Passion Plan ของชาวตลาดนัดความรู้ รุ่นที่ ๒


ขอให้อีก 17 ทีมที่มาตลาดนัดความรู้ครั้งที่ 2 นำเสนอ Passion Plan ของทีมตนเอง โดยบันทึกลงบล็อก

อย่างที่ดิฉันเคยเขียนไปแล้วว่า ตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ครั้งที่ 2 มีงานที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า แต่ถึงเวลาทำจริงกลับหลงลืมตกหล่น เพราะมัว concentrate อยู่กับเรื่องเฉพาะหน้า Passion Plan ของแต่ละทีมเป็นเรื่องหนึ่งที่ตกหล่นไป และดิฉันตั้งใจจะสื่อสารให้ทุกทีมนำเสนอ Passion Plan ผ่านบล็อก ก็พอดีเมื่อวานเย็นได้รับ e-mail จากคุณหมอฝน พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล "คุณอำนวย" คนหนึ่งของเรา สิ่งที่คุณหมอเขียนบอกความตั้งใจ สิ่งที่ปรารถนาหรือต้องการจะทำต่อไป คุณหมอไม่ได้คิดคนเดียวนะคะ แต่ประชุมร่วมกับทีมงานด้วย

ดิฉันขอให้อีก 17 ทีมที่มาตลาดนัดความรู้ครั้งที่ 2 นำเสนอ Passion Plan ของทีมตนเอง โดยบันทึกลงบล็อก เพียงบอกว่าหลังจากเข้าร่วมตลาดนัดความรู้แล้ว ทีมได้ความรู้อะไรติดไม้ติดมือกลับไปบ้าง ทีมมีความใฝ่ฝันหรือปรารถนาจะทำสิ่งใดต่อไป ไม่ต้องเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องเล็กๆ ก็ได้ค่ะ ดูของทีมคุณหมอฝนเป็นแนวทางก็ได้ค่ะ

 
 พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล

สวัสดีค่ะอาจารย์วัลลา 

ฝน สกาวเดือน นำแสงกุล รพ.ครบุรี จ.นคราชสีมา นะคะ ที่ได้เรียนปรึกษาอาจารย์ในวันสุดท้ายที่ประชุม เรื่องการอบรมผู้กำหนดอาหาร ฝนและทีมได้มาประชุมกับทีมที่ไม่ได้ไป สรุปได้ดังนี้ค่ะ

ประชากรอายุ ๓๕ ปีขึ้นไป.....(เป็นลูกศรนะคะ หาตัวพิมพ์ไม่ได้-วัลลา) คัดกรองความเสี่ยงตามแบบของ อ.วิชัย บูรณาการกับแบบคัดกรองหลอดเลือดดีที่มีอยู่เดิม.......FBS ในกลุ่มเสี่ยง.......ได้ผลเป็น ๓ กลุ่ม

     กลุ่มที่ 1 FBS < 100 mg%.......คัดกรองความเสี่ยงทุกปี

     กลุ่มที่ 2 FBS 100-125 mg%.......จัดกิจกรรมกลุ่ม IFG กลุ่มละไม่เกิน 50 คน โดยในปีนี้วางแผนทำในพื้นที่ 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลแซะ (ที่ตั้ง รพ.) ต.อรพิมพ์ (ที่ตั้ง สอ.นาราก) สอ.ดอนแสนสุข สอ.เฉลียง สอ.ลำเพียก สอ. จระเข้หิน (อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง) โดยคุยกันว่าจัดกิจกรรมทุก 4 เดือน โดยมีจุดประสงค์ในครั้งแรกที่จะสร้างสัมพันธภาพ ช่วยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าใจและตระหนักในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย และเรื่องจิตใจ ในครั้งที่ 2 เพื่อให้กำลังใจและค้นหาศักยภาพของผู้เข้ากลุ่ม ครั้งที่ 3 เพื่อค้นหาผู้นำด้านสุขภาพ โดยในทุกครั้งจะมีการชั่งน้ำหนัก วัดรอบเอว คำนวณ BMI เจาะ FBS พูดคุยปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง

     กลุ่มที่ 3 FBS 126 mg% ขึ้นไป.......เป็นเบาหวาน ก็จะเข้าสู่กิจกรรมในคลินิกเบาหวาน

รพ.ครบุรีได้จัดให้มีทีมสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ เภสัช พยาบาล ออกให้บริการคลินิกโรคเรื้อรังที่สถานีอนามัย 16 แห่งมา 3 ปีแล้วค่ะ โดยมีแพทย์ 1คน รับผิดชอบประมาณ 3 สถานีอนามัย ได้พยายามให้มีการให้ความรู้ด้านอาหารและการออกกำลังกายตลอด พบว่าการออกกำลังกาย พยาบาลและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยพอทำได้ แต่ด้านการกำหนดอาหารยังทำไม่ได้ดี ซึ่งเคยอบรมไปแล้ว 1 ครั้ง ฝนจึงขอรบกวนส่งอบรมผู้กำหนดอาหารที่ รพ.เทพธารินทร์ จำนวนประมาณ 20-25 คน ไม่ทราบว่าในช่วงเดือนมกราคมสามารถไปอบรมได้หรือไม่ค่ะ ช่วงไหน กี่วัน และฝนควรจะสอนความรู้ด้านไหนไปก่อนบ้างไหมคะ เพราะพี่ๆ ไม่ได้เป็นโภชนากรไปอาจทำให้ไม่เข้าใจได้ถ้าไม่มีพื้นความรู้เลย และขอแถมเรียนรู้เรื่องการดูแลเท้าด้วยได้ไหมคะ แล้วก็เรื่องค่าใช้จ่าย ไม่ทราบว่าฝนต้องทำอย่างไรบ้างคะ ถ้าจะขอทุนจาก Terumo

อีกประเด็นนะคะ ตอนนี้ฝนปรับคลินิกใน รพ. และ สอ.ที่ฝนรับผิดชอบ 3 สอ. ได้แก่ นาราก ดอนแสนสุข บ้านใหญ่ เป็น 2 hr PP ทำให้ฝนจัดบริการเป็น เช้า-บ่ายและกำหนดไม่ให้มีจำนวนผู้ป่วยเกิน 40 คนและจัดกิจกรรมอื่นๆ คือฝนให้ผู้ป่วยรับประทานอาหาร 7.00 น.หรือ 12.00 น. ถ้านัดมาตอนบ่ายและให้มาถึงสถานบริการ 08.00 น.และ 13.00 น. เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ได้แก่ให้มาออกกำลังกายร่วมกัน และมีกิจกรรมหมุนเวียน เช่น คลายเครียด นวดเท้า คุยเรื่องโรคและอาหาร ชั่งน้ำหนัก ตรวจ V/S คำนวณ BMI และให้เจาะเลือด 09.00 และ 14.00 น.

จากนั้นในเดือนมกราคมจะมีทีมจากแผนกแผนไทยและกายภาพบำบัดมาพาผู้ป่วยดูแลเท้า โดยให้ปฏิบัติจริงเป็นกลุ่มเล็ก 3-5 คน และให้เข้าพบแพทย์ครั้งละ 3 คน เพื่อตรวจและพูดคุยลักษณะ Focus group และให้กลุ่มที่ยังไม่เข้าใจการกำหนดอาหารก็จะไปคุยกับพยาบาล เพื่อคุยเรื่องการกำหนดอาหาร และในเดือนมกราคม เภสัชยกห้องยาน้อยมาที่คลินิกด้วย เพื่อให้การสื่อสารกับทีมอื่นๆ และกับผู้ป่วยเป็นไปได้ดีขึ้น สำหรับเรื่องการคัดกรองภาวะแทรกซ้อนที่ รพ.ครบุรี ทำต่อเนื่องมา 2-3 ปีแล้วค่ะ คิดว่าไม่มีปัญหาใดๆ

ส่วนประเด็นผู้ป่วยรับไว้ในโรงพยาบาล แต่เดิมได้มีการทำ grand round ผู้ป่วยเบาหวานที่มานอนโรงพยาบาล แต่สำหรับแผนที่จะปรับปรุงต่อเพื่อเชื่อมโยงลงชุมชนให้ได้ชัดเจน ยังไม่ได้ประชุมค่ะ ถ้าได้ผลอย่างไรฝนจะเล่าให้อาจารย์ฟังนะคะ หวังว่าอาจารย์จะไม่เบื่อนะคะ

สุดท้ายขอความกรุณาอาจารย์ให้คำแนะนำเพิ่มเติมด้วยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

ฝน

ดิฉันตอบ e-mail คุณหมอฝนไปแล้ว และจะช่วยประสานแหล่งประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้คุณหมอฝนทำงานได้ตามที่ตั้งใจไว้ ดิฉันและทีมงานเครือข่ายจะพานักกำหนดอาหารไปเยี่ยมทีมของคุณหมอฝน เพื่อเรียนรู้สถานการณ์ ชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกินของผู้ป่วยและชาวบ้านแถวนั้นก่อน จะได้ออกแบบหลักสูตรการอบรมได้เหมาะสม สัปดาห์หน้าคุณสุภาพรรณ ตันตภาสวศิน คงจะติดต่อคุณหมอฝนเพื่อนัดหมายวันเวลากันอีกที เราจะถือโอกาสนี้แวะเยี่ยมชาวตลาดนัดความรู้รุ่น 1 ที่อยู่ใกล้เคียงกันด้วย

คุณหมอฝนตั้งใจจริง คิดเร็ว ทำเร็ว เครือข่ายพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ค่ะ ทีมอื่นอย่าให้น้อยหน้านะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 8504เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2005 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
      ดีใจแทน ชาวครบุรี  ที่เจ้าหน้าที่ใจใส่ครับ ขอเอาใจช่วยครับ ได้ผลอย่างไร เล่าสู่กันฟังนะครับ
ทำงานเยอะนะครับ แต่ท่าทางไม่เหนื่อนะครับเมื่ออ่านจากเรื่องเล่า  เป็นกำลังใจให้ครับ เพราะการทำงานสนุก และมีความสุข เป็นสุดยอดของงานที่ไฝ่ฝันครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท