรกรอื่นทั่วไปที่ยังทำนาสารเคมีแบบเดิมอยู่ ทำให้เริ่มได้รับความสนใจ บางคนไม่แน่ใจมาดูถึงที่บ้านและที่นา พอเขาเห็นผลจริงก็เกิดความต้องการที่จะทำบ้าง เป็นตัวอย่างของการจัดการความรู้ของชาวนาที่ไปเรียนมาแล้ว พิสูจน์กับตัวเองก่อนโดยแสดงให้เห็นว่าสุขภาพดีขึ้น  ครอบครัวก็สบายขึ้นเนื่องจากหนี้สินลดลง
บทสรุปสุดท้ายของลุงผดุงคือ หากเกษตรกรไม่รู้เท่าทันพ่อค้าขายสารเคมี การทำนามีแต่จะแย่ลง การมาถึงความสำเร็จทุกวันนี้ได้เพราะเก็บความรู้เข้าคลังไว้ตลอด ถึงเวลาที่ต้องใช้ สมองก็จะไม่มีกระบวนการทางปัญญาดึงออกมาใช้เอง โดยเฉพาะก่อนนอนคิดไม่ออก พักผ่อน “ปรึกษาหมอน” พอตอนเช้าก็จะพรั่งพรูออกมา เห็นทางแก้ เห็นวิธีการแจ่มแจ้งเอง
เรื่องเล่าจากคุณจรัล
                เป็นผลพวงจากการที่ลุงผดุงได้เรียนรู้และลงมือทำในแปลงนาของตัวเองแล้ว ได้มาสอนการคัดพันธุ์ข้าว โดยการชักชวนมาเรียนรู้ของกำนัน ซึ่งครั้งนั้นมีด้วยกัน 10 คน แต่ไปทำต่อแค่ตัวเอง 1 คน
                ถูกชวนเข้าวปอ.อีกครั้ง ได้เรียนครบวงจรเช่นเดียวกับลุงผดุง ช่วงระหว่างนั้นเจอวิกฤติภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม ปีต่อมาข้าวก็ตายแล้งอีก จึงเริ่มลดนาลงจาก 50 ไร่เหลือ 15 ไร่ การเรียนรู้ก็เป็นไปตามรอยคล้ายลุงผดุง คือพอเริ่มคัดพันธุ์ข้าว ก็ขยายพันธุ์ได้เอง สามารถตั้งราคาเองได้ เป็นการเพิ่มผลผลิต ล่าสุดเปรียบเทียบผลผลิตของนาข้าวสารเคมี 1 ไร่ ได้ 90-100 ถัง แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่นาอินทรีย์กลับกัน ยิ่งทำไปผลผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้นทุนกลับต่ำลง เป็นข้อเปรียบเทียบพี่คุณจรัลพบด้วยตัวเอง
                ผลของการเปลี่ยนแปลงการทำนานี้ นอกจากต้นทุนที่ลดลงแล้ว สุขภาพของตัวเองจากที่เคยเข้าโรงพยาบาลบ่อยจนหมอคุ้นเคยจำหน้าได้ ก็เปลี่ยนไปไม่ต้องไปหาหมอ กำไรที่ได้ไม่ใช่ตัวเงินคือรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่แปลงกำไรเป็นทรัพย์สิน ซื้อที่เป็นของตัวเองได้หลายไร่ จากเดิมที่เช่านาเขาทั้งหมด และยังมีรถไถมูลค่ากว่าแสนบาทเป็นเครื่องมือทำมาหากินเพิ่มขึ้นอีก
                นอกจากตัวเองได้เรียนรู้และขยายผลสู่เพื่อนเกษตรกรอื่นๆ แล้ว กลุ่มแกนนำที่พิจิตรยังมองการณ์ไกลร่วมมือกับโรงเรียนให้นักเรียนได้เรียนรู้ ฝึกการเป็นเกษตรกร สืบทอดทายาทเกษตร โดยให้เด็กปลูกผักปลอดภัยที่โรงเรียนแล้วนำไปกินเองที่บ้าน เผื่อว่าเด็กเหล่านี้เมื่อจบการศึกษาแล้วต้องกลับมาในชุมชน จะได้ทำการเกษตรเป็น ไม่เกิดภาวะ “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” เหมือนบัณฑิตที่จบการศึกษาจำนวนมากทุกวันนี้ ที่หลุดจากชุมชนแล้วกลับมาทำนาไม่เป็น
                อาชีพเกษตรกรรมจะเป็นทางออกของคนรุ่นใหม่ได้หรือไม่ อย่างไร ทั้ง 2 ท่านได้ให้ข้อคิดว่าเป็นไปได้ แต่ต้องใช้วิธีให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนแล้วทำเลย คนรุ่นใหม่สามารถใช้ความรู้ ความคิด เปรียบเทียบผลดี ผลเสีย ให้เห็นอย่างชัดเจน เริ่มต้นให้มีความสำเร็จเล็กๆ เป็นการสร้างฐาน รวมทั้งการใช้วัฒนธรรมเก่าของชุมชนที่เลือนหายไป เช่น การทำขวัญข้าว ให้เป็นประโยชน์ เพราะจริงๆแล้วเป็นอุบายที่มีความรู้แฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ในพิธีกรรม หรือเป็นอุบายยึดโยงคนเข้าด้วยกัน
                เกษตรกรนักจัดการความรู้ทั้ง 2 ท่าน มีความเห็นว่าส่งลูกไปเรียน แต่ไม่รู้อนาคตแน่นอนว่าเขาจะมีเส้นทางเดินในอาชีพอย่างไร หากจำเป็นต้องกลับคืนนา ถ้าไม่มีฐานจากการปฏิบัติจริงชีวิตจะลำบาก แต่หากเรียนรู้และใช้วิธีการทำนาโดยชีววิธีก็จะมีโอกาสไปรอดได้  สุดท้ายคุณจรัลได้ทิ้งทายความสำเร็จที่ผ่านมาเพราะว่าตัวเองใฝ่เรียนรู้ ลงมือทำจริง ก็จะเกิดผลจริง
ผลที่หลากหลายของจัดการความรู้ในนา
                ผลของทำนาอินทรีย์ นอกจากตัวอย่างผลที่เห็นเป็นรูปธรรมที่การลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังนำไปสู่การลดต้นทุนอย่างอื่นในครัวเรือนอีก เช่น ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ซ้ำการปลูกผักกินเองยังรถโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ขาดโภชนาการ (อาหารจานด่วน) ที่เมื่อก่อนลูกของตนเองก็เคยเป็น การทำนาน้อยลงทำให้ไม่เหนื่อยมาก มีเวลาเหลือนำรถไถออกไปรับจ้าง
                นอกจากผลที่ตัวเกษตรกรเองแล้ว ผลต่อสิ่งแวดล้อมก็เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัด ผักพื้นบ้านที่หนองคลองบึงเริ่มกลับคืนมาบ้าง แต่ตามไร่นายังว่างเปล่าอยู่ ยกเว้นผักบางชนิดที่เริ่มมีให้เห็น เช่น ผักแว่น กระบวนการฟื้นคืนต้องใช้เวลานาน เพราะสารเคมีได้ทำลายล้างตั้งแต่เมล็ดพันธุ์แล้ว หากลด ละ เลิกสารเคมี เชื่อแน่ว่าพืชผักพื้นบ้านตามธรรมชาติคงกลับคืนมาเหมือนเดิม
                ในด้านการตลาด หรือราคาผลิตผล ต้องค่อยเป็นค่อยไปไม่รีบร้อน ตลาดจะมาเอง ของดีไม่ต้องโฆษณา เรารักษาแต่คุณภาพให้คงที่ก็พอ บางทีกำไรอาจไม่ใช่เงินทอง แต่คือกำไรที่ได้ข้าวปลอดภัยกินเอง  หรือจะขายเป็นข้าวปลูกก็มีไม่เพียงพอต่อความต้องการด้วยซ้ำ หรือหากเหลือจริงๆก็ขายโรงสีชุมชน
ภาพการจัดการความรู้ของพิจิตร
                แกนหลักในการประสานงานคือมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร เชื่อมโยงหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เช่น สาธารณสุขจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด การศึกษานอกโรงเรียน ผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอ  โดยมีชุมชนนักปฏิบัติในระดับเครือข่าย 12 อำเภอ
                รูปแบบการทำงานเชื่อมโยงวิทยากรจากภายนอก และปราชญ์ชาวบ้านเป็นวิทยากรภายในกลุ่มกันเอง  มีความเด่นชัดในเรื่องการจัดการเครือข่าย โดยมีแกนนำระดับอำเภอ และแกนนำระดับตำบล ที่พัฒนาตัวเองจากการเป็นคุณกิจที่ประสบผลสำเร็จ
                ภาพการจัดการความรู้ของคุณกิจในระดับตำบลและหมู่บ้าน มีลุงผดุงและคุณจรัล เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า สามารถสร้างรูปธรรมของการทำเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ ข้าว ผัก และผลไม้ ที่สามารถเป็นตัวอย่าง และยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงาน สร้างแรงดึงดูดให้เกษตรกรอื่นๆสนใจตามได้เป็นอย่างดี (ดังแผนภาพ)


ถอดความรู้เกษตรอินทรีย์พิจิตร
·       เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงยกระดับจากคุณกิจ ไปสู่คุณอำนวย พาเพื่อนเกษตรกรเรียนรู้ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
·       สะท้อนภาพการจัดการความรู้จากการปฏิบัติจริงของคุณกิจ โดยการเรียนรู้มาก่อน ลงมือทำ แล้วสังเกต ก็จะเห็นความรู้ เช่น ระบบนิเวศน์ที่ดีขึ้นในแปลงนา เกิดขึ้นจากการที่เราไม่ทำลายพืชที่คันนา แมลงศรัตรูข้าวก็จะอยู่ที่คันนาไม่ลงมาในนาข้าว และในเหล่าแมลงนี้มีจำนวนมากที่ไม่เป็นศัตรูข้าว แต่ช่วยกำจัดแมลงอื่น เช่น แมลงมุม เป็นการใช้ธรรมชาติจัดการกันเอง ซึ่งเหล่านี้เป็นผลได้ชัดเจนเมื่อหันมาทำนาอินทรีย์
·       ความรู้เฉพาะของคุณกิจ ความรู้เฉพาะพื้นที่ มีมากมาย แต่เสียดายไม่มีเวลาพูดคุยให้ลึก เพื่อสาวออกมาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น ความรู้ในการป้องกันและกำจัดวัชพืชในกรณีไถกลบหรือการปั่นที่มีวิธีการแตกต่างกัน  หรือความรู้ที่ต้องล่อหญ้าให้ขึ้นก่อนหว่านข้าว   หรือข้าวดีด ข้าวเด้ง คือการที่ข้าวพันธุ์ผสม (ข้าวป่า ข้าวนก) มักกลายพันธุ์กลับไปเป็นต้นเดิม กลายเป็นข้าววัชพืช อายุเบา กลายเป็นข้าวเมล็ดแดง  เป็นต้น
·       ความรู้ที่สำคัญกลับไม่ใช่เทคนิค แต่คือการเปลี่ยนความคิดจิตใจชาวบ้าน ซึ่งพิจิตรทำได้สำเร็จเพราะมีแกนนำทำให้เห็นเป็นตัวอย่างในพื้นที่ชัดเจน ไปดูตัวอย่างที่สำเร็จจากที่อื่นเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ใช้พลัง กลุ่มโดยการจัดเวที เกษตรกรบางทีจะเปลี่ยนต้องเจอจุดวิกฤตในชีวิต และที่สำคัญต้องทำซ้ำ ย้ำเตือนกันบ่อยๆ
·       สะท้อนรูปแบบและขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงที่นำมาสู่ความสำเร็จ ได้ ดังนี้
1) เจอวิกฤต ตีบตัน
2) ชาวบ้านที่ใฝ่รู้ ต้องการหาทางออก
3) พบเจอโอกาสและทางเลือก (วปอ. หรือการดูงานที่อื่น)
4) มีเพื่อน มีเครือข่าย
5) ลงมือปฏิบัติ ทดลองทำจริง หลังจากเรียนแล้ว
6) ทำอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
7) มีการประเมินตนเอง
8) เกิดผลสำเร็จ (จากจุดเล็กๆ จากแต่ละเรื่อง ไปสู่ภาพใหญ่)
9) นำมาสู่ความเชื่อมั่นในวิถีทาง
10) ทำให้เปลี่ยนความคิดและมุมมอง
11) เปลี่ยนพฤติกรรมอย่างถาวร ไม่กลับไปทำเกษตรเคมีอีกแล้ว

วัดดาว : ตัวอย่างคุณอำนวยช่วยคุณกิจ
จุดเริ่มจากคนภายนอก
โรงเรียนชาวนาตำบลวัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เป็นตัวอย่างของการมีคุณอำนวยลงไปชวนชาวบ้านเรียนรู้ในพื้นที่ โดยใช้หลักจัดการความรู้ ต่างจากพิจิตรที่สร้างคุณกิจและยกระดับเป็นคุณอำนวย
                ณรงค์ เป็นคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากเมืองหลวง สนใจงานพัฒนาชุมชนและสมัครทำงานกับมูลนิธิข้าวขวัญ เพราะอ่านบทความในหนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน พื้นเพเป็นคนจากจังหวัดอื่น เข้ามาอยู่ในพื้นที่สุพรรณบุรีมา 10 ปี เป็นคนมีอุดมการณ์ แนวคิดของชีวิต
                การเริ่มเข้าไปทำงานชุมชนเริ่มจากเลือกพื้นที่ในการทำงานที่คิดว่าสามารถจะใช้สายสัมพันธ์เชิงเชื้อชาติเข้าไปสนิทสนมทำงานด้วยได้ง่าย อันได้แก่เชื้อสายไทยทรงดำ ลาวโซ่ง ลาวพวน ฯลฯ เพื่อเข้าถึงวัฒนธรรมของชาวบ้าน จุดเข้าในการลงชุมชนใช้วิธีเข้าทางคนเฒ่าคนแก่ ใช้ความเป็นเด็กให้เป็นที่เอ็นดู และสร้างแรงบันดาลใจโดยไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้านก่อนเป็นอันดับแรก
                การทำงานมีทุนเดิมจากมูลนิธิข้าวขวัญที่มีชุดความรู้เกี่ยวกับเกษตรอยู่มากมาย แต่ได้อาศัยการจัดการความรู้ช่วยในการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีจุดน่าสนใจคือเป็นการเริ่มต้นโรงเรียนชาวนาเมื่อ 2-3 ปีมานี้เอง เป็นชุมชนปฏิบัติการในระดับตำบลที่โดดเด่นของพื้นที่สุพรรณบุรี
ถอดรหัสการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนชาวนา
                ผลของโรงเรียนชาวนา นอกจากลดต้นทุนเช่นเดียวกับเกษตรกรพิจิตรแล้ว ตัวอย่างอื่นที่เห็นได้ชัดคือ การคลายความกังวลจากการทำนาลงได้อย่างมาก ไม่ต้องคอยระแวงว่าจะต้องฉีดยาฆ่าแมลงตอนไหน และจะได้รับอันตรายจากจากสารพิษซ้ำๆอีก  สร้างความมั่นใจให้ชาวนา เรียนรู้แล้วเราไม่กลัวปัญหา ไม่ว่าจะเป็นแมลงจากแปลงข้างเคียง หรือปัญหาอื่นๆที่จะเกิดขึ้นมา เป็นพลังอำนาจของความรู้ที่เกิดขึ้น และสร้างอานุภาพ ศักยภาพให้แก่ชาวบ้าน  ตัวอย่างความรู้เฉพาะพื้นที่ที่ชาวบ้านค้นพบ เช่น การใช้ปุ๋ยเคมีมากทำให้ข้าวงามเกินไปแมลงชอบ
                ความสำเร็จต่างๆที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน เช่น
·       รูปแบบการทำงานของคุณอำนวยค่อนข้างจะมีชั้นเชิง มีระบบระเบียบ และขั้นตอน เช่น เริ่มจากการวิเคราะห์พื้นที่ การตั้งโจทย์วิเคราะห์ปัญหาร่วมกันกับชาวบ้าน การตั้งเป้าหมายชัดเจน มีการดูงานเชื่อมโยงความรู้ภายในและภายนอก ภายในคือการเป็นวิทยากรกันเอง และภายนอกคือการเรียนรู้จากนักวิชาการช่วยเสริมเติมเต็ม โดยคุณอำนวยและมูลนิธิข้าวขวัญในฐานะคุณเอื้อคอยประสาน
·       มีการวางกติการ่วมกัน เป็นข้อตกลงของกลุ่ม เช่น จำนวนวันที่ต้องมาเรียน มีการสร้างสัญลักษณ์ความรู้สึกร่วมของกลุ่มโดยให้ “เสื้อสามารถชาวนา”  และให้รางวัล เชิดชู ยกย่อง ด้วยการมอบ “วุฒิบัตร” โดยผู้ว่าราชการจังหวัด แก่คนที่ผ่านหลักสูตร  ใช้กระบวนการของกลุ่มคอยดูแลสมาชิกในโรงเรียน “เวลาไม่มาเพื่อนจะถามหา” เป็นพลังของเพื่อนคอยกระตุ้น นอกจากการกระตุ้นของคุณอำนวยโดยตรง
·       บทบาทหน้าที่คุณอำนวย ช่วยในการเชื่อมโยงนักวิชาการและชาวบ้านให้มาพบเจอกันอย่างเหมาะสม ถูกเรื่อง ถูกคน ถูกเวลา ทำให้ประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้ เรียนแล้วเอาไปใช้ได้จริง  การพาคนภายนอกมาเรียนรู้ กระตุ้นให้คนภายในไม่หยุดนิ่งในการเรียนรู้
·       คุณอำนวยทำหน้าที่ได้ประสบผลสำเร็จ เพราะได้ผนวกงาน ชีวิต และการเรียนรู้เป็นเรื่องเดียวกัน ได้พลังและกำลังใจจากความอดทนในการเรียนรู้ของชาวบ้าน มีหลักในการทำงานคือ “เชื่อ ชอบ ช่วย” (กล่าวคือให้เขาเชื่อก่อน แล้วจึงทำให้เขาชอบ สร้างความสนิทสนม และเข้าไปช่วยเหลือให้ด้วยใจจริง)
·       โรงเรียนชาวนาวัดดาว เป็นตัวอย่างของธรรมชาติการเรียนรู้ของคนภาคกลางที่กลับลำหันมาทำเกษตรชีวภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ทำได้เพราะประสบการณ์อันตรายจากสารเคมีต่อสุขภาพชาวบ้านเห็น อยากจะเปลี่ยน แต่ไม่มีทางเลือก ไม่มีคุณอำนวยมาเรียนรู้
·       มีการให้กำลังใจกลุ่มนักเรียนชาวนาด้วยกันเอง โดยเขียนโปสการ์ดให้กำลังใจตนเอง และให้กำลังใจเพื่อนใกล้ชิดอีก 2 คน นักเรียนทุกคนมีสมุดบันทึกความสุข ความทุกข์ เขียนให้กำลังใจกันและกัน
·       การวางจังหวะของความรู้ และวิชาการต่างๆที่จะเข้ามาควรเป็นเรื่องอะไร เมื่อใด คุณอำนวยจะเป็นคนประสานจัดการได้เหมาะสม
·       การปรับเปลี่ยนจากเมื่อก่อนหน้านี้จะเน้นเทคนิค แต่การจัดการความรู้ได้เข้ามาเสริมเติมทั้งกระบวนการ เช่น การจัดการกลุ่ม เป็นต้นแล้ว ยังทำให้สามารถดึงความรู้ของชาวบ้านออกมาเด่นชัดขึ้น  เกิดการเชื่อมเครือข่ายออกหลายจังหวัด (นครสวรรค์ พิจิตร ฯลฯ)  ทำให้งานวิจัยของนักวิชาการเชื่อมโยงกับชาวบ้าน ทั้งนี้เพราะคุณอำนวยได้รับการบ่มเพาะจากกระบวนการจัดการความรู้ผ่าน สคส. และ สรส.  ชาวบ้านกลับลำได้ แต่ยังมีไม่กลับใจในตอนแรก สคส.และสรส.มีส่วนช่วยทำให้มีพลังในในการกลับใจ และเกิดความมั่นใจ ใช้ความรู้จัดการนาทุกขั้นตอนได้
ภาพการจัดการความรู้ของโรงเรียนชาวนาวัดดาว
                เห็นภาพการจัดการความรู้โดยคุณอำนวยซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่จากภายนอกชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งด้านความรู้ กระบวนการ และพลังจาก มูลนิธิข้าวขวัญ สคส. สรส. โดยทำการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน โดยชุมชนนักปฏิบัติการคือโรงเรียนชาวนาวัดดาว ต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี มีตัวอย่างของคุณกิจ เช่น ลุงสนั่น และชาวบ้านคนอื่น เป็นภาพการจัดการความรู้ในระดับตำบลที่ชัดเจน โดยอาศัย 3 ผสาน คือ บ้าน วัด และโรงเรียน ดังแผนภาพ


การจัดการความรู้ใน 3 มิติของวัดดาว


การจัดการความรู้ 3 ประสานของวัดดาว

บทสรุป
                ความสำเร็จของการจัดการความรู้ในชุมชน จากทั้ง 2 กรณีสะท้อนให้เห็นภาพที่แตกต่างกัน พิจิตรมีภาพของการจัดการเครือข่ายและการพัฒนาคุณกิจขึ้นมาเป็นคุณอำนวยอย่างชัดเจน ส่วนวัดดาวเป็นภาพของการที่คุณอำนวยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกเข้าไปส่งเสริมชาวบ้านให้เป็นคุณกิจ ทำนาโดยใช้ความรู้
                แต่ทั้ง 2 กรณีสะท้อนให้เห็นว่า การจัดการความรู้จะประสบผลสำเร็จจะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งเสียมิได้ ในหลายส่วน เช่น
1)      ต้องมีสถาบันการเรียนรู้ของชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ในรูปแบบที่มิใช่ทางการ เช่น กรณีพิจิตรมีทั้งในระดับเครือข่ายอำเภอ  จังหวัด และมีศูนย์เรียนรู้อยู่ในตำบลของลุงผดุงและคุณจรัล  ส่วนกรณีวัดดาว มีโรงเรียนชาวนาในพื้นที่เป็นศูนย์รวมของความรู้เกี่ยวกับการทำนาของชาวบ้าน
2)      ห้องเรียนชาวบ้านมิใช่เรียนกันในห้องแล้วจบ แต่จะต้องรับแนวคิด ความรู้ และแรงบันดาลใจจากห้องเรียน แล้วกลับไปทำจริงในแปลงนา เหมือนรับวิชาในห้องเรียนแล้วต้องกลับสู่ห้องแลบในไร่นาของตัวเอง
3)      ต้องมีคนจัดการความรู้ ทำหน้าที่อำนวยการเรียนรู้ ออกแบบการเรียนรู้ สร้างเงื่อนไขปัจจัยให้ชาวบ้านเรียนรู้ ที่สำคัญต้องคอยกระตุ้นการเรียนรู้ จัดการทั้งความรู้ที่จะนำเข้ามาให้ชาวบ้านและขุดออกมาจากชาวบ้าน จัดการให้เกิดการปฏิบัติจริงในไร่นา และจัดการความรู้สึก
4)      การเชื่อมโยง หนุนเสริมทั้งความรู้ กระบวนการ และเทคนิคต่างๆจากหน่วยงานภายนอกเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยต่อยอด ยกระดับได้ เช่น กรณีวัดดาว ที่การจัดการความรู้ช่วยต่อยอดการทำงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ของคุณอำนวย และของคุณกิจที่ชัดเจน
จากกรณีทั้ง 2 นี้ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชาวบ้านต้องการเปลี่ยน แต่ไม่คนพาเปลี่ยน หรือคนที่พาชาวบ้านเปลี่ยนไม่เข้าใจชาวบ้านอย่างแท้จริง ผลของการเปลี่ยนชาวบ้านโดยใช้การจัดการความรู้ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของชาวบ้านซึ่งเรียนผ่านการทดลองปฏิบัติจริง ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง ทำให้ชาวบ้านมีพลังและมีความเข้มแข็งได้อย่างแท้จริง
นอกจากความรู้ต่างๆที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของคุณกิจ ซึ่งเป็นความรู้เชิงเทคนิคแล้ว ความรู้ในเชิงกระบวนการ (learn how to learn) เช่น ความรู้ที่ว่าสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านเปลี่ยนความคิดจิตใจได้อย่างไร เป็นความรู้ที่แฝงเร้นอยู่ในตัวคุณอำนวยและคุณกิจ ซึ่งน่าสนใจและการถอดรหัสการเรียนรู้เหล่านี้ออกมา จะเป็นประโยชน์และช่วยสร้างพลังให้กับคนทำงานจัดการความรู้ในชุมชนได้
ความรู้ทั้ง 2 ส่วนนี้ เป็นการคืนอำนาจของความรู้ให้แก่ชาวบ้านสามัญชน พลิกกลับจากที่เมื่อก่อนความรู้ผูกขาดอยู่กับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ดังมีตัวอย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆว่าปัญญาปฏิบัติของชาวบ้านได้ผลกว่าปัญญาปริยัติที่ราชการและนักวิชาการจำเอาไปให้ชาวบ้าน ซึ่งผ่านการพิสูจน์แล้วว่าโครงการต่างๆของของราชการที่ลงสู่ชุมชนไม่เป็นผลเพราะชาวบ้านไม่เกิดการเรียนรู้ ไม่มีผู้นำพาชาวบ้านเรียนรู้ การจัดการความรู้จึงเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่จะสร้างความยั่งยืนและเป็นทางออกของการสร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถของชุมชนได้อย่างแท้จริง
AAR (บางส่วนจากที่ประชุม)
1. ความรู้สึก
·       ชื่นชม ยินดีในวิถี่การเรียนรู้ของชาวบ้าน ที่พยายามแสวงหาทางออกที่ดีให้กับตนเองอย่างมุ่งมั่นและเปี่ยมพลัง
·       ความรู้อยู่นอกห้องเรียนมากมาย
·       ความรู้อยู่รอบๆ ตัวเรา
·       เรามีทางรอดในภาวะวิกฤติ
·       ดีใจที่เห็นชุมชนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาของตัวเอง ด้วยภูมิปัญญาเดิม และบูรณาการกับภูมิปัญญาจากข้างนอกที่เหมาะสม
2. ความคิด (ฟังแล้วเกิดจุดประกายอะไรบ้าง)
·       ต้องลงมือปฏิบัติจริง
·       ต้องต่อเนื่อง
·       หาโอกาสในการเรียนรู้ให้มากขึ้น
3. สิ่งที่ได้รับและโดนใจมากที่สุด                   
·       เทคนิค ขั้นตอนของกลุ่มที่นำเสนอ
·       ชาวบ้านมีการลงทุนเพื่อตนเองมากขึ้น มากกว่าเพื่อคนอื่น
·       ทำสิ่งที่พอดี พอเพียง ไม่เกินตัว
·       การปรับวิธีคิดจากการผลิตเพื่อขาย เป็นการผลิตเพื่อกิน
·       การดึงพลังชุมชนมาพัฒนา ช่วยเหลือกัน
4. จะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร
·       สนับสนุนการลงมือทำจริง การรวมกลุ่ม
·       พัฒนาตนเองให้ชีวิต ปลอดภัยมากขึ้น
·       พัฒนาเพื่อนเกษตรให้รู้พิษภัยของสาร
·       พัฒนากระบวนการเรียนรู้
·       พัฒนาครอบครัวให้เข้มแข็ง
·       พัฒนาความคิดของตนเอง
·       ส่งเสริมให้ประชาชนผลิตอาหารกินเอง
หมายเลขบันทึก: 8657เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2005 19:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท