สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลกับการจัดการความรู้


เป็นหน่วยงานที่ใช้สนับสนุนการ KM ในหน่วยงานอื่น เพื่อบรรลุผลงานของ พรพ.

สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล

อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล

          สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) เป็นองค์กรที่ประยุกต์ใช้การจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตัวในการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง  เป็นการสั่งสมความรู้และประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานของแนวคิดและปรัชญาคุณภาพร่วมสมัย  ทำให้เกิดวิวัฒนาการของการทำงานจากการเน้นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพสำหรับกิจกรรมเป็นเรื่องๆ มาสู่การพัฒนาที่มุ่งเน้นเป้าหมายขององค์กรในภาพรวม การพัฒนาตามมาตรฐานและการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทขององค์กรและหน่วยงาน

          แม้จะใช้การรับรองเป็นแรงจูงใจ แต่ปรัชญาที่กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มต้นก็คือ ทั้งหมดเป็นเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ การแปลคำว่า Accreditation เป็นภาษาไทยก็ใช้คำว่า “การพัฒนาและรับรองคุณภาพ” เพื่อเป็นการเน้นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ  ซึ่งในกระบวนการพัฒนาคุณภาพนั้นจะเกิดการเรียนรู้ขึ้นจากการทบทวนผลงานของตนเอง  พรพ.ได้พัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้โรงพยาบาลใช้ประเมินตนเอง ประเมินเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อเนื่อง

          กระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (Hospital Accreditation-HA) เป็นการส่งเสริมการนำความรู้มาสู่การปฏิบัติที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและความเคยชิน  ความรู้ที่กล่าวนี้ครอบคลุมทั้งความรู้ด้านการบริหารองค์กร และความรู้ทางวิชาชีพ  เป็นความรู้ที่อยู่ในตำรา และเป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์  และจะต้องบูรณาการศาสตร์ทุกแขนงที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันจึงจะเกิดประโยชน์หรือง่ายในการปฏิบัติ

          พรพ. ทำหน้าที่เสมือน knowledge broker นำความรู้และแนวคิดใหม่ๆ มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ทำให้เรียบง่าย เผยแพร่สร้างความเข้าใจกับโรงพยาบาล รับทราบและช่วยแก้ปัญหาในการนำไปปฏิบัติ รวมทั้งเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากที่ต่างๆ เพื่อขยายผลให้โรงพยาบาลอื่นๆ ได้รับรู้

          การชักชวนหรือกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพขึ้นในโรงพยาบาล จะด้วยเครื่องมือก็ดี ด้วยมาตรฐานก็ดี ด้วยการรับรองก็ดี  เป็นการนำโรงพยาบาลให้เคลื่อนจากภาวะปกติ ไปสู่ภาวะของความสับสนหรือความไร้ระเบียบ ซึ่งจะกระตุ้นให้ค้นหาและทดสอบวิธีการใหม่ๆ และกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่งที่มีระบบงานและผลงานดียิ่งขึ้นกว่าเดิม  เท่ากับเป็นตัวเร่งให้โรงพยาบาลต่างๆ เคลื่อนตัวไปตาม Cynafin Framwork ของการจัดการความรู้  และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นทั้งองค์กร มิใช่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง  บางครั้งความท้าทายจากภายนอกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความมุมานะและการรวมพลังอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน

          แม้จะผ่านความยากลำบากและความเจ็บปวดอยู่บ้าง แต่กระบวนการนี้ก็ได้ปลดปล่อยผู้คนจากความสิ้นหวัง ทำให้บุคลากรต่างๆ ของโรงพยาบาลทุกระดับได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนออกมา ได้เห็นคุณค่าของตนเอง เกิดความเป็นเพื่อนและเครือข่ายระหว่างผู้คนในโรงพยาบาลต่างๆ ขึ้น

          พรพ.เป็นองค์กรเล็กๆ ที่ทำงานโดยอาศัยความร่วมมือของบุคคลและองค์กรต่างๆ ที่มีเป้าหมายและความเชื่อร่วมกัน บางคนเป็นวิทยากรที่จะสอนความรู้และทักษะพื้นฐาน บางคนทำหน้าที่ที่ปรึกษาที่จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาโดยการใช้เทคนิคของการเป็นโค้ช บางคนทำหน้าที่เป็นผู้เยี่ยมสำรวจที่จะประเมินความสำเร็จในการพัฒนา บางองค์กรช่วยสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ บางองค์กรเข้าไปร่วมรับรู้ปัญหาและให้ข้อชี้แนะแก่โรงพยาบาล  ความหลากหลายของบุคคลและองค์กรดังกล่าว ก่อให้เกิดความงามและความสมบูรณ์ของการพัฒนาด้วยการเติมเต็มให้แก่กันและกัน  ความเชี่ยวชาญที่เกิดจากการปฏิบัติค่อยๆ สะสมขึ้นในมาแต่ละบุคคล มีความจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการแปลงออกมาเป็นความรู้ที่สามารถถ่ายทอดไปสู่บุคคลอื่น

          พรพ.มีบทบาทในการชี้นำทิศทางการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล โดยพิจารณาทั้งความจำเป็นที่เกิดขึ้นในประเทศและจับทิศทางของกระแสโลก  theme ของการจัดประชุม National Forum ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วประเทศจำนวนมาก จึงเป็นการชักชวนกันศึกษาและลงมือปฏิบัติในสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทาย เช่น ความเรียบง่าย ความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย การจัดการความรู้ เป็นต้น

          เพื่อตอบสนองความตื่นตัวของโรงพยาบาล ความต้องการการให้คำแนะนำของโรงพยาบาล และเพื่อให้โรงพยาบาลสามารถพัฒนาไปสู่ความสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น  พรพ.จึงสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเรียนรู้ในจังหวัดต่างๆ ใช้แนวคิดและเทคนิคของการจัดการความรู้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาตามศักยภาพและความพร้อมของโรงพยาบาล ทำให้เกิดตัวอย่างเครือข่ายการจัดการความรู้ที่เกิดผลดีมากในหลายจังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ หนองคาย ตาก สงขลา เป็นตัน

          กิจกรรมอื่นๆ ที่ พรพ.สนับสนุนการนำการจัดการความรู้มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล เช่น การจัดให้มีการบรรยายนำเรื่องการจัดการความรู้ และการนำแนวคิด “เรื่องเล่าเร้าพลัง” มาใช้ในการประชุมประจำปี  การจัดให้มีชุมชน Hospital Accreditation ในบล็อก Gotoknow.org เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้  การร่วมกับ สคส.สนับสนุนการดำเนินการ HKM (เครือข่ายจัดการความรู้ในโรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่าง)

          HA และ KM เป็นสิ่งที่เสริมและเอื้อต่อกัน  ช่วยให้โรงพยาบาลสามารถทำหน้าที่ตามเป้าหมายของตนได้อย่างสมบูรณ์ 

สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.)

ชั้น 2 อาคารกรมการแพทย์ 6 ถนนติวานนท์ อ.เมือง นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ 0 2951 0102-3, 0 2951 0237, 0 2589 0023-4

โทรสาร 0 2951 0238

เว็บไซต์: http://www.ha.or.th

หมายเลขบันทึก: 8519เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2005 05:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท