beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

บันทึกของ beeman ที่ประทับใจและโดนใจนิสิตที่สุด


จะว่าไปแล้ว เมื่อเราอยู่ในฐานะใดก็อยากจะเป็นตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวเราเป็นอยู่ มนุษย์ไม่รู้จักคำว่าพอ

    จากการที่ให้นิสิตภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ชั้นปีที่ 2 ได้เลือกอ่านบันทึกตามใจสมัครใน Gotokonw.org แล้วเลือกมาสัก 1 บันทึกที่โดนใจ พร้อมทั้งให้เหตุผลประกอบ ก็มีหลายเรื่องที่นิสิตโดนใจ สำหรับในบันทึกนี้ จึงขอคัดเลือกผู้ที่ได้เขียนสำนวนดี ๆ มาฝากสัก 4 เรื่อง ดังนี้ครับ

1. เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตเป็นสุข  ให้เหตุผลโดย น.ส นิตยา คงมี

     เมื่อก่อนข้าพเจ้าเคยคิดว่า ถ้าคนเราเลือกเกิดได้ก็ดี เพราะทุกคนคงจะเลือกที่จะเกิดมาเป็นคนรวย คนสวย กันหมด นั่นเป็นความคิดของเด็กหญิงที่ไม่สวย ไม่มีเงินคนหนึ่ง เพราะจะว่าไปแล้ว เมื่อเราอยู่ในฐานะใดก็อยากจะเป็นตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวเราเป็นอยู่ มนุษย์ไม่รู้จักคำว่าพอ มีแต่คำว่า อยากเป็นโน่น เป็นนี่ ได้นั่น ได้นี่ จึงทำให้โลกวุ่นวายอยู่จนถึงทุกวัน ถ้าเราทุกคนรู้จักความพอใจกับสิ่งที่ตนเองมีอยู่ โลกของเราคงไม่มีคดีชิงทรัพย์ ปล้น ฆ่า แน่นอน

    เมื่ออ่านบทความ ทำให้ข้าพเจ้า อยากลองที่จะเปลี่ยนความคิดดูบ้าง  เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่าสิ่งที่น่าจะเปลี่ยนยากที่สุดคือความคิดนี่เอง ถ้าเราไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากโลกภายนอก เราก็จะยังคงความคิดเช่นเดิมเสมอ และเมื่อพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่แล้ว ก็ทำให้คิดได้ว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอนเหมือน โลกธรรม 8 ที่อาจารย์ได้ยกตัวอย่าง มีลาภ ก็ต้องเสื่อมลาภ และเราจะสุขจะทุกข์ เราคิดเอง ตัดสินในเอง ทุกอย่างคิดให้สุข มันก็สุข แต่ไม่ควรเห็นแก่ตัว และไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน เราก็ถือว่าเกิดมามีความสุขแล้วล่ะ

2. สุนัขจนตรอก  ให้เหตุผลโดย นายวิทยา ผาคำ

     เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อจารย์กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโท และมีอยู่รายวิชาหนึ่งที่อาจารย์สอบแล้วได้คะแนนเป็นที่สองจากท้ายตาราง อาจารย์จึงได้ไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อที่จะถอนรายวิชานั้น แต่กลับได้คำปรึกษาทำนองว่า อยากให้เรียนต่อไปเพราะว่าเป็นนักเรียนทุน จะได้เรียนจบเร็วๆ เพื่อที่จะได้เป็นอาจารย์เร็วๆ ฉะนั้นจึงไม่มีทางเลือก ต้องเรียนต่อไป ในรายวิชานี้ โดยได้วางแผนการเรียนและถามอาจารย์ผู้สอนเกี่ยวกับการเตรียมตัวในการเรียน เมื่อผลการสอบปลายภาคเรียนปรากฎว่า ผู้ที่ได้ A มี 2 คน ซึ่งในบทความไม่ได้บอกว่าเป็นใคร ทราบภายหลังว่าเป็นอาจารย์ในคาบเรียน Cell Biology ทำให้กระผมได้รู้ว่า สุนัขจนตรอกถ้าหากสู้ก็มีโอกาสรอดได้เหมือนกัน

     สาเหตุที่กระผมชอบเป็นพิเศษเพราะว่า เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับผมซึ่งคล้ายกับเรื่องนี้ คือ สมัยผมอยู่มัธยา สอบวิชาคณิตศาสตร์ได้ 10 คะแนน จาก 30 คะแนน เนื่องจากว่า เรียนคณิตศาสตร์มาแบบท่องจำตลอด พอเจอโจทย์พลิกแพลงก็ทำไม่ได้ เพราะอาจารย์ไม่ได้สอน จึงต้องปรับแนวความคิดและตั้งใจทำโจทย์ให้มากๆ   แรกๆ ก็รู้สึกท้อเพราะทำไม่ได้เลย แต่จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นจากโจทย์คณิตศาสตร์เพียงข้อเดียว จำได้ว่าเป็นโจทย์ข้อสอบโอลิมปิก ใช้เวลาทำกว่า 2 ชั่วโมง โดยเสียเวลาหาทฤษฎีมาอ้างอิงเป็นส่วนใหญ่จึงได้คำตอบออกมา เมื่อเปิดเฉลยดูก็พบว่า คำตอบถูกต้อง แต่แปลกใจตรงที่วิธีการทำไม่เหมือนกับเฉลย แต่กระผมค่อนข้างมั่นใจกับวิธีทำของผมเองเพราะอ้างอิงทฤษฎีทุกขั้นตอน จึงนำไปให้อาจารย์ผู้สอนดู อาจารย์ท่านก็บอกว่า ทำวิธีนี้ก็ได้ แถมวิธีของผมนั้นสั้นกว่าของเฉลยเสียอีก ทำให้ความคิดของผมเปลี่ยนไปจากเดิม ที่ว่าจะต้องทำตามขั้นตอนที่อาจารย์สอน หรือในหนังสือเรียนเท่านั้น ทำให้อุปสรรคในการเรียนลดลงเป็นอย่างมาก ปรากฎผลคะแนนเก็บและคะแนนปลายภาคอีก 70 คะแนน กระผมได้เต็ม รวมกับ 10 คะแนนตอนกลางภาค กระผมทำได้ 80 พอดี ได้เกรด 4 ไปเชยชม

3. สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ให้เหตุโดย นางสาวเทวิกา กล้าถิ่นภู

      เหตุผลที่เลือกบทความนี้ ก็เพราะรู้สึกชอบมากกว่าบทความอื่นๆ อ่านแล้วตรงใจตัวเองดี คิดว่ามันก็จริงอย่างที่กล่าวมา "สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง" อย่างที่บทความยกตัวอย่างเรื่องของฤดูกาลว่ามีการเปลี่ยนแปลง บ้างร้อน บ้างหนาว บ้างฝนตก ซึ่งเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เป็นสิ่งที่หาเหตุผลได้จากทฤษฎี แล้วถ้ามองไปในชีวิตประจำวัน ถ็จะพบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ และเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดในจิตใจของเราด้วย ทีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นว่า อย่าไปยึดติดกับอะไรให้มากนัก จะทำให้เกิดทุกข์เปล่าๆ แค่เราอยู่เฉยๆ ในทุกวันนี้ ก็หนีไม่พ้นความทุกข์อยู่แล้ว อย่าแสวงหาทุกข์มาใส่ตัวอีกเลย สู้เอาเวลาที่มีอยู่นี้ไปหาทางการดับทุกข์ ที่มีอยู่ให้หมดสิ้นไปจากตัวเราดีกว่า เราจะได้พ้นทุกข์ จิตใจสงบ อยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข

4. ยิ่งเร็วก็ยิ่งช้า  ให้เหตุผลโดยนางสาวสุรีย์รัตน์ จิอู๋

     นิทานเซ็นเรื่องยิ่งเร็วก็ยิ่งช้านี้ ให้ข้อคิดสำหรับข้าพเจ้าได้มาก การที่เรายึดติดกับสิ่งใดมากเกินไป ย่อมไม่เป็นผล เราจะเร่งเวลาให้เร็วมากไปก็ไม่ได้ ยิ่งเร็วก็ยิ่งช้า ตามที่อาจารย์บอกจริงๆ เราควรที่จะทำไปอย่างเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบร้อน ทำอย่างมีสติคิดใคร่ครวญให้ดีอย่ารีบร้อน เพราะความรีบร้อนก็รังแต่จะสร้งความเสียหายให้เราได้หลายด้านเลยทีเดียว เช่น ชีวิตความเป็นอยู่ อารมณ์ความรู้สึกของเราเอง ซึ่งสามารถส่งผมกระทบไปทั่วทั้งใจและกายของเรา

     คนเราเกิดมาย่อมมีสิ่งที่แตกต่างกัน ไม่มีใครเหมือนกันเลย บางคนรีบร้อน บางคนใจเย็น บางคนยึดถือแต่สิ่งนั้นของเขาน่ะ บางคนเฉยๆ ไม่รู้ร้อนรู้หนาว มีชีวิตอยู่ไปวันๆ บางคนรู้ว่าชีวิตควรทำอะไรให้มีประโยชน์ บางคนก็ว่าตัวเองเก่งที่สุด ไม่พึ่งใคร สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นการยึดมั่นถือมั่นเกินไป ถ้าคนเราเลิกคิดว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ เราก็มีความสุข มีสมาธิที่ใช้ในการไตร่ตรองความผิดชอบชั่วดี ทำให้สิ่งที่เราจะกระทำจะนำมาซึ่งสิ่งดีๆ ที่เราทำมันอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งก็เกิดขึ้มาได้ก็เพราะตัวของเราเองที่ไม่ยึดติดว่าตัวกูของกู อย่างเช่นอาจารย์ได้บอกว่า ในขณะกำลังสอบนั้นนิสิตจะต้องลืมหมดทุกอย่างแม้กระทั่งตัวเอง มีสมาธิเหลือเพียงโจทย์ถามว่าอย่างไร จะตอบปัญหาอย่างไร ใจความอย่างไร จะเขียนตอบอย่างไร ถ้าจิตว่างจากตัวกูของกูแล้ว วิชาความรู้ต่างๆ ที่เคยสะสมมาตั้งแต่แรก จะทำให้เรา/เขา พบกับคำตอบในที่สุด แต่ถ้าในทางกลับกันเรายึดมั่นตัวกูของกู ผลออกมาก็จะเป็นดังชื่อเรื่องของนิทานเซน อย่างที่อาจารย์บอกมาจริ้งๆ ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 8335เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2005 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท