ความรู้เรื่องวัณโรค


วัณโรค , อาการ , การรักษา

มารู้จักวัณโรคกันก่อน

       วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เล็กมาก   ซึ่งสามารถทำให้เกิดวัณโรคได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ปอด กระดูก ต่อมน้ำเหลือง แต่ที่เป็นปัญหามากในปัจจุบัน คือ “ วัณโรคปอด ”  

สาเหตุ

               วัณโรคเกิดจากเชื้อ Mycobacterium tuberculosis เป็นส่วนใหญ่บางส่วนเกิดจากเชื้อ M. africanum and M. bovis. 

อาการที่น่าสงสัยว่า “วัณโรคปอด”    

  1. ไอเรื้อรังเกิน 3 สัปดาห์ หรือไอมีเลือดออก อาจจะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้
  2. มีไข้ต่ำๆ
  3. เจ็บหน้าอก
  4. อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด  มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายทุกวัน

การบรรเทาอาการไอ                                                                                                                     

        อาการไอ คือ สภาวะที่ร่างกายกำลังทำให้ปอดและทางเดินหายใจโล่ง โดยอาจไอแบบแห้ง ๆ ( ไม่มีเสมหะ ) หรือไอแบบมีเสมหะ อาการไออาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย บางครั้งอาจเกิดจากภาวะภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองโดยเฉพาะบุหรี่ อาการไออาจเป็นผลจากการระคายเคืองโดยตรงต่อปอดหรือจากน้ำมูกที่ไหลลงในหลอดลม ซึ่งเกิดจากอาการคั่งของน้ำมูกในทางเดินหายใจ ถ้าสาเหตุเกิดจากหวัด อาการไออาจเป็นอยู่อีกเป็นเวลานานหลายสัปดาห์หลังอาการอื่น ๆ หายหมดแล้วก็ได้

การดูแลรักษาตนเองเพื่อบรรเทาอาการไอ

          1. ถ้าสูบบุหรี่อยู่ นี่เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะ เลิกบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะขัดขวางการทำงานของสิ่งที่มีลักษณะคล้ายขนเล็ก ๆ ที่ผิวของเยื่อบุทางเดินหายใจ ซึ่งจะทำหน้าที่พัดโบกไปมาคล้ายไม้กวาดขนาดจิ๋วที่กวาดเอา มูก เชื้อโรค และฝุ่น ไม่ให้เข้าไปในปอดและหลอดลม ผู้ที่สูบบุหรี่อวัยวะดังกล่าวจะมีการทำงานเสียไป ไม่สามารถพัดโบกได้ดังเดิม ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจดังนั้นการหยุดสูบบุหรี่จึงเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด
          2. ดื่มน้ำมาก ๆ หรือสูดไอน้ำร้อนจากการต้มน้ำ เพื่อช่วยลดการคั่ง และทำไห้น้ำมูกเหลวขึ้น ควรดื่มน้ำอุ่นอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว
          3. จิบยาแก้ไอหรือยาอมชนิดแก้ไอที่ชุ่มคอ เพื่อช่วยให้ลำคอที่แห้งและระคายอยู่ชุ่มชื้นและสบายขึ้น
          4. ใช้ยาละลายเสมหะ เพื่อช่วยให้เสมหะเหลวใสขึ้น แต่ถ้าเป็นการไอแบบแห้ง ๆ ควรใช้ยาระงับอาการไอ
          5. ควรปรึกษาแพทย์ เมื่อมีอาการไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการผิดปกติ เช่น
               - เสมหะปนเลือดมีสีน้ำตาล หรือเขียว
               - มีอาการหอบหืด หายใจลำบาก
               - เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง
หมั่นออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอและช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคได้

จะรู้ว่าเป็นวัณโรคปอดได้ต่อเมื่อ

          - ตรวจเสมหะ ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบเชื้อวัณโรค
          - เอกซเรย์ปอด พบแผลวัณโรคที่เนื้อปอด

              เมื่อตรวจพบว่าเป็นวัณโรคปอด อย่าท้อแท้และหมดกำลังใจ… “เพราะวัณโรคเป็นโรคที่รักษาให้หายได้” ปัจจุบันมียารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 6 เดือนเท่านั้น โดยผู้ป่วยต้องกินยาตามชนิด และขนาดที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอจนครบกำหนดเรียกว่า การรักษาวัณโรคแบบมีพี่เลี้ยง คือ

  1. มากินยาที่สถานบริการสาธารณสุขทุกวัน โดยมีเจ้าหน้าที่กำกับดูแลการกินยาทุกครั้ง และลงบันทึกการกินยาทุกครั้ง
  2. กินยาโดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นผู้ดูแล
  3. กินยาโดยมีญาติเป็นผู้ดูแลคอยเตือน ให้กำลังใจผู้ป่วย พร้อมทั้งดูแลให้ผู้ป่วยกลืนยาต่อหน้าทุกครั้ง

การแพร่เชื้อ

                         ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคในระยะแพร่กระจายเมื่อผู้ป่วย จาม ไอ หัวเราะร้องเพลงหรือแม้กระทั้งพูดก็สามารถแพร่เชื้อออกทางน้ำลาย dropletnuclei กระจายไปในอากาศและสามารถอยู่ในอากาศได้นาน  เมื่อคนหายใจจะได้รับเชื้อนั้นเข้าในถุงลมในปอด(alveoli)หากร่างกายแข็งแรงภูมิคุ้มกัน immune ปกติร่างกายก็สามารถกำจัดเชื้อนั้นได้โดยการทำลายของ macrophages  ผู้ป่วยเด็กหรือเป็นเอดส์เชื้อจะแพร่กระจายไประบบอื่น เช่น เยื่อหุ้มสมองและเกิดโรค หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2-8 สัปดาห์หากร่างกายแข็งแรงสามารถทำลายเชื้อได้หมด เราทดสอบผิวหนัง PPD skin test จะให้ผลบวก หมายถึงผู้ป่วยติดเชื้อแต่ไม่เกิดโรคเรียก Latent infection ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ติดต่อ วัณโรคไม่ติดต่อทางสัมผัส ไม่ติดต่อทางเสื้อผ้า หรือเครื่องใช้ จะมีเชื้อบางส่วนอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดขาว จนกระทั้งร่างกายอ่อนแอ หรือมีโรคเช่นภูมิคุ้มกันบกพร่องเชื้อจะเจริญเติบโตและเกิดโรคได้

อัตราการติดเชื้อ

อัตราการติดเชื้อจะมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยหลายประการไก้แก่
     -  ผู้ป่วยวัณโรคปอดโดยเฉพาะมีโพรงหนอง และวัณโรคกล่องเสียงจะมีเชื้อปริมาณมากดังนั้นจึงติดต่อได้ง่าย
     -   ระยะเวลาที่สัมผัส กล่าวคือหากอยู่กับผู้ป่วยวันละ 8 ชั่วโมง(เวลาทำงานนั้นเอง) เป็นเวลา 6 เดือน จะมีโอกาสติดเชื้อ 50% หากต้องอยู่กับผู้ป่วย 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 2 เดือนก็มีโอกาสติดเชื้อ 50%
     -  ผู้ป่วยไอมาก
     -  ผู้ป่วยมีเชื้อเป็นปริมาณมากในเสมหะ ท่านผู้อ่านจะทราบว่ามีเชื้อมากหรือน้อยจากการตรวจเสมหะหากให้ผล+2ขึ้นไปแสดงว่ามีเชื้อมาก
     -  ผู้ป่วยที่รักษาไม่ครบ
     -  ห้องที่อยู่แคบและถ่ายเทอากาศไม่ดี
     -  ระบบระบายอาการเป็นระบบปิดไม่มีการเปลี่ยนอากาศใหม่เพื่อเจือจางอากาศ

การติดเชื้อ
    ผู้ที่ได้รับเชื้อ [Latent infection] ทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นวัณโรคทุกคน ประมาณว่าร้อยละ10จะเป็นวัณโรคโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้
                 -  ผู้ป่วยโรคเอดส์
                 -  ผู้ป่วยเบาหวาน
                 -  ผู้ป่วยที่ได้รับยา prednisolone หรือยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน หรือเปลี่ยนไต
                 -  ผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรัง
                 -  ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
                 -  ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวน้อย
                 -  ผู้ป่วยที่เป็น silicosis
                 -  ผู้ป่วยที่ตัดกระเพาะ หรือตักต่อลำไส้
          เมื่อร่างกายอ่อนแอเชื่อที่อยู่ในปอดจะเจริญและแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดและต่อมน้ำเหลืองไปตามอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง ไต กระดูก และอวัยวะสืบพันธ์ ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคจะมีอาการ ไข้ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ไอเรื้อรัง บางรายไอจนเสมหะมีเลือดปน หากเป็นมากขึ้นจะมีการทำลายเนื้อปอดทำให้หอบเหนื่อย

ติดต่อได้อย่างไร

                    วัณโรคจะติดต่อจากคนสู่คน การติดต่อของวัณโรคจะเหมือนกับการติดต่อของไข้หวัด เชื้อวัณโรคจะแพร่กระจายทางอากาศ และนานๆครั้งจะพบว่า มีการติดต่อโดยการสัมผัส ผู้ที่ป่วยจากวัณโรคปอดเท่านั้นที่จะเป็นผู้แพร่เชื้อ เมื่อคนเหล่านี้ ไอ จาม พูดคุย หรือถ่มน้ำลาย ขากเสมหะ เชื้อวัณโรคในปอดจะถูกขับฟุ้งกระจายสู่อากาศและสามารถล่องลอยอยู่ได้นานหลายชั่วโมง

การปฏิบัติตัว เมื่อป่วยเป็นวัณโรคปอด

  1. กินยาตามชนิด และขนาดที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอจนครบกำหนด และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  2. เมื่อกินยาไปประมาณ 2 สัปดาห์ อาการไอ และอาการต่างๆจะลดลง รู้สึกสบายดีขึ้นมากแต่เชื้อวัณโรคยังไม่หายไปอย่าหยุดกินยาเองเป็นอันขาด
  3. ควรงดเหล้า บุหรี่ และยาเสพติด เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำลายสุขภาพให้เสื่อมโทรม
  4. ปิดปาก จมูก เวลาไอหรือจามเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
  5. บ้วนเสมหะลงในภาชนะหรือ กระป๋องที่มีฝาปิดมิดชิดทำลายเสมหะ โดยนำกระป๋องไปตั้งไฟให้เดือดอย่างน้อย 5 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรค
  6. จัดบ้านให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้แสงแดดสองถึงและหมั่นนำเครื่องนอนออกตากแดด
  7. ควรนำทุกคนในบ้านโดยเฉพาะเด็กๆ ไปรับการตรวจเสียแต่เนิ่นๆ ถ้าป่วยเป็นวัณโรคแพทย์จะได้ทำการรักษาได้ทันทีตั้งแต่เริ่มเป็นใหม่ๆ
  8. สามารถกินยารักษาโรคร่วมกับยารักษาโรคอื่นๆ ได้
  9. กินอาหารได้ทุกชนิด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ไข่ ผักและผลไม้

* วัณโรครักษาให้หายขาดได้ ภายใน 6 เดือน *

  หลักการปฏิบัติตัว 5 ต. ต่อต้านวัณโรค

ต. ที่หนึ่ง…..ต้อง กินยาต่อหน้า
ต.
ที่สอง…...ต้อง รักษาต่อเนื่อง
ต.
ที่สาม…...ติ๊ก บัตรหลังกินยา
ต.
ที่สี่……....ติด ตามถ้าผู้ป่วยไม่มากินยา

ต.
ที่ห้า……..เต็ม ใจรักษา 

การวินิจฉัย

          เมื่อมีอาการไอ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาจมีไข้ต่ำๆ บางครั้งเสมหะมีเลือดปน หากเป็นเรื้อรังเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป ต้องรีบปรึกษาแพทย์

การวินิจฉัยสามารถทำได้หลายวิธีได้แก่

               1.  การทดสอบหาภูมิต่อเชื้อวัณโรคทางผิวหนัง tuberculin skin test โดยการฉีด purified protein derivative (PPD) เข้าใต้ผิวหนังแล้วอ่านผลใน 24-48 ชั่วโมง ถ้าพบบริเวณที่ฉีดบวมและแดงเกิน 10 มม.แสดงว่าผู้นั้นได้รับเชื้อ

 

  1. แพทย์จะให้ทำ X-RAY ปอด

    TBC1.jpg (13040 bytes) adv-TBC2.jpg (16905 bytes) MILIARY.jpg (16796 bytes)
  2. แพทย์จะนำเสมหะไปตรวจหาเชื้อ และการเพาะเชื้อ เนื่องจากเชื้อในเสมหะมีไม่มาก แพทย์อาจให้ตรวจเสมหะ 2-3 ครั้ง

     

    เชื้อวัณโรคที่ตรวจจากเสมหะพบลักษณะตัวแดงเล็กๆ

การรักษา

ผู้ป่วยวัณโรคที่ไม่ได้รักษาจะมีอัตราการตาย ร้อยละ 40-60 ปัจจุบันมีวิธีการรักษาวัณโรคระยะสั้น โดยการให้ยารักษาควบคู่กันไปหลายขนาน หากรักษาครบกำหนดจะมีอัตราหายร้อยละ 90 การรักษาจะใช้ร่วมกันหลายชนิดโดยให้ INH,Rifampicine 6 เดือน และให้ Ethambutal,pyracinamide 2 เดือนแรก ผู้ป่วยที่มีรายได้น้อยก็สามารถไปรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยของรัฐเมื่อรักษาไป 2-3 สัปดาห์ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่าตัดสินใจหยุดยาเองเป็นอันขาด การกินยาไม่สม่ำเสมอ หรือหยุดยาก่อนกำหนดจะทำให้เชื้อโรคดื้อยา   การรักษาวัณโรคที่ดื้อยา ผู้ป่วยจะแพร่เชื้อดื้อยาไปสู่ผู้อื่น จะต้องใช้ยา 18-24 เดือนโดยใช้ยาที่เชื้อไม่ดื้อยาอย่างน้อย3 ชนิด

วัณโรคเป็นโรคที่รักษาให้หายได้แน่นอน ใช้ระยะเวลาเพียง 6 – 8 เดือนเท่านั้น แต่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ดังนี้

  1. กินยาตามชนิดและขนาดที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอจนครบกำหนด (ไม่ลดหรือเพิ่มขนาดของยาเอง)
  2. มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  3. อย่าหยุดกินยาเองเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยาได้
  4. สามารถกินยารักษาวัณโรคร่วมกับยารักษาโรคอื่นได้
  5. กินอาหารได้ตามปกติ
  6. ควรงดเหล้า บุหรี่ และยาเสพติด

* วัณโรครักษาด้วยยาได้ แต่การให้กำลังใจไม่ทอดทิ้ง สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด *

จะไปรับการตรวจรักษาวัณโรคได้ที่ใด?

                  ตามพรบ.ประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท รักษาทุกโรค ท่านสามารถนำบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคไปรับบริการตรวจหาวัณโรคได้ที่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งใกล้บ้านท่าน

ใส่ใจตนเองสักนิด ไอเกิน 3 อาทิตย์ มีสิทธิ์เป็นวัณโรคปอด

  ยารักษาวัณโรคปอด 

                    ผู้ที่ป่วยด้วยวัณโรคปอดจะได้รับยาต้านวัณโรค ซึ่งมักจะประกอบด้วยตัวยาดังนี้

alvbull3.gif (189 bytes)  ไรแฟมพิซิน

alvbull3.gif (189 bytes)  ไอโซไนอะซิด

alvbull3.gif (189 bytes) อีแธมบูธอล

alvbull3.gif (189 bytes)  ไพราซินาไมด์

                 นอกจากนั้นอาจได้รับไพริด๊อกซิน หรือวิตามิน บี 6 หรือวิตามิน บี 1 – 6 –12 ร่วมกับยาดังกล่าว เพราะผู้ที่ป่วยด้วยเชื้อวัณโรคจะขาดวิตามินดังกล่าว ซึ่งต้องใช้ร่วมกันกับยารักษาวัณโรค ตามที่ได้รับคำแนะนำ

วัณโรคปอด หรือ ทีบี เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ต้องได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง ยารักษาวัณโรคจะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อ หรือป้องกันการแบ่งตัวของเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดวัณโรคมีการแบ่งตัวช้า และระยะฟักตัวของเชื้อในร่างกายกินเวลานาน ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะได้รับยาเป็นระยะเวลา ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 24 เดือน แล้วแต่สูตรยา

 ผลของยารักษาวัณโรคปอดต่อร่างกาย

                      ผู้ป่วยส่วนมากจะสามารถใช้ยาต้านวัณโรคได้โดยไม่มีปัญหา บางรายอาจไม่รู้สึกสบายในท้อง จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด อาการข้างเคียงที่มักจะพบได้บ่อยในยาต้านวัณโรค คือ

ยา

อาการข้างเคียง

วิธีรับประทานที่ถูกต้อง

ไรแฟมพิซิน ( Rifampicin )

ปัสสาวะ น้ำตา เหงื่อ และ อุจจาระอาจเป็นสีส้ม – แดง โดยไม่มีอันตรายใด ๆ

รับประทานก่อนอาหาร 30 นาที ยกเว้นเมื่อมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ให้รับประทานร่วมกับอาหาร

ไอโซไนอะซิด ( Isoniazid , INH )

- ผื่นไข้ หรืออาการแพ้อื่น ๆ

- อาจทำให้ระดับวิตามิน บี 6 ลดลง ถ้าเกิดขึ้นจะทำให้รู้สึก ชา ปวดแสบปวดร้อน รู้สึกเหมือนผิวไหม้ที่บริเวณมือเท้า ( * ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ )

รับประทานก่อนอาหาร 30 นาที ยกเว้นเมื่อรู้สึกไม่สบายในท้อง

อีแธมบูธอล ( Ethambutol )

หากรับประทานขนาดสูงเป็นเวลานานจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มึน มองภาพเห็นซ้อน ผื่น ปวดตา ( * ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ )

รับประทานร่วมกับอาหาร

ไพราซินาไมด์ ( Pyrazinamide )

เป็นไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน

รับประทานร่วมกับอาหาร

สเตร็บโตมัยซิน ( Streptomycin )

ผื่น

ฉีดเข้ากล้าม

ข้อควรจำเกี่ยวกับยารักษาวัณโรค

                - ยาที่ได้รับจะอยู่ในรูปยาเม็ด แคปซูล แม้ว่ายาสามารถต่อต้านเชื้อวัณโรคภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ก็ไม่สามารถเห็นผลการรักษาในเวลาเพียง 2 – 3 สัปดาห์ โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเพียงวันละครั้งในตอนเช้า นอกจากแพทย์จะสั่งเป็นอย่างอื่น
                 - เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ป่วยควรรักษาให้ครบระยะเวลาที่แพทย์กำหนด
                 - ควรเก็บยาในที่แห้งและเย็น ไม่ถูกแสงแดด และเก็บให้พ้นจากมือเด็ก
                 - เมื่อผู้ป่วยมีปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาต้านวัณโรคปอดควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร

จะทำอย่างไรดี ถ้าลืมกินยา

เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ๆ เนื่องจากต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่ถ้าเกิดปัญหานี้ขึ้นให้รีบกินยาครั้งที่ลืมทันทีที่นึกได้ และกินต่อตามกำหนดเดิม แต่ถ้าหากเวลาที่ท่านนึกได้ว่าลืมครั้งก่อน ใกล้ถึงเวลาการกินยาครั้งต่อไปไม่ควรกินยาครั้งที่ลืม ให้กินยาครั้งต่อไปตามปกติได้เลย มิฉะนั้นผู้ป่วยอาจได้รับยาสูงเกินขนาด

การปฏิบัติตัวขณะที่ใช้ยาต้านวัณโรคปอด

           1. แจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ ถ้าท่านกำลัง ตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร
           2. แจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบว่า กำลังใช้ยา อะไรอยู่บ้าง
           3. แจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบว่ามีประวัติแพ้ยาตัวใด โรคประจำตัวที่เป็นอยู่ เช่น โรคตับ ไต เบา หวาน เก๊าท์ ติดสุรา หรือมีอาการผิดปกติทางตา
           4. ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดควรเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดเป็นวิธีอื่น เพราะยานี้จะทำให้ประสิทธิภาพของยาเม็ด คุมกำเนิดลดลง
           5. ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดอ่อนควรระวัง เพราะยานี้จะทำให้คอนแทคเลนส์ติดสีอย่างถาวรได้
           6. หลีกเลี่ยงการขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักรกลที่อันตรายเพราะยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยบางคนง่วงนอนได้
           7. มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อประเมินผลการรักษา และตรวจตาทุก 3 – 6 เดือน และอาจตรวจเลือด การทำงานของตับ ไต ด้วย

ข้อปฏิบัติ เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นวัณโรคปอด

  1. ถ้ามีอาการน่าสงสัย เช่น ไอเรื้อรังเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป เจ็บหน้าอก หรือไอมีเลือดออก มีไข้ต่ำๆ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ควรรีบไปตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอด, ตรวจเสมหะ
  2. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ควรออกกำลังกาย และกินอาหารให้ครบทุกหมู่
  3. ไม่สำส่อนทางเพศเพราะอาจทำให้ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลง มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ง่ายขึ้น
  4. ถ้ามีผู้ป่วยเป็นวัณโรคอยู่ในบ้าน ควรให้กำลังเขา และอย่าให้หยุดกินยาเองโดยเด็ดขาด
  5. “คนปกติทั่วไป” …ก็ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง… “ถ้าเป็นวัณโรคจะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น”
  6. นำเด็กแรกเกิด ไปรับการฉีดวัคซีนบีซีจี. ที่สถานบริการสาธารณสุข

การป้องกัน

วัณโรคเป็นโรคที่ป้องกันได้โดยการให้ความรู้แก่ญาติและตัวผู้ป่วย เกี่ยวกับวิธีการติดต่อ ใช้ทิสชู่ปิดปากเวลาไอ เวลาไอให้ไอกลางแจ้ง จัดห้องให้แสงแดดส่องถึง อากาศถ่ายเทอย่างดีผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อควรหยุดงานจนกระทั้งได้ยารักษาแล้ว 2 สัปดาห์ และที่สำคัญที่สุดต้องรับประทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง นอกจากนั้นควรจะให้ยารักษาวัณโรคเพื่อป้องกันในผู้ป่วยต่อไปนี้

     -  ผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยและให้ผลทดสอบผิวหนังเป็นบวก
     -  ผู้ที่ทดสอบผิวหนังเป็นบวกและ X-RAYปอดพบรอยโรค
     -  ผู้ที่ทดสอบผิวหนังเป็นบวกและเป็นเอดส์
     -  ผู้ที่ทดสอบผิวหนังเป็นบวกและมีโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
     -  ผู้ที่ทดสอบผิวหนังเป็นบวกจากที่ทดสอบครั้งก่อนเป็นลบ
     -  ผู้ที่ทดสอบผิวหนังเป็นบวกและติดยาเสพติด

ยาที่แพทย์ให้คือ INH หรือ Rifampicin โดยให้ยา 6-12 เดือน

จะป้องกันตัวเองมิให้เป็นวัณโรคได้อย่างไร

-  รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายบ่อยๆ รับประทานอาหารให้ครบหมู่
-  หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดวัณโรค เช่น ห้ามสำส่อนทางเพศ ห้ามติดยาเสพติด
-  ดูแลผู้ป่วยวัณโรคให้กินยาอย่างสม่ำเสมอ
-  แนะนำให้ผู้ป่วยวัณโรคปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง
-  ตรวจภาพรังสีปอดปีละครั้ง

วัณโรคสามารถป้องกันได้โดย

  1. นำเด็กแรกเกิดไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี)
  2. ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยวัณโรค ควรได้รับการตรวจเสมหะและเอ๊กซเรย์ปอด
  3. ผู้ป่วยวัณโรควรปิดปาก-จมูก เวลาไอหรือจาม และบ้วนเสมหะลงในภาชนะที่มีฝาปิดแล้วทำลายโดยการต้ม เผา
  4. จัดบ้านที่อยู่อาศัยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องถึง เพราะแสงแดดสามารถฆ่าเชื้อวัณโรค ได
  5. งดสิ่งเสพติดทุกชนิด เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ร่างกายทรุดโทรม อาจทำให้รับเชื้อวัณโรคได้ง่ายขึ้น
  6. อย่าสำส่อนทางเพศ อาจทำให้ติดเชื้อเอดส์ มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ง่ายขึ้น

ความสัมพันธ์ของวัณโรคกับเอดส์

เอดส์กับวัณโรค 

               ผู้ที่เคยได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นวัณโรคทุกคน เพราะร่างกายมีกลไกหลายอย่างที่จะต่อสู้ป้องกันวัณโรค แต่เมื่อได้รับเชื้อเอดส์ร่วมด้วย จะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายเสื่อมลง มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคง่ายขึ้น และอาจเป็นวัณโรคชนิดรุนแรงได้ทุกอวัยวะของร่างกาย

แนวทางการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีวัณโรคร่วมด้วย

1.   กรณีตรวจพบว่าเป็นวัณโรคก่อนจะเริ่มยาต้านไวรัสเอดส์

  1. ถ้า CD4 เกิน 250 cells/cu.mm ให้รอรักษาวัณโรคครบก่อน พร้อมติดตาม CD4 ทุก 3 – 6 เดือน ถ้ารักษาวัณโรคครบแล้วหรือ CD4 ต่ำกว่า 250 cells/cu.mm ค่อยเริ่มยาต้านไวรัสเอดส์
  2. ถ้า CD4 ต่ำกว่า 250 cells/cu.mm ให้เริ่มยาต้านวัณโรคก่อน หลังจากนั้นภายใน 2 – 4 สัปดาห์ ให้พิจารณาเริ่มยาต้านไวรัสเอดส์ ไม่ควรรอนานกว่า 2 เดือน หรือ จนรักษาวัณโรคครบก่อนเริ่มยาต้านไวรัสเอดส์ เพราะพบว่าอัตราการตายสูง

สูตรยาที่แนะนำให้ใช้ คือ    d4T + 3TC + EFV หรือ AZT + 3TC + EFV

สูตรยาอื่นที่ใช้ได้ คือ               (1)  GPO-Vir
                                           (2)  d4T + 3TC + SQV / RTV หรือ AZT + 3TC + SQV / RTV

หมายเหตุ : 
                              
          (ก) Rifampin ทำให้ลดระดับยา NNRTI ลงแต่ระดับ EFV ที่เหลือก็ยังเพียงพอที่จะยับยั้งเชื้อไวรัสเอดส์ จึงไม่จำต้องเพิ่ม EFV ซึ่งเป็น 800 mg OD ตามที่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านแนะนำ
                                 (ข) Rifampin จะทำให้ระดับของยา NVP ลดลงมากกว่าจนอาจไม่สามารถกดเชื้อได้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงไม่แนะนำให้ใช้ NVP ควบคู่กับ Rifampin แต่ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ EFV ได้ อาจพิจารณาให้ NVP ( GPO-Vir ) ได้ แต่ควรมีการตรวจหาระดับยา NVP ในกระแสเลือดร่วมด้วย
                                 (ค) Boosted PI สามารถให้ร่วมกับ Rifampin ได้แต่ก็มีเพียงสูตร SQV / RTV ( 400:400 BID ) ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ แต่ราคาแพงและมีผลข้างเคียงจาก RTV มาก ส่วน booted PI สูตรอื่น ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมแม้จะมีผู้เชี่ยวชาญบางท่านใช้อยู่

2.  กรณีตรวจพบว่าเป็นวัณโรคขณะที่กำลังรับประทานยาต้านไวรัสเอดส์อยู่

             ไม่จำเป็นต้องหยุดยาต้านไวรัสเอดส์ แต่ให้พิจารณาดังนี้

                    1.  ถ้าเป็น EFV containing regimens ให้คงสูตรเดิมต่อ
                    2.  ถ้าเป็น NVP containing regimens ให้พิจารณาเปลี่ยนเป็น EFV
                    3. ถ้าเป็น unboosted PI regimen ให้พิจารณาเปลี่ยนเป็น EFV หรือให้ใช้ boosted PI เช่น IDV / RTV ( 800:200 BID ) โดยต้องติดตามผลข้างเคียง ของ PI ที่ถูก booted ขึ้นมาก ๆ ด้วย RTV ขนาด 200 mg BID ถ้าทนไม่ได้อาจลด RTV ลงเหลือ 100 mg BID 

ข้อกำหนดขององค์กรนามัยโลก สำหรับการรักษาวัณโรคดื้อยา

( Multidrug Resistance Tuberculosis )

วัณโรคที่ดื้อยาหมายถึงเชื้อที่ดื้อต่อยารักษาตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ผู้ที่ติดเชื้อชนิดนี้จะรักษายากและมีอัตราการตายสูง สาเหตุที่พบวัณโรคดื้อยาเพิ่มขึ้นได้แก่

*  ผู้ป่วยวัณโรคได้รับยาน้อยกว่า 6-12 เดือน ผู้ป่วยมักหยุดยาหลังจากได้ยา 2-4 สัปดาห์เนื่องจากสบายตัวขึ้นหรืออาจเกิดผลข้างเคียงของยา
*  ผู้ป่วยได้รับยาน้อยเกินไป
*  ขนาดยาที่ได้รับไม่พอ
*  ผู้ป่วย เอดส์พบมากขึ้นทำให้มีวัณโรคมากขึ้น

หากผู้ที่เป็นวัณโรคต้องรักษาตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด หากเกิดผลข้างเคียงจากยาควรปรึกษาแพทย์ไม่ควรหยุดยาด้วยตังเอง

ทดลองทำข้อสอบวัณโรคผ่านระบบ E - learning
สถานการณ์วัณโรคประเทศไทย
สถานการณ์วัณโรคภาคเหนือตอนล่าง

วัณโรคคืออะไร [ Click Here ]

เอดส์กับวัณโรค
คำสำคัญ (Tags): #วัณโรค
หมายเลขบันทึก: 8413เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2005 02:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ปัจจัยที่ทำให้เกิดวัณโรคอีกครั้งมีอะไรบ้างคะ

คือดิฉันเพิ่งตรวจพบว่าตัวเองเป็นวัณโรคคะ เมื่อวันที่26คะ ไม่มีอาการใดๆมาก่อนเลย พอวันที่27มาเริ่มทานยา ก็เริ่มมีอาการไอคะ ควรทำไงดีคะ

ผมตรวจพบเชื้อเอดส์มาตั้งแต่ปี 51 ในขนะที่ cD4 500 กว่าๆ อาการผมแย่มากๆ เชื้อราในปาก ลิ้น เจ็บคอ มีไข้ ตลอดเวลา น้ำหนักลด ต้องแอดมิดนอนโรงบาลให้น้ำเกลือ 2 วัน 2 คืน หลังจากนั้น CD4 ลดลงเหลือ 250 ในเวลาไม่นานนัก กินยาต้านไวรัส เปลี่ยนยาถึง 4 ครั้ง กว่าจะลงตัว ก่อนน่านั้นเอ๊กซเรย์ปอดหมอบอกไม่เป็นวัณโรค แต่มีอาการไอช่วงระยะสั้นๆ เอ๊กซเรย์ปอดตอนป 51 ปัจจุบันกินยาต้านมา 2 ปีแล้ว แต่ภูมิไม่ขึ้นเลยยังอยู่ที่ 390 เมื่อวันที่ 8 ที่ผ่านมามีอาการไอก็ไปตรวจคุณหมอเอาฟิมล์เอ๊กซเรย์ปี 51 มาเช็คดูผล ผมเป็นวัณโรคตั้งแต่ปี 51 หมอไม่บอกผมซักคำ ภูมิผมไม่ขึ้นก็ไม่เปลี่ยนยาให้ตอนนี้ เพิ่งได้ยามาใหม่พร้อมกับยาวัณโรคผมเสียใจมากที่หมอทำงานได้แย่มากๆ แต่หมอ 2 ท่านนี้ลาออกไปแล้ว ตอนนี้ได้หมอคนใหม่มาแทนอายุปะมาน 50กว่าๆ เขาบอกผมว่าผมเป็นวัณโรคมาตั้งแต่ปี 51 แล้ว ตอนนี้ผมเครียดมากๆ ผมอยากถามว่า ทานยาต้านไวรัสพร้อมกับยาวัณโรคผมจะตัวดำมั้ย...ผมกลัวตัวดำ ทุกวันนี้ไม่ได้ทำมาหากินอะไรเลยแฟนผมเอามาติดโดยที่ผมไม่รู้ตัวเลย เอาแต่ทำงานกลับบ้านดึกทุกวัน มารุ้อีกทีก็ติดเชื้อไปแล้วเครียดครับ ทางบ้านผมก็รับไม่ได้พ่อแม่ผมเสียก่อนผมติดเชื้อแล้ว แต่พี่น้องผมไล่ผมออกจากบ้านทุกวันนี้อยู่กับแฟนที่ติดเชื้อเหมือนกัน แต่อาการยังไม่ออก ผมจะตัวดำมั้ย...แล้วมีมูลนิธิไหนให้ทุนทำอาชีพบ้าง ผมลำบากมากตอนนี้ ช่วยตอบผมด้วยคับ ทุกวันนี้ำได้แต่สวดมนต์ภาวนามา 2 ปีกว่าแล้วทุกวันไม่เคยได้หยุดเลยซักวัน ขอให้มีใครช่วยเหลือให้ผมมีอาชีพมีทุนทำกินซักก้อนเล็กๆก็ยังดี ผมอยากกลับมาค้าขายเหมือนเดิม...ช่วยตอบผมด้วยนะครับ 086-5900728 ทีเจ ครับ

ผมกินยามาได้สัปดาห์ที่ 3 แล้วผมสามารถกินข้าว หรือพูดคุย กับ ครอบครัวโดยไม่ต้องปิดปากได้หรือเปล่าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท