KM ใน สคส.


มีการทำ KM แทรกอยู่ในทุกกิจกรรม ทุกเวลา ทุกย่างก้าว
KM ใน สคส.

โดยชื่อของ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) แล้ว มีนัยสำคัญในเชิงภารกิจตรงตัวว่า จัดการความรู้เพื่อสังคม คือ ทำเพื่อคน (อื่น) ในสังคม  สมาชิก สคส. ทำหน้าที่เสาะแสวงหาและกระตุ้นให้สังคมขับเคลื่อนชุมชน (community) แห่งตนด้วยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า การจัดการความรู้ (Knowledge Management, KM) ควบคู่ไปกับ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในกลุ่มผู้ปฏิบัติการจัดการความรู้ตัวจริงที่อยู่ในชุมชนต่างๆ    ในขณะเดียวกัน ชุมชนก็เป็นบริบทที่หลากหลายให้ สคส. ได้ร่วมเรียนรู้ และซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้นด้วย  และดูเหมือนว่า ยิ่งก้าวออกไปเพื่อการ ให้ (การสนับสนุนด้านการจัดการความรู้)  สคส. ก็ยิ่งได้ รับ” (ทุนทางสังคมท้องถิ่น) กลับมามากเป็นทวีคูณ

อย่างไรก็ดี พวกเราสมาชิก สคส. จำนวน 10 ชีวิต ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยเช่นกัน  มีการใช้วิถีชีวิตและวิธีการทำงานเช่นเดียวกับองค์กรอื่น  อาจจะมีแตกต่างกันบ้างในบางประเด็น  ดังนั้น คาด (เดา) ว่า คงมีคนอยากรู้ว่า ในขณะที่ สคส. ออกไปจัดการความรู้ให้กับคนอื่น แล้วใน สคส. เอง ได้มีการจัดการความรู้บ้างหรือไม่ ในรูปแบบใด เหมือนกับที่ไปแนะนำคนอื่นหรือไม่  ที่พอจะเดาคำถามนั้นได้ เพราะว่าเคยมีบางหน่วยงานติดต่อเข้ามาเพื่อขอมาดูงานที่ สคส. ว่าทำงานกันอย่างไร  เป็นองค์กรเล็กๆ เพียง 10 คน แต่ทำไมจึงขยายเครือข่ายได้มากมายอย่างเหลือเชื่อ  ซึ่งผู้ที่ถามเข้ามา ก็จะได้รับคำตอบกลับไปอย่างผิดหวังว่า มาดูงานที่ สคส. ก็คงไม่ได้อะไรกลับไปมากนัก เพราะเราไม่ได้มีกฎระเบียบหรือขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อนยุ่งยาก-เข้มงวดจนแทบขยับไม่ได้  แต่เรามีกฎกติกาในการทำงานร่วมกันแบบเปิดกว้าง เป็นอิสระ แต่พึ่งพิงเกาะเกี่ยวกันแบบลูกโซ่ที่ร้อยรัดให้อยู่ด้วยกันอย่างสมดุล

แท้จริงแล้ว KM ใน สคส. ก็คงไม่ต่างไปจากในองค์กรอื่นๆ  แต่น่าจะอยู่ที่ความเข้มข้นเต็มร้อย และการที่ KM ฝังอยู่ในตัวเนื้องาน ไม่ได้เป็นติ่งหรือส่วนเกินออกมา  ใน สคส. มีหมวกอยู่หลายใบ  พวกเราทุกคนมีโอกาสที่จะเลือกหมวกที่เราชอบมาสวมใส่  ส่วนใหญ่พวกเราได้รับโอกาสให้มีอิสระในการเลือกหมวกกันเอง ซึ่งมีหลายครั้งที่พวกเราสวมหมวกครั้งละหลายๆ ใบพร้อมกัน  บางครั้ง สวมแล้วไม่เหมาะกับใบหน้า เราก็เลือกใบใหม่ พวกเราทุกคนไม่ว่าสูงอายุหรืออายุเยาว์ เลือกสวมได้ตั้งแต่หมวก คุณเอื้อ  “คุณประสาน”  “คุณอำนวย  คุณกิจ ตามแต่สถานการณ์ แล้วแต่ใครจะเลือกเป็นเจ้าภาพเรื่องอะไร

ดูๆ ไปแล้ว คนทั่วไปอาจจะกำลังนึกอยู่ว่า พูดง่าย แต่ทำยาก  เด็กๆ จะไปสวมหมวก คุณเอื้อ ได้อย่างไร  แต่ที่ สคส. ถ้าคุณกล้าเลือก คุณก็หยิบมาสวมได้เลย  เพราะเมื่อคุณเลือกที่จะสวมหมวกใบไหน  นั่นเป็นโอกาสที่คุณจะได้แสดงความรับผิดชอบและใช้ความสามารถหลักที่มีอยู่ในตัวคุณเพื่อการทำงานที่สร้างสรรค์ของคุณ   ที่จริงแล้ว ถ้าคุณมีอิสระที่จะเลือกทำสิ่งใดๆ คุณก็คงเลือกในสิ่งที่รักและถนัด  ซึ่งที่ สคส. พวกเราได้รับโอกาสอิสระเช่นนี้อย่างเต็มเปี่ยม ทำให้ใจเราเบา ไม่ติดยึดกับตำแหน่งหน้าที่  มีการทำงานร่วมกันอย่างเอื้ออาทร แบบครอบครัว  แบบเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Assist) ในระนาบเดียวกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น พวกเราคิดว่ามีองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้การจัดการความรู้ใน สคส. เป็นไปตามธรรมชาติ  ทำให้พวกเราทำ KM โดยไม่รู้สึกว่าต้องทำ KM เพราะ KM แนบแน่นอยู่ในงานของพวกเราอยู่แล้ว อาทิ

1.  สถานที่ทำงาน อาคันตุกะที่มาเยี่ยมเยือนเราจะบอกว่า สคส. เป็นสำนักงานที่อากาศปลอดโปร่งโล่งสบาย  ไม่ทึบด้วยการกั้นผนังห้อง  ดูแล้วสบายตา สบายใจ  ซึ่งพวกเราก็รู้สึกเช่นนั้น เพราะบนพื้นที่ 218 ตรม. พวกเราทำงานอยู่ด้วยกัน 10 คน มีการกั้นห้องอยู่ 4 ห้องคือ ห้องประชุม  ห้องรับประทานอาหาร  ห้องน้ำหญิง และห้องน้ำชาย  พื้นที่สำหรับนั่งทำงานตั้งแต่ผู้บริหารถึงเจ้าหน้าที่อายุเยาว์จะเปิดโล่ง มองเห็นกันอย่างทั่วถึง มีเพียงแผ่นกั้นเตี้ยๆ เพื่อความเป็นสัดส่วนในการนั่งทำงาน  มีหลายครั้งที่พวกเราส่งเสียงข้ามโต๊ะกัน (เพื่อย่นระยะเวลาในการเดิน)  ถ้าเรามีงานที่จะปรึกษาผู้อำนวยการ  เราก็เดินตรงไปที่โต๊ะ (ไม่ใช่ห้อง) ของผู้อำนวยการได้เลย  หรือถ้าผู้อำนวยการมีเรื่องที่จะวิสาสะกับเรา  ท่านก็เป็นฝ่ายเดินมาหาเราที่โต๊ะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลยสำหรับการไปมาหาสู่กันในลักษณะนี้ เป็นการเปลี่ยนอิริยาบทไปในตัว

2. ระบบการทำงาน พวกเราทำแบบมีระบบ แต่ไร้กระบวนท่า คือ ปรับปรุง ดัดแปลง ปรับเปลี่ยน ได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์และเหตุผล  พวกเราโชคดีที่ได้รับโอกาสการทำงานแบบมีอิสระทางความคิด ซึ่งเชื่อว่าทำให้ค่อยๆ เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ เป็นนวัตกรรมในการทำงาน  โครงการสร้างการทำงานแบบระนาบเดียว เท่าเทียม แต่เคารพในความอาวุโสของวัยและประสบการณ์ตามแบบวัฒนธรรมไทย  ในงานหนึ่งชิ้น เรามาตกลงกันอย่างชัดเจนว่า ใครจะเป็นเจ้าภาพของงาน แล้วเจ้าภาพก็จะเลียบเคียงสรรหาผู้ช่วยตามความเหมาะสม เพราะงานหนึ่งๆ คงไม่สำเร็จด้วยฮีโร่คนเดียว  พวกเราต่างรู้ในบทบาทและหน้าที่ของตน  หากใครมีประเด็นที่ต้องการปรึกษาหารือ ก็นำประเด็นนั้นๆ เข้าที่ประชุมเพื่อระดมสมอง หามุมมองจากเพื่อนร่วมงาน  ทุกคนมีอิสระแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม  ไม่มีถูก ไม่มีผิด แต่เป็นการมาแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่จะไปทำงานให้ได้ผลดี

3. ทุกครั้งหลังจากเสร็จภารกิจหรือกิจกรรมใดๆ พวกเราเหมือนมีสวิทช์ After Action Review, AAR เปิดทำงานได้ทันที  พวกเราทำ AAR ไปเพื่ออะไร  พวกเราพบว่า การทำ AAR เป็นการตรวจวัดผลข้อสอบการทำงานของพวกเรากันเองว่า มีอะไรที่ควรเก็บไว้เป็นตัวอย่างที่ดี ไว้พัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป (Best Practice) หรือได้เรียนรู้ว่า อะไรที่ทำให้ความล้มเหลวเข้ามาในกระบวนการทำงานของพวกเรา ซึ่งต้องถูกปรับออกไป เทคนิคที่ใช้ในการทำ AAR คือ การใช้สุนทรียสนทนา (Dialogue) ซึ่งเป็นการรับฟังอย่างลุ่มลึก แขวนไว้ ไม่ตัดสิน ทำให้ใจเบา และมีพื้นที่ในใจเพื่อเปิดรับความคิดเห็นของผู้อื่น   การสื่อสารระหว่างพวกเราส่วนใหญ่มักเป็นแบบพบปะเห็นหน้าเห็นตากัน (Face to Face, F2F) มีทั้งพบกันในบรรยายแบบเป็นทางการ (เวทีประชุมประจำสัปดาห์) และแบบเป็นกันเอง (ในห้องชงชากาแฟ)    กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ สคส. เห็นว่าสมควรและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติ   เนื่องจาก สคส. จะนำกิจกรรมที่ สคส. มีส่วนร่วมมาพูดคุยทบทวน   สรุปกันอีกครั้งว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นต่อกิจกรรมที่ผ่านมาอย่างไร   ระดมความคิดนำไปสู่การปรับปรุงเพื่อใช้ในโอกาสต่อไปได้   ซึ่ง สคส. จะปฏิบัติทุกครั้งหลังจากกิจกรรมทุกอย่าง

4.  เวทีประชุมประจำสัปดาห์ ได้ถูกบูรณาการเข้ามาเป็นงานส่วนหนึ่ง โดยกำหนดไว้เป็นทุกวันพุธช่วงเช้า  มีวาระการประชุมไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน และมีวินัยตรงต่อเวลา เพื่อเป็นเวทีสำหรับคนที่พร้อมจะถ่ายทอด-และเปลี่ยนประสบการณ์ในกิจกรรมที่เพิ่งผ่านไป และคนที่จะรับรู้-แลกเปลี่ยนร่วมกัน  แม้การประชุมประจำสัปดาห์จะเป็นการประชุมภายใน แต่มีหลายครั้งที่มีการเชิญภาคีหรือ Best Practice มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งพบว่ามีความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในแขกรับเชิญของพวกเรามากมายที่น่าจะนำไปขยายผลการจัดการความรู้ได้ดี

5.  หลังจากการทำกิจกรรมต่างๆ  รวมทั้ง AAR แล้ว พวกเราไม่เพียงแค่เก็บผลหรือรายละเอียดของกิจกรรมนั้นๆ ไว้ในสมอง  แต่จะถ่ายทอดเรื่องราวโดยเรียบเรียงไว้ใน บันทึกกิจกรรม เพื่อเป็นคลังความรู้ที่จะกลับมาสืบค้น  หรือปรับปรุงข้อมูล เพื่อนำไปใช้พัฒนางานในครั้งต่อๆ ไป

          นอกจากกิจกรรมการจัดการความรู้ที่ได้ปฏิบัติแนบอยู่ในเนื้องานอยู่แล้ว  พวกเราชาว สคส. ได้เชื่อมโยงภารกิจภายในเข้ากับภารกิจภายนอก เพื่อสืบสานวัตถุประสงค์การขับเคลื่อนกิจกรรมการจัดการความรู้ให้มีอยู่ทั่วทุกองค์กร ทุกแห่ง ให้ฝังลึกอยู่กับกิจวัตรประจำวันในสังคมไทยอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว  ซึ่ง สคส. ได้จัดกิจกรรมสนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมการจัดการความรู้ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มผู้ปฏิบัติที่มีความสนใจในเรื่องต่างๆ ซึ่งอยู่ในรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ

6. การประชุมวิชาการจัดการความรู้ - สคส. มีความเชื่อว่าสังคมไทยทำการจัดการความรู้อยู่แล้วและมีอยู่ทั่วไปในทุกหย่อมหญ้า    สคส. จึงได้จัดเวทีประชุมวิชาการจัดการความรู้เพื่อถ่ายทอดกระบวนการจัดการความรู้ขององค์กร/ชุมชนต่าง ๆ โดยจัดเป็นประจำทุก 2 เดือน  เน้นการเชิญผู้ปฏิบัติจริงหรือ คุณกิจ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เล่าประสบการณ์การทำงานที่ใช้การจัดการความรู้มาเป็นกระบวนการเดินเรื่อง  และเชิญชวนผู้สนใจร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเปิดให้แสดงความคิดเห็นระหว่างกัน

7.  การประชุมภาคีจัดการความรู้ในท้องถิ่น-ภาคประชาชน-ประชาสังคม - สคส. เห็นว่าในภาคประชาสังคม/ชุมชน   มีการนำกระบวนการจัดการความรู้ไปใช้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจและทำได้ดี   สคส. มีความคิดที่จะสร้างเครือข่ายเป็นภาคีท้องถิ่นเพื่อขยายวงและร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การจัดการความรู้ในภาคชุมชนโดยเฉพาะ   จึงได้จัดการประชุมภาคีนี้ขึ้นในทุก 2 เดือน  โดยเชิญภาคีซึ่งเป็นภาคท้องถิ่น ภาคประชาชน ประชาสังคม มาเข้าร่วมประชุมและรายงานความคืบหน้าในการดำเนินโครงการต่างๆ ในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้น   แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน   และเชิญชวนภาคีใหม่ๆ เข้าร่วมประชุมเล่าเรื่องการจัดการความรู้ในชุมชนของตน   ถือว่าเป็นการสร้างเครือข่ายจัดการความรู้ได้อีกรูปแบบหนึ่ง

8.  กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Assist) กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ใช้วิธีการสนทนาล้อมวงพูดคุยกันเป็นหลัก   ก่อให้เกิดบรรยากาศที่เป็นกันเอง   ไม่เป็นพิธีการจนทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดความไม่เป็นกันเอง  มีการเล่าประสบการณ์การจัดการความรู้ของหน่วยงาน/ชุมชนของตนในรูปแบบวงสนทนา (dialogue)  เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น  ประสบการณ์ของตนเอง ไม่มีผิด ไม่มีถูก   ทุกคนในวงสนทนาสามารถเล่าประสบการณ์หรือเรื่องราวได้อย่างอิสระ   มีเป้าหมาย/จุดประสงค์หลักร่วมกัน  สคส. ได้จัดกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนให้แก่องค์กรหลายๆ แห่งมาแล้ว  เช่น  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.),   สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute, TEI) เป็นต้น  ซึ่ง สคส. พบว่า กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน ....
9.  Weblog การเขียนบทความลงในบล็อก (Blog) นั้นเป็นการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ   มีรูปแบบคล้าย Diary บนเว็บไซต์   แต่มีเจ้าของบล็อกและเขียนเล่าเรื่องหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ลงใน Blog  โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงาน/บุคคลทั้งภายในและภายนอกสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้    สคส. ได้สร้าง Blog ชื่อ http://gotoknow.org  เป็นเวทีเสมือนแบบ B2B (Blog to Blog)   เป็นการสื่อสารที่ขยายวงได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว   โดย สคส. นำมาใช้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างหน่วยงาน/บุคคลทั้งในและนอกองค์กร   วิธีนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายเนื่องจากยุคนี้ การใช้เทคโนโลยี internet ก้าวหน้าไปมาก   การบันทึกเรื่องราวลงใน Blog ถือว่าเป็นการบันทึก ขุมความรู้ อีกแบบหนึ่ง

10. CD การประชุมและบรรยายการจัดการความรู้ - สคส. ได้จัดเวทีการประชุมต่างๆ ร่วมกับองค์กรภายนอกที่หลากหลายในเรื่องของการจัดการความรู้  เช่น  การประชุมวิชาการจัดการความรู้ทุก 2 เดือน,   การบรรยายการจัดการความรู้ให้แก่หน่วยงานอื่นๆ เป็นต้น   และ สคส. เห็นว่าการเข้าร่วมประชุมดังกล่าวมีประโยชน์ต่อหน่วยงาน/บุคคลอื่นที่สนใจ   จึงได้จัดทำสื่อชนิดต่างๆ ออกมาในรูปแบบ CD การบรรยาย/การประชุม เพื่อเผยแพร่แก่บุคคล/หน่วยงานภายนอกที่สนใจและไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นๆ

ขาดจดหมายข่าวถักทอฯ

          กิจกรรมที่เอ่ยมาข้างต้นนี้  เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานใน สคส.   ไม่ถือเป็นภาระนอกเหนืองานประจำที่ทำอยู่แต่อย่างใด  และมีความรู้สึกว่ากิจกรรมทั้งหมดเป็นประโยชน์ต่อตัวบุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงาน/องค์กร ซึ่งส่งผลไปถึงระดับประเทศ    เป็นการเปิดโอกาสและแสดงศักยภาพของเจ้าหน้าที่ใน สคส.  เป็นการนำการจัดการความรู้มาใช้ได้อย่างลงตัวที่สุด   และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในหน่วยงานต่างๆ จะมีวิธีการจัดการความรู้ตามบริบทที่แตกต่างกันออกไป

สคส. เชื่อว่าการจัดการความรู้มีอยู่ทั่วทุกภาคส่วนของสังคมไทย  ขึ้นอยู่กับว่า จะมีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดได้อย่างไร
หมายเลขบันทึก: 8498เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2005 20:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดิฉันเชื่อว่า กระบวนการ KM จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนางานทุกภาคส่วน แต่ทำอย่างไรจะแก้ไขวัฒนธรรมที่ฝังรากลึก เช่น ยึดมั่นในอาวุโส ปิดกั้นโอกาสการแสดงความคิดเห็นของผู้น้อย และมักถูกขู่ว่า "อย่าอวดฉลาด ฉันอาบน้ำอุ่นมาก่อน..." ทำนองนี้  จึงขออวยพรและให้กำลังใจว่า อย่าให้ KM มาตายในเมืองไทย เฉกเช่นกระบวนการทั้งหลายที่ตายไปแล้วมิใช่น้อย และหันกลับมาให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่ "อัตตาธิปไตย"เช่นเดิม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท