การรู้เท่าทัน หรือ Literacy...?


การรู้เท่าทัน เป็นทักษะชีวิตที่สำคัญมาก

(47)

 

ความหมาย ของคำว่า การรู้เท่าทัน หรือ Literacy

การรู้เท่าทันการสื่อสาร หรือ Communication Literacy ( ดิฉันขอยืมคำฝรั่งมา) ไม่ทราบว่าคนฝรั่งเขามีมุมมองอย่างไรบ้าง คือให้ความหมายตามตำราไว้อย่างไรบ้าง

ความหมายของคำว่า รู้เท่าทัน ดิฉันลองประมวลสรุปรวม จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย สถานได้ว่า คำว่า การรู้เท่าทัน ตามความหมายโดยอรรถ หมายถึง การรู้จริงตามธรรมดา หรือ การรู้ถึงเหตุการณ์หรือความคิดของบุคคลได้ทันที

การรู้เท่าทัน เป็นทักษะชีวิตที่สำคัญมาก
เพราะนอกจากช่วยให้เรารู้ความจริงของสิ่งนั้นตามที่มันเป็นแล้ว ยังทำให้เราคิด ทำ และวางท่าทีความสัมพันธ์ต่อสิ่งนั้นๆได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

ดิฉันคิดเองเออเองว่า กลไกการรู้เท่าทันการสื่อสาร เกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ในหัวข้อจิตวิทยาการสื่อสาร (..เอ้อ..น่าจะเติมคำว่า “ขั้นสูง” ) เพราะ

1. ต้องทำให้เข้าใจถึงกลไกของการสื่อสาร และอิทธิพลของความหมาย

2. ต้องทำให้มองทะลุกลไกการสื่อสาร เข้าไปเห็น “และเข้าใจ”จุดมุ่งหมายแท้ๆที่อยู่เบื้องหลังการสื่อสารนั้นๆ

3. ต้อง มีกระบวนการการสื่อสารที่ละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง และมีเมตตาสูง จึงจะทำให้คนเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนพฤติกรรม และปรับระดับคุณธรรม มโนธรรม จริยธรรม ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ
(อยากใช้คำว่า ให้ละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ)

ตัวอย่างเช่น

เด็กนักเรียนห้องหนึ่ง กำลังโกรธเพื่อนอีกห้องหนึ่งเพราะ พูดจาผิดใจกัน และกำลังจะนัดพรรคพวกไปตอบโต้กันหลังคาบเรียนวิชาภาษาไทย บังเอิญครูรู้ก่อน คาบเรียนนั้นครูจึงได้สอนด้วยการเล่านิทานที่เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาวิชา เด็กๆทุกคนก็นั่งฟังอย่างตั้งใจ


(1. ต้องทำให้เข้าใจถึงกลไกของการสื่อสาร และอิทธิพลของความหมาย)

ในขณะเดียวกัน เด็กๆบางคนรู้ว่าครูกำลังเตือนสติด้วยการเล่านิทานเชิงเปรียบเทียบ    เด็กบางคนจึงรู้สึกว่ากำลังถูกสอน และบางส่วนเกิดความรู้สึกว่าถูกตำหนิในขณะเดียวกัน อันเกิดจากการที่เด็กๆรู้สึกว่าตนเองทำผิด

 (ทั้งนี้ต้องระวังผลข้างเคียงด้วย   เนื่องจากผู้รับสารอาจปฏิเสธเมื่อรู้สึกว่าถูกสอน  หรือถูกตำหนิทางอ้อม)

แต่เมื่อครูเล่าไปและสื่อสารไปด้วยท่าทีที่เป็นบวก แสดงถึงความเมตตาและความรักความจริงใจ เด็กก็เข้าใจจุดประสงค์ของครู ว่าที่ครูได้เล่านิทานเช่นนั้น ก็เพื่อเตือนสติ ด้วยความรักและความหวังดี เด็กวัดได้จากพฤติกรรมที่ครูแสดงออกมาอย่างสม่ำเสมอคงเส้นคงวา คือการเตือน บอก บางทีก็ดุ โดยไม่เคยละเลยเมื่อเด็กทำผิด

( 2. ต้องทำให้มองทะลุกลไกการสื่อสาร เข้าไปเห็น “และเข้าใจ”จุดมุ่งหมายแท้ๆที่อยู่เบื้องหลังการสื่อสารนั้นๆ )

ครูเองก็เพียรพยายามหาวิธีสื่อสารให้เด็กเข้าใจว่าครูปรารถนาดีด้วยใจจริง และมีวิธีสื่อสารให้เด็กรู้สึกว่าควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำอยู่นั้น เพื่อให้นำไปสู่ชีวิตที่ดี ครูพูดคุยกับเด็กอยู่พักหนึ่ง เด็กทั้งห้องก็ได้เลิกล้มความตั้งใจที่จะตอบโต้เพื่อนอีกห้องหนึ่งในที่สุด

( 3. ต้อง (มีกระบวนการ หรือกลไก) ทำให้คนเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนพฤติกรรม และปรับระดับคุณธรรม มโนธรรม จริยธรรม ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ)

เพื่อนๆที่กำลังนั่งรอทานข้าว บอกว่าดิฉันกำลังลากเข้าความ... เพราะการอธิบายข้างต้นเป็นการพูดแบบคลุมๆไป แล้วก็เอาหลักการเข้าไปใส่ตรงเนื้อความที่เข้ากันได้ คล้ายการเอาทฤษฏีเข้าไปจับ แบบจับแพะชนแกะ

ดิฉันพิมพ์จนเหนื่อยมากไม่มีแรงเถียงกับเธอ คือจริงๆแล้วก็รู้สึกว่าเธอพูดถูกเลยเถียงไม่ขึ้น จึงบอกเธอว่าดิฉันมีปัญญาอธิบายได้แค่นี้ ถ้าอ่านต่อจนจบจะพาไปเลี้ยงส้มตำเจ้าเด็ดจนครบเจ็ดวัน ถ้าไม่ยอมอ่านให้จบก็จะไม่ปรุงส้มตำรสแซ่บให้เธอรับประทานอีกเลยตลอดสัปดาห์นี้..!...

...พวกเธอเลยนั่งรอกันอย่างสงบเสงี่ยมต่อไป....

 

 ............................................................................

ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์วิชาการด็อตคอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) 
ความเห็นเพิ่มเติมที่ 75  17 ก.พ. 2550  

 

หมายเลขบันทึก: 82722เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2007 20:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท