เปิดตัวยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขที่นครศรีธรรมราช


สิ่งที่ได้ฟังจากคณะกรรมการผู้นำชุมชนระดับชาติคือเสียงสะท้อนแง่คิดมุมมองต่อโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาชุมชนสู่ชุมชนเข้มแข็งอย่างสมบูรณ์และยั่งยืนหรือชุมชนอินทรีย์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชดำเนินการอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ทำมาถูกทางแล้ว ให้กำลังใจ

มีเรื่องดีๆที่อยากบันทึกเอาไว้ แม้จะล่วงเลยมาหลายวันแล้วก็ตาม

ก็คือเรื่องการประชุมคณะกรรมการผู้นำชุมชนแห่งชาติครั้งที่ 2/2550 ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีคุณประยงค์ รณรงค์ เป็นประธาน มาประชุมสัญจรกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค. ช่วงวันที่ 2 มี.ค.ได้จัดประชุมขึ้นที่โรงแรมแกรนด์ปาร์ค ทางผู้จัดเชิญ ดร.เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร และท่านผู้ว่าวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช มาเป็นวิทยากร

ผอ.กศน.จังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับเชิญจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชว่าให้เข้าร่วมด้วย แต่ไม่ทราบว่าท่าน ผอ.วิมล ท่านติดธุระอันใด จึงไม่สามารถไปได้ในทันที ท่านจึงโทรศัพท์มาบอกผมว่าให้ผมไปร่วมประชุมพลางๆก่อน ก็เป็นโอกาสของผมที่จะได้เรียนรู้เรื่องสำคัญๆหลายเรื่อง

จากการที่ได้ฟัง ดร.เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารนำเสนอทำให้ผมได้ทราบว่ายุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนฐานล่าง ทั้งในประเด็นด้านการสงเคราะห์ เศรษฐกิจพอเพียง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ชุมชน และด้านการบริการประชาชน  จังหวัดนครศรีธรรมราชได้งบประมาณเพื่อดำเนินการจำนวน 96 ล้านบาท

สิ่งที่ได้ทราบจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช คือหลักคิดแนวทาง แผนขั้นตอน วิธีการดำเนินงานในการทำโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนอินทรีย์หรือชุมชนที่เข้มแข็งอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน และข้อสรุปที่ว่าท่านเชื่อในศักยภาพของชุมชนว่าชุมชนมีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาแบบพึ่งตนเองได้หากได้รับกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้และหนุนเสริมที่ดี

สิ่งที่ได้ฟังจากคณะกรรมการผู้นำชุมชนระดับชาติคือเสียงสะท้อนแง่คิดมุมมองต่อโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาชุมชนสู่ชุมชนเข้มแข็งอย่างสมบูรณ์และยั่งยืนหรือชุมชนอินทรีย์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชดำเนินการอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ทำมาถูกทางแล้ว ให้กำลังใจ 

สุดท้ายท่านรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดร.เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์  ท่านกล่าวว่าการที่จังหวัดนครศรีธรรมราชได้เตรียมชุมชนเอาไว้ค่อนข้างดีตามโครงการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ดำเนินการไปนั้น ทางรัฐบาลจึงจะใช้จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นที่เปิดตัวยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ที่ชุมชนบ้านไม้เรียง ในวันที่ 22 มี.ค. 2550

บันทึกเอาไว้เป็นข้อมูล และเพื่อการแลกเปลี่ยนครับ

หมายเลขบันทึก: 82911เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2007 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
นอกจากให้งบประมาณสนับสนุนพื้นที่แล้ว  รัฐมีมาตรการอื่นๆสนับสนุนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขไหมคะ (เท่าที่อาจารย์ฟังจาก ดร.เอนก)

อ.ปัทมาวดี ครับ

           การให้เงิน งปม.แก่ชุมชนฐานล่างตามที่ผมจับใจความได้ก็จะประมาณว่าให้เอาแนวคิดประสบการณ์การทำงานที่ชุมชนทำอยู่เดิมมาแลกกับเงิน งปม.ไม่ใช่ให้เงินแบบไม่มีเหตุผล ให้ถ้าได้เรียนรู้ ได้เคลื่อนงานอะไรอยู่ก็เสนอเป็นเค้าโครง กรอบความคิดที่จะทำนั้นอย่างต่อเนื่องต่อไป หรือจะทำประเด็นใหม่ เรื่องใหม่ ก็พัฒนากรอบคิดขึ้นมาในกรอบเนื้อหา 5 เนื้อหาที่รัฐกำหนด

          อื่นๆที่รัฐจะสนับสนสุนผมคิดว่ามีอีกแน่นอน เพราะจุดใหญ่คือกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน การทำอย่างไรจะให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างสมบูณ์และยั่งยืน ซึ่งต้องหนุนเสริมกันหลายเรื่องมาก แต่ที่เป็นมาตรการต่างๆสนับสนุน ผมไม่ได้ฟังในส่วนที่ว่านี้

          ขอบคุณมากครับ หากอาจารย์จะกรุณาข้อมูลหรือแนะนำแหล่งข้อมูลก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง เพราะผมก็กำลังสนใจศึกษาอยู่เหมือนกัน

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

เรียนอาจารย์จำนง

เท่าที่ลองดู   เห็นมี website ของหลายจังหวัดที่เขียนเกี่ยวกับการประชุมและยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของจังหวัดค่ะ

ที่น่าสนใจคือ website ของจังหวัดระยอง มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการประชุมมอบนโยบายของกระทรวงมหาดไทยให้กับผู้ว่าฯทั่วประเทศ  เมื่อ 17 พย.49 ที่โรงแรมรามาการ์เดน      ในนั้นมีสรุปยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขจังหวัด  ซึ่งระบุย่อยลงไปถึงระดับกลยุทธ์   เป็นเอกสารประกอบการสัมมนากลุ่มย่อยของการประชุมในครั้งนั้นค่ะ

ลองดูได้ที่  http://www.rayong.go.th/Strategy/YDMS_13  

แต่คิดว่าข้อมูลที่ทันสมัยที่สุด น่าจะอยู่ที่แต่ละจังหวัดเองค่ะ

 ถ้ายุทธศาสตร์ต่างๆจะนำไปสู่การแก้ปัญหาภัยคุกคาม อย่าง เอดส์  ยาเสพติด  ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน  ความเสี่ยงด้านการผลิตและราคาของภาคเกษตร คนหนุ่มสาวออกไปนอกพื้นที่เหลือแต่คนชรากับเด็ก  ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ก็เยี่ยมเลยค่ะ

ที่รู้สึกมากคือ เวลามองภาคเกษตร เราจะนึกถึงแต่กระทรวงเกษตร ทั้งๆที่ความจริงเกษตรกรมีปัญหาการตลาดซึ่งกระทรวงพาณิชย์ดูแล  พาณิชย์จังหวัดไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึง  บทบาทของสหกรณ์ (แม้จะอยู่ใต้กระทรวงเกษตร) ก็หายไป ทำอย่างไรจะทำให้ขบวนสหกรณ์เข้ามาช่วยเรื่องการตลาดได้จริง (การตลาดนี่ ต้องเป็นขบวนเครือข่ายจริงๆค่ะ ไม่งั้นต้นทุนการจัดการสูง)

แต่แน่นอนว่าฐานรากอยู่ที่ชุมชน และท้องถิ่น  เห็นว่าการกระจายอำนาจยังเป็นสิ่งจำเป็น

ภาคธุรกิจเอกชนใหญ่ขึ้นทุกที จะให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบแบ่งเบาภาระ และไม่สร้างภาระ ตรงนี้อย่างไร

มองแบบนักวิชาการ  หลายคนคงไม่ชอบ   

เป็นกำลังใจให้คนขับเคลื่อนงานทุกคนค่ะ  (เพราะงานขับเคลื่อน ยากกว่างานวิเคราะห์)

 

            มองอย่างอาจารย์ที่เป็นนักวิชาการแนวติดดินก็ทำให้เข้าใจเรื่องราวตกผลึกความคิดได้ดีครับ...ตามไปดูเว็บที่ลิ้งค์ไว้ให้แต่เข้าไม่ได้ครับ...ขอบคุณครับ

เรียน อ.จำนงที่เคารพ

แอบเข้ามาอ่านค่ะ    อยู่ สา,สุขจังหวัดค่ะ  (ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)  สนใจเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน  เพราะกำลังทำเรื่องการป้องกันโรคไข้หวัดนกโดยเครือข่ายชุมชน  อ่านแล้วได้ความรู้มากเลยค่ะเรื่องคล้ายๆกันและน่าจะทำไปด้วยกันได้  สังคมอยู่เย็นเป็นสุขที่ลพบุรี    ดิฉันยังไม่ได้ร่วมขับเคลื่อนด้วย เท่าที่ทราบยังเงียบๆอยู่  รออยู่น่ะค่ะ เพราะรับผิดชอบงานโรคติดต่อที่เดิมมีงานไข้เลือดออกอยู่ในเมืองไทยแข็งแรง      

ขอบคุณค่ะ    (ที่ทำให้รู้รายละเอียดมากขึ้น)

 

คุณรุจิรา ครับ

             ที่พอจะเป็นประโยช์ได้บ้างก็ยินดีครับ

  • ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งนะครับ  เป็นหัวขบวนให้กับจังหวัดอื่นๆ ได้เรียนรู้กันต่อไป
  • ขอบพระคุณมากครับที่บันทึกมาแบ่งปัน

น้องสิงห์ป่าสัก ครับ

       หากหลายๆจังหวัดทำงานอย่างเพื่อนเรียนรู้กัน อย่างนี้ ชาวบ้่านคงได้รับประโยชน์และมีศักดิ์ศรี อย่างแน่นอนเลยครับ และประสบการณ์การทำงานของแต่ละจังหวัดก็จะเป็น บทเรียนที่จะเป็นประโยชน์กับที่อื่น จะได้มีการเล่า การแลก และการแบ่งปันกัน คนหน้างานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้อย่างเรา ก็จะมีความสุขตามไปด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท