คุณค่าใบไม้ที่ร่วงหล่น


จากดินที่เสื่อมโทรมปลูกอะไรแทบไม่ได้ กลับฟื้นคืนมาภายในระยะเพียง ๒ ปี โดยการใช้ใบไม้คลุมดิน
 

มีผู้รู้กล่าวว่า ในธรรมชาตินั้นไม่มีขยะ เมื่อหนึ่งชีวิตดับสิ้นไป หรือมีการเปลี่ยนแปลง ก็มักจะเป็นช่องทางให้สิ่งอื่นๆได้ใช้พัฒนาใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ดับหรือเปลี่ยนแปลงไปนั้น อย่างเป็นธรรมชาติและกลมกลืน

 ใบไม้ร่วงก็เช่นกัน พืชชนิดต่างๆก็จะได้พึ่งพาวัสดุอินทรีย์ที่ร่วงหล่น เพื่อการพัฒนาตนเองและสิ่งแวดล้อม 

การร่วงหล่นและการปกคลุมของใบไม้ร่วงทำให้ได้ประโยชน์หลายประการคือ ลดความร้อนจากแดด ลดการระเหยน้ำจากดิน สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆและรากเจริญได้ และในระยะยาวก็จะเกิดเป็นชั้นผิวหนังของดิน ทำให้ดินมีชีวิต 

แต่การพัฒนาแบบใหม่ได้ทำให้ของดีๆ กลายเป็นขยะอย่างไม่น่าเชื่อ 

ผมได้ลองเลียนแบบและพบว่าได้ผลจริงๆ 

จากดินที่เสื่อมโทรมปลูกอะไรแทบไม่ได้ กลับฟื้นคืนมาภายในระยะเพียง ๒ ปี โดยการใช้ใบไม้คลุมดิน และปล่อยให้เมล็ดพืชที่ติดมางอกขึ้นคลุมดิน จนกลายเป็นต้นแบบหนึ่งของเกษตรประณีต ๑ ไร่ จากพื้นที่ ๑ ไร่ของหลังบ้านของผม  

และตอนนี้ ผมก็ขยับขยายไปทำนา ในพื้นที่ประมาณ ๖ ไร่ครึ่ง โดยบังเอิญว่าได้ ๑ เฮกตาร์ตามหน่วยฝรั่งอย่างไม่น่าเชื่อ และ ผมก็กำลังทำแบบเดียวกัน

คือนำใบไม้ไปคลุมดินดอน ปล่อยฟางคลุมนา โดยหวังว่าจะเกิดดินที่มีชีวิตและอุดมสมบูรณ์โดยไม่ไถกลบ แต่อย่างใด 

ปีที่แล้วลงทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวไป ๗ กก ทำนาโดยไม่ไถ ไม่ดำ ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช ก็ได้ข้าวเปลือกมากว่า ๒ ตัน และได้มากกว่าของชาวบ้านที่ลงทุนทั้งไถ ทั้งดำ ทั้งใส่ปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืช  

แต่ของผมมีแค่ใส่แกลบ ฟาง ใบไม้ วัสดุอินทรีย์ต่างๆจากข้างทาง เท่าที่จะหาได้  

จนชาวบ้านแถวนั้นเห็นเป็นเรื่องตลกที่ผมใช้นาเป็นที่ทิ้งขยะ  

คนอื่นเขามีแต่ทำนาให้ สะอาด ผมกลับทำนาให้ รก 

 แต่พอผมได้ข้าวมากกว่า เขาก็เริ่มจะเปลี่ยนความคิด แต่ก็ยังรีรออยู่ดูทีท่าเหมือนเดิมครับ 

ปีที่แล้วผมเตรียมตัวไม่ค่อยทัน เพราะเริ่มงานปลายเมษายน ปีนี้ผมมีเวลาทั้งปี คอยดูว่าจะได้ผลแค่ไหน 

ข้าวหอมมะลิแดงอินทรีย์ของผม ตอนนี้ก็เหลือกิน แบ่งให้วัวและปลากินบ้าง ก็ยังเหลือเกือบ ๒ ตัน  

ใครสนใจสั่งได้นะครับ แจกเป็นข้าวกล้อง ฟรี เพื่อสร้างพันธมิตรครับ 

ก็ผมไม่ได้ลงทุนอะไร จึงไม่มีคำว่าขาดทุนครับ และไม่ทราบจะขายไปให้ได้อะไร ครับ

ยิ่งแจกยิ่งได้กำไรครับ

กำไรเพื่อนไงครับ

 

หมายเลขบันทึก: 82887เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2007 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • เข้ามาคาราวะ หนึ่งจอกน้ำใจ ที่เอาบทความจากประสบการณ์จริงมาให้อ่านอย่างชุ่มชื่นใจครับ
  • แนวทางนี้หล่ะครับ ยั่งยืนครับ ครบวงจร ไม่ต้องพูดอะไรเพิ่มแล้ว เพราะมันครบของมันแล้ว
  • มีอันหนึ่งที่ผมเห็นในเยอรมันน่าคิด และคิดว่าเอาไปใช้กับบ้านเราครับ หากมีการทำอยู่แล้วก็ดีครับ คือเมื่อก่อนในบริเวณหอพักที่นี่ เค้าจะให้นักศึกษาช่วยตัดต้นไม้ในช่วงหน้าร้อนครับ ต้นที่ไม่เป็นที่ต้องการนะครับ แล้วก็ตัดเสร็จเอาไปใส่ในถังใหญ่ แล้วต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ของเมืองมาขนไปทิ้งทำลาย แล้วต้องจ่ายด้วยนะครับ แพงมากด้วย
  • แล้วถัดมา ปีต่อมา ผมเห็นอะไรใหม่คือ ไม่มีการทำแบบนั้นแล้ว แต่มีเครื่องจักรตัวหนึ่ง ใส่กิ่งไม้เข้าไป มันย่อยใส่โคนต้นไม้เลย จะใส่ต้นไม้เข้าไป ต้นเท่าแข้ง ข้อมือใส่ไปได้เลย มันกินย่อย ออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นผงเลยก็ว่าได้ แล้วเอาไปใส่ตามโคนต้นไม้ นั่นหล่ะครับ ไม่ต้องทิ้งเลย เพียงแค่ว่าเราต้องรู้ว่าเราจะตัดวิชพืชพวกนั้นในช่วงไหน จะได้ประโยชน์มากขึ้น หากช่วงที่มีเมล็ดก็อาจจะได้เมล็ดพันธ์แถมไป หากเอาไปใส่ในนา แต่หากตัดมันแล้วเอาไปย่อยตอนที่อยู่ในขั้นที่ยังไม่มีผลก็คงได้ธาตุอาหารไปเพียบพร้อมกับไม่มีเมล็ดมาให้กวนใจ
  • แทนที่จะตัดกองรวมกันแล้วเผาให้เทวดาสำลักควันไฟ
  • ขอบคุณครับผม
คูณเม้งครับ แหมผมเดาไม่ผิด ผมยังใส่รูปไม่เสร็จก็เข้ามาแล้ว อย่าลืมดูรูปนะครับ ผมทำงานกับชาวบ้านที่ "ดื้อตาใส" จึงต้องทำทุกอย่างให้เขาเห็น เป็นตัวอย่างให้ดูทั้งนักวิชาการที่ต่อต้านแนวคิดเกษตรอินทรีย์ ว่ายังไงก็ไม่ work และชาวบ้านที่ "เสพติดความรู้" ที่เป็นพิษ จนคิดอะไรไม่ออก ไปวิ่งตามเป็นเหยื่อให้กับนักธุรกิจข้ามชาติ โดยมีนักวิชาการปากคาบคัมภีร์ เป็นแนวร่วมแบบไม่รู้ตัว เพราะตัวเองก็ไม่เคยทำ ไม่รู้เรื่อง มีแต่คัมภีร์เต็มปาก หัวแข็ง แต่ชอบเชื่อฝรั่ง เขาจะว่าอย่างไรก็เทิดทูนไว้เหนือหัว ทุกอย่างก็เลยเข้าทางเขาหมด ทำลายฐานทรัพยากรของตนเอง แล้วไปสวามิภักดิ์กับระบบสารพิษ และความมักง่าย ตอนนี้เรากำลังมีตัวอย่างที่ชัดเจน ว่าเป็นทางออกที่แท้จริง คนที่ไม่เห็นด้วยก็มี ชาวบ้านที่ "ติดสารพิษ" และ "ความรู้ที่เป็นพิษ" กับนักวิชาการที่ไม่เคยทำอะไร นอกจากจะแปลตำราฝรั่งไปหลอกเด็ก หลอกชาวบ้าน หาหัวโขนปลอมๆมาใส่นั่นแหละครับ ผมจะดำเนินเส้นทางนี้ไปเรื่อยๆครับ ตอนนี้ก็มีสวน มีนา และกำลังจะทำไร่แบบอินทรีย์ครับ กำลังวางแผนอยู่ ตอนนี้เวลาไม่ค่อยพอ ขนาดนาผมต้องไปทำถึงเที่ยงคืนบ่อยๆ เพราะกลางวันก็ต้องทำงานปกติครับ ขอคุณเม้งเป็นแนวร่วมสักคนนะครับ จะกลับเมืองไทยไหมครับนี่ หรือแหม่มเยอรมันมัดตัวไว้แล้วก็ไม่รู้ซิครับ

ปีนี้เก็บใบไม้ที่เขาจะเผาไปใส่ที่(เล็กๆ)ที่ซื้อไว้ค่ะ ..คนรอบข้างเขาก็หัวเราะหาว่าเอาที่สวนทิ้งขยะ....และเสียค่าน้ำมันรถขนใบไม้ไปแทนที่จะเผาทิ้ง ก็ปล่อยเขาหัวเราะค่ะ แต่ปัญหาที่เจอและยังแก้ไม่ตกคือพลาสติกถุงหูหิ้วที่คนส่วนมากมักจะโยนปนกับใบไม้ ถ้าเขาเผาก็เหม็น แต่ถ้าเก็บไปใส่ต้นไม้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นพิษกับดินไหมค่ะ ตอนนี้ต้องมาแยกขยะเอง ขอใครช่วยแยกก็ไม่มีใครสนใจ

ขอเรียนถามว่าอาจารย์มีความเห็นหรือข้อแนะนำไหมคะกับถุงพลาสติกพวกนั้นถ้ามากองถมปนบนดินน่ะค่ะ..ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีครับ อ.แสวง
  • ผมกลับแน่นอนครับ หากสาวเยอรมันมัดผม สงสัยมัดผมยากครับ เพราะต้องมัดด้วยหัวใจ และนิสัยแบบสาวไทยครับ (ว่าแต่ว่าใครจะมัดเนี่ยครับ)
  • ผมยินดีเป็นแนวร่วมเรื่องเกษตรอินทรีย์ เพราะว่าเป็นดีกับแนวนี้มานานแล้วครับ ตั้งแต่เริ่มเรียนเกษตร ม.ต้นแล้วครับ แต่ชีวิตมีแต่เรียน เรียนๆ และเรียน เข้าไปครึ่งชีวิตครับ แต่ยังดีที่สุดท้ายแล้วก็วกเข้าเรื่องเกษตรจนได้ครับ แต่ต้องศึกษาอีกตรึมครับ โดยเฉพาะปฏิบัติจริง
  • กลับไปบ้านต้นปีที่แล้ว แบบว่าแม่บอกว่า ต้นสะตอที่บ้านหนึ่งต้นสองโคน มันตาย เพราะเด็กปีนขึ้นไปบนต้น (ต้นสะตอเค้าว่าหากคนบางคนขึ้นไปเก็บบนต้นเนี่ย บางคนขึ้นไม่เป็นไร บางคนขึ้นนี่มันไม่เป็นฝักอีกเลย บางคนขึ้นแล้วก็ตายเลย อันนี้แปลกดี) แต่โชคดีที่ในที่สุดมันก็ไม่ตาย ตอนนั้นพ่อกะว่าจะโค่นทิ้ง ผมหน่ะเสียดายเพราะทำมาด้วยมือ
  • ที่ว่าหนึ่งต้นสองโคนคือ ต้นแรกเป็นต้นธุง (คล้ายสะตอแต่เปลือกแข็งเม็ดแข็ง ไม่รู้ กทม.เรียกว่าต้นอะไร) แล้วอีกต้นเป็นต้นสะตอจริง บังเอิญตอนนั้นเลือดเกษตรเต็มตัว เลยไม่อยากจะตัดต้นธุงทิ้ง ก็เลยทาบลำต้น จนติดกันแล้วตัดต้นธุงเหนือรอยทาบกิ่งทิ้ง เลยสบายเลย ตอนนี้เลยได้สองโคนยอดเดียว
  • หากมีแสงไฟพอผมว่าทำกลางคืนก็ดีครับ หากมีดวงจันทร์ส่องแสงด้วยก็สุดยอดครับ
  • ไว้มีโอกาสค่อยไปเยี่ยมบ้างครับ เผื่อได้แนวทางแนวคิดไปปรับปรุงที่บ้านผมบ้าง ตอนนี้ผมได้แค่เป็นฝ่ายสนับสนุนที่บ้าน ก็จะมีพ่อแม่และน้อง ช่วยกันทำกันอยู่ครับ กำลังจะเปลี่ยนแนวคิดไม่ให้ปลูกยางอยู่ครับ เห็นคนเค้าปลูกกันเยอะแล้ว แต่ปีนี้แล้งกันจริงๆครับ น้ำไปตกแต่แถวอินโดอย่างเดียวเลย
  • ขอบคุณครับผมครับ
  • สำหรับเรื่องถุงพลาสติก ผมว่าลองหันมาลองรณรงค์เรื่องถุงผ้าดูครับ ไปซื้อของก็ใช้ถุงผ้าแทน หรือย่ามนะครับ ผมกลับบ้านไปเมือง ผมก็จะเอาถุงผ้าไปแจกที่บ้าน จริงทำในไทยดีกว่าแต่อันนี้แบบว่าให้เห็นว่านี่เมืองนอกเค้าต้องใช้ถุงผ้ากันแล้ว ใครจะใช้พลาสติกก็ต้องซื้อครับ หากเมืองไทยทำแบบนี้ด้วยถุงพลาสติกจะหายไปเองในชนบท ส่วนในเมืองอันนี้ไม่ทราบครับ เพราะในเมืองล้ำไปไกลเกินจะกู้กลับแล้ว

การใช้ใบไม้ หรือเศษวัชพืชในการคลุมดินเพื่อให้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลาย และกลายเป็นอินทรีย์วัตถุก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ดินมีความสมดุลในระบบนิเวศน์ครับ เป็นแนวทางที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะสร้างกระบวนคิดอย่างไรให้พี่น้องเกษตรกรโดยทั่วไปได้เห็นความสำคัญร่วมกัน

โดยเฉพาะในเรื่องของฟางข้าวที่มีอย่างมหาศาล เราจะทำอย่างไรให้เกษตรกรได้เห็นความสำคัญในการที่จะรณรงค์ไม่ให้เผาอย่างไร เพราะในกระบวนการเผาใช่ว่าจะเผาทำลายฟางเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการทำลายจุลินทรีย์ และแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์  หรือนักกว่านั้นอาจจะทำให้เกิดไฟลุกลามไปไหม้ และทลายทรัพย์สินของคนอื่นด้วย

ในการเผาฟางนั้นก็ใช่ว่าแต่เกษตรกรเจ้าของนาไม่เห็นความสำคัญเพียงอย่างเดียวนะครับ เพราะคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในผลประโยชน์ส่วนตน เอาความสะดวกสบายของตนเป็นที่ตั้ง คือกลุ่มรับจ้างไถนา เพราะคนลุ่มนี้จะรับจ้างไถนาอย่างเดียวโดยไม่ได้คำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ของดิน เอาความสะดวกของตนเป็นที่ตั้ง ดังนั้นเมื่อแปลงนารกก็จัดการเผาให้เรียบเพื่อจะได้ไถง่าย สะดวก จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนี่คืออินทรีย์วัตถุอย่างดีที่ไม่ต้องเสียเวลาในการขน 

ในการที่เราขน และเคลื่อนย้ายใบไม้จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งนั้น (จากที่อื่นมาที่เราเอง) ก็เสมือนเป็นการดึงเอาความสมบูรณ์ของคนอื่นมาใส่ที่เรา หรือมองเชิงประจักษ์ก็คือว่าเรายังต้องพึ่งปัจจัยจากภายนอก  แต่เราจะมีวิธีการอย่างไรครับที่จะไม่ต้องไปพึ่งจากแหล่งอื่น เพราะนี่คือปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับพี่น้องเกาตรกรโดยทั่วไปที่ไม่มียานพาหนะในการที่จะขน หรือหากมีต้องเป็นการลงทุน ซึ่งผมคิดว่าอาจจะไม่ดึงดูดใจในการที่จะทำ

ในประเด็นที่คุณเม้งได้เล่าให้ฟังว่าการบดสับกิ่งไม้หรือต้นที่ไม่ใหญ่มากเกินไปโดยเครื่องจักรนั้นก็เป็นสิ่งที่ดีครับ ในการที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ แต่สำหรับในบริบทชุมชนของเราผมคิดว่าอาจจะต้องใช้ยะเวลาพอสมควร อีกอย่างการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ กิ่งไม้ ก็ยังมีความจำเป็นและขาดแคลน เพราะวิถีชีวิตของชาวชนบทยังต้องใช้ฟืนในการหุงต้มครับ

ขอบคุณครับ

 

หากปล่อยให้ธรรมชาติเกื้อกูลกันเอง คงยืดอายุโลกได้พอสมควรครับอาจารย์

       ขอเคารพท่านอาจารย์  ดร.แสวง  รวยสูงเนิน  ข้อเขียนของท่านงดงามเหลือเกิน  คุณค่าใบไม้ที่ร่วงหล่น  กับประโยคที่ท่านยกมาที่ว่า    ในธรรมชาตินั้นไม่มีขยะ    ผมคิดอย่างนั้นจริงครับเพราะผมเคยคุยกับคนเก็บขยะข้างบ้านผม  เขาบอกว่าที่เขาเก็บนั้นมันไม่ใช่ขยะแต่มันเป็นเงิน    ท่านอาจารย์ครับ   ผมอยากไปเที่ยวบ้าน  ไร่นา  ฟางข้าว  ป่าสวนของท่านอาจารย์จริง  ๆ  ครับ  และอยากฝากตัวเป็นศิษย์อาจารย์ครับ
ยินดีต้อนรับทุกเมื่อกับพันธมิตร ชุมชนคนสร้างโลกครับ

_/\_ ขอบคุณ ทุกความรู้ ค่ะ

อาจารย์ครับ ผมอยากได้หอมแดงมานานแล้ว เคยได้มาเมื่อหลายปีมาแล้วให้น้องปลูกไว้กิน แต่เขาไม่รู้ค่าทำพันธุ์สูญไป ตอนนี้ให้ผมหาให้ใหม่เพราะหอมแดงราคาดี ผมก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหน ถามศูนย์ไหนก็ไม่มี พอรู้ว่าอาจารย์มีเลยดีใจมาก ขอแบ่งทำพันธุ์สัก 2 กิโล ได้ไหมครับ ตอนนี้ตกกล้ายังทัน ผมอยู่พืชไร่นี่เอง

ได้ครับ มารับได้เลย บอกล่วงหน้าก่อนก็ดีครับ

สุดยอดมากครับ

ดีจังครับท่านอาจารย์

ขออนุโมทนาบุญด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท