ลปรร.กับนักจัดการความรู้ท้องถิ่น แบบ F2F วันนี้ที่ KM Forum


"ชาวบ้านที่เป็นคนชายขอบที่มีศักยภาพยังมีมาก เขาต้องการเพียงโอกาสในการเข้าถึง อย่างอื่นไม่เป็นไร","สังคมต้องนึกถึงและให้โอกาสกับคนชายขอบ ที่มักจะด้อยโอกาส...ครับ"

     ในที่สุดการไปจด ๆ จ้อง ๆ อยู่ที่บูธของการจัดการความรู้ท้องถิ่น ของสถานบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 ก็ได้ ลปรร. กันกับทีมงานฯ ด้วยเหตุผลที่ตั้งใจมาจากบ้านว่า อยากให้พื้นที่ในโครงการไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชนที่ จว.พัทลุง เกิดทีมงานนักจัดการความรู้ท้องถิ่น เนื่องจากขณะนี้ในพื้นที่พร้อมเดินเรื่องแล้ว รับหลักการแล้ว เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่ อ.ปากพะยูน หรือ พื้นที่อื่น ๆ แต่พี่เลี้ยง (มองที่ผมเอง) ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกนัก หรือจะพูดแบบตรง ๆ ก็คือ ทีมงานของเรา (ไตรภาคีฯ) ควรจะได้มีพี่เลี้ยงในเรื่องนี้ให้ชัดเจน

     ฟังอาจารย์หมอวิจารณ์ฯ เมื่อช่วงเช้าพูดกับผม (ตามที่บันทึกที่ บรรยากาศเช้า ๆ ของงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 วันแรก) ว่า "ที่ผมทำ ๆ อยู่นั้นแหละ คือ การจัดการความรู้แล้ว" พอไปฟังจากทีมงานที่บูธของการจัดการความรู้ท้องถิ่น พูดให้ฟังอีกครั้งว่า "งง ๆ นั่นแหละเป็นการจัดการความรู้ที่ดี" เอ๊ะ ทำไมผม get เรื่องนี้ยากจริง (บ่นกับตัวเอง) อาการอย่างนี้ถ้าเกิดกับผม จะเป็นเพราะผมยึดติดอะไรอยู่ในใจ (ที่ไม่รู้ตัวบางอย่าง) หรือไม่ก็จับอะไรไม่ได้เลย (ว่างเปล่า) แต่ที่แน่ ๆ ผมตอบอย่างมั่นใจว่า ณ วันนี้ผมเข้ามาพัวพันกับการจัดการความรู้ ไม่ใช่เพราะกระแส แต่เป็นเพราะภาระงานที่เป็นของจริง (โครงการไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน) ได้บีบบังคับผมมาในทางที่ถูกที่ควร ว่าจะต้องใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ (ด้วยเพราะการจัดการความรู้เท่าที่ผมเข้าใจคือ) เครื่องมือในการทำงานปกติให้มีประสิทธิภาพ และคุณภาพเพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งว่าชาวบ้านที่เป็นภาคีจะต้องได้ประโยชน์สูงสุดจริง ๆ

     ผมได้พูดคุยและได้ ลปรร.กันกับทีมงาน โดยตัวแทนคือ คุณชไมพร วังทอง ผู้ประสานงาน สรส.ภาคกลาง ได้ให้เบอร์ติดต่อไว้ แลกกันกับผม เพื่อเชื่อมประสานความร่วมมือในภายหลัง พร้อมทั้งชักรูปไว้ 1 รูป (ขอทวงด้วยครับ อย่าลืมส่งให้ผมด้วยนะครับ) ผมสนใจหนังสือหลายเล่มที่เอามาแนะนำ เช่น การศึกษาศักยภาพชุมชน การพัฒนาบุคลิกภาพและทุกข์ของชุมชน มลฑลแห่งพลัง วิธีวิทยาการถอดบทเรียน และการสังเคราะห์องค์ความรู้ สร้างสรรค์ความสัมพันธ์คนสามวัย ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเรื่องเรียนรู้กับผู้นำชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทราบว่ายังไม่ได้พิมพ์จำหน่าย ก็ฝากแจ้งข่าวด้วยหากมีการพิมพ์จำหน่ายแล้ว

     ทำไมพี่ถึงใช้ชื่อ "ชายขอบ" ตามที่เคยอ่านใน blog ของ gotoknow.org เป็นคำถามจากทีมงานฯ ของนักจัดการความรู้ท้องถิ่นครับ ผมตอบแล้วไปครั้งหนึ่ง ก็อยากจะบันทึกไว้ที่นี้ด้วยว่า

          "มองจากตัวเองที่เป็นคนชายขอบ เมื่อก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมวงในได้บ้างแล้ว ก็อยากดึงมือคนชายขอบอีกมากมาย ที่ยังขาดโอกาสต่าง ๆ ในการเข้าถึง ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมวงในดูบ้าง ทั้งนี้เพื่อความเท่าเทียมกันของคนในสังคมนี้"
          "ชาวบ้านที่เป็นคนชายขอบที่มีศักยภาพยังมีมาก เขาต้องการเพียงโอกาสในการเข้าถึง อย่างอื่นไม่เป็นไร"
          "สังคมต้องนึกถึงและให้โอกาสกับคนชายขอบ ที่มักจะด้อยโอกาส...ครับ"

     ขอบคุณทีมงานทุกคนที่ บูธนักจัดการความรู้ท้องถิ่น ที่ได้ร่วม ลปรร.กัน

หมายเลขบันทึก: 8583เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2005 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท