ผู้หญิง-เพศสภาพ-การเมือง : เรื่องชวนถกให้เถียง


"ผู้หญิง 100 คนที่มีอิทธิพลมากที่สุด"

ผู้หญิง-เพศสภาพ-การเมือง : เรื่องชวนถกให้เถียง


นิตยสารฟอร์บ (Forbes Magazine) ในสหรัฐอเมริกา เพิ่งจะตีพิมพ์ชื่อ "ผู้หญิง 100 คนที่มีอิทธิพลมากที่สุด" (The 100 Most Powerful Women) รายชื่อเหล่านี้ได้มาจากการทำสำรวจชื่อของผู้หญิงที่ปรากฏอยู่ในการรายงานของสื่อมวลชน ซึ่งครอบคลุมผู้หญิงในทุกสาขาวิชาชีพ

จากรายชื่อผู้หญิง 100 คนที่นิตยสารฟอร์บระบุว่ามีอิทธิพลนั้น จำนวน 30 คนเป็นผู้หญิงที่มีบทบาททางการเมือง และสามอันดับแรกของผู้หญิงที่มีอิทธิพลมากที่สุดนั้น ก็เป็นผู้หญิงจากแวดวงการเมือง คือ แองเจลลา เมอเกิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, คอนโดลิสซ่า ไรซ์ (Condoleezza Rice)รัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา และ หวูยี่ (Wu Yi)รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของสาธารณรัฐประชาชนจีน

นอกจากหวูยี่ แล้ว ยังมีผู้หญิงอีก 7 คนจากภูมิภาคเอเชียที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ติดอยู่ในอันดับผู้หญิง 100 คนที่มีอิทธิพลที่สุดของนิตยสารฟอร์บด้วย พวกเธอคือ

- ซอนย่า คานธี ประธานพรรคคองเกรสของอินเดีย (อันดับ 13)
- สีมา ซามาร์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งอัฟกานิสถาน (อันดับ 28)
- คลาลิด้า เซีย นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศ (อันดับ 33)
- ทซีปี ลิฟนี่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล (อันดับ 40)
- กลอเรีย อาโรโย่ ประธานาธิบดีฟิลิปินส์ (อันดับ 45)
- ออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ประเทศพม่า (อันดับ 47) และ
- ฮาน เมียง ซุก นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ (อันดับ 68)

น่าสนใจที่ผู้หญิงทั้ง 8 คนนี้ แม้หลายคนจะมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิสตรี แต่พวกเธอก็มิได้จำกัดบทบาททางการเมืองอยู่กับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสตรีเท่านั้น พวกเธอมิได้อ้างมิติแห่งเพศสภาพ เพื่อร้องขอโอกาสเข้าสู่พื้นที่ทางการเมือง และไม่เคยมีใครประกาศว่า ใช้มุมมองของผู้หญิงมาเติมเต็มในการเมือง

ผู้หญิง 8 คนนี้เดินเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างมั่นใจภายใต้กติกาเดียวกับนักการเมืองชาย และไม่มีใครได้รับเลือกเข้าสู่เวทีการเมืองเพราะเพศสภาพที่เป็นหญิง พวกเธอดำเนินบทบาททางการเมือง เผชิญทั้งความสำเร็จ ความพ่ายแพ้ ได้รับทั้งความนิยม และคำประณามเช่นเดียวกันกับนักการเมืองชาย และไม่มีใครถูกประณามและขับไล่จากเวทีการเมืองด้วยเหตุแห่งความเป็นหญิง

ต่างจากนักการเมืองหญิงในเมืองไทย ที่แม้กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิสตรีจะพร่ำพูดถึงเรื่องสัดส่วนหญิงชายในพรรคการเมือง ในรัฐบาลที่"ขาดมิติของผู้หญิงมาสร้างความสมดุลเชิงนโยบาย" แต่บรรดาผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่การเมือง และได้รับเลือกให้อยู่ในระดับบริหารในรัฐบาล หรือมีตำแหน่งที่มีบทบาทอยู่ในพรรคการเมือง รวมทั้งนักการเมืองหญิงที่มีบทบาทการทำงานในประเด็นผู้หญิงกลับต้องเผชิญกับคำปรามาสอยู่เสมอในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ เช่น

เป็นชายในร่างหญิง!
เป็นไม้ประดับ!
เป็นพวกหาคะแนนเสียงจากการทำประเด็นผู้หญิง !
เป็นพวกหัวเก่าย้อนยุค และสนับสนุนระบบชายเป็นใหญ่!

คำกล่าวหาเหล่านี้ สะท้อนมุมมองที่เวียนวนอยู่กับวิถีคิดของสังคมไทยที่มีต่อบทบาทของผู้หญิง ที่พ้นไปจากพื้นที่ในบ้าน คือความไม่เชื่อมั่นต่อบทบาทในพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงที่ครอบงำความคิดของสังคมไทยมาช้านาน. แต่เป็นเรื่องน่าสนใจที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ มักเกิดขึ้นทุกครั้งในเวทีการพูดคุยเกี่ยวกับการรณรงค์ด้านสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งเป็นเวทีที่แทบไม่มีผู้ชายเข้าร่วมเสวนาสังสรรค์ด้วยเลย

ขณะเดียวกัน หลายครั้งที่กลุ่มต่างๆในภาคประชาสังคม รวมทั้งนักรณรงค์ด้านสิทธิสตรี และสื่อมวลชนในสังคมไทย มักจะหยิบยกประเด็น "ความเป็นหญิง" และความเป็น "เหยื่อ"ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมที่มีรากฐานความคิดแบบ "ชายเป็นใหญ่"มาใช้ในปรากฏการณ์ความขัดแย้ง และการต่อสู้ทางการเมือง การต่อสู้กับผู้มีอำนาจ และอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการต่อสู้ทางการเมืองในหลายกรณี ถูกทำให้เป็นประเด็นการต่อสู้ของ "ผู้ชาย" กับ "ผู้หญิง" ทั้งๆ ที่ประเด็นขัดแย้งนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นหญิงหรือความเป็นชายเลย

บางกลุ่มถึงกับใช้คำว่า "เป็นการต่อสู้ของผู้หญิงตัวเล็กๆ" เป็นสีสันในการต่อสู้โดยที่มิได้ตระหนักเลยว่า วาทกรรมที่ใช้นั้นคือกระจกเงาที่สะท้อนกลับให้เห็นรากคิดที่ยอมรับภาวะไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย

บางที เรื่องราวของนักการเมือง 8 คนจากภูมิภาคเอเซียที่ได้รับการระบุให้อยู่ใน 100 อันดับของ "ผู้หญิงที่มีอิทธิพลที่สุด"ของนิตยสารฟอร์บ อาจเป็นทั้งคำถามและคำตอบ และนำไปสู่การถกเถียงที่ก้าวคืบของสังคมไทยต่อภาวะ"ด้อยโอกาส" และ "มิติที่แตกต่าง" ที่ผู้หญิงจะเข้าไปสู่การเมือง

คำสำคัญ (Tags): #ชิ้นที่ 1
หมายเลขบันทึก: 83335เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2007 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เอามาจากไหนล่ะงานชิ้นนี้  ถ้าไม่ได้เขียนเองได้โปรดอ้างอิงด้วย
  • คำหลักควรสื่อถึงเนื้อหาที่เขียน  ไม่ใช่ "ชิ้นที่ 1"   เช่น "ผู้หญิง"  "การเมือง" "ผลสำรวจ"  อะไรประมาณนี้
  • ครูรออ่านงานชิ้นต่อไปอยู่นะ...เป็นกำลังใจให้ครับ
  • อ้อ!!!!  ถ้าเป็นงานที่เกิดจากการกลั่นกรองออกมาจากภูมิปัญญาของเราจะดีมากครับ
มาแนวเฟมมินิสต์ เลยหรือไงน้อ...คุณครูดุแล้วใช่มั๊ยนั่น
อ้าว...อาจารย์ย่ามแดง...ไหงต้องดุศิษย์ร่วมสำนักโชว์อาคันตุกะด้วย...ดีครับ...เป็นการแสดงความรักที่เปิดเผยดี...

ทีนี้เข้าประเด็นที่น้องเขาเสนอดู...แต่โปรดทำใจไว้เลย...ความเห็นผมจัดอยู่ในประเภทเครื่องดื่มที่ทำให้คนบินได้หนะ...แรง (เย่อ) ไง...ลองอ่านดูนะครับ

ไม่รู้เป็นไงพักหลังนี่...ไม่ค่อยไว้ใจมะริกันมากจนเกินเหตุหรือเปล่า...เวลาจะบริโภคสื่อมะริกันเลยต้องทำให้ตั้งคำถามตลอด...ไม่ว่าจะเป็นสื่อจากฮอลลี่วูด...หรือนิวยอร์ค...ก็ตาม...อย่างหนังที่ผมเช่าดูล่าสุดเรื่อง Blood Daimond นี่...มันยิ่งทำให้ข้อกังขาถึง "ความร้ายกาจ" ของมะริกันได้รับความสนับสนุนขึ้นไปอีก...เอาไว้ให้คนอื่นเล่าแล้วกัน...ทีนี้จะเข้าประเด็นของนิตยสารหละ...

คำถามที่ผมอยากให้ผู้ที่เฝ้าติดตามการเมืองระหว่างประเทศ..โดยเฉพาะเลห์มะริกันมีประเด็นต่าง ๆ ที่ผมอยากจะตั้งสังเกตต่อไปนี้

อเมริกายังจะชูโรงเรื่อง "อิสรภาพ" และ "ประชาธิปไตย" ซึ่งมักจะได้ผล...นักบริโภค (ผู้โง่เขลา) จากทุกมุมโลกมักจะยินดีปรีดาไปด้วยเสมอ...แต่ข้อกล่าวหาของผมคือ...อเมริกาคือประเทศที่กระทำอนาธิปไตยต่อคนของตนเองและต่อชาติอื่น ๆ มากที่สุด (อันนี้ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหา) ผมจึงตีความต่อไปว่า...ไอ้นิตยสารที่พิมพ์เพื่อเชิดชูผู้หญิงหนะ...มันเป็นเรื่องที่ "คุย" กันมาเรียบร้อยแล้ว  และมันก็เต็มไปด้วย "เหตุผลทางการเมือง" เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอะไรสักอย่าง...นี่ถ้าบอกว่าเป็นนิตยสารที่ตีพิมพ์ในช่วงไหน...ก็จะโยงได้ชัดเจนว่า...เขาต้องการจะสร้างความชอบธรรมในเรื่องอะไร...

ฉะนั้น...อย่าหลงคารม "มะริกัน" เป็นอันขาด...ไม่งั้นท่านจะกลายเป็นเพียง "ผู้บริโภคสมองกลวง" ในอนาคตอันใกล้นี้...มันเป็นเส้นทางแห่งการเปลี่ยน "ร้านไก่ทอดเคนตั๊กกี้ และร้านราชาเบอร์เก้อร์" ให้กลายเป็นวิหารแห่งประชาธิปไตยนะท่าน...เขากำลังจะทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นแค่สวนสนุก theme park...เพื่อเขาจะได้ทำการอนาธิปไตยแก่ชาติรัฐทั้งหลายทั่วโลกได้อย่างไม่มีใครทันสังเกตไงครับ...เพราะมัวแต่รื่นเริงกัน theme park democracy กับ วิหารแห่งประชาธิปไตยอันใหม่

อย่าสะดุ้งนะน้อง...ถ้าความคิดเห็นนี้ทำให้น้องสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามของเหล่า "อนาคิส" ก็ลบได้เลยครับ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท