คำนำ นานาเรื่องราวการจัดการความรู้


เป็นหนังสือที่แจกในงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒
คำนำ
นานาเรื่องราวการจัดการความรู้
นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ จำนวน 30 เรื่องนี้  เขียนขึ้นแบบตีความ    คล้ายเอาแว่นส่องแล้วเขียนว่าเห็นอะไร     แว่นที่ใช้ส่องนั้นคือ “แว่นจัดการความรู้”     เรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้คงจะสามารถตีความได้หลากหลายแบบ    แล้วแต่ “จริต” ของผู้ตีความ     ในที่นี้ผู้ตีความคือทีมสร้างกระแสการจัดการความรู้ หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า ที่มประชาสัมพันธ์ นำโดยคุณเปา (ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร)     และมีทีมงาน ๓ คนคือ คุณตุ่ม (ศศิธร อบกลิ่น)   คุณน้ำ (จิราวรรณ เศลารักษ์)  และคุณแขก (อาทิตย์ ลมูลปลั่ง)     ท่านทั้งสี่นี้คือเจ้าของการตีความในหนังสือเล่มนี้    โดยที่มีการทำงานแบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับทีมงานของ สคส. และภาคีเครือข่ายอยู่ตลอดเวลา  
เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้บอกอะไรเราบ้าง    คงจะตีความไปได้แตกต่างหลากหลายเช่นเดียวกัน    ในการตีความของผม    ผมเห็นสิ่งต่อไปนี้
1.        หน่วยงานหรือชุมชนเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีการดำเนินการจัดการความรู้อยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว และไม่รู้จักการจัดการความรู้ 
2.        เมื่อทำความรู้จักหลักการและวิธีการจัดการความรู้    แล้วนำไปปฏิบัติ    เกิดการก้าวกระโดดในการพัฒนาคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ของงานอย่างชัดเจน
3.        ผู้คนที่เป็นสมาชิกของหน่วยงานหรือชุมชนที่ดำเนินการจัดการความรู้ มีความสุขมากขึ้น   มีความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง และเพื่อนร่วมงานมากขึ้น    เกิดความเคารพและเห็นคุณค่าซึ่งกันและกันมากขึ้น
4.        หากมีการเชื่อมโยงขับเคลื่อนกิจกรรมจัดการความรู้เหล่านี้ ให้ดำเนินการอย่างมีระบบมากขึ้น    ใช้หลักวิชาด้านการจัดการความรู้มากขึ้น     จะเกิดการเพิ่มคุณค่าและมูลค่า (value add) ของกิจกรรมเหล่านั้น     และจะนำไปสู่การเป็นสังคมที่มีความรู้เป็นฐาน
การจัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้น     มีเป้าหมายเพื่อใช้เรื่องราวในหนังสือนี้เป็นสื่อเชื่อมเครือข่ายจัดการความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น    ให้ผู้สนใจจะใช้เครื่องมือนี้รู้ว่าจะไปขอเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์และความสำเร็จได้ที่ไหน     เราเชื่อว่าการไปขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน จะเป็นเครื่องมือขยายกิจกรรมจัดการความรู้ออกไป     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายหรือพัฒนาในเชิงคุณภาพ   
เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้เป็น “ตัวอย่างคัดสรร” ที่ทีมผู้จัดทำได้ทุ่มเทเวลาและความสามารถ   เข้าไปศึกษาเรื่องราวและนำมาถ่ายทอด (แบบตีความดังกล่าวแล้ว)     แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวอย่างของการดำเนินการจัดการความรู้ที่ดี ในประเทศไทยมีอยู่เพียงแค่นี้    เราเชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายเท่าของกรณีตัวอย่างในหนังสือนี้     เพียงแต่ว่าทีมงานยังเข้าไม่ถึง     ดังนั้นหากมีหน่วยงานใด หรือชุมชนใด ดำเนินการในทำนองนี้อยู่ โปรดเล่าเรื่องราวของท่านให้ทีมผู้จัดทำหนังสือนี้ทราบ     หรือแจ้งแก่ สคส. ทางเว็บไซต์ www.kmi.or.th หรือเปิด บล็อก ใน http://gotoknow.org เล่าเรื่องราวของท่าน    ทีมงานของ สคส. จะพิจารณาไป “จับภาพ” การจัดการความรู้ของท่านเอามาเผยแพร่ในรูปแบบที่หลากหลาย
เป้าหมายสุดท้าย คือการร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไทยครับ     ขับเคลื่อนไปสู่สังคมความรู้ – สังคมปัญญา     เน้นที่ ปัญญาปฏิบัติ
วิจารณ์ พานิช
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
http://thaikm.gotoknow.org
[email protected]
๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๘    
หมายเลขบันทึก: 8573เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2005 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท