การเทียบโอนผลการเรียนรู้


เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชน นำความรู้และประสบการณ์มาทำการประเมินเทียบโอนเข้าสู่หน่วยกิต
                                 การเทียบโอนประสบประสบการณ์
                                               ตอนที่ 1 บทนำ


                                            หลักการและเหตุผล
                                           

                สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 กำหนดให้การจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย และให้ผู้เรียนสามารถนำผลการเรียนที่สะสมไว้มาเทียบโอนระหว่างการศึกษารูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งการเรียนรู้นอกระบบ และอัธยาศัย จากการฝึกอาชีพ ประสบการณ์ชีวิต หรือจากประสบการณ์การทำงาน ประกอบกับปัจจุบันโลกไร้พรมแดน เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี สภาพของสังคมและเศรษฐกิจที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วทำให้ประชาชน นักเรียน นัก  ศึกษา มีโอกาสหาความรู้ได้หลากหลายวิธี มีแหล่งให้ศึกษาหาความรู้ มีอุปกรณ์ช่วยในการศึกษาหลากหลาย การเรียนรู้เกิดได้ทุกสถานการณ์ เช่น การทำงาน การพบปะสังสรรค์ การเข้าร่วมกิจกรรม ชมรม กีฬา อาสาสมัคร กิจกรรมทางศาสนาและสังคม ซึ่งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนอกชั้นเรียนดังกล่าวไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์เข้าสู่หน่วยกิตจะช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพสามารถพัฒนาสมรรถนะตนจนได้วุฒิ ปวช. หรือ ปวส. ที่มีมาตรฐานแต่ละสาขาวิชาอย่างชัดเจนในระยะเวลาที่น้อยกว่านักเรียนนักศึกษาปกติที่ศึกษาในระบบเพียงอย่างเดียว
                การเทียบโอนความรู้ประสบการณ์ เป็นการยอมรับผลการเรียนรู้ที่ได้จากประสบการณ์ ดังนั้นการจัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ของสถาบันการอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน สามารถนำความรู้ประสบการณ์มาขอรับการประเมินเทียบโอน เพื่อยกเว้นการเรียนรายวิชาในสถานศึกษาที่เข้าเรียน และนับเป็นส่วนหนึ่งของผลการเรียนตามหลักสูตร ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติดังกล่าว

                                                วัตถุประสงค์

                เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชน นำความรู้และประสบการณ์มาทำการประเมินเทียบโอนเข้าสู่หน่วยกิต เป็นการยอมรับความรู้และประสบการณ์ให้เป็นส่วนหนึ่งของผลการเรียนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)
                                                 ขอบข่าย

                การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์เข้าสู่หน่วยกิต ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) สามรถดำเนินการได้ทุกหมวดวิชา โดยเทียบโอนได้ไม่เกิน 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยกิตตามโครงสร้างหลักสูตร

                                       ประโยชน์ของการเทียบโอน

            ด้านผู้เรียน
1. ลดการเรียนซ้ำในรายวิชา/กลุ่มวิชาที่มีประสบการณ์มาแล้ว
2. การเรียนในชั้นเรียนน้อยลง ลดเวลาการเดินทาง
3. ประหยัดค่าใช้จ่าย
4. ผู้เรียนสนใจเรียน หรือฝึกอบรมในระบบมากขึ้น
5. ผู้ที่เรียนไม่จบการศึกษาในระบบมีโอกาสเลือกเรียนได้ตามความต้องการ
6. เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรวิชาชีพ สามารถนำไปใช้ในการเข้าทำงานหรือเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น
          ด้านหลักสูตร
1. การบริหารงานหลักสูตร ระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ช่วยให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายต่อหัว เช่น ค่าวัดผลและประเมินผล ค่าวัสดุฝึก เป็นต้น
2.  หลักสูตรต้องกำหนดสมรรถนะ(Competency based Curriculum) ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ประสบการณ์ ปฏิบัติงานได้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการหรือนายจ้าง
          ด้านธุรกิจ
1. ระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์งานอาชีพช่วยให้นายจ้าง/ลูกจ้าง มีการตกลงกันเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและวิธีประเมินผลงานอย่างมีประสิทธิภาพ
2. สถานประกอบการจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของนายจ้าง/ลูกจ้างที่มีคุณภาพตามหลักสูตรการศึกษาในระบบ
3. สถานประกอบการหรือหน่วยงานของทางราชการหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่ต้องเสียเวลาค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมบุคลากรใหม่
           ด้านอื่นๆ
1. บุคลากรของสถานประกอบการหรือหน่วยงานของทางราชการหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ตระหนักในการพัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะตนตลอดเวลา
2. การเรียนรู้ การฝึกเฉพาะด้านที่จำเป็นต่องานในหน้าที่ช่วยประหยัดเวลาได้มาก
3. บุคลากรมีความกระตือรือร้นเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพและพัฒนาทักษะที่ขาดแคลนส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติโดยส่วนรวม
4. สถานประกอบการสามารถสร้างงาน ผลิตงานได้ตามต้องการของลูกค้า
ในกรณีที่ต้องการสำเร็จการศึกษาหรือฝึกอบรมให้เร็วขึ้น หรือไม่ต้องการเรียนในชั้นเรียน สามารถขอประเมินความรู้ตามรายวิชาหรือกลุ่มวิชาในหลักสูตรได้ ถ้าผู้ขอเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ผ่านเกณฑ์การประเมินมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ สามารถเทียบโอนเป็นหน่วยกิตได้โดยไม่ต้องเรียนในรายวิชาหรือกลุ่มวิลานั้น

                                                นิยามคำศัพท์

                การศึกษาในระบบ หมายถึง การศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
                การศึกษานอกระบบ หมายถึง การศึกษาที่มีความยึดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบวิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมนผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการจัดการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละบุคคลแต่ละกลุ่ม
                การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม หรือแหล่งความรู้อื่นๆ
                ผลการเรียนรู้ หมายถึง ผลการเรียนรู้จากการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ซึ่งครอบคลุมด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะ และเจตคติ
                ผลการเรียนรายวิชา/กลุ่มวิชา หมายถึง ผลการเรียนรายวิชา/กลุ่มวิชาตามหลักสูตรตามสถานศึกษา/หน่วยงานที่จัดการศึกษาในระบบหรือนอกระบบ
                ความรู้และประสบการณ์ หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ทักษะ เจตคติที่เกิดจากการผ่านการศึกษา ฝึกอบรมในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย จากการประกอบอาชีพ จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ที่สะท้อนถึงกระบวนการทำงานและพัฒนาอาชีพ การฝึกอาชีพ การแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ
                การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์เข้าสู่หน่วยกิต (The Recognition of Prior Learning : RPL) หมายถึง กระบวนการประเมินเพื่อตรวจสอบว่าบุคคลที่มาขอเทียบโอนความรู้และประสบการณ์มีความรู้ความสามารถ ทักษะ ความชำนาญ เจตคติ รวมทั้งกิจนิสัยตามสมรรถนะตรงตามรายวิชา/กลุ่มวิชาที่ขอเทียบหรือไม่โดยต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ จึงสามารถเทียบเป็นหน่วยกิตได้ และได้รับการยกเว้นไม่ต้องเรียนในรายวิชาหรือกลุ่มวิชานั้น
                การประเมินเบื้องต้น หมายถึง การสัมภาษณ์ ตรวจสอบหลักฐาน เพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลที่มาขอเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ในรายวิชาหรือกลุ่มวิชา มีความรู้ตามที่จะขอเทียบแน่นอนเพื่อไม่ให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่าย ทั้งผู้ขอเทียบโอนและสถานศึกษา
                กลุ่มวิชา หมายถึง รายวิชาในกลุ่มวิชาต่างๆ ในหมวดวิชาสามัญหรือรายวิชาในกลุ่มวิชาในแต่ละสาขาวิชาชีพตามโครงสร้างของหลักสูตร
คำสำคัญ (Tags): #อาชีวศึกษา
หมายเลขบันทึก: 8443เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2005 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กรณีที่เรียน ปวช. อยู่แล้ว ปี1 และปี2 ผ่าน แต่ ปี3 ไม่ผ่าน สามารถเทียบโอนเข้าสู่หน่วยกิตได้หรือเปล่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท