ปฏิรูปมหาวิทยาลัยอังกฤษ กับปฏิรูปมหาวิทยาลัยไทย


ปฏิรูปมหาวิทยาลัยอังกฤษ   กับปฏิรูปมหาวิทยาลัยไทย

วิจารณ์  พานิช

8 มิ.ย.48

 

          คนทั่วไปคงจะไม่ทราบว่า   ระบบมหาวิทยาลัยไทยกำลังจะถูกปฏิรูปใหญ่อีกครั้งหนึ่ง     ผ่านการออก พรบ. ของแต่ละมหาวิทยาลัย   เพื่อออกนอกระบบราชการ

 

          ตอนนี้มหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าที่กำลังจะเติบโตเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเต็มรูปต่างก็มองไปที่ มจธ. (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) ที่ออกนอกระบบราชการ     มี พรบ. ใหม่ที่เป็นอิสระดีมา 4 5 ปีแล้ว     และมีการจัดระบบใหม่จนเกิดความก้าวหน้าอย่างน่าชื่นชม

 

          แต่มหาวิทยาลัยที่ละล้าละลังในช่วง 4 5 ปีก่อน     และกำลังอยู่ในขั้นตอนการผ่าน พรบ. ในรัฐสภากำลังอกกลัดหนอง     เพราะอาจจะถูกจัดเข้าใน พรบ. โหล  คือมีรูปแบบของการบริหาร  เหมือน ๆ กันหมด

 

          ในการพิจารณาร่าง พรบ. มหาวิทยาลัยรุ่นหลังนี้     มหาวิทยาลัยที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วทั้ง 3 วาระ   และผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาแล้ว   คือมหาวิทยาลัยบูรพา   กระบวนการพิจารณาร่าง พรบ. ของมหาวิทยาลัยบูรพา     เกิดแนวทางปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ 10 ประเด็นดังนี้

1.      กำหนดสภาพของมหาวิทยาลัยให้ชัดเจนว่ายังเป็น มหาวิทยาลัยของรัฐ

2.      กำหนดความผูกพันให้มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการภายใต้กรอบการศึกษาของชาติ

3.      กำหนดหน้าที่ให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปแก่มหาวิทยาลัยอย่างมีหลักเกณฑ์และรับผิดชอบ   ดูแลมิให้นิสิตนักศึกษาต้องรับภาระจ่ายค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมจนเกินสมควร

4.      กำหนดที่มาของกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิให้มาจากการสรรหาและเสนอชื่อโครงการระบบใหม่

5.      กำหนดบทบาทของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยให้สมบูรณ์ขึ้น     และเพิ่มคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาของชุมชนในท้องถิ่น

6.      กำหนดเพิ่มบทบาทของสภาบุคลากรมหาวิทยาลัย   ให้ดูแลปัญหาการบริหารงานบุคคล   และสิทธิประโยชน์ของบุคลากร

7.      กำหนดให้การโอนสถานภาพของบุคลากรจากข้าราชการไปเป็นพนักงาน   ต้องเป็นไปโดยสมัครใจอย่างแท้จริง   และต้องปฏิบัติต่อบุคลกรทั้งสองประเภทนี้อย่างเสมอภาคด้วย

8.      กำหนดอำนาจหน้าที่กำกับดูแลของรัฐมนตรีให้ชัดเจน

9.      กำหนดให้การบัญชีของมหาวิทยาลัยต้องอยู่ภายใต้อำนาจตรวจสอบของ สตง.

10.  กำหนดการได้มาของสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารตามระบบใหม่ให้เป็นไปโดยสมเหตุสมผล

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นมี 3 ประการใหญ่ ๆ

1)      การมองว่ามหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่เหมือน ๆ กันหมด   มีโครงสร้างการบริหาร   การ

     กำกับดูแล  เหมือน ๆ กันหมด   หรือจะให้มีความแตกต่างกัน

2)      การกำหนดรายละเอียดในข้อ 4 ให้มีแนวทางเดียวกัน

3)      สาระและอำนาจของรัฐมนตรี   ตามข้อ 8

 

เข้าใจว่าจะมีกลุ่มมหาวิทยาลัยที่กำลังพัฒนาไปเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเต็มรูปแบบ   เจรจาต่อรอง

โครงสร้าง พรบ. ที่แตกต่างออกไป   เพื่อให้สามารถพัฒนาไปเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยได้

 

          ถ้าการเจรจานี้ไม่ประสบผลสำเร็จ   ระบบมหาวิทยาลัยไทยก็จะมีอาการ ถอยหลัง ครั้งใหญ่

 

          เป้าหมายของการออกนอกระบบราชการคือ   ความเป็นอิสระ (แต่รับผิดชอบต่อสังคม) แต่ขณะนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่รัฐมนตรีจะมีอำนาจสั่งการต่อมหาวิทยาลัยเพิ่มสูงขึ้น

 

          ทีนี้หันมาดูที่อังกฤษบ้าง   กำลังเกิดเหตุใหญ่ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด     มหาวิทยาลัยดีที่สุดอันดับ 5 ของโลกตามการจัดลำดับระบบหนึ่งและอันดับ 8 ตามอีกระบบหนึ่ง     โดยที่มีเค้าว่าอันดับจะตกลงไปเรื่อย ๆ ถ้าปล่อยให้ระบบการบริหารงานยังเป็นไปอย่างปัจจุบัน

 

          นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์   ฉบับวันที่ 21 27 พ.ค.48   ลงบทวิเคราะห์ที่หน้า 14 และหน้า 55 56   เรื่องความขัดแย้งใหญ่โตระหว่างคณาจารย์กับอธิการบดี (Vice – Chancellor)   จากการที่อธิการบดีเสนอ ยกเครื่อง ระบบบริหารมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ 2 เรื่องคือ

(1)   รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจด้านนโยบายและการบริหาร

(2)   แก้ไขระบบการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับอาจารย์   ให้อัตราเงินเดือนสัมพันธ์กับผลงาน (performance)

 

 

 

เหตุผลที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่   ก็เพราะระบบบริหารของอ็อกซฟอร์ดอยู่ในสภาพ ไม่

เป็นระบบ   ต่างคนต่างทำ   ต่างวิทยาลัยต่างก็มีอิสระสูงมาก   ขาด synergy ระหว่างกัน   และทำให้ทั้งมหาวิทยาลัยมีปัญหาการเงิน   รายละเอียดมีมาก   หาอ่านกันเอาเองนะครับ

          ระบบของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดเป็นระบบที่เรียกว่า college system ใช้มาตั้งแต่ คศ.1249  คือสมัยสุโขทัย

 

          อำนาจตัดสินใจว่าจะปฏิรูประบบตามข้อเสนอของอธิการบดีหรือไม่   อยู่ที่สภาคณาจารย์   ที่เขาเรียกว่า Don’s Parliament  ซึ่งได้โหวตไม่รับข้อเสนอที่ 2 ไปแล้ว   ส่วนข้อเสนอที่ 1  อยู่ระหว่างการโต้กันอย่างเผ็ดร้อนและจะพิจารณาใหม่ในเดือน พ.ย.48

 

          การเปลี่ยนแปลงระบบแบบถอนรากถอนโคนก็ยากอย่างนี้แหละ

 

          สงสัยอาจเป็นเพราะทั้งระบบของไทยและระบบของอังกฤษ   เป็นระบบที่ไม่เรียนรู้ (Non – Learning Systems) ทั้งคู่   จึงกลายเป็นระบบที่ล้าหลังอย่างที่เป็นอยู่

 

          มหาวิทยาลัยเป็นระบบที่ไม่เรียนรู้   เป็นเรื่องแปลกแต่จริง

 

                                                                                      วิจารณ์  พานิช 

                                                                                         21  พ.ค. 48

     

 

         

 

หมายเลขบันทึก: 86เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2005 01:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท