ค่ายนักเขียนน้อยบนดอยสูง 1 : เมื่อเด็กจะทำค่ายหนังสือทำมือร่วมกับชุมชน


ด้วยแรงศรัทธาในการเรียนรู้นอกระบบที่มิใช่เพียงมุ่งเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง หากต้องบูรณาการอย่างสอดคล้องกับวิถีชุมชนอย่างเชื่อมโยงเปี่ยมด้วยสุขภาวะ

เมื่อคิดถึงประสบการณ์การออกค่ายพักแรมของตัวเองทีไร ก็ให้รู้สึกประทับใจตั้งแต่ค่ายลูกเสือ ร.ด. มาจนถึงค่ายอาสาพัฒนาชนบท แม้แต่ละครั้งจะมีความไม่สะดวกสบายต่างๆนานา แต่กลับรู้สึกสนุกกับการได้ผจญภัยเล็กๆน้อย ที่สำคัญคือ ได้เปลี่ยนบรรยากาศการเรียนรู้จากในห้องสี่เหลี่ยมจำเจ ไปสู่สภาพแวดล้อมที่มีต้นไม้ ป่าเขา อากาศดีๆ ผู้คนที่มีน้ำใจแบ่งปัน 

 

ผมมาค้นพบเอาในภายหลังว่า นี่แหละ คือการสร้างกระบวนการเรียนรู้นอกระบบ นอกห้องเรียน ที่ผสมผสานกับการสร้าง สุขภาวะ อย่างเป็นองค์รวมในรูปแบบหนึ่ง และน่าจะใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีโอกาสได้ทดลองทำเป็นเรื่องเป็นราวสักที

 

จนกระทั่ง ธันวาคมที่ผ่านมา ผมได้รับการอนุมัติโครงการ หนังสือทำมือ สื่อเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์สัมพันธ์ ในนามของ สโมสรผู้นำเยาวชนเพื่อการศึกษาและพัฒนาชุมชน (สยชช.) จาก แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ฝันในเรื่องนี้ จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

 

แนวคิดหลักของโครงการ คือโดยทั่วไป จะเห็นว่า เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปางมะผ้ามักเป็นผู้ที่คอยแต่จะบริโภคสื่อ หรือเป็นผู้ถูกกระทำ (passive) ที่ถูกครอบงำจากสื่อยุคบริโภคนิยม จนเกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย  โครงการนี้จึงริเริ่มขึ้นเพื่อให้เด็กมีบทบาทในการผลิตสื่อด้วยตัวเขาเอง มีพื้นที่ทางสังคมที่จะสื่อสารวัฒนธรรมกลุ่มย่อยของตนเอง แสดงตัวตนของตัวเองให้สังคมวงกว้างรับรู้ ทั้งยังก่อให้เกิดการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมระหว่างเด็กต่างกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่นเดียวกัน อันนำไปสู่ความสมัครสมานสามัคคี เป็นกลุ่มประชาสังคมเด็กที่เข้มแข็งขึ้น

 

การดำเนินงาน จะเน้นการมีส่วนร่วมของเด็กทั้งในโครงการ และนอกโครงการ และดำเนินงานภายใต้การให้คำแนะนำจากที่ปรึกษาโดยเฉพาะที่ปรึกษาในระดับคณะกรรมการหมู่บ้านต่างๆ โดยเน้นรูปแบบการจัดค่ายพักแรมกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นค่ายฝึก ค่ายเสริม ค่ายประเมิน ค่ายสรุปผล ล้วนแล้วแต่จัดร่วมกันกับชุมชน มีพิธีกรรมของชุมชนมาร่วมบูรณาการตามความเหมาะสมครับ

 

ผมมีความเชื่อว่า

-         ด้วยวิธีการให้เด็กๆได้รับประสบการณ์ตรงจากการผลิตสื่อที่เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา จะทำให้พวกเขาเริ่มมีความมั่นใจที่จะยืนอยู่บนวัฒนธรรมของตนเอง แม้จะถูกสึนามิแห่งโลกาภิวัฒน์ถาโถมใส่ปานใดก็ตาม

-         ด้วยวิธีการให้เด็กๆได้รับประสบการณ์ตรงจากการอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมที่ปลอดโปร่งเป็นธรรมชาติและชี้ให้เขาเห็นความสำคัญของการถนอมใช้ ดิน น้ำ ป่า จะปลูกสำนึกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้พวกเขาอย่างลึกซึ้ง

-         ด้วยวิธีการให้เด็กๆได้มาใช้ชีวิตในป่าที่ต้องอยู่ร่วมเต็นท์ ในกรอบกติกาของค่าย จะทำให้พวกเขาเรียนรู้กฏ กติกา มารยาท และจริยธรรมที่จะทำสื่อ และทำเรื่องต่างๆ โดยคำนึงถึงสุข ทุกข์ของผู้อื่นได้มากขึ้น

-         และด้วยวิธีการให้เด็กๆมากินอยู่ตามความจำเป็นในค่ายพักแรมกลางป่าเช่นนี้ จะเป็นการฝึกสร้างเศรษฐกิจ พอเพียง และเปิดโอกาสให้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆของพวกเขา ได้ออกมาโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวา

 

ถ้าจะอิงหลักวิชาการสักหน่อย ก็น่าจะเข้าทางที่หมอประเวศ  วะสี (2550 ) กล่าวไว้ใน พ็อคเกตบุคส์ ระบบการเรียนรู้ใหม่ ไปให้พ้นวิกฤตแห่งยุคสมัย ในภาพรวมว่า การศึกษาทุกระดับและทุกประเภทควรลดการถ่ายทอดเนื้อหาในชั้นเรียนลง แล้วเน้นการปฏิบัติการจริงร่วมกับชุมชน อาจารย์หมอประเวศใช้คำว่า “Interactive Learning Through Action” คือเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ที่มีบูรณาการทั้งชีวิต สังคม วัฒนธรรม ศาสนาธรรม และวิชาการต่างๆที่จำต้องใช้เข้ามาพร้อมกันไป (แนะนำว่าเป็นหนังสือน่าอ่านที่สุดเล่มนึง พึงหาอ่านเพิ่มเติมนะครับ)

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ทางโครงการได้ประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อชี้แจงโครงการ รับสมัครสมาชิกเพิ่มเติม และกำหนดแผนงานเบื้องต้น ร่วมกับบรรดาเด็กๆ ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ปรากฏว่ามีเด็กสนใจเข้าร่วมโครงการนี้เกินคาด คือตั้งไว้แต่แรกสักยี่สิบห้าคน แต่เสียงเด็กขอให้เพิ่มเป็นสักสามสิบกว่าคน ก็น่าเห็นใจในความตั้งใจของพวกเขา เพราะเด็กที่นี่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำกิจกรรมแบบนี้ โอ เค จำนวนเด็กในโครงการมากขึ้นแต่ใช้งบประหยัดหน่อยเพื่อให้เด็กๆมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงขึ้น และเผื่อว่าเด็กบางคนอาจจะมีความจำเป็นหรือหันเหความสนใจออกจากโครงการกลางคัน ก็จะได้มีเด็กที่ตั้งใจจิงอย่างต่อเนื่องหลงเหลืออยู่ เห็นดังนี้ ก็น่าจะทำได้ แต่ต้องประหยัดสักหน่อยนะ เด็กๆก็ตอบตกลง(ดูรูปประกอบนะครับ)

 

 

ในวันนั้น เรารับสมัครทีมงานค่าย มาเป็นอาสาสมัครในการสำรวจและจัดประชุมเรื่องโครงการนี้กับชุมชนเป้าหมาย ซึ่งชุมชนเป้าหมายในการไปจัดค่ายครั้งแรกของโครงการนี้ คือ หมู่บ้านห้วยน้ำโป่ง อันเป็นหมู่บ้านชาวลัวะซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังมีโป่งนก โป่งน้ำร้อน และวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่น่าสนใจศึกษาไม่น้อย แต่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเข้าถึงเพราะหนทางทุรกันดาร

            ค่ายแรกนี้ หลักๆเป็นค่ายฝึกทักษะการทำหนังสือทำมือ และฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม ร่วมกับชุมชน ฝึกทักษะการเก็บข้อมูล และฝึกอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง เราเรียกชื่อค่ายว่า ค่ายนักเขียนน้อยบนดอยสูง ครั้งที่ 1” (เนื่องจากมีเด็กสนใจสมัครร่วมค่ายเยอะมาตั้งแต่ต้น เราจึงแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละประมาณสิบห้าคน  แตกออกเป็นสองค่ายต่อเนื่องกัน โดยค่ายครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นโดยใช้รูปแบบและเนื้อหาคล้ายๆกัน แต่ไปจัดให้กับกลุ่มเด็กที่เหลือตกค้างจากค่ายแรก )

            ตกลงได้รายชื่ออาสาสมัครมาสี่คน คือน้องเอิร์น กันย์ อุ้ย และสันติ โดยมีผมพาลงพื้นที่ในหัวค่ำวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา (ดูรูปประกอบนะครับ)

 

บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี และกันเอง ที่น่ารักคือมีเด็กเล็กชาวลัวะมานั่งฟังด้วยแววตาสนใจ ผมก็เลยเอ่ยปากชวนร่วมค่ายซะเลย เมื่อประมาณดูแล้ว ในชุมชน มีเด็กอยู่ไม่เกินยี่สิบคน ผมก็ว่า เอาอย่างนี้ ไหนๆก็มาจัดค่ายในบ้านเค้า ก็อยากจะเชิญเด็กในหมู่บ้านทุกคนมาร่วมค่ายตามความสมัครใจ มาเรียนรู้ตามอัทธาศัยกันได้

ทางกรรมการหมู่บ้านไม่ขัดข้องที่จะให้เรามาตั้งค่าย และยินดีเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่พิธีเปิด ไปจนถึงพิธีปิด รวมถึงการให้ความรู้ต่างๆไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตในชุมชน สิทธิเด็กในแบบท้องถิ่น การใช้ชีวิตเอื้ออิงกับป่า การสอนคุณธรรม จริยธรรมต่างๆ ในแบบที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้  

เราร่วมออกแบบกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในค่าย นับตั้งแต่วันที่ 17 – 19 มีนาคม แต่จะขออุบไว้ก่อน ไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้ ใครสนใจขอเชิญติดตามอ่านตอนต่อๆไป และขอขอบคุณที่ติดตามอ่านด้วยดีเสมอมา โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ใหม่ถอดด้าม คือ ใหม่ทั้งคนทำ ใหม่ทั้งทีมงาน ใหม่ทั้งชุมชน แต่ด้วยแรงศรัทธาในการเรียนรู้นอกระบบที่มิใช่เพียงมุ่งเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง หากต้องบูรณาการอย่างสอดคล้องกับวิถีชุมชนอย่างเชื่อมโยงเปี่ยมด้วยสุขภาวะ

หนทางนี้ยังอีกยาวไกล แรงใจที่ดีที่สุดคือการได้สลายตัวเองเป็นเปลวไฟจุดประกายให้คนอื่นก้าวต่อ  หวังว่าจะให้ความสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกิจกรรมอย่างนี้ต่อไปนะครับ  



ความเห็น (2)
  • พี่เห็นใบหน้าเด็กๆแล้วชื่นใจ
  • เขาบริสุทธ์ น่ารักและกำลังเติบโต เหลือแต่ว่าจะเอาอะไรใส่ให้เขาเท่านั้นเอง
  • ค่ายนี้แหละที่จะเอาปัญญาให้เขาในรอบๆเรื่อง รอบๆด้าน
  • พี่ส่งใจมาจากมุกดาหารครับ
ขอบคุณพี่บางทรายครับ ผมเองก็ "มือใหม่" กับงานเหล่านี้ อาศัยที่สมัยเรียนมอชอ เป็นเด็กกิจกรรม ก็เลยปัดฝุ่นเอา "ความเป็นวัยรุ่น" ที่เลือนลางไปกลับมาใช้ตอนอายุสามสิบกว่า ก็พบว่ามีหลายอย่างยังใช้ได้ อยากเห็นผู้ใหญ่ใจดี และจริงจังกับการพัฒนาเด็กจริงๆครับ ส่วนใหญ่บอกเป็นห่วงเด็ก แต่ให้มาทำแผนงาน หรืออนุมัติงบประมาณก็บอกให้รอไปทุกที ที่แม่ฮ่องสอนนี่ สัดส่วนงบเด็กๆในท้องถิ่นน้อยเหลือเกินครับ เด็กๆเขาชีช้ำกับผู้ใหญ่ที่รับปากแล้วผิดสัญญาบ่อยๆ แต่ก็ไม่ท้อถอยนะครับ ผมกำลังจะตั้งสโมสรที่ทำงานร่วมกับเด็กนี้ให้ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ไว้เป็นร่มให้เด็กๆยากจนเหล่านี้ทำงานต่อเนื่อง บางคนมีความตั้งใจ และมีแววดี หากได้รับการหนุนเสริม เขาก็จะสามารถเป็นนักพัฒนาท้องถิ่นได้ในอนาคต หากทีมงานเป็นรูปเป็นร่าง และมีประสบการณ์มากกว่านี้อีกสักนิด อาจจะขอคำแนะนำเรื่องการประสานแหล่งทุนในการพัฒนาเด็กให้เป็นนักพัฒนาท้องถิ่นจากพี่นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท