ความรู้เรื่องโรคผิวหนัง


โรคผิวหนังทุกชนิด

  โรคกลาก

      โรคกลาก เป็นโรคติดเชื้อราชนิดตื้นที่ผิวหนัง พบเชื้อนี้ได้ทั่วไปบนดิน และสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข, แมว เมื่อร่างกายได้รับเชื้อนี้มา ก็จะทำให้เกิดโรคเป็นผื่นที่ผิวหนังเล็บหรือผมได้

อาการ

           1. กลากที่ลำตัวและขาหนีบ เริ่มต้นเป็นตุ่มแดงต่อมาตุ่มแดงขยายออกเป็นวง ขอบนูนแดงและ มีสะเก็ดมีอาการคันตั้งแต่เล็กน้อยถึงคันมาก พบที่ส่วนไหนของร่างกายก็ได้ เช่น ใบหน้า, ลำตัว, แขน, ขา, รักแร้, ขาหนีบ

           2. กลากที่มือและเท้า ทำให้มือลอก, เท้าลอก มีตุ่มน้ำคันหรือที่ผิวหนังเปื่อยที่ง่ามนิ้วมือ, นิ้วเท้า

           3. กลากที่เล็บ ทำให้เล็บเปลี่ยนเป็นสีเหลือง, น้ำตาล แผ่นเล็บแยกออกจากผิวหนังใต้เล็บและมีขุยหนาใต้เล็บ ถ้าเป็นมากอาจมีการทำลายของแผ่นเล็บทั้งหมด

          4. กลากที่ศีรษะ พบบ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ มี 2 ลักษณะ คือ ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เส้นผมหักและชนิดที่มีการอักเสบเป็นตุ่มหนองที่รูขุมขนและลุกลามเป็นก้อนนูนมีน้ำเหลืองกรังที่เรียกว่า “ชันนะตุ”

การรักษา

มีทั้งยาทาและยากิน

  • ยาทา ใช้ในรายที่มีผื่นผิวหนังบริเวณไม่กว้าง ทาผื่นวันละ 2 ครั้ง นาน 4 – 6 สัปดาห์
  • ยากิน ใช้ในรายที่มีผื่นผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง หรือหลายตำแหน่ง หรือเป็นโรคกลากที่มือ, เท้า, เล็บ, ศีรษะ ซึ่งการทายาไม่ได้ผล ระยะเวลาที่รับประทานยาขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น และชนิดของยาที่รับประทาน

หลังจากกินยาหรือทายา ไปประมาณ 5 – 7 วัน ผื่นอาจจะยุบและหายคัน แต่ยังหยุดยาไม่ได้ เพราะเชื้อยังไม่ถูกกำจัดออกไปหมด ต้องกินยาและทายาต่ออีกระยะหนึ่ง ถ้าเป็นที่ผิวหนังต้องใช้ยานานประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้นผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง ควรไปพบแพทย์ตามนัด

การปฏิบัติตัว

1. ทายา, กินยาอย่างสม่ำเสมอ, ไปตรวจตามแพทย์นัดอย่าหยุดยาเอง

2. รักษาความสะอาดของผิวหนัง ระวังอย่าให้อับชื้นหลังจากอาบน้ำควรเช็ดตัวให้แห้งโดยเฉพาะ บริเวณซอกพับต่าง ๆ เช่น รักแร้, ใต้ราวนม, ขาหนีบ

3. ทำความสะอาด เสื้อผ้า, ถุงเท้า, รองเท้า ควรตากแดดให้แห้ง

4. หลีกเลี่ยงไม่สัมผัส, คลุกคลี หรือใช้เสื้อผ้า, ผ้าเช็ดตัว, ถุงเท้า, รองเท้า, หวี ร่วมกับคนเป็นโรคกลาก

5. ระวังการสัมผัสกับดิน, สัตว์เลี้ยง ควรจะล้างมือ, อาบน้ำให้สะอาดหลังสัมผัส

6. ควรรักษาทุกคนในบ้านที่เป็นกลาก

7. ถ้ามีผื่นผิวหนังที่มีอาการคันและสงสัยว่าจะเป็นโรคกลาก ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง ควรจะไปพบแพทย์

เกลื้อน

                เกลื้อน เป็นโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังชนิดหนึ่ง เชื้อนี้พบได้บนผิวหนังคนปกติ เมื่อมีเหงื่อออกมา, ใส่เสื้อผ้าอบชื้น จะทำให้เชื้อแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เป็นจุดด่าง ๆ ตามลำดับขึ้นได้

อาการ

               เกลื้อนมีลักษณะเป็นจุดขาว ๆ หรือรอยด่าง ๆ ในบางราย อาจจะเป็นสีชมพูหรือเทา เริ่มต้นเป็นจุดเล็ก ๆ ต่อมาอาจจะขยายออกรวมกันเป็นปื้นใหญ่ มีขุยบาง ๆ อาจมีอาการคันหรือไม่มี พบบ่อยในบริเวณร่มผ้าและมีเหงื่อออกมาก เช่น บริเวณหลัง, ไหล่, หน้าอก ถ้าไม่ได้รับการรักษา เกลื้อนจะหายเองได้แต่จะทิ้งรอยด่างไว้ ในบางรายหลังจากรักษาหายแล้วอาจเป็นซ้ำอีกได้ โดยเฉพาะคนที่มีเหงื่อออกมาก, ใส่เสื้อผ้าหนา, อบ, ชื้น

การรักษา

ยาที่ใช้รักษาเกลื้อนมีหลายชนิดทั้งยากิน, ยาทา

             1. ยากิน แพทย์จะสั่งยากินให้ในรายที่เป็นเกลื้อนกระจายทั้งตัว ซึ่งอาจจะทายาได้ไม่ทั่วถึง

             2. ยาทา มีทั้งยาครีม และยาน้ำ ให้ทาวันละ 2 ครั้ง บริเวณที่เป็นเกลื้อน นานประมาณ 2 สัปดาห์

             3. แชมพูยา วิธีใช้คือ หลังอาบน้ำตอนเย็นขณะที่ตัวยังเปียกอยู่ เทแชมพูใส่ฝ่ามือ ผสมน้ำเล็กน้อยฟอกให้เป็นฟอง บริเวณที่เป็นเกลื้อนทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างน้ำออก ทำวันละ 1 ครั้ง นาน 2 สัปดาห์

หลังจากที่รักษาเกลื้อนประมาณ 2 สัปดาห์ เชื้อเกลื้อนจะหมดไปแต่จะทิ้งรอยด่างไว้ ซึ่งใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่ารอยด่างจะกลับมาเป็นปกติ ในผู้ป่วยบางรายที่มีเหงื่อออกมาก ใส่เสื้อผ้าอบ, ชื้น รอยด่างเก่าอาจจะยังไม่หายหมด ก็มีเชื้อเกลื้อนเพิ่มจำนวนและทำให้เป็นเกลื้อนซ้ำขึ้นมาอีก ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าไม่หายขาดเพราะฉะนั้นหลังจากที่ให้การรักษาครบแล้ว ต้องระวังรักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำบ่อย ๆ ไม่ให้เหงื่อออกมาก, ไม่ใส่เสื้อผ้าอับ, ชื้น ส่วนรอยด่างจะค่อย ๆ กลับเป็นปกติภายหลัง ใบบางรายที่เป็นเกลื้อนบ่อย ๆ แพทย์อาจจะให้ยากินหรือยาทา เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค

การปฏิบัติตัว

  1. กินยา, ทายา ตามที่แพทย์แนะนำ
  2. รักษาความสะอาดของร่างกาย ไม่ใส่เสื้อผ้าที่อบ, ชื้น ถ้าเหงื่อออกมาก ควรอาบน้ำบ่อย ๆ

ฝ้า

           ฝ้า คือ ผิวหนังที่มีสีเข้มข้น เป็นแผ่นสีน้ำตาลบนใบหน้า พบบ่อยบริเวณโหนกแก้ม, เหนือริมฝีปาก, เหนือคิ้ว มักเป็น 2 ข้างของใบหน้าเท่า ๆ กัน ฝ้าพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สาเหตุเกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีออกมามาก

ฝ้ามี 2 ชนิด คือ

ฝ้าชนิดตื้นและฝ้าชนิดลึก ……………………

ฝ้าชนิดตื้นจะเห็นขอบเขตชัดเจน สีออกน้ำตาลใช้ยาฝ้าทาแล้วจะจางลงได้ ส่วนฝ้าชนิดลึกขอบเขตจะไม่ชัดเจนสีออกน้ำตาลปนเทา ใช้ยาฝ้าทาแล้วไม่จางลง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้า

1. ฮอร์โมน อาจจะเป็นฮอร์โมนจากภายในร่างกาย หรือนอกร่างกาย

    -  ภายในร่างกาย เช่น ขณะที่ตั้งครรภ์ มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย ทำให้ฝ้าชัดขึ้นได้

    -   ภายนอกร่างกาย เช่น รับประทานยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนจากยกคุมกำเนิดจะกระตุ้นให้เกิดฝ้า, ครีมบำรุงผิว บางชนิดมีส่วนผสมของฮอร์โมนมักจะโฆษณาว่าทำให้ผิวหน้าแต่งตึง สดใส อาจทำให้เกิดฝ้าได้

2. แสงแดด แสงแดดจะกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีผลิตเม็ดสีขึ้นมามากขึ้น ทำให้เกิดฝ้า ผู้ที่เป็นฝ้าหรือกำลังรักษาฝ้า จึงต้องหลีกเลี่ยงแสงแดดและใช้ยากันแดดทุกวัน ไม่ว่าจะโดนแดดหรือไม่

3. ความร้อน ความร้อนทำให้ฝ้าเข้มขึ้นได้ เช่น เข้าห้องอบซาวน่า โดนไอร้อน หรือเป็นแม่ครัวอยู่หน้าเตาไฟทุกวัน 

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเป็นฝ้า

  1. ทายากันแดดทุกวันอย่างสม่ำเสมอ และพยายามหลีกเลี่ยงแสงแดด
  2. ทายาฝ้าบาง ๆ และน้อยที่สุด อย่าใช้ยาเปลือง ห้ามนวด ห้ามขยี้
  3. มาพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด ห้ามทายาไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้มาพบแพทย์ และห้ามหยุดยาเองโดยไม่ได้ปรับสูตรยา
  4. งดยาคุมกำเนิด ทายาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมน

การรักษา

หลักเกณฑ์ในการรักษาฝ้า คือ

  1. พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้า คือ หยุดรับประทานยาคุมกำเนิด งดยาทาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมน
  2. หลีกเลี่ยงแสงแดดและใช้ยาทากันแดด ถ้าจำเป็นต้องโดนแดด ต้องใส่หมวกปีกกว้างหรือกางร่มและทายากันแดด โดยต้องทายาทุกวันตอนเช้าไม่ว่าจะโดนแดดโดยตรงหรือไม่ เพราะบางครั้งไม่ได้โดนแดดโดยตรง แต่อยู่ที่ระเบียงบ้าน ริมหน้าต่าง ก็มีรังสีจากแสงแดดสะท้อนเข้ามาได้ ถ้าต้องล้างหน้าควรทายากันแดดซ้ำ ถ้าว่ายน้ำ, ไปทะเลควรทายากันแดด ที่มีค่ากันแดด (SPF) สูง ๆ และมีคุณสมบัติติดผิว ไม่โดนชะล้างง่าย ควรทายาก่อนออกแดดอย่างน้อย ½ - 1 ชั่วโมงและถ้าโดนน้ำบ่อยควรทายากันแดดซ้ำทุก 1 – 2 ชั่วโมง
  3. ใช้ยาทาเพื่อลดการสร้างเม็ดสีจากเซลล์สร้างเม็ดสีมียาทาหลายชนิดที่สามารถลดการสร้างเม็ดสี และทำให้ฝ้าจางลง จะหยุดยาเองไม่ได้ เพราะฝ้าอาจจะหมองคล้ำขึ้นได้ ต้องให้แพทย์ค่อย ๆ ปรับสูตรยา เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรหาซื้อยาฝ้ามาทาเอง และไม่ควรทายาไปนาน ๆ โดยไม่ได้พบแพทย์ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงจากทายาได้ และเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เช่น หน้าแดงจากหลอดเลือดฝอยขยายตัว เกิดเม็ดสีคล้ำขึ้นนฝ้า, เกิดรอยจุดดำ – ขาวกระดำกระด่าง การรักษาภายใต้การควบคุมของแพทย์ จะทำให้ฝ้าจางลง โดยไม่คล้ำขึ้น เมื่อหยุดยาและไม่เกิดผลข้างเคียงจะแก้ไขไม่ทัน
  4. เทคนิคอื่นที่ช่วยเสริมในการรักษาฝ้า มีเทคนิคอื่น ๆ ที่จะช่วยทำให้ฝ้าจางลงเร็ว เช่น
  • ใช้น้ำยากรด ทีซีเอ (TCA) ทาบริเวณฝ้า เพื่อช่วยเร่งให้ผิวหนังลอก เอาฝ้าออก
  • ปรับสภาพผิวหน้าด้วย AHA (AHA PEEL) ทำโดยใช้น้ำยา เอ เอ็ช เอ (AHA) ซึ่งเป็นสารสกัดจากผลไม้ ทาทั่วหน้า ทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่งแล้วล้างออกตามด้วยการทา AHA ทุกวันที่บ้าน จะช่วยทำให้ผิวหนังชั้นขี้ไคล ลอกหลุดออกและทำให้ฝ้าจางลง ทำวิธีนี้ร่วมกับการรักษาฝ้าทั่วไปจะได้ผลดี

ฝ้ารักษาให้หายขาดได้หรือไม่………………

              คนที่เป็นฝ้า มักจะทายามานานหลายตัว อาจจะซื้อยาทาเองหรือไปพบแพทย์ฝ้าอาจจะจางลงแต่ก็คล้ำขึ้นอีก จึงมักสงสัยว่าฝ้ารักษาให้หายได้หรือไม่ ฝ้ารักษาให้หายได้ แต่ต้องพยายามควบคุมปัจจัยต่าง ๆ คือ ฮอร์โมนจากภายในและภายนอกร่างกาย แสงแดดและทายาภายใต้การควบคุมของแพทย์ นอกจากนั้นฝ้าจะรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ได้ผลเร็วหรือช้ากับปัจจัยต่อไปนี้

             1. ฝ้าเป็นชนิดตื้นหรือลึก ถ้าเป็นฝ้าชนิดตื้นยาทาฝ้าจะทำให้จางลง แต่ถ้าเป็นฝ้าชนิดลึก การทายาฝ้าจะไม่ได้ผล

              2. เป็นฝ้ามานานแค่ไหน ถ้าเพิ่งเป็นฝ้ามาไม่นาน จะรักษาได้ผลดีกว่าฝ้าที่เป็นมานาน

              3. ใช้ยาอะไรทามาก่อนหรือไม่ ถ้าไม่เคยได้ใช้ยาทาฝ้ามาก่อน จะรักษาให้ฝ้าจางลงได้ง่ายกว่าคนที่ทายาฝ้ามามากหลายชนิด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงของยาจนไม่สามารถแก้ไขได้

                  4. ได้พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดฝ้าแล้วหรือไม่ บางคนเป็นฝ้า แต่ไม่ทายากันแดด หรือทำงานโดนแสงแดดอยู่เป็นประจำ ก็ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร

              5. มาพบแพทย์ตามนัดหรือไม่ คนที่มาพบแพทย์ตามนัด แพทย์จะค่อย ๆ ปรับสูตรยาให้ ทำให้ฝ้าจางลงโดยไม่คล้ำขึ้นเมื่อหยุดยาและไม่เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา

  ฝ้าและการรักษาฝ้า ผมร่วง
  อีสุกอีใส ผื่นแพ้ยา
  หิด ผื่นแพ้สัมผัส
  สะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบ
  ตุ่มแพ้ยุง แมลงกัด โรคผิวหนังอักเสบจากสารสัมผัส
  ลมพิษ โรคผิวหนังอักเสบ เซ็บ - เดิร์ม 
 โรคกลากและเกลื้อน โรคเรื้อน
       

 

   ดูรายละเอียดทุกโรคได้ที่นี่ 

    

หมายเลขบันทึก: 8414เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2005 02:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะ

ที่ให้ความรู้

เกี่ยวกับโรคผิวหนังต่างๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท