ถ้าผมกลับไปเกิดเป็นนักเรียน วันนี้ผมน่าจะทำอะไร


สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ที่ผมต้องใช้เวลาเกือบสิบปีแค่อยากรู้ว่าทำไมผลไม้ดิบที่มีกรดรสเปรี้ยว ทำไมจึงสามารถเปลี่ยนเป็นผลไม้สุกที่มีน้ำตาลรสหวานได้

 ในกระบวนการเรียนนั้น ผมพบว่าการเรียนสมัยใหม่นี้มีความสะดวกในการสืบค้นหาเอกสาร และข้อมูล และมีคนที่พร้อมจะตอบคำถามต่างๆอยู่ทั่วโลก 

ที่แตกต่างจากสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ที่ผมต้องใช้เวลาเกือบสิบปี  

แค่อยากรู้ว่าทำไมผลไม้ดิบที่มีกรดรสเปรี้ยว ทำไมจึงสามารถเปลี่ยนเป็นผลไม้สุกที่มีน้ำตาลรสหวานได้ แค่เพียงบ่ม ๒-๓ วัน และถ้าผมจะเอาน้ำกรดไปบ่ม จะทำให้กลายเป็นน้ำตาลรสหวานหรือไม่ 

หรือแค่อยากรู้ว่าโลกทำไมจึงมีทรงกลม แทนที่จะแบนตามความเชื่อเดิม ก็ต้องใช้เวลาเกือบสิบปีเช่นกัน 

ถ้าผมเป็นเด็กสมัยนี้คงใช้เวลาไม่เกิน ๓ วัน และมีเรื่องและเครื่องมือให้คิดค้นต่อมากมาย 

ผมเลยคิดว่าเด็กสมัยนี้น่าจะเรียนรู้เร็วกว่าสมัยผมมากมาย

แต่ทำไมผมจึงรู้สึกว่า (แค่รู้สึกนะครับ) ว่าเด็กสมัยนี้กลับเรียนรู้ช้ากว่าสมัยผม 

ที่ผมคิดเช่นนั้นเพราะ ประเด็นที่ผมเคยเรียนและเข้าใจสมัยชั้นต่างๆที่เรียน

ถึงตอนนี้นักเรียนสมัยนี้ก็ยังไม่เข้าใจกันเลย แต่กลับเน้นการท่องไปสอบ แทนการทำความเข้าใจไปสอบ 

ผมไม่ค่อยเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับการพัฒนาการและการเรียนของเด็กสมัยใหม่ ที่มีโอกาสมากกว่าสมัยผมมากมาย

แต่ทำไมการเรียนรู้ไม่เร็วแบบสอดคล้องกัน หรือเร็วขึ้นอีกสักหน่อยก็ยังดี 

หรือมีอะไรไปปิดกั้นระบบคิดของเขา จนทำให้ข้อมูลที่มี ไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปได้อย่างง่ายดายอย่างที่ควรจะเป็น 

โดยเฉพาะนักศึกษาปริญญาโท และเอกที่ผมเห็น ก็ยังทำตัวไม่ต่างจากนักศึกษาปริญญาตรี

และ นักศึกษาปริญญาตรีก็ทำตัวไม่ต่างกับนักเรียนชั้นมัธยม กล่าวคือ เน้นการท่องไปสอบ

ไม่อ่านหนังสือเพิ่มเติม การสืบค้นหาข้อมูล ก็ยังไม่ค่อยใช้เป็นข้อมูล กลับใช้เป็นตัวหนังสือเฉยๆ

โดยใช้ copy และ paste มาเรียงๆกันไปเรื่อยๆ แทบไม่มีการใช้เป็นข้อมูลที่ต้องสะท้อนจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ 

หรือนี่เป็นปัญหาของความสะดวกสบาย ไม่ต้อง เรียน ก็จบได้ปริญญา ตรี โท เอก ก็แค่ท่องไปสอบ copy &paste เป็นเอกสาร ก็ถือเป็นวิทยานิพนธ์แล้ว  

พอให้เขียนวิเคราะห์ วิจารณ์ หาข้อสรุป ก็ว่าเรื่องมาก หิน กระดูกขัดมันอะไรไปโน่น  

อาจารย์ที่เคารพความเห็นของนักศึกษาเป็นสรณะ ก็มักปล่อยให้ นักศึกษา เหล่านี้ จบ ไปเป็น บัณฑิต ที่ทำอะไรไม่เป็น 

ผมก็เลยฝันลมๆแล้งๆว่า ถ้าผมเป็นเด็กสมัยนี้ ผมน่าจะเรียนรู้ได้เร็วกว่าเด็กสมัยนี้มากมาย 

แต่ถ้าเป็นได้จริงๆ ผมก็สงสัยว่าผมคงจะขี้เกียจ และใช้วิธีที่ นักศึกษา ใช้กันอยู่กระมังครับ

ก็ไม่แน่ใจตัวเองเหมือนกัน 

นักเรียน สมัยใหม่ ช่วยตอบแทนผมหน่อยได้ไหมครับ ผมจะได้รีบๆลองกลับไปเกิดใหม่  

เพราะเบื่อการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเต็มที่แล้วครับ   

เป็นนักเรียนน่าจะสนุกกว่าครับ อยู่เฉยๆ ไปวันๆ เดี๋ยว ก็มีคนเอาใบปริญญามาไล่แจกให้ไปติดฝาผนังบ้านแล้ว  

(เอ๊ะ จริงหรือเปล่า นะ แต่ก็เห็นเขาทำกันเป็นประเพณีนิยม กันทั่วไปนะ)

 เฮ้อ.........เหนื่อย จริงๆ ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 82538เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2007 01:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

กราบสวัสดีครับ อ.แสวง (ขอเรียก อาจารย์ แล้วกันนะครับ)

  • การเรียนรู้ที่แท้จริงในมุมมองหนึ่งของผมคือ การเรียนรู้แล้วทำ ทำแล้วเรียนรู้ เรียนรู้แล้วทำ วนเวียนไป โดยมีที่มาที่ไปบทหลักเหตุผลและวิวัฒนาการไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อความสงบสุขในสังคมครับ
  • สำหรับเด็กๆ ผมว่าเราต้องช่วยๆ กันครับ เริ่มกันจากเด็กที่เราคลุกคลีอยู่ครับ แล้วก็ค่อยๆ กระเพื่อมไปเองหล่ะครับ มีคนที่ช่วยทำให้น้ำกระเพื่อมในสระ(จุดประเด็นให้เค้ามอง) หลายๆ จุดน้ำในสระ (ในสังคม) ก็จะรับรู้ร่วมกัน
  • ต่างยุคต่างแนวคิด ต้องมีตัวประสานตัวเชื่อมโยงระหว่างยุคครับ วิชาประวัติศาสตร์สำคัญสำหรับทุกสาขาวิชาครับ
  • กระดาษแค่ใบเบิกทาง แต่ไม่ได้เบิกได้ตลอดทั้งป่าครับ กระดาษแค่นำทางเข้าป่าเท่านั้นครับ หลังจากนั้นต้องพิสูจน์ตัวเอง เพราะกระดาษแค่รับรองจากอดีตเท่านั้น เด็กๆ ต้องไม่ยึดติด มองให้หลุดพ้น
  • ปณิธานของพระราชบิดา ดังข้อความที่ว่า
           ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง   ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
           ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง   ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์
  • ใครยึดปณิธานข้อนี้ ผมรับรองว่าท่านจะประสบความสำเร็จครับ
  • ขอบคุณมากๆ ครับ ที่มีบทความดีๆคมๆ มาให้ลับสมองอยู่ตลอดครับ

ขอบคุณครับ คุณเม้ง

ก็เห็นคุณนี่แหละที่ตอบคำถามของผม

แล้วนักศึกษาผมหายไปไหนกันหมดไม่ทราบ

หรือรีบกลับไปเกิดใหม่หมดแล้ว จะได้มีโอกาสเป็นรุ่นพื่ผม และสอนผมในชาติหน้า ทดแทนกรรมในชาตินี้ครับ

ถ้ายังไม่ไปเกิด หรือเกิดรออยู่แล้วก็ตอบด้วยครับ

ผมจะได้รู้สถานการณ์บ้าง

ว่าใครอยู่ที่ไหน ในโลก หรือในทางช้างเผือก หรือในดาวปู ดาวเต่า จะได้สื่อสารกันถูกครับ

ขอปลอมตัวเป็นนักศึกษามาตอบอีกคนครับ
    ทั้งหมดที่กล่าวถึงในบันทึกนี้คือข้อเท็จจริงที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบันครับ
    ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งนำความคล่องตัว  ความสะดวกสบายมาให้คน เป็นเครื่องทำลายโอกาสการเรียนรู้ไปด้วยพร้อมๆกัน 
  ความสะดวกสบายมักจะเป็นปฏิภาคกลับกับการรักการเรียนรู้ - ชอบสู้ของยาก
  เข้าทำนอง ยิ่งสะดวกสบาย ยิ่งขี้เกียจครับ

  สาเหตุอาจเป็นเพราะ ...

  • ถูกเลี้ยงดูแบบตามใจมาตั้งแต่เล็กๆ  อยากได้อะไรก็ได้มาง่ายๆโดยไม่ต้องออกแรง หรือใช้ความรู้ความคิดอะไร  เรียกว่า  ชอบและชินกับความง่ายๆ  จนเกิดเป็นของใหม่ประจำใจประจำกาย คือ ความมักง่าย กันทั้งบ้านทั้งเมือง 
  • ระบบการเรียนการสอนที่เน้นการท่องจำเนื้อหา ในปริมาณที่มากเกินจำเป็น โดยไม่นำพาต่อกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริงว่าคือการปฏิบัติ  และปฏิบัติด้วยใจรักศรัทธาต่อสิ่งที่เรียน  ด้วยเห็นคุณค่าชัดแจ้ง รู้อยู่ตลอดเวลาว่า เรียนไปทำไม
  • คนรุ่นใหม่โชคร้ายที่มีความสะดวกสบายเป็นเพื่อน  ต่างจากรุ่นเก่าๆเช่นเราคือผมและอาจารย์เป็นต้น  ที่มีความยากลำบาก ความขัดสน ความขาดแคลนเป็นเพื่อน จึงชอบคิดชอบหาคำตอบ ชอบการท้าทาย (ของงานนะ ครับไม่ใช่คน) เรา โชคดีที่เคยลำบาก 
  • การเรียนรู้ที่ผูเรียนไม่ได้ไม่ได้ผ่านสถานการณ์ที่เป็นความยากลำบาก จึงน่าเป็นห่วงเสมอ ว่า คนยิ่งเรียนจะยิ่งหยิบโหย่งและอ่อนแอ.

อาจารย์ ดร.แสวง และคุณสมพรครับ

ผมไ่ม่ค่อยแน่ใจที่คุณสมพรบอกว่าวิชาประวัติศาสตร์สำคัญสำหรับทุกวิชานั้น หมายความว่าอย่างไรนะครับ ผมเห็นด้วยว่าเราควรรู้ประวัติศาสตร์ของเรา ถ้าไม่มองอดีต ก็ไม่สามารถต่อยอดในปัจจุบันได้ แต่ถ้าการเรียนประวัติศาสตร์ในทุกวิชา หมายถึงการท่องจำทฤษฎีที่ผ่านมา มีนักคิดกี่คน ใครทำอะไร แล้วก็เอาไปสอบแบบนี้ ผมไม่แน่ใจว่าจะได้ประโยชน์นัก

ความรู้ในแต่ละวัฒนธรรมก็มีวิวัฒนาการของตัวเองครับ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย วนกลับไปกลับมา คนสร้างความรู้แล้วความรู้ก็กลับมากำหนดคน วนอยู่อย่างนี้ จนไม่สามารถหาจุดเริ่มจุดจบได้

ส่วนที่ท่านอาจารย์ดร.แสวง เห็นว่าเด็กสมัยนี้ (สงสัยจะสมัยผม) เรียนรู้ช้า ทั้งที่มีข้อมูลมากมาย (ผมไม่แน่ใจว่าจะแปลเป็นไทยว่าอย่างไร แต่เขาเรียกกันว่า informaiton literacy หรือ media literacy นี่แหละครับ) เป็นเพราะ ข้อมูลมันมากไปนี่แหละครับ เลือกไม่ถูกว่าจะดูตรงไหน อย่างไร ผู้สอนที่มีภูมิหลังในการสอนแบบท่องจำก็สอนให้เลือกข้อมูลไม่เป็น

ทักษะความรู้เลือกและวิเคราะห์ข้อมูลแบบนี้สำคัญสำหรับยุคนี้มากครับ เพราะข้อมูลมันเยอะเหลือเกิน เราจะรับ และเชื่ออะไรก็ต้องมองให้หลายด้าน ตรวจสอบหลายแหล่งข่าว  จะมาคอยป้อนให้ทานแบบเดิมเห็นจะลำบากครับ

ผมว่า...มันเป็นปัญหาของตัวบุคคลมากกว่าครับ

ความสะดวกสบายในปัจจุบันไม่น่าจะเป็นประเด็นให้นักศึกษาเสียนิสัย...

นักศึกษาหลายคนได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี่ในปัจจุบันในการศึกษาและเรียนรู้มากขึ้นครับ...

ผมขอคิดต่างจากคุณ Direct นะครับ ผมยังไงก็ยืนยันว่าเป็นปัญหาระดับชาติ ระดับโลกเลยก็ว่าได้ คือในขณะที่ข้อมูลมันขยายตัวไปทั้งแนวลึกและแนวกว้าง คนธรรมดาอย่างเราได้แต่นั่งงง ไม่รู้จะจับต้นชนปลายอย่างไร แถมข้อมูลที่มาถึงเราก็ได้รับการปรุงแต่งไปมากมายแล้วด้วยนะครับ 

ผมมองว่าทางแก้ หรือทางอยู่รอดแบบไม่หลงไปกับสื่อต่างๆ หรือข้อมูลที่ล้นอยู่ทุกวันนี้ต้องเริ่มที่บ้าน คือผู้ปกครอง เพราะเด็กเรียนจากโทรทัศน์มากกว่าเรียนจากที่โรงเรียน เชื่อเพื่อนเชื่อดารามากกว่าเชื่อครู ถ้าครอบครัวเข้มแข็ง รู้เท่าทันและสามารถวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ได้ เด็กก็จะรับสื่อด้วยความเข้าใจ ไม่ถูกชักจูงไปโดยง่ายดาย 

ผมเห็นต่างในแง่ของปัญหา แต่มองว่าทางแก้ก็ต้องเริ่มจากหน่วยเล็กที่สุดของสังคมครับ

 ถึงคุณแว้บครับ

P

ต่างยุคต่างแนวคิด ต้องมีตัวประสานตัวเชื่อมโยงระหว่างยุคครับ วิชาประวัติศาสตร์สำคัญสำหรับทุกสาขาวิชาครับ

 ผมหมายถึง ประวัติศาสตร์ของวิชานั้นๆ นะครับ ต้องมีที่มา เค้าเรียกว่ามีราก นะครับ ถึงจะมียอดที่ดี ยอดที่แข็งแรง สำหรับการเรียนรู้นั้น เราอาจจะรู้ยอดก่อนก็ได้ แล้วค่อยไปหาว่าที่มาเป็นอย่างไร เมื่อรู้ที่มาเป็นอย่างไร และมียอดตอนนี้แล้ว ก็สามารถใช้ยอดนี้แตกกิ่งก้านต่อไปได้อีก ยอดที่มีตอนนี้จะกลายเป็นกิ่งของอนาคตที่แข็งแรงต่อไปครับ

นักเรียนรู้จำเป็นอีกอย่างคือการรับฟังในสิ่งที่จริงและไม่จริง เพื่อวิ่งไปหารากที่มีที่มา(ซึ่งจริงหรือไม่จริงก็ได้) แต่การประมวลภาพรวมในเนื้อหาควรจะออกมาในรูปที่สมเหตุสมผลครับ

ขอบคุณครับ

 

  • การเรียนแบบท่องจำ ท่องแล้วไปสอบ สอบแล้วก็ลืม ผมก็เคยทำมา แล้วไม่คิดว่านี่คือการเรียนที่ถูกต้อง หรอกครับ นั่นหมายถึงว่าคุณจะต้องจำมันทั้งเล่ม
  • แต่หากคุณจำในพื้นฐานที่ควรจำ จำอย่างมีเหตุผล มีตัวเชื่อมที่ดี เวลาคุณเจอตัวเชื่อมนั้น คุณจะโยงถึงตัวจำพื้นฐานหรือตัวเนื้อวิชา แล้วคุณจะรู้กระบวนการของมันแบบลึกซึ้ง
  • เอาง่ายๆ คุณจะจำคณิตศาสตร์มันทั้งเล่มโดยที่ไม่รู้กระบวนการคิดหรือครับ ในที่สุดวิชานี้ก็น่าเบื่อไปโดยปริยาย
  • วิชาประวัติศาสตร์เองก็เช่นกัน ผมว่ามีความสำคัญมากๆ เลยทำให้เรารู้ว่าคนเราในตอนนั้นคิดอย่างไร ทำไมทำแบบนั้น หากเราเป็นเค้าเราจะทำอย่างไร แล้วหากเราอยู่ตอนนั้นเราจะทำอย่างไร เอาใจเค้ามาใส่ใจเราพร้อมให้สภาพแวดล้อมในตอนนั้นจากประวัติศาสตร์
  • สำหรับการสอนที่ไม่ได้ใส่เนื้อหาที่มาที่ไป คุณสังเกตดูเองนะครับว่าเป็นอย่างไร
  • การสอนที่สร้างปัญหาให้ชวนคิดก่อนจะเข้าเนื้อหา จะทำให้ผู้เรียนมีประเด็นที่จะผูกโยงกับเนื้อหาก่อนเข้าสู่บทเรียน ไม่ว่าจะเป็นแบบเรื่องเล่าหรือเนื้อหาปัญหาในชีวิตจริง ล้วนสำคัญ
  • การเรียนที่เนื้อหาเลยโดยไร้ที่มา ที่ผมเรียนมาก็เข้าหูซ้ายทะลุหูซ้าย หรือไม่เข้าเลย แต่นั่นจะไปว่าผู้สอนก็ไม่ได้ เราเองในฐานะผู้เรียน นักเรียนรู้ ก็ต้องค้นคว้าเอง เพราะเราต้องโตและเติบใหญ่ในวันหน้า
  • การเรียนในยุคนี้ ผมว่าหากใครมานั่งอ้างปากรับอย่างเดียว คงไม่น่าจะใช่แล้วครับ คุณเลือกได้ว่าคุณจะเรียนอะไร ในสิ่งที่สนใจและเสริมปัญญา
  • ขอบคุณสำหรับทุกความเห็นต่าง

ขอบคุณมากครับ พันธมิตรทุกท่าน ที่เข้ามาแลกหมัด เอ๊ย...แลกเปลี่ยนเรียนรู้

เช้านี้ผมใช้เวลากับการ "จี้" ไม่ให้นักศึกษาท่องจำ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องคิดไปด้วย

เขาก็ถามผมว่าจะให้คิดอย่างไร ผมก็เลยต้องชักแม่น้ำทั้ง ๕ ว่าจะต้องเริ่มที่กรอบความคิด ที่ต้องมีต้องสร้างให้ได้ จาการอ่าน ฟัง ถาม แลกเปลี่ยน ให้มากที่สุด ผสมผสานกับประสบการณ์ของตนเอง ตบแต่งไปเรื่อยๆ ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ

แล้วก็พยายามเดินตามกรอบความคิดอย่างระมัดระวัง

เปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไข และความจำเป็น ก็จะทำให้ข้อมูลที่ได้มามีที่อยู่ มีการเกิดเกลียวความรู้ในตัวเอง เพื่อไปต่เชื่อมกับเกลียวความรู้กับคนอื่นแบบ "เนียน"

เพราะการจัดการความรู้ และการเรียนรู้นั้นต้องเกิดจากข้างใน

เช่นเดียวกับการประมวลผลของเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่นักศึกษาบางคนยังคิดว่าเกิดที่หน้าจอ อย่างที่เห็นด้วยตาเนื้อ ไม่คิดต่อ

จินตนาการ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่มาก เขาคิดกันไม่ออก แต่มักจะว่าตามที่เห็นเท่านั้น เลยไม่ค่อยได้เรียนรู้

ก็ลองพยายามอยู่ครับ ที่ต้องเน้นอธิบายที่มาแบบที่คุณเม้ง สมพร เสนอมา และชี้นำในหลายรูปแบบ

ไม่ทราบว่าวิธีไหนจะได้ผล

ผมสรุปง่ายๆขณะนี้ว่า นักศึกษาเป็นโรค "ขาดจิตนาการ" แต่สาเหตุกำลังค้นหาอยู่ครับ

  • คงต้องเรียนรู้ร่วมกัน เพราะอาจารย์ ก็ไม่ได้รู้ทุกอย่าง นศ.ก็ไม่ได้รู้ทุกอย่าง ต้องร่วมกันเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน โดยเอาเนื้อความรู้มาประยุกต์ใช้ แล้วนำไปสู่การพัฒนาในทางที่ตรงเป้าประสงค์ครับ
  • ผมลองเทียบกันเล่นๆ นะครับ ระหว่างเด็กไทยกับเยอรมัน (และผมก็เคยเป็น) ทดสอบได้ในห้องเรียนนะครับ เปิดใจให้กว้างๆ และยอมรับความจริงข้อนี้นะครับ (แต่ไม่ใช่ทุกคนเป็นแต่ส่วนใหญ่)
  • การที่ครูไทยถามเด็กไทยในห้องเรียน เปรียบเสมือนการยิงศรปักอก หมายความว่า นักเรียนจะกลัวและไม่กล้าตอบ นั่นคือแต่ละคนจะนั่งเสี่ยงทายกันว่าโดนผมไหมหนอ จะชี้มาทางนี้ไหมหนอ หากไม่โดนก็โชคดีจังเลย ไม่โดนถามวันนี้ (ไม่ทั้งหมดนะครับ แต่ส่วนใหญ่) ลองถามตัวเองดูนะครับว่าเป็นไง หากเราไม่เคยรู้สึกแบบนี้ ก็แสดงว่าผมผิดครับผม นี่คือสิ่งที่ผมพบเจอมาในสังคมไทย
  • ผมมาอยู่เยอรมัน ก็เห็นข้อหนึ่งที่เด็กเยอรมันเป็นคือ ครูถามยกมือกันพรึบ แย่งกันตอบ
  • ระบบการสอนต่างกันมาตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่ระดับครอบครัวครับ และมีสื่อหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ (เมืองไทยคนรวยสร้างห้าง เยอรมันคนรวยสร้างพิพิธภัณฑ์)
  • จะโทษเด็กทั้งหมดคงไม่ได้หรอกครับ ผู้ใหญ่นั่นหล่ะสำคัญครับต้องช่วยกันคิด ร่วมกันคิด
  • มีไรผิดพลาดหรือเห็นแย้ง แลกหมัด(อุ้ย ประเด็น) กันได้นะครับผม
  • ลองคิดกันเล่นๆ ครับ แต่หากได้ผลลองนำไปใช้จริง งานอดิเรกก็เป็นงานวิจัยหลักได้ หากต่อยอดเสียบยอดได้ดี

    อาจารย์ครับ  ขาดจินตนาการจริงๆครับ เป็นมากด้วย
    สาเหตุหนึ่งอยู่ที่ เขาเห็นสิ่งที่อยากเห็นง่ายเกินไปครับ
   
จำได้ว่าสมัยก่อนเราต้องจินตนาการ สร้างภาพของอะไรต่อมิอะไรมากมายเพราะนอกจากของจริงไม่มีให้ดูได้แล้ว  บางทีแค่รูปภาพของมันยังหาดูไม่ได้เลย  สมองก็ได้รับการฝึกคิดแบบจินตนาการโดยไม่มีทางเลือก  เดี๋ยวนี้ 1-2 Click ก็เห็นแล้วครับ ได้ยินด้วยก็ได้  แล้วจะจินตนาการให้เมื่อยไปทำไม .. เสียเวลา .. คนส่วนมากก็เลยเห็นอะไรตามที่ตามองเห็นเท่านั้น  ... 
     ความชัดเจนแจ่มแจ้งใครว่าดีเสมอ  ผมไม่เชื่อครับ.

ผมว่า "การเห็นทุกอย่าง" น่าจะเป็นเหตุปิดกั้นที่สำคัญที่สุดครับ

       ผมก็ได้แต่อ่าน  ๆ  ข้อคิดที่ดี  ๆ  ของท่านอาจารย์ครับ  ที่เปิดจินตนาการอันไร้ขีดจำกัดให้ผมครับ  ยังไม่สามารถมีความเห็นอย่างอื่นครับ  นอกจากเห็นด้วยทุกประการครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท