มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

เงินไม่ใช่คำตอบ


สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน

รหัสชีวิต วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2550

 

เรื่องและภาพ : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

เงินไม่ใช่คำตอบ

 

 

ปัจจุบันคนที่มีอุดมการณ์อยากทำงานเพื่อสังคมมีอยู่ไม่น้อย หลายคนเดินตามอุดมการณ์ของตัวเอง แต่แล้วในที่สุดก็ค้นพบว่า ถ้าไม่มีเงิน ก็ไม่อาจขับเคลื่อนทำงานเพื่อสังคม

แต่คนกลุ่มนี้กลับคิดว่า เงินไม่ใช่คำตอบ พวกเขาไม่ได้เอาเงินเป็นตัวในการทำงานเพื่อสังคม แต่ลงแรง ลงความคิด ให้ความรู้ ความเป็นเพื่อน และความช่วยเหลือ

นที อนุกานนท์ โต้โผใหญ่ผู้บุกเบิกสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน แม้เขาและเพื่อนๆ อีก 5 คน จะทำงานโดยไม่ได้เงินเดือนตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เขาก็ยินดีทำงานเพื่อช่วยเหลือคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน และผู้หญิงขายบริการในย่านสนามหลวง คลองหลอด ฯลฯ

ย้อนถามว่า นั่นเป็นความคิดเชิงอุดมคติเกินไปไหม นทีบอกว่า การยึดมั่นในอุดมการณ์การทำงาน ต้องมั่นใจก่อนว่าไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน

"เมื่อใดที่เราเอาเงินเป็นตัวตั้งในการทำงาน เราจะเหนื่อย แต่บางช่วงเราทำงานได้ก็เพราะเงินบริจาค บางช่วงไม่มีเงินบริจาคก็ทำงานได้ เงินบางส่วนมาจากการที่ผมออกไปทำงานฝึกอบรมให้องค์กรอื่นๆ และสอนหนังสือ"

แล้วทำไมคนอย่างนทีถึงยึดมั่นอุดมการณ์ทำงานเพื่อสังคมตลอดหลายสิบปี นทีเล่าถึงชีวิตตัวเองว่า เราเป็นลูกครู เรียนหนังสือก็เบิกค่าใช้จ่ายได้หมด พอทำงานแล้วก็ไม่ควรเอาเปรียบสังคม ไม่จำเป็นต้องหาเงินเยอะๆ

“ตอนเรียนก็ทำกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กมีปัญหา ทำมาอย่างต่อเนื่อง และมีอยู่ช่วงหนึ่งอาจารย์เคยบอกให้ผมไปบวชสัก 15 วัน ปรากฏว่าผมบวช 9 เดือน เพื่อนๆ ก็นึกว่าไม่สึกแล้ว การบวชทำให้ผมรู้ว่าชีวิตที่เกิดมาไม่มีอะไรมากไปกว่าการหาความสุข หรือการใช้หนี้ชีวิต แล้วภารกิจของชีวิตคืออะไร ผมก็ต้องค้นหา เพื่อนผมเคยตั้งคำถามว่า ถ้าอีก 7 วันคุณจะตาย คุณจะทำอะไร พอถึงวันที่ 6 เพื่อนก็มาทวงถามว่า ถ้าพรุ่งนี้จะต้องตายแล้ว เราจะทำอะไร ผมก็บอกว่าอยากทำงานกับเด็ก รู้สึกมีความสุข ก็เลยตัดสินใจเลยว่า ชีวิตนี้ต้องทำงานเพื่อสังคม”

ก่อนจะคุยกันถึงเรื่องงานเพื่อสังคม นทีบอกว่า พื้นฐานทางธรรมก็นำมาใช้กับชีวิตได้มาก ทำให้ยอมรับทุกอย่างได้ด้วยความสงบ

“ทุกคนเกิดมาเพื่อใช้หนี้ เมื่อคิดอย่างนี้ได้ ก็จะไม่สะสม อย่างเวลาทำบุญหรือทำเพื่อคนอื่น ผมจะไม่หวังว่า เราดูแลเขาวันนี้ ชาติหน้าเขาจะได้ดูแลเรา” เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นกิจกรรมอิสรชน นทีบอกว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อนที่มีงานประจำอยากทำงานเพื่อสังคมจึงลงขันกัน แล้วเขียนโครงการขอเงินทำงาน ก็ได้รับเงินน้อยมากที่จะทำงานเพื่อเด็กเร่ร่อน และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีเงินบริจาค สมาชิกของสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน จึงไม่มีเงินเดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2548

ส่วนวิธีการช่วยเหลือคนไร้บ้าน เด็กเร่ร่อน หญิงหรือชายขายบริการ ก็ไม่ใช่แค่ให้ความรู้ ต้องเข้าไปเรียนรู้ชีวิตพวกเขาก่อน โดยเลือกทำงานในพื้นที่สนามหลวง คลองหลอด ตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป เพราะไม่มีองค์กรพัฒนาเอกชนกลุ่มใดเข้าไปทำงานช่วงกลางคืน

“เคยมีครั้งหนึ่งไปนั่งคุยแล้วเหนื่อย พวกคนไร้บ้านก็เอาเสื่อมาปูให้นอน หลับไปโดยวางของมีค่าไว้ข้างตัว ตื่นขึ้นมาเที่ยงคืนของยังอยู่ครบ แถมยากันยุงและคนปัดยุง ก็เลยคิดว่าเราทิ้งสนามหลวงไม่ได้แล้ว บางคนอาจนึกว่าคนไร้บ้านมีปัญหา คนพวกนี้แค่ต้องการแสวงหาคำตอบของชีวิต ทั้งๆ ที่กลับบ้านก็มีที่อยู่ มีคนหนึ่งที่เราเจอมีญาติอยู่เชียงใหม่ เลี้ยงวัวพันธุ์เนื้อกว่า 200 ตัว แต่เขาไม่คิดจะอยู่บ้าน ทั้งๆ ที่มีสตางค์ บางคนมารองาน บางคนสมัครงานแล้วถูกหลอก เงินหมดไปกับค่าเช่าบ้าน ค่าโรงแรม ก็มานอนสนามหลวง พวกเขาหารายได้เก็บขวดพลาสติกขาย บางคืนมีคนนอนสนามหลวง 20-30 ครอบครัว จึงเกิดธุรกิจให้เช่าเสื่อสนามหลวงคืนละ 20 บาท”

นทีคุ้นเคยกับคนไร้บ้านจนกลายเป็นเพื่อนของเขา จนเป็นที่มาของกิจกรรมโรงเรียนข้างถนน เพื่อให้อาสาสมัครเข้ามาเรียนรู้ ในช่วงแรกอาสาสมัครทำงานเหมือนผู้ให้ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนด้อยโอกาส เพราะเสียสละมากกว่าคนอื่น

"รู้สึกว่า อิสรชนหลงทางแล้ว เราก็เลยปรับแนวทาง อาสาสมัครและคนไร้บ้านต้องเรียนรู้ชีวิตซึ่งกันและกัน ถ้าคุณไม่มีเงินจะใช้ชีวิตอย่างไร พวกเขาจะเอาแกงหลายๆ อย่างมาต้มรวมกันแล้วกินกับข้าว ผมคิดว่าอาสาสมัครไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ให้อย่างเดียว แต่เป็นผู้เข้ามาเรียนรู้ชีวิตเหมือนนักศึกษา บางคนอาจมา 3-4 วัน เราใช้ขนมหรือผ้าอ้อมเป็นแค่กุญแจในการพูดคุย เท่าที่รู้อาสาสมัครบางคนพอกลับบ้านไปแล้ว จะกินข้าวหมดจานมากขึ้น ใช้เสื้อผ้าอย่างมีคุณค่ามากขึ้น ใช้สายตาเหยียดหยามคนน้อยลง เวลาเขาจะทิ้งของเหลือใช้สักอย่าง ก็จะคิดถึงคนด้อยโอกาส หอบหิ้วกันมา เป็นการเรียนรู้แบบนอบน้อม“

เรื่องราวคนไร้บ้านยังมีอีกหลายแง่มุม นอกจากการช่วยเหลือด้านสิ่งของแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือด้านความคิด พยายามให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงชีวิต

“สิ่งของเป็นแค่เครื่องมือในการเรียนรู้พูดคุยร่วมกัน ถ้าจำเป็นจริงๆ เราถึงจะให้สิ่งของ ตอนนี้มีคนหนึ่งตาเสีย ต้องการใช้ตาปลอม เราก็พยายามหาเงินมาช่วยเหลือตรงนี้“

ไม่ใช่แค่กลุ่มเด็กเร่ร่อนและคนไร้บ้านที่นทีและเพื่อนๆ ลงไปทำงานด้วย ยังรวมถึงกลุ่มผู้หญิงขายบริการ ที่พวกเขาออกไปให้ความรู้และทัศนคติในการใช้ชีวิต รวมถึงให้ความช่วยเหลือในกรณีเดือดร้อน ก่อนที่เขาจะเข้าไปเป็นเพื่อนช่วยเหลือแก้ปัญหา ก็ต้องเข้าไปพูดคุยทำความคุ้นเคยด้วยความบริสุทธิ์ใจ

“แถวคลองหลอด เขาจะเรียกผมว่าหมอ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เป็นหมอ ผมเอาถุงยางอนามัยไปให้และแนะนำเรื่องเพศศึกษา เพราะคนที่มาเที่ยวจะมองคนเหล่านี้แค่ราคา ในช่วง 2 ปีนี้ อิสรชนประกาศชัดว่า No condom No sex และพยายามทำให้ผู้หญิงที่ขายบริการเริ่มเห็นศักดิ์ศรีของตัวเอง รวมถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพราะการใช้ถุงยางอนามัย เป็นความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม เพื่อป้องกันโรคร้ายให้ตัวเองและไม่ให้แพร่ไปสู่คนอื่น

นทีเล่าต่อว่า ไม่มีใครอยากขายบริการไปจนตาย ไม่มีใครหรอกที่จะมีความสุขที่ให้ผู้ชายที่ตัวเองไม่รักมีเพศสัมพันธ์ด้วย มันเป็นเหตุจำเป็นของชีวิต ไม่ใช่ว่าเขาอยากทำ แต่ครอบครัวของเขาไม่ได้รับรัฐสวัสดิการโดยเท่าเทียม ประกอบกับปัญหาทับซ้อนเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าเรื่องหนี้นอกระบบ ความยากจน และยาเสพติด

สิ่งที่อิสรชนทำได้ก็คือ แจกถุงยาง ซึ่งเป็นกุญแจในการพูดคุย นทีบอกว่า เราสร้างความคุ้นเคยไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเขาก็จะเข้ามาถามมาปรึกษา อาทิเช่น "หนูมีเรื่องจะคุย เมื่อวานเจอลูกค้าหน้าตาดี ก็เลยลืมสวมถุงยางอนามัย จะติดเชื้อไหม" เราจะคุยกันตรงไปตรงมา หรือมีปัญหาตกขาว

“ถ้าตกขาวสีเหลืองเข้มๆ หรือสีเหมือนน้ำมูก เหลืองเข้มปนเขียว เราก็บอกว่า ให้รีบไปหาหมอ อาการแบบนี้ช่องคลอดเริ่มติดเชื้อ มีแนวโน้มว่ามีความผิดปกติข้างใน อย่างน้อยๆ อาจมดลูกอักเสบ”

นอกจากเรื่องสุขภาพทางเพศ แล้วยังคุยเรื่องชีวิต การเท่าทันอารมณ์ของตัวเอง ความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิต

“เราต้องประสานงานในกรณีพวกเขาเจ็บป่วย ก็พยายามเสนอทางเลือกที่ดีให้ชีวิตเขา เราเคยถามว่าจะขายตัวไปถึงอายุเท่าไหร่ มีเงินเก็บไหม ก่อนจะให้เขาเปลี่ยนอาชีพ ก็ชวนให้เก็บเงิน แปลงเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงมาคุยกับเขา ให้รู้จักเก็บเงิน บางคนยังไปไหนไม่ได้ เพราะมีหนี้สินมากมาย”

นทีมักจะลงพื้นที่แถวสนามหลวงเกือบทุกวัน บางวันทำงานจนถึงตี 2 เขารู้สึกว่าการลงพื้นที่ เหมือนการเติมพลังให้ตัวเอง ได้เห็นว่ามีคนอื่นอีกมากที่มีปัญหาหนักกว่าเรา เขาบอกว่า แม้เรื่องนี้จะเป็นปัญหาเดิมๆ ที่รัฐแก้ไม่ตก แต่ก็อยากบอกสังคมว่า คุณมีส่วนร่วมได้ แค่คุณเดินผ่านพวกเขา แล้วไม่แสดงอาการรังเกียจ แต่มีความเป็นมิตร เหมือนคุณเจอคนทั่วไป แค่นี้ก็พอแล้ว

..........................................

หมายเหตุ : หากใครอยากเข้ามาเรียนรู้เป็นอาสาสมัคร หรืออยากช่วยเหลือบริจาคสิ่งของ (เสื้อผ้าใช้แล้วสภาพดี) ผ้าอ้อมสำเร็จรูป นมผง ขนม ยารักษาโรค ของเล่น สามารถส่งมาได้ที่สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน 95/617 หมู่บ้านพันธุ์ศักดิ์วิลล่า ถ.บรมราชชนนี แขวงอรุณอมรินทร์ บางกอกน้อย กทม. 10700 หรือจะบริจาคเป็นเงินเพื่อการทำงาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณนที 02-8845711-2

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/bodyheart/


 

หมายเลขบันทึก: 83173เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2007 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท