ปลูกยูคา ไม่คาคอเรอะ? (4)


อย่าเพิ่งเบื่อนะจ๊ะตามมาวิจารณ์ด้วย ตัดไม้ขายเมื่อไหร่..จะซื้อทองให้ใส่เส้นโตเท่าโซ่รถไฟ อิอิ..

 ประเด็นนี้โดนKM. เข้าจังเบ่อเร่อ ปัญหามันเป็นอย่างนี้ครับ ถ้าเราจะปลูกยูคาลิปตัส ก็ต้องถามก่อนว่าจะปลูกแบบไหน มีหลายแบบครับ เช่น แบบโฆษณาชวนเชื่อ แบบอยากรวย แบบทำตามๆกัน หรือแบบการจัดการความรู้ ถ้าทำตามแบบสุดท้ายก็ต้องถามต่อว่า ก่อนที่จะปลูกท่านได้ศึกษาหาความรู้ครบถ้วนแล้วหรือยัง ได้เปรียบเทียบกันการทำอย่างอื่นแล้วใช่ไหม รู้จุดดี จุดด้อย ปัญหาและข้อจำกัดต่างๆแล้วใช่ไหม ถ้าเป็นนักจัดการความรู้ก็ขอจับมือถามต่อว่า..คุณจะเอาความรู้อะไรไปใส่ในแปลงปลูกยูคาฯ มีความรู้แค่ไหนที่จะเอาไปใส่ลงในต้นยูคาฯ  

ถ้าคิดและทำอย่างคนมีความรู้ มันก็ไม่ต้องมานั่งตีโพยอย่างนั้นอย่างนี้ เขาว่า คิดว่า ได้ข่าวว่า รู้สึกว่า ทั้งหมดนี้เกิดจากภายนอกทั้งสิ้น ทำไมไม่เป็นคนตอบตัวเอง ฉันศึกษาแล้วฉันขอฟันธงว่า..ฉันปลูกยูคาลิปตัสเพราะฉันมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ฉันมีความรู้พอที่จะแก้ไขปัญหากับสิ่งที่เป็นจุดด้อยในงานที่ทำ ในโลกนี้ไม่มีอะไรจะเลิศประเสริฐศรีหมดจดไปทุกด้านหรอก ต่อให้สวยระดับนางงามจักรวาล ถ้าจะติก็หาเรื่องแคะคุ้ยจนได้ทั้งนั้นแหละ แต่มันจะมีประโยชน์อะไรเล่าที่จะไปเสียเวลาตรงนั้น ความรู้ด้านด้อยนั้นควรรู้ไว้เพื่อระมัดระวัง ตระหนักว่าไม่ควรประมาท ระวังไว้ผลกระทบผลเสียก็จะลดน้อยลง 

วันนี้ชาวนาผู้ยากไร้  หนี้สินพอกเป็นหางหมู เราก็ยังจะดึงดันให้แกทำนาบนดินที่แห้งแล้งดินเลว ได้ผลลิตไม่คุ้มปากคุ้มท้องอย่างนั้นหรือ

  ·        มีชุดความรู้อะไรบ้าง

·        ที่จะมาส่งเสริมการทำมาหากินบนพื้นที่เสื่อมโทรม

·        มีไหม มีว่าอย่างไร

·        อธิบายให้หายโง่หน่อยสิต๋อย  

จะแก้ไขความยากจนบนพื้นที่แห้งแล้งได้อย่างไร มีทางเลือกอะไรบ้างที่พอจะทำในสภาพปัจจัยที่มีข้อจำกัดจนเขม็งเกลียว เศรษฐกิจพอเพียงรึ อธิบายหน่อยสิว่าเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่แห้งแล้งดินเลวควรจะมีหน้าตาอย่างไร ออกจากห้องแอร์มาทำสัก 6 เดือนสิน่า จะได้รู้ว่าทำไมชาวไร่ชาวนาจึงเข้าตาจน  

·        คนเหล่านี้ขี้เกียจรึ

·        คนเหล่านี้ไม่มีความรู้รึ

·        คนเหล่านี้เหลวไหลรึ

·        คนเหล่านี้พัฒนาไม่ได้รึ 

มันขึ้นอยู่กับการออกแบบกิจกรรม ถ้าพื้นที่อุดมสมบูรณ์ดีปลุกอย่างอื่นได้ดีกว่า จะมาบ้าปลูกยูคาทำไมละครับ พื้นที่แห้งแล้งไม่มีน้ำไม่มีปุ๋ยไม่มีทุน ถามว่าจะให้ชาวบ้านปลูกอะไร  ถ้าชาวบ้านปลูกริมรั้วคนละ 100-200 ต้น ก็จะมีไม้ใช้สอยไม้เชื้อเพลิงที่สามารถพึ่งตนเองได้ตลอดปีตลอดชาติ คงไม่เสียหายถึงกับดิ้นปัดๆมั๊ง  

ในการปลูกบนคันนาเอาก็อย่าไปบ้าปลูกยูคาลิปตัสอย่างเดียว อาจจะปลูกกันคนละคันนา หรือปลูกสลับกัน เช่นปลูกไม้โตเร็วร่วมกับไม้อาคาเซีย ไม้ยืนต้นพื้นเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะผักพื้นเมืองยืนต้น แต่งานวิจัยของคณะจากจุฬาลงกรณ์ที่ได้ทุนของ(สกว.) ไปออกแบบปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนาชนิดเดียว ที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี  เพื่อที่จะเก็บตัวเลขรายได้จากไม้ชนิดเดียวเป็นหลัก 

ปลูกบนคันนาสลับฟันปลา ระยะ1.50 เมตร รอบคันนา1ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 260 ต้น ไม้อายุ 4 ปี ตัดขายจะมีรายได้ประมาณ 20,000 บาท/ไร่/4 ปี นั่นก็หมายความว่าจะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 2,000 บาท/ปี มาอุดหนุนจุนเจือเสริมรายได้จากการทำนาที่มีรายได้น้อยกว่าจากยูคาเสียอีก ถ้าชาวบ้านปลูก 20 ไร่ ก็จะมีรายได้ 40,000 บาท/ปี หรือรายได้จริงในปีที่4เป็นเงิน 20,000 x 20 = 400,000 บาท ใช้หนี้สัก 200,000 บาท ก็ยังมีเงินทุนก้อนหนึ่งพอที่จะไปซื้อปัจจัยการผลิตอื่นมาพัฒนาอาชีพได้ แต่ถ้าทำเหมือนเดิม โอกาสยากที่จะรอดได้ สุดท้ายต้องขายไร่นาสาโททิ้ง คราวนี้ละเป็นการเสียนาจริงๆ มันไม่ได้เสียที่ดินแค่เสื่อมโทรมอย่างที่เราเข้าใจกัน

 สิ่งที่เสนอนี้ไม่ใช่เรื่องตายตัวว่าจะต้องทำตาม เพียงแต่เป็นทางเลือกหนึ่ง ให้ศึกษากันต่อว่าควรจะออกแบบปลุกต้นไม้บนคันนาอย่างไร ถึงจะเหมาะกับเราและได้ประโยชน์ตามความต้องการของครอบครัวนั้นๆ มันมีวิธีบริหารจัดการอีกร้อยแปด ไม่ใช่ปลูกเพื่อไปส่งโรงงานอย่างเดียว ต้นโตๆอายุ15 ปี ผมแปรรูปให้ดร.แสวง รวยสูงเนิน เอาไปทำโรงเรือนเลี้ยงโคที่ขอนแก่น ไม้ต้นเดียวคิดเป็นเงินตามราคาชาวบ้าน ไม่ใช่ราคาโรงไม้ ยังมีรายได้ 13,000 บาท/ต้น

ถ้าเราแปรรูปแล้วนำไปทำเครื่องเรือนหรือก่อสร้างบ้านเรือนก็จะมีรายได้ประมาณ 20,000 บาท/ต้น ถ้าท่านปลูกกันคนละ 1,00 ต้น ไม้อายุ 15 ปี ราคาไม้ตอนนั้นน่าจะอยู่ที่ต้นละ 30,000 บาท ก็จะมีรายได้ประมาณ 3,000,000 บาท เอาไปสมทบกับบำเหน็จบำนาญก็จะมีเงินไปเที่ยวรอบโลกได้ หรือถ้าอยากมีเงินมากกว่านี้ ก็ปลูกสัก 1,000 ต้น ก็จะรับทรัพย์อีตอนหง่อม 30,000,000 บาท (สามสิบล้าน) ไม่มากไม่น้อย ซื้อไข่มดแดงได้หมดตลาดเลยเชียวแหละ ลองเก็บไปพิจารณาต่อนะครับ ว่าจะปลูกอะไรดี    

ส่วนผมนั้นปลูกอยู่แล้ว นั่งเขียนหนังสือยู่นี่ ต้นไม้มันก็โตของมันขึ้นเรื่อยๆ สมมุติว่ามี 20,000 ต้น อัตราเติบโตคิดเป็นมูลค่าต้นละ1บาท ผมก็จะมีรายได้วันละ 20,000 บาท ไม่น้อยเลยเชียวแหละ มีเงินพอที่จะไปซื้ออาหาร ขนม นมเนย ไว้ต้อนรับที่รักจะยกทีมมาจากทั่วประเทศในต้นเมษานี้ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ได้แปรรูปมาเป็นตัวเงินแค่นั้นเอง มันยังเป็นออมสินต้นไม้ จ่ายดอกเบี้ยเป็นร่มเงา ออกซิเจน ความร่มรื่น เป็นที่อยู่ของนกหนู ออกมาขันจูฮุกกรู๊ตอนบ่ายๆ เรื่องนี้มันคงต้องคุยเรื่องพอเพียง เรื่องคุณค่าและมูลค่าอีกหลายตอน  

สรุปได้ว่า ถ้าปลูกยูคาฯด้วยสติปัญญา มันคงไม่ถึงกับเลวร้ายอะไร เพราะผมปลูกกับมือ รู้เห็นข้อดีข้อด้อย ตอนต่อไปจะเสนอประสบการณ์ตรง ให้เห็นดีๆดีอย่างไร ที่ว่าด้อยมันด้อยตรงไหน และสร้างฟาร์มต้นไม้แบบอีลุ๊บตุ๊บป่องมาอย่างไร อย่าเพิ่งเบื่อนะจ๊ะตามมาวิจารณ์ด้วย ตัดไม้ขายเมื่อไหร่..จะซื้อทองให้ใส่เส้นโตเท่าโซ่รถไฟ อิอิ..

หมายเลขบันทึก: 82482เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2007 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • วันนี้มีคณะนักวิชาการจากกรุงเทพฯแวะมาเยี่ยมโรงเรียนบ้านเม็กดำ  ครับ 
  • กะว่าจะเรียนเชิญท่านไปศึกษาดูงาน  kM   ที่สวนป่า  แต่ท่านติดใจหัวปลา ที่เม็กดำ  เลยไม่ได้ไป 
  • เรื่องงานค่าย มมส. ทีมงานเม็กดำ  พร้อมครับ
วันนี้เหนื่อยจังเลยค่ะ แวะมากราบสวัสดีและขอฟังเพลงก่อนนอนค่ะพ่อครูขา
P

วันที่ 2 เมษา ติดอะไรรึเปล่า

นอนเถอะ เหนื่อยมาทั้งวัน พรุ่งนี้ค่อยตอบ

  • วันนี้หว้าขอราตรีสวัสดิ์เช่นกันค่ะ   ง่วงมากเลยค่ะ
  • พระเจ้าจอร์จ!!!   ทองเส้นใหญ่ขนาดนั้นจะเอาคอไว้ตรงไหนครับพ่อครูบา 
  • อียูคานี่ ผมปลูกเล่น ๆ ไว้ที่บ้านหลายสิบต้นเหมือนกัน แบบปลูกฝังไปเลยไม่สนใจดูแล เผลอแป๊บเดียวต้นสูงชลูด ผิดหูผิดตา
  • ตั้งใจว่าจะเก็บไว้สร้างเรือนหอ รอลูกสาวครูบาคนไหนที่อกหัก
  • แต่สุดท้ายคุณแม่แอบตัดไปขายซะแล้ว 
  • ก็รอกิ่งที่มันแตกหน่อขึ้นใหม่  กำลังโตทีเดียวเลยครับ...ไม่รู้มีลูกสาวครูบาคนไหนพอรอได้บ้าง อิอิอิ...

อิอิ พ่อครูขา... แอบมาตอบค่ะว่า  2 เมษายน  น่าจะอยู่ที่ เม็กดำค่ะ  แต่ถึงอยู่มหาสารคามก็เข้าไปได้ค่ะ  ^__*

P

 ดร.อุษา กลิ่นหอม แห่ง ม.สารคาม นั่นแหละ

ส่งเทียบเชิญมาให้ไปสนทนาวิสาสะ เรื่อง..จำไม่ได้ ต่อท้ายว่าภูมิปัญาๆๆๆอะไรนี่แหละ จัดที่ตักกะศิลา .ไม่รู้อยู่ตรงไหน เลยมองหาตัวช่วย เผื่อจะมีอาสาสมัครมาช่วยฟัง คิด เก็บสาระไปดูแลต่อ

P

กลับมาบ้าน แล้วปลูกใหม่ 100 ต้น

บอกแม่ว่า ขุดนี้ขอไว้อย่าตัดขาย

เอาไว้เป็นทุนแต่งเมีย

มีตัวอย่างของจริง ติดตามตอนต่อไป

 

กราบสวัสดีงามๆ ในตอนที่ 4 ครับผม

  • คงต้องศึกษาเป้าหมายของการปลูก และศึกษาความยั่งยืนด้วยนะครับ ไม่ว่าจะปลูกต้นอะไร ส่วนต้นยูคา ก็ต้องศึกษาให้เยอะๆ ครับ
  • ส่วนหนึ่งอ่านบทความดีๆ เพิ่มเติมได้ในยูคาลิปตัสนะครับ คนกูเกิล eucalyptus + disadvantage อันนี้จะบอกข้อเสียเกี่ยวกับยูคาครับ ศึกษาไว้ไม่เสียหายครับ
  • ต้นไม้ทุกชนิดมีขีดจำกัดของมันหากเราเข้าใจและใช้มันในทางที่เหมาะสม เราจะได้ความยั่งยืนครับ
  • สำหรับคนที่ยังมีที่นา และยังทำนาได้อยู่ การจะปลูกยูคาบนคันนา ผมยังเป็นห่วง แต่ลองทำไปเพื่อเป็นการเรียนรู้ได้ครับ ผมอยากจะทราบเหมือนกันครับ ว่าจะได้ผลอย่างไรในระยะยาว (เผลอวันหนึ่งอาจจะได้ปลูกยูคาในนาด้วย ไม่ใช่แค่ที่คันนา หรืออาจจะขายยูคาไปซื้อข้าวกินก็ได้ครับ อิๆ)
  • ยังไงผมยังเน้นการปลูกแบบผสมผสานนะครับ หากเป็นไปได้ ผมพยายามมองในภาพรวมและไม่ยึดติดกับรายได้ ที่จะมีเข้ามาเพราะยูคา ต้องมองให้หลุดจากตัวรายได้ตัวนี้ สิ่งที่ผมห่วงคือภาพรวมของโลกในนี้ครับ ใช่ว่าการมีกิน กินดีอยู่ดีของชาวบ้าน เป็นสิ่งสำคัญครับ และไม่ควรละเลยครับ แต่ในภาพรวมต้องไปได้ด้วยครับ
  • เห็นด้วยกับที่ท่านครูว่า ปลูกสิบยี่สิบต้น ตามรั้ว บ้าน อันนี้คงไม่มีผลไรกระทบมากครับ เพราะระบบคงมีสิ่งภายนอกเข้าไปจุนเจือให้ระบบดินมันมีความสมดุลได้ครับ
  • ศึกษาดินให้ทราบว่าดินนี้เป็นไง เหมาะจะปลูกอะไรดี เมื่อทราบแล้วก็ทดลองทำวิจัยให้กับตัวเองไป
  • อย่างผมเขียนบทความ ปลูกยางในนา ทำให้นาข้าวเสีย (ทางออกมันก็มีหากจะปลูกกันในนาจริงๆ แต่ระบบนาจะเสียไป หาที่นานั้นยังปลูกได้อยู่) เราไม่จัดการระบบการปลูกข้าวให้เป็นระบบตั้งแต่การส่งเสริมการปลูก การตลาด การทำให้ชาวบ้านอยู่ได้ ไม่ใช่กำไรอยู่แต่ที่คนกลาง จนชาวนาไม่อยากจะปลูกข้าว หรือปลูกกันแค่เพื่อไว้กินเอง
  • ดังนั้น ไม่ควรจะเสียพื้นที่ทำนาไป หากนานั้นยังปลูกข้าวได้อยู่ เว้นแต่ระบบน้ำแย่จริงๆ ที่นาไม่มีน้ำ จริงๆ (หากมีการจัดระบบน้ำได้ พันธุ์ข้าวที่ทนแล้งก็มีครับ) เคยเห็นเค้าปลูกข้าวไรไหมครับ แบบว่าน้ำไม่เลยครับ เวลาปลูกเค้าต้องใช้ไม้กระทู้ ปักลงไป แล้วหย่อนเมล็ดกันเลย ขึ้นตามยถากรรม แต่ที่สุดแล้ว ก็ได้ข้าวไร่ที่หอมอร่อย หอมกว่าข้าวหอมมะลิในนาซะอีก ก็ปลูกได้ครับ
  • ข้อยกเว้นมันมีหมด หากเราศึกษาและเข้าใจจริงๆ แต่อย่าได้ทำตามแฟชั่น ปลูกตามๆ กันไป เราไม่ใช่ถั่วงอกครับ จงใช้วิจารณญาณและทำการวิจัยในสิ่งที่จะทำไปด้วย จนรู้แจ้งเห็นจริง
  • ขอบคุณมากๆ ครับผม ยินดีสำหรับข้อเห็นแย้ง
  • สิ่งที่ผมเขียนอย่าได้เชื่อโดยไม่มีเหตุผลครับ

ฝากข่าวถึง ชาวมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

  • หนังสือ WaY 4 เล่ม ได้รับแล้ว
  • ชอบมาก ได้ประโยชน์
  • มีอะไรฝากมาให้อ่านอีกไหมครับ
  • พ่อไป มมส หรือครับ
  • ถ้าปลูกยูคาเป็นธนาคารยูคา ก็น่าจะดี
  • เริ่มไม่อยากเป็นครูแล้วพ่อ
  • ไปทำไร่ไถนา เลี้ยงปลา ปลูกยูคาดีไหมครับ
  • ข้อเสียของชาวบ้านแถวบ้านผมคือเขาใจร้อน รีบตัดเพื่อรับเงิน ต้นไม้ยังไม่โตเลย
  • เดี๋ยวนี้มีแปลกว่านั้น เจ้าของปลูกไว้ไม้กำลังโตดี ไม่มีเวลามาดูแล
  • มาดูอีกที อ้าว ยูคาหายไปทั้งไร่เลย
  • อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโดน น่าสงสารไหมครับ
P

มีเรื่องน่าทำเยอะ ดีกว่ายูคาเสียอีก

เพียงแต่ยูคามันจัดการง่าย ลงทุนต่ำ เหมาะแก่คนจน

อ.ขจิต สวรรค์บัญชาให้เกิดมาเป็นครู

เพียงแต่ต้องเลือกว่าจะเป็นครูในระบบหรือนอกระบบ

ถ้านอกระบบเราจะทำอะไรได้มากกว่า

สนุกกว่า ไม่ลำบากใจ ท้าทายความสามารถ

ออกมาอยู่แบบอิงระบบ

ถ้าสนใจต้องคุยกันยาว

คนเก่งๆผมยุให้ออกนอกระบบมาเยอะแล้ว

ผมนี่เป็นบุคคลอันตรายต่อระบบ

  •  พ่อครูขา  วันที่ 2 เมย.เป็นวันจันทร์ค่ะ  จดๆจำๆไว้ก่อน  อิอิ  ถ้าไม่มีอะไรจะควงพ่อครูบา ไปเที่ยวตักกศิลา  ^__*
  • ว่าแต่ว่า...  พ่อครูขาหนิงอยากปรึกษาบุคคลอันตรายค่า...แต่ไม่เห็นพ่อครูบา ยุเราเลยอ่ะ ^__*

 พ่อครูฯ ขา

      เงินทองเป็นของนอกกาย  ยูคาฯ สิ ถ้าโดนตัดไป  ร่มเงา ออกซิเจน ความร่มรื่น เป็นที่อยู่ของนกหนู ออกมาขันจูฮุกกรู๊ตอนบ่ายๆ จะหายไปนะคะ พ่อครูฯ

   ถึงพ่อครูฯ ไม่ได้สวมสร้อยเส้นเท่าโซ่รถไฟ ก็ไม่เห็นจะเป็นไร  เพราะสายใยที่มีหัวใจพวกเราเป็นบ่วงคล้องคอพ่อ  ก็หนักกว่าโซ๋รถไฟแล้วค่ะ

   ด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท