อี-คอมเมิร์ซแตะ 2 แสนล้าน ยื่นประมูลผ่าน "เน็ต" มาแรง


อี-คอมเมิร์ซแตะ 2 แสนล้าน

             เนคเทคสรุปตัวเลขอี-คอมเมิร์ซไทยแตะ 220,924 ล้านบาท ขณะที่ อี-ออคชั่นภาครัฐนำโด่งด้วยยอด 65% ด้านผู้ประกอบการอัดรัฐ "ช้า" ส่งผลไทยเดินตามหลังเวียดนาม  เร่งรัฐตั้งหน่วยงานกลางรับผิดชอบ ประสานกับคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่รอเข้า สนช.

            นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ผลสำรวจอี-คอมเมิร์ซของไทยล่าสุด ซึ่งสรุปจากรายได้ของผู้ประกอบการในปีงบประมาณ 2548 มีมูลค่าสูงถึง 220,924 ล้านบาท  โดยแบ่งเป็น ข้อมูลการซื้อขายออนไลน์จากทางภาครัฐ จากการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบ อี-ออคชั่น 143,437 ล้านบาท หรือประมาณ 65% จากมูลค่ารวมอี-คอมเมิร์ซไทย   ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายระหว่าง บีทูซี (บิซิเนส ทู คอนซูเมอร์) มีเพียง 11,392 ล้านบาท หรือประมาณ 5% และบีทูบี (บิซิเนส ทู บิซิเนส) จำนวน 66,095 ล้านบาท หรือประมาณ 30%   อย่างไรก็ตาม หากไม่นับอี-ออคชั่นของภาครัฐ มูลค่าอี-คอมเมิร์ซในกลุ่ม   บีทูบี และบีทูซี ในปี 2548 คาบเกี่ยวกับปี 2549 จะมีมูลค่ารวม 78,000 ล้านบาท จากปี 2547 ที่ทั้ง 2 กลุ่ม มีมูลค่าอี-คอมเมิร์ซราว 68,000 ล้านบาท

             นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งล่าสุด เนคเทคได้สำรวจจากรายได้ของผู้ประกอบการในช่วงปี 2548 โดยมาเริ่มสำรวจช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2549 ทำให้ตัวเลขมูลค่าของอี-คอมเมิร์ซในปีที่ผ่านมา ยังสรุปไม่ชัดเจน เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ปิดงบบัญชี  "แต่ดูจากตัวเลขที่เราทำการสำรวจ เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงของปี 2549 ในภาพรวม น่าจะโตเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 40-50% โดยเฉพาะในกลุ่ม บีทูบี และบีทูซี ที่น่าจะโตราว 40%" นายพันธ์ศักดิ์กล่าว

             ด้านการชำระเงินออนไลน์ ระบบที่ได้รับความนิยมมาก คือ การชำระเงินออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง ราว 20.28% ผ่านบัตรเครดิต 20.15% และผ่านผู้ให้บริการกลาง 19.72%   สำหรับสินค้าในเวบอี-คอมเมิร์ซ ที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. แฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องหนัง สิ่งทอ 14.45%   2. ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร 9.18%   3. คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง 7.27%

             ขณะที่ นายวรวุฒิ อุ่นใจ อุปนายสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ถึงเวลาแล้ว     ที่รัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะหันมาดูแลอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซไทย เพราะที่ผ่านมา ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากทางภาครัฐเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่หลายประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ที่มีแผนแม่บท         ด้านอี-คอมเมิร์ซ และมีหน่วยงานที่ดูแลอย่างชัดเจน จนกลายเป็นอุตสาหกรรม ที่กำลังสร้างรายได้ให้กับประเทศ

             ทั้งนี้ แม้ปัจจุบัน คณะกรรมการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูด้านอี-คอมเมิร์ซ อยู่ในขั้นตอนรอที่จะเข้าวาระพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ก็เป็นเรื่องอีกนาน เพราะปัจจุบัน สนช. มีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพิจารณามากมาย  เขาเสนอแนะด้วยว่า ภาครัฐควรสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะต้องทำให้ผู้บริโภคเกิดประโยชน์จากการซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต โดยอาจมีการลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% ลงเหลือ 3% ขณะเดียวกัน ก็ควรจัดตั้งหน่วยงานคุ้มครอบผู้บริโภคออนไลน์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น

กรุงเทพธุรกิจ  9  มี.ค.  50

คำสำคัญ (Tags): #อี-คอมเมิร์ซ
หมายเลขบันทึก: 82844เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2007 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท