rucha
nuch รุจิราพร โชคพิพัฒน์พร

บทสื่อสารก้าวที่ 1 กับตัวตนที่เป็นเหตุเป็นผล


อดีตข้าฯเป็นคนด้อยโอกาสที่จะแสวงหาการเรียนรู้ พี่น้องปกาเกอญอ เป็นผู้ให้โอกาสแห่งการเรียนรู้กับข้าฯ
  • ตัวตนที่เป็นเหตุเป็นผล 
  • ·         การมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้  ในความรู้สึกแห่งตัวตนที่แท้ของข้าพเจ้านั้น  ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมสมัยที่ข้าฯยังวัยเยาว์  ข้าพเจ้าไม่เคยมองเห็นว่าโลกที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่นี้มันกว้างใหญ่อย่างไร มีคนมีทรัพยากรมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของมนุษยน์อย่างข้าฯได้อย่างไร  มันคืออะไร  แปลกใจตัวเองเหมือนกันว่า  เหตุใดข้าฯจึงไม่เคยมีคำถามนี้อยู่ในใจมาก่อนเลย
  • จนกระทั่งข้าฯได้เข้ามาอยู่บนตึกๆหนึ่งที่เรียกว่าตึกกิจกรรมของมหาวิทยาลัยรามคำแหง  ข้าฯพบพี่ๆที่อยู่ในห้องของชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ทำให้ข้าฯมีคำถามเกิดขึ้นมากมายจากสิ่งที่พี่ๆในชมรมเขาสื่อสารกับข้าฯ  และเมื่อครั้งหนึ่งข้าฯได้ออกไปเข้าค่ายรับเพื่อนของชมรมแห่งนี้  ข้าฯบอกกับพี่คนหนึ่งว่า  สิ่งที่พี่ๆบอกเล่าผ่านค่ายในวันนั้น  ข้าฯคิดขึ้นมาในใจได้ว่า  ก็เพราะเพียงมนุษย์มีกิเลสมิใช่หรือ  จึงทำให้สิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้เสื่อมสลายค่อยๆมลายลง  ข้าฯบอกกับพี่คนนั้นที่ชื่อว่า   ตาโจ 

·         และวันหนี่งมีพี่อีกคนหนึ่งบอกข้าฯว่า  จะเปิดหมวกหน้ามหาวิทยาลัย  เพื่อหาทุนให้กับโรงเรียนธรรมชาติ  ที่จังหวัดเพชรบุรี 

  • ในขณะนั้น  บอกตามตรงว่า  ในใจไม่มีคำถามใดๆเกิดขึ้น  จะรู้ตัวเองก็เมื่อข้าฯได้มายืนอยู่บนแผ่นดินที่เขาว่าใกล้กับชายแดนไทย-พม่า  เพียง 30  กิโลเมตรตามแผนที่ทหารแห่งหมู่บ้าน สาเย๊ หรือ ห้วยสัตว์ใหญ่  หมู่ที่ 6 ตำบลป่าเด็ง  อำเภอแก่งกระจาน  จังหวัดเพชรบุรี  เสียแล้ว   
  • เมื่อถึงหมู่บ้านก็เพิ่งเคยเห็นมนุษย์กลุ่มๆหนึ่งที่เขาพูดภาษาอะไรก็ข้าฯก็ฟังไม่ออก  พี่คนนั้นเขาก็บอกข้าฯว่า  มนุษย์กลุ่มนี้เป็นพี่น้องชนเผ่า กะเหรี่ยง  ......... ?
  • อืม..... อ๋อ  เหรอ  ....ขณะนั้นข้าฯไม่มีอะไรในหัวสมองของข้าฯเลยจริงๆ  เพราะอะไรนะหรือ  เพราะตั้งแต่เกิดข้าฯไม่รู้จักคำว่า  กะเหรี่ยง  นะสิ
  • รู้แต่ว่า  นี่เหรอที่มนุษย์กลุ่มนี้เขาอยู่กัน  เขาอยู่กันท่ามกลางธรรมชาติ  มีลำน้ำ ลำห้วย  มีต้นไม้  มีผีเสื้อ  มีสิ่งที่เขาเรียกว่าทรัพยากรที่สมบูรณ์ 
  • เมื่อหนึ่งคืนผ่านพ้นกับการหลับนอนท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมนั้น  กระทั่งข้าฯตื่นลืมตาเพื่อที่จะเข้าห้องน้ำ  ข้าฯพบว่าห้องน้ำที่นี่เป็นห้องขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ข้าฯเคยเข้ามา  และอ่างน้ำล้างหน้าก็แสนจะกว้างใหญ่เสียนี่กระไร  แต่....ข้าฯต้องปีนลงจากหน้าผาเล็กๆ  ลงไปห้องน้ำธรรมชาตินั้น 
  • ทันใดนั้น  เมื่อข้าฯได้ก้าวขาปีนป่ายลงจากผาเล็กๆนั้น  เพียง 2 ก้าว   ข้าฯก็มารู้สึกตัวอีกทีว่า  ข้าฯได้ตกลงมาอยู่กลางผา  โดยมีกิ่งไม้ขนาดเล็กขวางตัวของข้าฯเอาไว้ เสียแล้ว .... ข้าฯลื่นตกหน้าผา  ในใจรู้สึกเปิ่น เปิ่น  บอกไม่ถูก  ในวันนั้นข้าฯก็เดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ
  • และไม่รู้มีสิ่งใดมาดลใจข้าฯ  ทำให้ข้าฯกลับมายืนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ  ในหมู่บ้านแห่งนี้อีกครา  และเวลาก็ช่างรวดเร็วเสียเลยเกินข้าฯ  เกือบจะ 2  ปีผ่านไปข้าฯอยู่กับโรงเรียนธรรมชาตินี้ 
  • จนกระทั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม  2542  ขณะนั้นข้าฯกลับเข้ารามฯเพื่อที่จะทำกิจกรรมกลับเพื่อน   พี่คนนั้นบอกข้าฯว่า   มีทหารเข้ามาในอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ชื่อว่า  หมู่บ้านสวนทุเรียน  ทหารมาอพยพชาวบ้านให้ออกจากแผ่นดินที่ชาวบ้านเกิด  และชาวบ้านส่วนหนึ่งเกิดความกลัว  จนต้องหนีเข้าป่าลึกติดกับชายแดนมากเข้าไปอีก 
  • พี่คนนั้นบอกกล่าวให้ข้าฯไปหมู่บ้านแห่งนั้น   ขณะนั้นข้าฯมีหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมของชมรมฯ  ข้าฯตัดสินใจบอกเพื่อนของข้าฯ  ป๋องเราขอโทษนะที่ต้องละทิ้งหน้าที่ที่จะต้องทำ  อย่างไรฝากงานกิจจกรมให้กับป๋องได้ไหม  เพื่อนของข้าฯและพี่ๆในชมรม  ไม่กล่าวคำใดมากมายกับข้าฯ  บอกเพียงว่ายอมรับการตัดสินใจของข้าฯเท่านั้น  เสมือนเพื่อนๆพี่ๆเขารับรู้ว่าข้าฯไปคราวนี้เพื่อไปช่วยเหลือพี่น้องกะเหรี่ยง  ทั้งๆที่ข้าฯเองก็ไม่รู้ว่าข้าฯจะไปช่วยเขาได้อย่างไรกัน
  • และแล้วข้าฯก็มาเหยีบบนแผ่นดิน  แห่งหมู่บ้านสวนทุเรียน  ที่นี่ข้าฯรู้สึกว่ามีความอุดมในทรัพยากรมากกว่า  บ้านห้วยสัตว์ใหญ่  เพราะอยู่ท่ามกลางหุบเขาที่สลับซับซ้อน  มันเป็นความรู้สึกระหว่างที่ข้าฯเดินทางเท้าเข้าหมู่บ้าน  ที่ห่างจากบ้านสัตว์ใหญ่กว่า  80  กิโลเมตร 
  • หมู่บ้านสวนทุเรียน  ตั้งอยู่หมู่ที่ 6  ตำบลบึงนคร  อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  และซึ่งอยู่ในเขตที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานฝั่งขอบด้านใต้สุดของผืนป่าแก่งกระจาน
  • ข้าฯรับรู้ว่า  มีพี่ๆทหารจากกองกำลังค่ายสุรสีห์ จากเมืองกาญจนบุรี  เข้ามาบอกว่าชาวบ้านสวนทุเรียน  อาศัยอยู่ที่นี่ไม่ได้อีก  ต้องอพยพไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง  โดยอ้างว่า  ชาวบ้านบุกรุกป่าต้นน้ำเกรด A  และเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย  เป็นกลุ่มที่เสี่ยงภันต่อความมั่นคงของรัฐ 
  • ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเกิดความกลัว  เขาไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงอยู่ในหมู่บ้านที่เขาอยู่อาศัยเกิดแห่งนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ  ไม่ได้    ลุง ป้า  หลาย  คน  มีเหรียญชาวเขาที่ ในหลวงทรงพระราชทานให้เมื่อปี 2512  ด้วยเหตุแห่งความกลัวและสับสนของพี่น้องกะเหรี่ยง  เขาโยนทิ้งเหรียญชาวเขาเหรียญนั้นลงลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้านสวนทุเรียน 
  • ข้าฯทราบสาเหตุภายหลังของการโยนเหรียญนั้นเหตุเพราะ  เขาคิดมาตลอดว่าเหรียญนี่คือหลักฐานที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดบนแผ่นดินไทย  ในหลวงจึงให้เหรียญนี้ หรือเปรียบได้กับบัตรประชาชนของชาวเขานั่นเอง  และเขาก็กล่าวต่อว่า  ในเมื่อเหรียญมันใช้ไม่ได้ก็ไม่รู้จะเก็บเอาไว้ทำไม 
  • ยายคนหนึ่งชื่อ  น้ำขาว   ถึงกับกินยาฆ่าตัวตาย   ยายบอกกับญาติๆก่อนที่เขาจะกินยาว่า   ยายเกิดบ้านสวนทุเรียน  ก็ขอที่จะตายที่นี่  ไม่อยากไปตายที่อื่นที่ๆไม่ใช่ถิ่นกำเนิดของยาย  เรารับรู้ภายหลังที่ยายได้เสียชีวิตเสียแล้วเพียง 1 วัน
  • เหตุการณ์อพยพหมู่บ้านสวนทุเรียน ในครั้งนั้นมีเรื่องราวมากมายที่จะต้องจดจำอยู่ในใจของพี่น้องกะเหรี่ยงไม่แค่ กะเหรี่ยงบ้านสวนทุเรียนเท่านั้น  กะเหรี่ยงจากหมู่บ้านในละแวกนั้นอีกกว่า 10 หมู่บ้านก็ต้องจารึกและจดจำเหตุการณ์นั้นและที่จักตระหนักถึงความเป็นชนชาติในความเป็นชนเผ่าเพื่อเป็นบทแห่งการรับรู้สืบต่อกระทั่งชั่วลูกชั่วหลานเลยทีเดียว
  • ในช่วงเหตุการณ์นั้น  ข้าฯทำได้เพียงเป็นส่วนหนึ่งในการประสานงานความเข้าใจและแจ้งเหตุการณ์  ให้กับองค์กร  บุคคล  นักข่าว ฯ มากมาย  เพื่อที่จะช่วยเปล่งเสียงก้องให้ดังๆในการเรียกร้องสิทธิชุมชนแห่งบ้านสวนทุเรียน   เท่านั้น
  • และข้าฯได้รู้จักคำอีก   2   คำ  คำหนึ่งว่า  เอ็นจีโอ  ? ”   และอีกคำหนึ่งว่า  สิทธิ  ในขณะที่ข้าฯไม่เคยคิดจะแสวงหาความหมายของคำๆว่า  เอ็นจีโอ    แต่ข้าฯต้องการที่จะแสวงหาความหมายของคำว่า   สิทธิ  มากกว่า  โดยที่ข้าฯเองก็ไม่รู้ตัวเองว่า  ทำไม?

·         จนข้าฯเริ่มเข้าสู่โลกแห่งการเรียนรู้  เป็นสถานที่ๆนอกเหนือกว่าที่จะเรียกว่า  โรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย   สถานที่นี้อยู่บนแผ่นดินแห่งรอยต่อระหว่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  กับ จังหวัดเพชรบุรี

  •  ภาพบรรยากาศโอกาสแห่งการเรียนรู้เมื่อปี 2543
  • จำได้ว่าราวประมาณกลางปี 2543  ข้าฯกลับไปหาพี่น้องกะเหรี่ยง  ที่ชื่อว่า  พี่มนต์ชัย ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านสวนทุเรียนขณะนั้น  ข้าฯไปถามเขาว่าเมื่อเหตุการณ์ที่เสียเลือดและน้ำตาของพี่น้องในวันนั้น  มาถึงจุดนี้พี่มนต์ชัยคิดว่าต้องการอะไรกับชีวิตมากที่สุด    คำเดียวที่เป็นเสียงของพี่น้องหลายชีวิตบอกต่อว่า  ต้องการเป็นคนไทย  และเป็นสาเหตุที่ทหารเขากล่าวหาว่าไม่มีสัญชาติ
  • คำกล่าวของพี่น้องกะเหรี่ยง ปกาเกอญอ  บอกข้าฯในวันนั้น  ข้าฯจึงไปแสวงหาผู้รู้หลายท่าน  คนหนึ่งในนั้นคือ  รศ.ดร.มารค ตามไท  และ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร  และก็ได้พบกับพี่อีก 2 คนคือ  พี่ต้อง สรินยา  กิจประยูร  กับ  พี่ตี๋  ชุติ งามอุรุเลิศ
  • ข้าฯได้เรียนรู้ถึงแนวทางในการทำงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ คำว่า  สถานะบุคคลกับ สัญชาติ    และขอเอ่ยถึงบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่ชื่อว่า  บาทหลวงวิชัย โภคทวี   เป็นคนที่ข้าฯพบก่อนที่จะเข้าไปเรียนรู้กระบวนการทำงานจริงในพื้นที่ อำเภอสวนผึ้ง  จังหวัดราชบุรี
  • เมื่อข้าฯได้เรียนรู้และกลับมาคิดว่า  มันไม่ยากเลยที่จะนำตัวอย่างจากสวนผึ้งวันนั้น  นำกลับไปทำที่สวนทุเรียน  และจากที่คนหลายคนแนะนำข้าฯก็บอกให้ข้าฯเขียนโครงการสิ  เพื่อจะได้ทำงานให้พี่น้องที่เดือดร้อนได้อย่างเป็รูปธรรม  ข้าฯก็ปฏิบัติตามคำแนะนำ  แต่ขณะนั้นปี 2543 อาจไม่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากเท่าใดนัก
  • ในเบื้องต้นของการทำงานข้าฯได้ไปขอความช่วยเหลือด้านเงินจากอาจารย์หลายท่าน  จนอาจารย์มารค ตามไท  รับรู้ความประสงค์ของข้าฯ  ให้เงินจำนวน 5 พันบาทถ้วน  ซึ่งเป็นเงินก้อนแรกของโครงการฯ และอาจารย์หลายท่านที่กล่าวมาเป็นจุดเริ่มต้นให้ข้าฯมีพละกำลังใจในการทำงานตลอดมา
  • ระยะแรก ข้าฯได้ชักชวนพี่ๆในชมรมฯ มาทำงานกับพี่น้องกะเหรี่ยงด้วย  และระหว่างที่เราดำเนินงานนั้นได้รับการสนับสนุนจาก  มูลนิธิธรรมไท   มูลนิธิเอเซีย   สภาองค์กรเด็กและเยาวชน  (สอ.ดย.) และ จากกองทุนแคนาดา  ด้วย  ข้าฯก็ได้ประสานพี่น้องกะเหรี่ยงเพื่อรวมตัวกันเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องสัญชาติที่จะต้องต่อสู้  ที่จะได้มาซึ่งสถานะที่จะต้องแตกต่างกันตามกฎหมายของประเทสไทยอย่างคร่าวๆ 
  • แต่ด้วยภาพเหตุการณ์การอพยพหมู่บ้านในครั้งนั้น  มันก่อเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของชีวิตพี่น้องปกาเกอญอ  เป็นอย่างมาก  อาทิ  พี่น้องจากที่เคยต้องปลูกข้าวกินเองอย่างชีวิตพอเพียงของคนอยู่กับป่า   กระทั่งต้องมาจับจอบรับจ้างถางหญ้าให้กับคนทีมีสัญชาติไทยบนพื้นราบ   นั่นคือพวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง  แต่มิใช่เพียงที่เขาถูกละเมิดการดำเนินชีวิตเพียงเท่านั้น  พี่น้องยังถูกละเมิดสิทธิอีกหลายประการ  อาทิ   พี่น้องกะเหรี่ยงคนหนึ่งได้มีเอกสารบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง  (บัตรชนกลุ่มน้อยที่นิยามโดยกรมการปกครอง)  แต่เมื่อบัตรใบนี้จะต้องกำจัดการย่างก้าวเท้าห้ามเดินทางออกนอกเขตในพื้นที่ที่ออกบัตร  เมื่อเขาจำใจต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวืตเพื่อเลี้ยงปากท้องเพื่อลูกและเมียของเขา  เขาจักต้องก้าวเท้าออกเพื่อไปรับจ้างหางานซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่ๆนั้น  โดยที่ต้องเกรงกลัวกับการเสี่ยงภัยระหว่างเดินทางที่เขาภาวนาในใจว่า  ไม่ให้เจอตำรวจ  เขาก็อดทน  ฝ่าฟัน  เรื่อยมาอยากหลบๆซ้อนๆ   .... และถ้าถามว่าทำไมต้องออกนอกพื้นที่ละ  ก็เพราะในพื้นที่มีปัญหาการแย่งงานกันทำ จากพี่น้องกว่า  500 ชีวิตที่จำต้องเปลี่ยนแปลงวิถีของเขาที่ถูกอพยพไม่ให้ทำมาหากินในพื้นที่ที่เขาเกิด     
  •   ช่วงระหว่างนั้นที่รับรู้รู้เรื่องราว   ผนวกกับพวกเรา พี่น้องกะเหรี่ยงได้ก่อตั้งกลุ่มเพื่อทำงานช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ในนาม ศูนย์ศึกษาและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น  นั้น  เราค่อนข้างที่จะลังเลในระยะแรก  เพราะเราตระหนักด้วยเหตุและผลกันมากขึ้นร่วมกัน   ทำให้คำว่า  สัญชาติเป็นเพียงตัวแปรในความอ้างถึงว่าเป็นบุคคลที่ประเทศนั้นสร้างภูมิป้องกันแห่งชนชาติเท่านั้น  แต่  สัญชาติ  ไม่ได้หมายถึงที่ทำให้เขาไม่อดตาย   ทีมงานของศูนย์ศึกษาฯในระยะแรกจึงเกิดอารมณ์ฟุ้งเฟ้อที่ว่า  ทำมันทุกอย่าง  ทั้งเรื่องสัญชาติ  ทรัพยากร  คุณภาพชีวิต  ฯฯฯฯ    และแล้ว  รศ.ดร.มารค ตามไท   ที่ปรึกษาประจำศูนย์ศึกษาฯและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น  ได้จี้แจ้งแถลงไขตักเตือนว่า  ทำทีละเรื่อง  ใจเย็นๆ  ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ทุกอย่างไปพร้อมกันได้ดี     เป็นเสียงที่เราต้องหันกลับมามองสภาพการณ์และสภาวะในห้วงขณะหนึ่ง  เราจึงนิ่งและคิดแผนกระบวนการใหม่   
  • แต่เราจะต้องไม่ลืมย้ำว่า   การทำงานของศูนย์ศึกษาฯ  คือการทำงานภายใต้ความคิดของชุมชนโดยชุมชนและจะต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมต้นกำเนิดด้วย 
  • พี่มนต์ชัย  เป็นหัวเรือหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อน  ในระยะที่สภาวะสับสน  เขาละทิ้งลูกและเมียของเขา  ทำงาน  ทำงาน  ในหน้าที่พิสูจน์สถานะและสิทธิของพี่น้องในสถานะบุคคล  พี่มนต์ชัยไม่เคยบ่นเลยสักคำเดียว  เขามีหัวใจที่แข็งแกร่งในการต่อสู้เพื่อสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับ   แต่มุมมองหนึ่งเขาบอกกับข้าฯว่า   เขามีความรู้สึกสนุกที่ได้ทำ  และประโยชน์ที่ได้รับก็มิใช่ว่าใครก็คือตัวของเขาและพี่น้องปกาเกอญอทุกคน 
  • ข้าฯจึงไปตั้งปลัก  แบบลักษณะอาศัยความหน้าด้านสู้ทนในสถานที่ที่เรียกว่า  ที่ว่าการอำเภอและกับศาลากลางจังหวัด  ด้วยความที่เราเห็นสภาพปัญหาของเจ้าหน้าที่จากความที่เขาก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของชาวเขาในพื้นที่เขตที่ส่วนราชการหน่วยนี้รับผิดชอบให้ถูกต้องได้อย่างไรด้วย   ข้าพเจ้าจึงเป็นตัวเชื่อมประสานกลาง  กลาง  ระหว่าง   ชาวบ้าน  ผู้นำชาวบ้าน  กับ  ส่วนข้าราชการทุกส่วนในพื้นที่    โดยมีหัวเรือหลักคือ  พี่มนต์ชัย  รับผิดชอบในโซนพื้นที่  3  หมู่บ้าน  /  พี่ติ๋ม   เป็นหัวเรือรอง  รับผิดชอบในพื้นที่  1  หมู่บ้าน  /  พี่ศักดิ์ดา  เป็นหัวเรือปีกล่างที่ดูความเคลื่อนไหวของสถานการณ์  /  นายขอไข่  เป็นเรือหางท้าย  รับผิดชอบ 1  หมู่บ้าน   โดยการทำงานของพวกเขา  ต้องต่อสู้กับปัญหาอุปสรรค นานา  ที่จะนำมาบรรยายในบทต่อไปว่าเขาต่อสู้กับอะไรบ้าง 
  • จนกระทั่งการทำงานล่วงเลยมา ปี  2547  พี่น้องกว่า  1400 ชีวิต  ได้รับสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย  รวมถึงหัวเรือทุกหัวเรือที่เป็นแกนหลักแห่งการทำงานที่ไม่ย่อท้อ  มีแต่ความอดทน  อดทน  และอดทน  แบบว่า  ใช้ความสงบข่มขู่คู่ต่อสู้ก็ว่าได้  ซึ่งผิดกับตัวข้าพเจ้าที่ทั้งปล่อยน้ำตาเล็ด ร่วงกราวตลอดเวลา  ท้อ  ท้อ  แต่หัวเรือทุกคนช้อนตัวข้าพเจ้าให้อบอุ่นได้เสมอทุกครั้งไปสิหน่า   
  • อย่างไรก็ดีข้าพเจ้า  ขอเอ่ยชมบุคคลหนึ่งที่เป็นผู้อยู่เคียงข้างการดำเนินงานร่วมกำหนดชะตาสถานะบุคคลให้ผ่านไปได้ด้วยดี ถึงแม้จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่จำกัดของส่วนราชการด้วยนั้น  คือ  นางสาวศิริรัตน์  ปานทอง  ปลัดอำเภอ  
  • ต้นปี พ.ศ.2548-กลางปี 2549  พี่น้องอีก 500 ชีวิต  ก็ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย  แต่ยังคงหลงเหลือคนที่ตกข้างที่ต้องรออนุมัติเพียง  180  ชีวิต  ในพื้นที่  5  หมู่บ้าน  3  อำเภอ  2  จังหวัดที่เคยยื่นคำร้องไปแล้ว 
  • ระหว่างนั้นตัวของข้าฯก็ยังสับสนอีก  ประกอบกับสภาวะการณ์ที่เราต้องเสียค่าโง่ให้กับทาสแห่งการขับเคลื่อนของตัวเราเอง  
  • เสียงโทรศัพท์ดังขิ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2548  พี่แป้น  ประไพร เกสรา  และ  พี่โจ้  ณัฐพล  สิงห์เถื่อน  จากมูลนิธิกระจกเงา…..เอ่ยกล่าวให้เราไปทำงานสถานะบุคคลในพื้นที่สึนามิ  เสียงที่ก้องตอบรับในใจว่า  เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเราจริงๆ  และแล้วการเดินทางสู่พื้นที่ 6 จังหวัดที่ประสบภัยสึนามิก็ได้เริ่มต้นขึ้น   มูลนิธิกระจกเงา  โอบอุ้มเราตลอดเวลา  มีพี่ๆน้องๆที่มีรอยยิ้มแห่งการทำงานอาสาสมัครในพื้นที่มากมาย  ...... แต่กระนั้นข้าพเจ้าซึ่งไม่เคยทำงานแบบมนุษย์รับเงินเดือนและประกอบกับสภาวะสถานการณ์ในพื้นที่ประจวบฯยังคงมีไอแห่งความอบอุ่นรอข้าฯอยู่ด้วย  จึงจักต้องขอลาจากงานในสึนามิออกมา 
  • ข้าฯได้เรียนรู้กับมูลนิธิกระจกเงา  เรียนรู้กับพี่น้องชนเผ่ามอแกลน มอแน  อุรักลาโว้ย  พี่น้องมุสลิม  คนไทยพลัดถิ่น  คนไทยอีสาน  คนถิ่นพลัด  ฯฯ  เป็นบทเรียนแห่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่  ตลอดระยเวลา  7 เดือน ..... ถึงแม้เป็นระยะเวลาอันสั้นแต่ข้าฯก็ได้เรียนรู้ว่า  มูลนิธิกระจกเงา  ได้สะท้อนตัวตนของข้าฯออกมาได้
  • ข้าฯจึงมุ่งสู่เมืองเชียงใหม่ .. ถิ่นที่ได้สอนให้ข้าฯรู้จักอิ่มกับการใช้ชีวิตคนเมืองเมื่อสมัยวันเรียน  แต่ตัวข้าฯก็พบว่าตัวตนของข้าฯมีจิตสำนึกเพียงพอกับชีวิตที่ผ่านมาข้างต้น  ข้าฯต้องกลับไปแสวงหาคำว่า  สิทธิ  ที่สมบูรณ์ต่อพี่น้องปกาเกอญออีกครั้งเป็นแน่
  • กลางปี 2549   เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นอีกครั้ง ...........  พี่ต้อง  สรินยา กิจประยูร  บอกกับเราว่ามีงานผู้ช่วยนักวิจัยเรื่องตรวจสอบสถานการณ์การจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ  สนใจไหม......  และแล้วจับพลัดจับพลู  ข้าฯก็ได้ไปเยือน 6 จังหวัดสึนามิอีกครั้ง  คราวนี้ได้พลังแรงกล้าโดยมี  หัวเรือหลักคือ  รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร  อาจารย์แหวว  เป็นผู้ส่งพลังแห่งการเรียนรู้ที่จักต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ข้าฯได้โตพอที่จะก้าวข้ามสู่สังคมที่เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง  
  • งานในฐานะผู้ช่วยนักวิจัย ตรวจสอบสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงในพื้นที่  ตัวข้าฯมารู้ว่าถนัดในงานด้านนี้ก็ต่อเมื่อได้เรียนรู้และได้ปฏิบัติและได้แบ่งจัดระบบของความคิดออกมาเป็นส่วนๆ อ.แหวว เป็นคนหนึ่งที่สอนให้เราคิดเป็นระบบ  (ถึงแม้วันนี้ข้าฯก็ยังสับสน)  งานนี้ทำให้ข้าฯ รู้สึกภูมิใจว่าอย่างมากมาย  ได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ใจดี  และพี่น้องที่ประสบปัญหา  หลากหลายท่านทีเดียว  จนงานวิจัยผ่านสถานการณ์ปฏิวัติและคืบคลานแล้วเสร็จไปเมื่อต้นกุมภาพันธ์ 2550  นี้ 
  • เสียงจากพี่น้องปกาเกอญอ ในพื้นที่อีกพื้นที่หนึ่งโซนกลางของผืนป่าแก่งกระจาน  และเสียงของพี่น้องในศูนย์ศึกษาและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น  เสียงทุกคนสะท้อนดังก้องอยู่ในจิตสำนึกของข้าพเจ้า  จนกลับหวนคิดถึงคำของของอาจารย์มารค ตามไท  ที่ว่าทำทีละเรื่องได้ผลดีอย่างไรนั้น     วันนี้ข้าฯพร้อมที่จะเริ่มก้าวที่ 2 แล้ว 
  • ระยะเวลากว่า 8 ปี  ที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเรียนรู้ของคำว่า   มนุษย์  นั้น ไม่ได้สูญเปล่าเลยสักนิดเดียว  ปี 2550 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงโดยแท้  ที่ทำให้ข้าฯไม่มองข้ามสิ่งรอบข้างที่อยู่มิใกล้มิไกล  ข้าฯจักต้องไม่ให้การเรียนรู้ที่ผ่านมาของข้าฯหยุดนิ่งเป็นแน่  และข้าฯบอกกับตัวตนของข้าฯเสมอว่า  อดีตข้าฯเป็นคนด้อยโอกาสที่จะแสวงหาการเรียนรู้  พี่น้องปกาเกอญอ  เป็นผู้ให้โอกาสแห่งการเรียนรู้กับข้าฯในวันนี้
    • สิ่งที่เขียนมายื่นยาวนั้นเพียงแต่เพื่อการตอบสนองย้ำเตือนสติของข้าพเจ้าเท่านั้น  แต่ถ้าเป็นผลแห่งการเรียนรู้เพื่อคนอื่นก็จักดี ……
    • 10 มีนาคม 2550  ณ สำนักงาน FACE  : บทสื่อสารก้าวที่ 1
หมายเลขบันทึก: 83087เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2007 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • มาทักทาย
  • เคยไปทักเพื่อนๆที่นี่
  • ข้าฯพบพี่ๆที่อยู่ในห้องของชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
  • และเพื่อนไปออกค่ายที่เพชรบุรีด้วย
  • มาขอบคุณครับผม

เอ๋  ?  ? สงสัยจนอยากรู้ว่าเพื่อนของพี่ขจิตที่ว่าไปออกค่ายที่เพชรชื่ออะไรอะคะ   เพราะเผื่อที่จะได้เชื่อมโยงกันได้ในการขอคำแนะนำด้วยคะ

อืม  งง  ว่าขอบคุณเรื่องอะไร

 

  • ขอบคุณที่ไปทักทาย
  • เพื่อนชื่อการ์ตูน และประธานชมรมฯ จำพี่แหม่มได้แล้วครับ
  • พบพี่แหม่มที่หมู่บ้านเด็กจริงๆด้วยเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว
  • แต่นี้พี่แหม่มอยู่ที่ไหนครับ

ตอนนี้พี่แหม่ม  ก็ยังอยู่ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก  และประจำอยู่ที่ ตะกั่วป่า จ.พังงา ด้วยคะ

อืม  พี่การ์ตูน  คุ้นๆจังเลย แต่ยังนึกไม่ออก

ขอบคุณเช่นกันเจ้าค่า

 

ขออนุญาติ ลงคำหลัก kmr 

1. นุชยังไม่รู้จัก ยังไม่เข้าถึง  ไม่เข้าใจ  km / kmr  เลย

2. ที่ใส่คำหลักนี้เพราะนุชอยากรู้ว่า km kmr  ที่นุชบันทึกของตนเอง  เป็นการจัดการความรู้แบบไหน  เป็นหรือไม่ก็ไม่รู้

3. นุชเข้าใจเอาเองว่า  kmr   คือ การหาความรู้จากค้นหา  ?

4.  เพื่อที่จะหาความหมายในการตอบคำถามในความสับสนของนุชเอง

???????????

นุชไม่รู้อะไร  ถูก  อะไร  เหมาสม  ไม่เหมาะสม  มากนัก 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท