การเลือกรองเท้า และ ผู้ป่วยเบาหวาน


อ.สมเกียรติ มหาอุดมพร

รองเท้าสิ่งใกล้ตัว………..ที่ไม่ควรมองข้าม

เท้าเป็นอวัยวะเล็ก ๆ แต่มีความสำคัญต่อร่างกาย และคนโดยทั่วไปให้ความสนใจดูแลน้อยกว่าส่วนอื่น มนุษย์ใช้เท้าเดินชั่วชีวิตประมาณ 184,000 กิโลเมตร หรือ 4 เท่าของระยะทางรอบโลก ชาวจีนได้ทำการศึกษาศาสตร์เกี่ยวกับสุขภาพเท้าเป็นเวลากว่า 3,000 ปีมาแล้ว ชาวตะวันตกก็มีการศึกษาทางด้านนี้เช่นกัน จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเราควรให้การดูแลเท้ามากขึ้น

โครงสร้างเท้าคนเรา เป็นสถาปัตยกรรมที่มหัศจรรย์และน่าทึ่งมาก ประกอบด้วยกระดูกทั้งหมด 28 ชิ้น ต่อตัวกันเป็นรูปพิรามิด มีส่วนโค้งหลัก ๆ 3 ส่วน ที่เราเรียกว่า อุ้งเท้านั้นเอง ขณะที่เรายืน น้ำหนักของร่างกายถูกถ่ายมาที่เท้า ส่วนโค้งของเท้าจะยุบตัวลง แต่ด้วยความพิเศษของการออกแบบโครงสร้างตามธรรมชาติ กระดูกทั้ง 28 ชิ้น จะถูกยึดเป็นข้อต่อต่าง ๆ ด้วยเยื้อหุ้มข้อ และพังผืดและได้รับความแข็งแรง เพื่อคงส่วนโค้งหรืออุ้งเท้าไว้ ด้วยกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆในฝ่าเท้า ที่มีถึง 4 ชั้น รวมทั้งเอ็นของกล้ามเนื้อต่างๆของขา ทั้งหมดยังมีชั้นไขมันรองรับและปิดด้วยผิวหนังฝ่าเท้าที่มีความพิเศษ หนาประมาณ 4-5 มิลลิเมตรเป็นชั้นสุดท้าย

เท้าคนเรามีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ

1.รับน้ำหนัก

กระดูกทั้ง 28 ชิ้น มีหน้าที่พยุงร่างกาย ดังนั้นถ้ากระดูกทั้ง 28 ชิ้นจัดตัวในท่าผิดปกติ เช่น อุ้งเท้าแบน ย่อมส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดแก่ร่างกาย เช่น ปวดข้อเท้าข้อเข่า เป็นต้น

2.เคลื่อนไหว

          ทุกครั้งที่เราเดินหรือวิ่ง การเคลื่อนไหวของกระดูกทั้ง 28 ชิ้นต้องสมดุลย์กับแรงดึงของเอ็นและกล้ามเนื้อ หากมีกล้ามเนื้อมัดใดอ่อนแรง หรืออัมพาตย่อมส่งผลให้แรงดึงส่วนนั้นลดลงหรือหายไป โครงสร้างกระดูกทั้ง 28 ชิ้น จะไม่สามารถรักษาตำแหน่งที่ถูกต้อง ความโค้งอุ้งเท้าอาจเปลี่ยนแปลง และเกิดความพิการที่เท้า เช่น นิ้วเท้างอ ปลายเท้าบิดออก เท้าแบนหรือส้นเท้าผิดรูปร่าง เป็นต้น

         ผู้เป็นเบาหวาน มีโอกาสเกิดความบกพร่องที่เท้ามากกว่าคนทั่วไป จากการศึกษาหลายสถาบันพบว่ามีถึง 10-25% สิ่งสำคัญของคนกลุ่มนี้คือ การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา และ เป้าหมายคือ การมีสุขภาพเท้าที่ดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าหากเราได้ ดูแลเท้าตนเองที่ถูกต้องทุกวัน และ สวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม

ท่านทราบได้อย่างไรว่าใครคือกลุ่มเสี่ยงหรือเท้ามีความบกพร่อง?

       ถ้าเท้าท่านชา ไม่มีความรู้สึก หรือการไหลเวียนเลือดไปที่เท้าไม่ดี ท่าน คือกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดแผลที่เท้ามากกว่าคนปกติ 2-14 เท่า และมีโอกาสจะสูญเสียเท้า หรือถูกตัดขา รองเท้าที่ดีสามารถปกป้องเท้าจากปัญหาที่กล่าวมา และในทางกลับกันอาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆได้เช่นกัน ถ้าหากเลือกใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม

วิธีการเลือกรองเท้าที่ดีและเหมาะสม

1.รองเท้าควรทำด้วยวัสดุที่มีความยืดหยุ่น เช่น หนังแท้ หนังสังเคราะห์ และผ้าบางชนิด เป็นต้น

2.ขนาดรองเท้าต้องพอดี ไม่เล็กหรือหลวม สังเกตความกว้างภายในให้เหมาะสมกับเท้าท่าน โดยเฉพาะส่วนหน้า อย่าเลือกแบบที่เรียวแคบ ควรเลือกชนิดหัวโต กว้างพอให้นิ้วเท้าสามารถขยับได้

3.รองเท้าต้องมีสายรัดส้นหรือหุ้มส้น เพราะผู้เป็นเบาหวานที่เท้าชา เกือบทั้งหมดให้ประวัติว่าเวลาเดินใส่รองเท้าแตะแล้วหลุดง่าย ดังนั้นผู้เป็นเบาหวานจะปรับตัวโดยการจิกนิ้วเท้ากับรองเท้า ทำให้มีแรงกดมากบริเวณโคน และปลายนิ้ว จากสถิติจึงพบแผลบริเวณส่วนนี้สูงถึง 75 %

4.รองเท้าควรปรับขนาดได้ ด้วยเชือก หรือ เวลโก้ เท้าที่มีความบกพร่องเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือดหรือมีอาการชา มักมีอาการบวมบางช่วงเวลา รองเท้าที่ปรับได้จะช่วยกระชับเท้าเวลาสวมใส่และเดิน

5.ด้านในรองเท้าควรบุให้นิ่มและเรียบ โดยเฉพาะส่วนพื้นในที่รับเท้า ต้องยืดหยุ่น เช่นรองเท้ากีฬา หรือรองเท้าวิ่ง ส่วนนี้ควรหนา 5-10 มิลลิเมตร

footwear DM

เทคนิคการเลือกซื้อรองเท้า

1.เลือกซื้อให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น รองเท้ากีฬา รองเท้าใส่ในบ้าน เป็นต้น

2.หลีกเลี่ยงซื้อรองเท้าแบบอินเดียแดงหรือโมฮอก( Moccasin ) เนื่องจากทำด้วยหนังหนาที่เย็บอย่างแข็งแรง เพราะรอยเย็บเหล่านี้ไม้สามารถยืดได้ ต่างจากรองเท้าหนังปกติที่มีความยืดหยุ่น เมื่อใช้งานสักระยะหนึ่ง หนังจะยืดเหมาะสมกับเท้านั้นๆ(Self moulded)

3.ควรเลือกซื้อรองเท้าช่วงบ่าย เพราะขนาดเท้าจะขยายมากในช่วงนี้ ถ้าซื้อตอนเช้า พอตกบ่ายรองเท้าอาจใส่แล้วคับเกินไป

4.รองเท้าแต่ละรุ่น แต่ละแบบ มีส่วนหน้ารองเท้ากว้างไม่เท่ากัน ควรทดสอบโดยใช้กระดาษแข็งวาดรอบเท้า แล้วสอดแผ่นกระดาษ เข้าไปในรองเท้า ถ้าแผ่นกระดาษม้วนตัวหรือมีรอยย่น แสดงว่า แคบไป แต่ถ้าไม่มั่นใจ ให้นำรองเท้ามาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

วิธีใช้รองเท้าคู่ใหม่

          *เมื่อได้รองเท้าคู่ใหม่ ควรเริ่มต้นใส่เดินในวันแรก ประมาณ 30 นาที จากนั้นให้ตรวจว่ามีรอยแดง ถลอก หรือไม่ ถ้ามีแสดงว่ารองเท้านี้คับไป ควรนำไปแก้ไข เช่น นำรองเท้าไปยืด หรือหาคู่ใหม่

          ในกรณีไม่ปัญหา ให้ค่อยๆเพิ่มเวลาการใช้รองเท้า ในวันที่ 2 เป็น 1 ชม.แล้วค่อยๆเพิ่มเวลาการใช้งาน ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์

          *ก่อนใส่รองเท้าทุกครั้ง ให้เคาะรองเท้าและตรวจดูว่ามีสิ่งแลกปลอมอยู่ภายในรองเท้าหรือไม่ เช่น เศษดิน หิน หรือ ของเล่นเด็ก

         *ต้องใส่รองเท้าตลอดเวลา ทั้งในและนอกบ้าน

         *ห้ามสวมใส่รองเท้าเปิด โดยเฉพาะแบบคีบ

         *สวมทุกเท้าทุกครั้งที่ใส่รองเท้า

การป้องกันเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดและง่ายกว่า การรักษา

เป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดและง่ายกว่า <p align="center">เริ่มใส่ใจและดูแลเท้าท่านตั้งแต่วันนี้</p>

คำสำคัญ (Tags): #footwear dm
หมายเลขบันทึก: 8485เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2005 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ยินดีที่น้องแนนเขียนบล็อกมาแลกเปลี่ยนกัน ถ้ามีเวลาเอาภาพเท้าและรองเท้ามาลงด้วยก็ดีนะคะ เพื่อนๆ จะได้เห็นภาพชัดเจน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท