จะสร้างพลังชุมชน ด้วยวิธีการใด


หัวใจของการสร้างพลัง คือ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ต่อการพัฒนาชุมชน หรือแก้ไขปัญหาของชุมชน เกิดผลของการเรียนรู้ คือ พลังความรู้ การตัดสินใจ และความสามารถในการพัฒนาชุมชน หรือสังคมอย่างยั่งยืน และกระทบผลประโยชน์อย่างเป็นระบบ โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง

     ต่อจาก การสร้างพลัง (Empowerment) คืออะไร ซึ่งโดยสรุปคือกระบวนการทางสังคม ที่ส่งเสริมให้บุคคล องค์กร และชุมชน มีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถควบคุมตนเอง มีความสามารถในการเลือก และกำหนดอนาคตของตนเอง ชุมชน และสังคมได้ โดยมีฐานคิดในการสร้างพลัง (Empowerment) มาจากทฤษฎีการสร้างพลัง (Empowerment Theory) เป็นแนวคิดของการศึกษาเพื่อการสร้างพลัง ซึ่งเป็นรูปแบบการศึกษาที่เน้น ให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถในการตัดสินใจ และแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เกิดความนับถือเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง และระดับของการสร้างพลัง (Empowerment) มี 3 ระดับ คือ การสร้างพลังให้ตัวบุคคล องค์กร และชุมชน และจากนี้จะได้กล่าวถึงว่าแล้วจะสามารถดำเนินการสร้างพลังชุมชน ด้วยวิธีการใดได้บ้าง

     หัวใจของการสร้างพลัง คือ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ต่อการพัฒนาชุมชน หรือแก้ไขปัญหาของชุมชน เกิดผลของการเรียนรู้ คือ พลังความรู้ การตัดสินใจ และความสามารถในการพัฒนาชุมชน หรือสังคมอย่างยั่งยืน และกระทบผลประโยชน์อย่างเป็นระบบ โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีหลักการสำคัญ ดังนี้

          1. รวม "พลังใจ" การที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมด้ามใดก็ตาม ขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญ คือ การรวมตน เพื่อรวมพลังใจ เป็นการสร้างเสริมใจซึ่งกันและกัน เกิดความรัก ความสามัคคี ความเอื้ออาทร มีความสนใจ และมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ทำให้เกิดจิตสำนึกในการแก้ไข หรือพัฒนาท้องถิ่น การรวมกัน รวมใจ เป็นการส่งเสริมให้เกิดประชาคม หรือเวทีประชาคม โดยใช้ประเด็นที่ชุมชนสนใจ มาเป็นเครื่องมือในการรวมคน

          สิ่งที่สำคัญ คือ การค้นหาผู้นำที่มีจิตวิญญาณ มีอุดมการณ์ต่อสถานการณ์ หรือประเด็นต่างๆ ที่ชุมชนสนใจให้ได้ โดยการเสนอตน ตามความสมัครใจ หรือให้ชุมชนเป็นผู้เสนอ ผู้นำเหล่านี้ มักเป็นผู้นำตามธรรมชาติ เป็นผู้ที่มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน อดกลั้น จิตใจอาสาสมัคร อาจเป็นพระภิกษุ หมอพื้นบ้าน นักพัฒนา และข้าราชการยุคใหม่ ฯลฯ หากเราสามารถรวมพลังใจ ของผู้นำเหล่านี้ได้ จะทำให้ได้คนที่มีคุณภาพ มีพลัง และรวมตัวกันอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานในขั้นต่อๆ ไป ประสบความสำเร็จ

          บางกรณีเกิดจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนา เข้าไปกระตุ้นให้คนในชุมชนรวมตัว เพื่อพัฒนาชุมชน วิธีการนี้ ส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ได้เฉพาะกาย ไม่ได้ใจ และมักได้คนที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีพลัง เป็นการรวมคนที่ไม่มีความยั่งยืร ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานในขั้นต่อๆ ไป ไม่ประสบผลสำเร็จ

          2. การระดม "พลังความคิด" เมื่อรวมคนได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ "การร่วมคิด" โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ วิเคราะห์ปัญหา และโอกาสอย่างรอบด้าน รวมทั้งการกำหนดแนวทาง วิธีการ และแผนงานในการแก้ไขปัญหา หรือการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบ สร้างสรรค์ และยั่งยืน
ก่อเกิด "พลังการจัดการ" ขั้นตอนนี้จะเกิด "การร่วมทำ" ดำเนินงานตามแนวทาง วิธีการ และแผนงานที่กำหนดในขั้นตอนที่ 2 สิ่งที่ควรทำในขั้นตอนนี้ คือ การจัดระบบการบริหารจัดการที่ดี เช่น การแบ่งบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของภาคี การพัฒนาต่างๆ อย่างเหมาะสม มีความเคารพนับถือ และให้การยอมรับความรู้สึก ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีความจริงใจต่อกัน มีความเอื้ออาทร และความหวังดีระหว่างสมาชิก ย่อมทำให้เกิดการดำเนินงานราบรื่น และมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพ

          3. สร้าง "พลังภูมิปัญญา” การขับเคลื่อนกิจกรรมแก้ไขปัญหา หรือการพัฒนาสังคมใดๆ ก็ตาม สิ่งที่ขาดเสียมิได้ ก็คือ การสรุปบทเรียนร่วมกัน เป็นการติดตามประเมินผล โดยเริ่มต้นจากการประเมินผลตนเอง และประเมินผลงาน ผ่านกระบวนการกลุ่ม และเครือข่ายการเรียนรู้ ทำให้เกิดการเชื่อมต่อ ทักษะ องค์ความรู้ และประสบการณ์ใหม่ๆ นำไปสู่การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และเป็นชุมชนที่มีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ

           4. สร้าง "พลังปิติ" ขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการ คือ การรับผลจากการกระทำ เป็นการสร้าง "พลังปิติ" โดยการยกย่อง ชื่นชม ให้กำลังใจ แก่คนที่มีความตั้งใจ และเสียสละให้กับชุมชน และสังคม ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และมีความสุขจากการทำงานร่วมกัน ส่วนปัญหา อุปสรรคที่เกิดจากการกระทำ ถือว่าเป็นบทเรียนที่ต้องนำมาปรับปรุง พัฒนาไม่ให้เกิดขึ้นอีก

          5. สร้าง "ภาพลักษณ์" เป็นการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่องค์ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ ไปสู่องค์กรชุมชนอื่นๆ เช่น ถ้าเป็นองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจ การประชาสัมพันธ์ จะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด สร้างรายได้เพิ่ม หากเป็นองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น การประชาสัมพันธ์จะเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติแก่ผู้ประกอบการต่างๆ ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ เป็นต้น

     คัดมาเป็นตอนจาก : งานของ พนัส พฤกษ์สุนันท์ และคณะ ที่นำเสนอเมื่อครั้งประชุมวิชาการกรมอนามัย ครั้งที่ 2/2547 เรื่อง การสร้างพลังชุมชน ในระหว่างวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2547 ณ โรงแรมทีเค พาเลส กรุงเทพฯ หากจะมีการนำไปใช้โปรดอ้างอิงถึงเจ้าของผลงานที่แท้จริงข้างต้น

[การสร้างพลัง คืออะไร]  [มีฐานคิดมาจากไหน]  [ระดับของการสร้างพลังแต่ละระดับเป็นอย่างไร]
[แล้วจะสามารถดำเนินการสร้างพลังชุมชน ด้วยวิธีการใดได้บ้าง]
[กล่าวโดยสรุปสำหรับการสร้างพลัง (Empowerment)]

หมายเลขบันทึก: 8295เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2005 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท