แผนที่เดินทาง (Roadmap) เศรษฐกิจพอเพียง (2)


ภายใน 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยสามารถอยู่ได้อย่างเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้โลกาภิวัตน์โดยไม่ถูกเอาเปรียบ

Roadmap เศรษฐกิจพอเพียง  เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ชุดโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงของ  สกว.  ขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมข้อเสนอโครงการ 

งานแบ่งเป็น 3 ทีม คือ ทีมวิชาการ ทีมระดมสมอง และทีมสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศที่เน้น  Asian Wisdom (ซึ่งกล่าวถึงแล้ว ในบันทึก Roadmap 1) 

ทีมวิชาการจะทำหน้าที่ร่วมกับทีมระดมสมองอย่างใกล้ชิด   ทำหน้าที่กึ่งวิจัยหาข้อเท็จจริงขั้นพื้นฐาน  เสนอข้อมูลเพื่อการระดมสมอง  และสังเคราะห์ผลเพื่อสร้างแผนที่เดินทาง 

เท่าที่คุยกัน  ทีมงานจะเสนอเป้าหมายหรือ ธง ของเศรษฐกิจพอเพียงในเวทีระดมสมองว่า

        ภายใน 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยสามารถอยู่ได้อย่างเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้โลกาภิวัตน์โดยไม่ถูกเอาเปรียบ

        สามารถพึ่งตนเองทุกด้านได้ ร้อยละ25 

และภายใน 5  ปีข้างหน้า   เราจะกำหนดแผนที่เดินทาง  ซึ่งเนื้อหาสาระประกอบด้วย  เป้าหมาย 5 ปี  หลักไมล์ที่บอกขั้นตอนการก้าวเดิน   กลไกการขับเคลื่อน  และจุดวิกฤติที่เป็นเครื่องเตือนการออกนอกลู่ 

โดยกลไกการขับเคลื่อนที่อาจต้องพิจารณา ปรับเปลี่ยน  ได้แก่  กฎหมายและกฎระเบียบ  องค์กร เครือข่ายความร่วมมือ   เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์  การจัดการความรู้และข้อมูล  และระบบงบประมาณ 

ที่สำคัญคือ  ด้านใดบ้าง  กลุ่มเป้าหมายใดบ้าง  ที่ควรจะพิจารณาและเข้ามามีส่วนร่วม 

ด้านใด:  แบ่งเป็น  เศรษฐกิจฐานราก (ในและนอกภาคเกษตร)  เศรษฐกิจระดับประเทศ (ในและนอกภาคเกษตร)  เศรษฐกิจระหว่างประเทศ  ทุน  เทคโนโลยี  เครือข่ายการเรียนรู้  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การกระจายอำนาจ  และสุขภาวะ   ประเด็นที่กำหนดมานี้ คือสิ่งที่ทีมงานเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญ  เช่น  ปัญหาการพึ่งพาทุนและเทคโนโลยีต่างประเทศ 

กลุ่มเป้าหมาย:  แบ่งเป็น  ระดับบุคคล   ครัวเรือน  ชุมชน  จังหวัด  ประเทศ 

ทั้งหมดนี้จึงเป็นภาพมากกว่า 3  มิติที่ต้องทำออกมา  และหน้าที่แรกของทีมวิชาการคือ การหาสถานภาพปัจจุบัน  โดยคุยกันว่าจะความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ยังไม่เป็นเศรษฐกิจพอเพียง    พึ่งตนเองได้   และแข่งขันได้ 

ตอนนี้เรามีภาพอยู่เป็นชิ้นๆ  ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียง   เช่น   

ระดับชุมชนในเรื่องเศรษฐกิจฐานราก 

·        ว่าด้วยทุนและสุขภาวะ  มีเรื่อง  องค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชน  ที่น่าจะอยู่ในระดับพึ่งตนเองได้  วิสาหกิจชุมชน  และร้านค้า สหกรณ์อาจจะยังพึ่งตนเองไม่ได้ 

·        ว่าด้วยเทคโนโลยี  มีเรื่อง เกษตรอินทรีย์  น่าจะอยู่ในระดับพึ่งตนเองได้ และอาจต้องสร้างแผนที่เดินทางไปสู่ระดับที่แข่งขันได้

·        ว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติ   ยังเป็นปัญหา  จะขับเคลื่อนไปสู่ระดับพึ่งตนเอง (ในการบริหารจัดการ)  ได้อย่างไร....

 ใน Roadmap (ที่จะมาจากการระดมสมองผสมข้อมูลเชิงวิชาการ) น่าจะต้องบอกว่า จะขับเคลื่อนขบวนในพื้นที่โดยเชื่อมโยงกิจกรรมข้างบนเหล่านี้อย่างไร  ต้องปรับเปลี่ยน กฎระเบียบ องค์กร เครือข่าย ระบบงบประมาณ และอื่นๆอย่างไร 

ระดับจังหวัด   มีเรื่องยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขจังหวัด   มีเรื่องโครงการจังหวัดนำร่องของ สกว. จะจับลงช่องแต่ละมิติอย่างไร 

ที่จริงระดับครัวเรือน ชุมชน จังหวัด  มองเป็นข้อสรุปยาก เพราะความหลากหลาย  อาจต้องใช้เกณฑ์เช่น อย่างน้อยร้อยละ 30 ของครัวเรือน ของชุมชน  เป็นเกณฑ์อย่างกรณีเครือข่ายพัทลุง 

ระดับประเทศ ในเรื่องเศรษฐกิจฐานราก ดูเหมือนในภาพรวมจะยังมีปัญหาทั้งมิติ ทุน เทคโนโลยี การกระจายอำนาจ และอื่นๆ.... 

ลองคิดดูแล้ว  การจับเรื่องลงในมิติต่างๆยังไม่ค่อยลงตัวทีเดียว  คงต้องค่อยๆปรับ  แต่ทั้งนี้ ก็เป็นเพียง "ตุ๊กตา เพื่อการพูดคุยกับทีมงานก่อนในขั้นตอนแรก   และนำเสนอเพื่อระดมสมองเป็นเวทีใหญ่ ในขั้นตอนต่อไป     

หมายเลขบันทึก: 83202เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2007 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขออนุญาตครับอาจารย์

ขอชมเชยที่ท่านผู้รู้ได้กรุณากำลังระดมสมองและเสนอสร้างแผนที่เดินทางสำหรับเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

หากแต่ในภูมิภาค(คือ บ้านนอก) เรารับรู้ถึงนโยบายและความมุ่งมุ่นของส่วนกลาง(คือ กรุงเทพฯ) ที่จะให้"คนบ้านเรา" มีวิถีชีวิตแบบพอเพียง และเรา(บางส่วน)ก็กำลังทำและกำลังขับเคลื่อนกันอยู่ โดยประยุกต์สิ่งที่ท่านนักวิชาการและผู้บริหารประเทศได้กำหนดนโยบาย(อยากได้) ผสมผสานกับองค์ความรู้และทรัพยากร(ทั้งคน เงิน เทนิควิธี ฯลฯ) ที่เรา"พอจะมีอยู่" มา"บูรณาการ" ดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของท่านและตอบสนองต่อความต้องการความอยู่ดีมีสุขของคนบ้านเรา

แนวทางการดำเนินงานกรอบใหญ่น่าจะประสงค์ให้"คนบ้านเรา" คิดเป็น วิเคราะห์เป็น ว่าแต่ละคน "มี" ในระดับใด ไม่ว่าจะเป็น"ทุน"(ทั้งทุนสังคม ทุนทรัพยากร ฯลฯ หรือ "ความสามารถ"(ทั้งความสามารถในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน) และ"ความต้องการ" ที่สำคัญจะต้องรู้จัก"พอ"ในระดับ"ใดๆ"

ผมอยากให้ภาควิชาการ ที่ซึ่งหลายท่านกำลังกล่าวถึง"การเรียนรู้ด้วยการกระทำ" ได้เชือมประสานกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาคราชการ เอกชน และชุมชน ว่าหน่วยต่างๆ เหล่านั้น มีแนวทางหรือกำลังดำเนินการ "ทำอะไร" ที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ ที่ง่ายที่สุดอาจารย์สามารถที่จะประสานงานกับ"จังหวัด" ซึ่งเป็นตัวแทนของ"กรุงเทพฯ" ในพื้นที่บ้านนอก ครับ

สำหรับจังหวัดเพชรบูรณ์ ถึงแม้ว่าเราจะมีหมู่บ้านที่เราสำรวจแล้วว่าเป็นหมู่บ้านที่ครัวเรือนส่วนมากได้นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ จำนวน 68 หมู่บ้านแล้วก็ตาม ตอนนี้เรากำลังดำเนินงานด้วยกลยุทธ์บันไดเก้าขั้นของจังหวัดเรา ซึ่งกลยุทธ์นี้ได้จากการประชุมระดมสมองผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ เอกชน และภาคประชาชน มีการประชุมกันหลายครั้งของตัวแทนภาคส่วนต่างๆ จนตกผลึกเป็นกระบวนการดำเนินงานของจังหวัดเรา และเราก็หวังว่างานที่กำลังดำเนินจะประสบผลบ้าง โดยในแง่ปริมาณเราประสงค์ให้ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านได้รับรู้ เข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในด้านคุณภาพเราประสงค์ที่จะเห็นครึ่งหนึ่งของครัวเรือนนำเอาปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ให้มีวิถีชีวิตแบบพอเพียงอย่างแท้จริง

คงหวังไม่น้อยเกินไปนะครับ

ขอขอบคุณอาจารย์อีกครั้งครับที่กำลังทำงานใหญ่ให้กับประเทศของเรา

ดูแล้วอิจฉาเพชรบูรณ์จัง  ที่พิษณุโลกซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข  เกี่ยวกับเรื่องเศรษกิจพอเพียงก็ยังเน้นภาคการเกษตรและงบประมาณส่วนใหญ่ก็อยู่ในระบบราชการ  ภาคประชาชน  ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนน้อยมาก   

เรียนคุณธรนิศวร์

ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นค่ะ   ดิฉันเขียนเรื่องราวลงบล็อกก็ด้วยวัตถุประสงค์นี้  คือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นๆ  โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานจริง และมีประสบการณ์ตรงในเรื่องต่างๆ

เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พวกเราเข้าไปช่วยอาจารย์อภิชัย พันธเสน  ซึ่งท่านศึกษาและพยายามเผยแพร่เรื่องนี้มาตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ  ท่านจึงทำงานต่อเนื่องมาหลายปี  

โครงการเศรษฐกิจพอเพียงของ สกว. ก็ดำเนินการมาแล้ว 4 ปี

เราตระหนักดีว่า  ในทางปฏิบัติ  หลายชุมชน หลายกลุ่มมีแนวทางปฏิบัติ มีวิถีชีวิตที่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว   พื้นที่และท้องถิ่นทำงานก้าวหน้าไปมาก 

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ความเข้าใจในส่วนกลาง  ส่วนกรุงเทพฯ   และในส่วนต่างประเทศ (ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับเรา)

 อย่างเช่น  เราเคยไปคุยกับผู้ใหญ่ที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย   หรือนักวิชาการ  นอกจากเขาไม่รู้ว่าท้องถิ่นทำอะไรแล้ว เขายังคิดว่า  เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของชนบท

ผิดถนัด เพราะ ภาคเมืองและภาคอุตสาหกรรมเอง มีความไม่พอเพียง พึ่งพาทุน และเทคโนโลยีต่างประเทศอย่างมาก   

กระทรวงต่างๆเองก็ยังไปกันคนละทาง

และแค่ผู้หลักผู้ใหญ่เลิกทำตัวอวดร่ำอวดรวย  อวดอำนาจ อะไรๆก็ดีขึ้นเยอะแล้วค่ะ

ส่วน "จังหวัด" เอง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถูกออกแบบมาให้เป็นตัวแทน "กรุงเทพฯ" อย่างที่คุณธรนิศวร์ว่า  แต่ในทางปฏิบัติ  เราก็เห็นบางจังหวัดที่พยายามใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และพยายามทำงานกับภาคประชาชนอย่างเต็มที่ ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมาย กฏกติกาที่ถูกวางเอาไว้ก่อน  

ไม่แน่นะคะ  ผลจากการทำงานโครงการนี้ เราอาจมีข้อเสนอให้ส่วนกลางให้ความสำคัญต่อ "การกระจายอำนาจ" เป็นลำดับต้น

เราพูดกันมาหลายปีเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่เรายังสะเปะสะปะว่ามันคืออะไร จะไปทางไหนในภาพรวมของประเทศ  (ภาคชุมชนท้องถิ่น มีความชัดเจนและก้าวหน้ากว่ามาก)

ด้วยเหตุผลเหล่านี้    งานที่เรากำลังจะทำ  จะเป็นงานใหญ่หรือไม่ใหญ่ไม่ทราบ  ทราบแต่ว่า  เป็นงานที่ควรจะต้องทำค่ะ

ให้กำลังใจคนทำงานจริงในพื้นที่ค่ะ

 

คุณหมอคะ

หวังว่าการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆจะมากขึ้นนะคะ  เพียงแต่ตอนนี้ มีเรื่องปัจจัยทางการเมืองที่ทำให้ระบบถูกดึงเข้าส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคมากขึ้น (เข้าใจว่าอย่างนั้นนะคะ)

เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ

ตั้งแต่ปฏิรูประบบราชการมา หน่วยงานภูมิภาคถูกดึงกลับเข้าสู่ส่วนกลางหมด เช่น สรรพากรจังหวัด ก็กลายเป็นสรรพากรเขตพื้นที่ (ไม่มีจังหวัด เพราะเป็นราชการบริหารส่วนกลาง) ป่าไม้จังหวัด ก็ถูกยุบ เป็นหน่วยย่อยๆ โดยเฉพาะหลายหน่วยที่มีความจำเป็นในระดับพื้นที่อำเภอ ตำบล ก็ถูกยุบเลิกไป  ยกตัวอย่างเช่น ปศุสัตว์อำเภอ ถูกยุบให้มีเพียง"หน่วยเคลื่อนที่เร็ว" แขนขาของอำเภอถูกตัดเรื่องการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้านสัตวบาลไป แถมไม่ได้กระจายอำนาจ/มอบอำนาจให้ท้องถิ่น(ไม่แก้กฎหมาย) พอเกิดไข้หวัดนก โอ้โห สนุกละครับ เห็นตาลีตาลานรีบกลับมาตั้งปศุสัตว์อำเภอกันใหม่ อาสาสมัครปศุสัตว์ก็ อสม. เจ้าเก่า สวมหมวกอีกใบละครับ เช่นนี้ เป็นต้น

ผมว่า กรุงเทพฯ ต้องจริงใจกว่านี้ ครับ อำนาจยิ่งกระจายยิ่งดี แต่...อย่างไรก็ตาม ต้องมีสิ่งสำคัญสองสิ่งกำกับ คือ วินัย และจิตสำนึกสาธารณะ ครับ เราคงต้องสร้าง "คนบ้านเรา" ให้มีเจ้าสองสิ่งนี้มากๆ หากมีมากแล้ว จะกระจายให้ถึงระดับชุมชนย่อย หรือคุ้มบ้าน ก็ไม่แปลกและเสียหายอะไรเลยนะครับ ทุกวันนี้หลายคน หลายกลุ่ม ในพื้นที่ก็กำลังทำกันอยู่ โดยเฉพาะกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน ที่มุ่งเสริมสร้างสำนึกรักบ้านเกิด สำนึกสาธารณะ และความมีวินัยในหมู่บ้านชุมชน สร้างความตระหนักเห็นคุณค่าของการช่วยเหลือเกื้อกูลและการรวมกลุ่มกัน และที่สำคัญคือการน้อมนำเอาหลัก "อปริหานิยธรรม" มาใช้ เป็นต้น

แล้วจะกลับมาเล่าเรื่องความเชื่อมโยงของความเข้มแข็งของชุมชนกับเศรษฐกิจพอเพียงให้ฟังเล่นเพลินๆ นะครับ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่ท่านมอบให้แด่คนทำงานทุกท่านครับ

 

ขอบคุณคุณ Padaeng ที่ร่วมแลกเปลี่ยนค่ะ

พี่ชายดิฉันทำงานในพื้นที่  ประสบปัญหาอย่างที่คุณ padaeng เล่าในช่วงเกิดไข้หวัดนก และเคยมาบ่นให้ฟังเช่นกันค่ะ 

ชุมชนก้าวไปไกล  ได้แต่หวังว่าจะมีพลังเข้มข้นขึ้นจนส่งสัญญาณ หรือมีพลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับบน

จะติดตามอ่านและเรียนรู้ประสบการณ์ของคุณ padaeng เรื่องความเข้มแข็งของชุมชนกับเศรษฐกิจพอเพียงค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท