สังคมดีงาม อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ไกลเกินจริง


(บทสัมภาษณ์พิเศษลงในนิตยสารประชาคมท้องถิ่น ฉบับที่ 72 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2550 หน้า 92-95)

            ภายหลังเข้ามานั่งบริหารงานในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการพัฒนา เชี่ยวชาญและมีความเข้าใจต่อความเป็นไปในบริบททางสังคมไทยด้านต่างๆ ได้ลงมือลุยงานอย่างมืออาชีพ ประสานกับองค์กรท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาสังคม หน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและภูมิภาค นำนโยบายด้านสังคมของรัฐบาลมากำหนดเป้าหมายใหญ่เพื่อนำสังคมไปสู่สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืน

            รัฐมนตรีไพบูลย์  เปิดเผยกับ ประชาคมท้องถิ่น ถึงแนวทางการดำเนินงานในการจัดการระบบเชิงรุกที่ปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานพัฒนาสังคมแนวใหม่ รวมทั้งการดำเนินการในโครงการต่างๆตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาว่า พม.ได้สร้างนวัตกรรมในระบบการจัดการเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทและภาพพจน์ใหม่ ภายใต้แนวทางการจัดการ 3 บริบท คือ การจัดการในบริบทพื้นที่ การจัดการในบริบทกลุ่มเป้าหมาย และการจัดการในประเด็นการพัฒนา ซึ่งได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์สังคม 2550 ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงาน 

            ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พม.ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจเร่งด่วน 4 เรื่อง ที่เป็นรูปธรรม คือ การช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูพัฒนาอันเนื่องมาจากอุทกครั้งใหญ่ด้วยงบประมาณ 1,347 ล้านบาท การเตรียมการร่วมคลี่คลายปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยงบประมาณ 517 ล้านบาท การสร้างเครือข่ายและจัดตั้งกลไกเพื่อร่วมคลี่คลายปัญหาความแตกแยกและสร้างความสมานฉันท์ในสังคม รวมทั้งการสร้างธรรมาภิบาลในหน่วยงานของกระทรวงฯ

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพม. กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดด้านต่างๆว่า สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกันครอบคลุม 7,416 ตำบล 1,145 เทศบาลทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมาได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ โดยมีเครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาสังคมและหน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเข้าร่วม ซึ่งรวมถึงเครือข่ายสังคมไม่ทอดทิ้งกันใน 76 จังหวัด ที่ได้ร่วมปฏิบัติการค้นหาผู้ยากลำบากในพื้นที่ โดยใช้ตำบลและเทศบาลเป็นตัวตั้ง พร้อมให้การช่วยเหลือเบื้องต้น รวมทั้งการจัดทำขยายข้อมูลที่เป็นระบบ 

            เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็งพร้อมกันไปเป็นขบวน ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเชิงรุกและเชิงรับ โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคชุมชนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรสนับสนุน และส่วนราชการของกระทรวง จำนวน 45 คน ขณะที่คณะกรรมการระดับจังหวัด 76 คณะ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และส่วนราชการในพื้นที่จำนวนรวมประมาณ 3,000 คน ซึ่ง จากผลการดำเนินงานด้านชุมชนท้องถิ่นเข้มเข้มแข็ง มีกระบวนการประเมินและรับรององค์กรชุมชนเป้าหมายจำนวน 40,000 องค์กร ซึ่งมีองค์กรที่ได้รับรองสถานภาพแล้วจำนวน 27,510 องค์กรและอยู่ระหว่างดำเนินการ 12,490 องค์กร เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการบ้านมั่นคง เมื่อเดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา มีการพัฒนากระบวนการในเมืองใน 75 จังหวัด(ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) 214 เมือง/เขต 96 โครงการ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคใน 64 จังหวัด 158 เมือง/เขต 440 โครงการ 773 ชุมชน 45,496 ครัวเรือน

            เราเริ่มจากเป้าหมายใหญ่ เนื่องจากงานพัฒนาสังคมมีเป้าหมายสังคมดีงามอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันโดยมียุทธศาสตร์ 3 แนวที่เกาะเกี่ยวกัน ได้แก่สังคมไม่ทอดทิ้งกัน นั่นคือสังคมช่วยเหลือเกื้อกูล ดูแลซึ่งกันและกัน สังคมเข้มแข็ง  ก็คือ สังคมที่ชุมชนเข้มแข็ง ประชาสังคมเข้มแข็ง และ 3 สังคมคุณธรรม ความดีความถูกต้อง ความเป็นธรรมในสังคม เราดำเนินการนำยุทธศาสตร์รวมกันลงไปในท้องถิ่น โดยเราส่งเสริมให้ท้องถิ่นค้นหาคนที่ยากลำบากเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งระหว่างชาวบ้านด้วยกัน อบต.เทศบาลและกระทรวง ตลอดถึงราชการส่วนภูมิภาคส่วนกลางทั้งหมด

            ขณะที่การดำเนินงานด้านกลุ่มคนเข้มแข็ง ได้มีการส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงชาย โดยมีการจัดสัมมนาวิชาการผู้บริหารภาครัฐด้านการเสริมสร้างบทบาทของหญิงชายเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงชายในระบบราชการและนำความรู้ไปปรับใช้ในหน่วยงานรวมทั้งการเข้าไปตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน(ศพค.) โดยสนับสนุนให้งบประมาณ 75 จังหวัด เพื่อจัดกิจกรรมสำหรับศพค.เดิมจำนวน 2,677 ศูนย์และจัดศพค.ใหม่อีกจำนวน 453 ศูนย์ อีกทั้งการดำเนินโครงการโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงภายในประเทศ เรื่องแนวทางการปฏิบัติร่วมกันในการดำเนินการกรณีเด็กและหญิงที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันตก 

            การป้องกันลดความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงระดับครอบครัว ระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ ส่วนหนึ่งของการป้องกันความรุนแรง คือการสรางภูมิคุ้มกัน การสร้างทัศนคติวิถีชีวิตความรู้ความชำนาญในการจัดการแก้ไขความรุนแรงด้วยสันติวิธีให้อยู่ในวิถีชีวิต ส่งเสริมการรู้รักสามัคคี การสมานฉันท์ เพื่อคลี่คลายความรุนแรง ความขัดแย้ง นี่คือการทำงานที่เอาประเด็นเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการให้ การช่วยเหลือสังคม การป้องกันลดความรุนแรงการส่งเสริมชีวิตมั่นคง ต่างๆเหล่านี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นกรุยทางที่จะเดินต่อไปในวันข้างหน้า

            เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการเสริมสร้างเด็ก โดยมีการฝึกอบรมทีมสหวิชาชีพระดับจังหวัด(ครู ก)ใน 4 ภาค จำนวน 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมอบรมรวม 800 คน เพื่อส่งเสริมให้ทีมวิชาชีพฯมีหลักการแนวคิด ความรู้ ความสามารถที่เข้มแข็งในพื้นที่ระดับจังหวัด และการยกระดับศูนย์พัฒนาและฝึกอาชีพคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก(APCD)ให้เป็นองค์การมหาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำร่างพระราชกฤษฎีกาฯเสนอคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวง ขณะที่โครงการจัดตั้งศูนย์อเนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อจัดบริการให้เข้าถึงผู้สูงอายุในชุมชน และให้ผู้สูงอายุได้ใช้ทักษะในการมีส่วนร่วมกับชุมชนและพิทักษ์สิทธิของตนเองโดยได้ดำเนินการใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ พัทลุง หนองคาย และตราด

            อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรมโดยหวังผลในระยะยาว ทางกระทรวงฯได้มีการจัดทำแผนงาน โดยจัดทำโครงการส่งเสริมการทำความดี ซึ่งจะให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดำเนินการค้นหาคนดี-เรื่องดีๆทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 500 กรณีศึกษา โครงการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ โครงการเสวนาเครือข่ายอาสาสมัครทำความดี ซึ่งได้ขับเคลื่อนโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 โดยมีการจัดประชุมสัมมนา เรื่องการให้อาสาสมัครในสังคมไทย การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม การออกระเบียบกระทรวงว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอาสาสมัคร พ.ศ.2549 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการให้และการอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม พร้อมทั้งเตรียมนำเสนอ แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมและชีวิตมั่นคง พ.ศ.2550-2554 เพื่อการเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

            โครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมการให้การเอื้อเฟื้อแบ่งปันการช่วยเหลือสังคมการอาสาสมัคร โดยการส่งเสริมให้ข้าราชการนำไปปฏิบัติ อนุญาตให้ข้าราชการไปพัฒนาแบบอาสาสมัครสังคมปีละไม่เกิน 5 วันทำงาน โดยไม่ถือเป็นการลา เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการทำความดี เปิดโลกทัศน์ สร้างจิตสำนึก ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสังคมโดยรวมให้มีการให้แบบอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมให้มากยิ่งขึ้น นี่ก็เป็นตัวอย่างที่เราเอาประเด็นเป็นตัวตั้ง เราก็จะมีศูนย์การป้องกันและลดความรุนแรงด้วย

            สำหรับการช่วยให้สังคมท้องถิ่นเข้มแข็งส่วนหนึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่นการส่งเสริมให้ทำแม่บทชุมชน การส่งเสริมเรื่องการทำสวัสดิการ เป็นการช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถแก้ปัญหา สามารถพัฒนา อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันกลไกหนึ่งที่จะช่วยได้มาก คือการมีสภาชุมชนท้องถิ่น เพื่อจะได้มีเวทีและกลไกในการติดตามสถานการณ์ รับรู้ข้อมูล ทำความเข้าใจ ระดมความคิดว่าท้องถิ่นตนควรจะพัฒนาไปอย่างไร ตลอดจนการติดตามดูแลการบริหารจัดการของท้องถิ่น ซึ่งหลายตำบลหลายเทศบาลได้ทำกันอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเป็นการเกิดตามธรรมชาติ ตรงนี้น่าจะมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการมีสภา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้สังคมและประชาชนมาร่วมคิดร่วมพิจารณาก่อนที่จะนำเสนอรัฐบาลต่อไป

            คิดว่า 3 เดือนเศษ เราได้ทำและวางรากฐาน มีผลงานเบื้องต้นในทั้ง 3 ด้าน ทั้ง 3 เรื่อง เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน การพัฒนาต้องทำกันเป็นเดือนๆเป็นปีๆหรืออาจจะเป็นสิบๆปีต้องทำอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เราวางรากฐานให้ส่วนที่ดีมีมากขึ้น ส่วนที่ไม่ดีถ้าไม่หมดไปก็ให้ลดลง พยายามส่งเสริมส่วนที่ดีให้ได้รับการสานต่อ เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกฝ่ายจะช่วยกันทำให้สังคมดีงาม

            อย่างไรตาม ในส่วนของการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีหรือองค์กรเครือข่าย นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถือเป็นองค์กรหัวใจหลักที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนระดับรากหญ้ามากที่สุด

            อบต.และเทศบาลเป็นจุดหมายสำคัญและประชาชนชนมีบทบาทสำคัญ ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ซึ่งมีตัวอย่าง ผมไปร่วมสัมมนาที่จังหวัดนครนายกมีตัวแทน 8 จังหวัด เข้าร่วม เราพูดถึงการจัดสวัสดิการชุมชนโดยชุมชนเข้ามาดำเนินการ ปีละ 365 บาท คือออมวันละบาท ชาวบ้านจัดการกันเอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุน บางแห่งก็สนับสนุนงบประมาณ บางแห่งก็สนับสนุนกิจกรรม ฉะนั้นจึงเป็นการทำงานเชิงรุกที่ประชาชนมีส่วนร่วมที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น

            ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม บอกว่า ที่ผ่านมาการการทำงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีพัฒนาการมาตลอด เช่น การดูแลด้านสังคม อบจ. เทศบาลมักจะทำได้ดี ในเรื่องงบประมาณบุคลากร อบต.ก็เห็นการทำงานที่เป็นรูปธรรมที่ดูแลเรื่องเด็กเยาวชนผู้สูงอายุการพัฒนาแบบสร้างสรรค์ เทศบาลก็ทำในเรื่องการดูแลทำให้คนจนมีที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคง 

            องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกของประชาชนเพื่อประชานการดูแลจัดการค่อนข้างสะดวกรวดเร็ว เพียงแต่ว่าหลักการสำคัญคือให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะ อบต.ยิ่งเป็นกลไกของประชาชน เพราะเขาได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนและประชาชนก็เป็นกำลังสำคัญ เป็นเจ้าของเรื่องอย่างแท้จริง การพัฒนาใดๆถ้าให้ประชาชนมีบทบาทจะทำได้ดีแก้ไขปัญหาได้

            ขณะที่ทุกฝ่ายก็ต้องเข้ามาให้ความร่วมมือ ไม่ใช่แค่ประชาชนกับอบต. ราชการทุกภาคส่วนในภูมิภาคเช่น สถานีอนามัย การเกษตร พัฒนาสังคม  ก็ต้องร่วมด้วยเพื่อเนื้องานจะได้มีประสิทธิภาพ  สังคมก็จะเป็นสุข ฉะนั้น อบต.หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นจะต้องเรียนรู้ในเรื่องการพัฒนาสังคม การแก้ปัญหาสังคม ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางมีบทบาทสำคัญ ทำไปเรียนรู้ไปพร้อมกับการเรียนรู้จากคนอื่น เรียนรู้จากอบต.อื่นในพื้นที่ที่ต่างกัน เพราะการเรียนรู้ร่วมกันจะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล

            จากการติดตามการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแง่ความก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็นอบต.เทศบาลหรืออบจ.ผู้นำเขาก็มีการพัฒนา ผู้นำอบต.ที่มีคุณวุฒิ มีประสบการณ์มีความคิดอ่านดีๆมีเยอะขึ้น ผมค่อนข้างมีความหวังว่าการบริหารท้องถิ่นจะดีขึ้นตามลำดับ เพียงแต่สังคมและรัฐบาลกลางควรเปิดโอกาสและชื่นชมยินดีกับความก้าวหน้าที่เขาทำได้ อย่าไปเอาแต่เรื่องที่เขาทำไม่ดีที่มันเกิดขึ้นบางแห่ง เอามาพูดและมองไปว่าเหมือนกันทั้งหมด มันก็เสียหายไปหมด บางแห่งมีดีก็ไปมองว่าไม่ดีไปหมด จริงๆแล้วควรจะให้กำลังใจว่า สิ่งที่ดีมีอยู่เยอะ ยกย่องเชิดชูให้กำลังใจนำไปเผยแพร่ให้มีการเรียนรู้จากสิ่งดีๆที่เขาทำ

            ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลส่วนกลางที่ต้องเข้าไปดูแลการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดสื่อมวลชนและสังคม ถ้ามีทัศนคติเชิงบวก ไปค้นหาความเจริญก้าวหน้าที่น่าชื่นชม เอามาเผยแพร่ จะดีกว่าไปค้นหาสิ่งที่ไม่ดีแล้วเอามาโพนทะนา

            นับจากนี้ไป...สังคมดีงาม สังคมแห่งคุณธรรม รวมทั้งการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทย อาจจะไม่ใช่เพียงแค่แนวคิดเชิงอุดมคติอีกต่อไป หากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆจากทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้อาจจะเป็นไปได้ เพราะตลอดระยะเวลากว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมา อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้กรุยทางและทำให้เห็นแล้วว่า สังคมอยู่เย็นเป็นสุข อยู่ใกล้แค่เอื้อมนี้เอง

ล้อมกรอบ

            กฎหมายที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เตรียมผลักดันเพื่อการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อย่างเป็นระบบจำนวน 20 ฉบับ ดังนี้ (1)กฎหมายในแผนเดิมของ พม.ที่รอเข้าสภานิติบัญญัติ(1 ฉบับ) คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ...... (2 ) กฎหมายในแผนเดิมของ พม.ที่รอเข้าครม.รอบที่ 2 (5 ฉบับ) คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ...../ พ.ร.บ.การเคหะแห่งชาติ พ.ศ....../ พ.ร.บ.การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ........... / พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. .......และ พ.ร.บ.คนขอทาน พ.ศ....... (3) กฎหมายในแผนเดิมของพม.ที่รอเข้าครม.รอบที่ 1 (7 ฉบับ) คือ พ.ร.บ.ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ....... / พ.ร.บ.พัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ....... / พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ......./ พ.ร.บ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ......./พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ พ.ศ....... /พ.ร.ฎ. จัดตั้งศูนย์พัฒนาและอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (องค์การมหาชน) กฎกระทรวงกำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนพิการของสถานประกอบการเอกชน พ.ศ......(4) กฎหมายใหม่ตามยุทธศาสตร์สังคมที่กำลังเตรียมเสนอครม. รอบที่ 1 (7 ฉบับ) คือ พ.ร.บ.สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ พ.ศ.........../ พ.ร.บ.ส่งเสริมประชาคมในการพัฒนา พ.ศ......../ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น พ.ศ............/พ.ร.บ.การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งชาติ พ.ศ........./ พ.ร.บ.ส่งเสริมครอบครัว พ.ศ........../ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ............. /พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการพัฒนาสังคม พ.ศ. ..............

ล้อมกรอบ

            ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ซึ่งมีหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล  รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เห็นชอบข้อเสนอการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม  ตามมติของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2549 วันที่ 4 ธันวาคม 2549 เรื่อง ข้อเสนอการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม มีดังนี้

            1. กำหนดเรื่องการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคมเป็นวาระแห่งชาติโดยมีเนื้อหาประกอบด้วย การรณรงค์จิตสำนึกการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม การขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ มาตรการด้านการเงินการคลัง มาตรการด้านการศึกษา และมาตรการที่เอื้อให้ประชาชน  เอกชน  และข้าราชการเข้าร่วมในงานอาสาสมัคร 2. ประกาศให้ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งตรงกับวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา เป็นปีแห่งการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม 3. มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อวาระแห่งชาติในเรื่องการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคมรวมทั้งปีแห่งการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและส่งเสริมการดำเนินงานดังกล่าว 4. อนุญาตให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานอาสาสมัครโดยไม่ถือเป็นวันลาและให้ถือเป็นวันปฏิบัติราชการได้ไม่เกิน 5 วันทำการต่อปีไม่มีผลทำให้เกิดความเสียหายต่องานราชการ และต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา พร้อมทั้งเชิญชวนภาคเอกชนให้พนักงานลาไปปฏิบัติงานอาสาสมัครโดยไม่ถือเป็นวันลา

            ทั้งนี้หน่วยงานที่รับอาสาสมัครไปช่วยปฏิบัติงานองค์กรสาธารณประโยชน์จะต้องระบุเนื้อหางานให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติทราบ รวมทั้งอาสาสมัครจะต้องนำหลักฐานการอนุญาตให้ไปปฏิบัติงานจากหน่วยงานต้นสังกัดแสดงต่อองค์การสวัสดิการสังคม ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติออกตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานและจัดให้มีการประเมินและทบทวนการดำเนินงานเป็นประจำทุกปี 

            อีกทั้งขอความร่วมมือให้เจ้าของสถานประกอบการอนุญาตให้ลูกจ้างลาไปปฏิบัติงานอาสาสมัครตามแต่จะพิจารณาเห็นสมควร

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

7 มี.ค. 50
หมายเลขบันทึก: 82470เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2007 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ขอให้กำลังใจ ในการทำงาน
  • และขอให้ทำสำเร็จนะคะ
  • ขอแสดงความยินดีด้วยครับ 
  • และขออนุญาตนำบล็อกของท่านเข้าแพลนเน็ตรวมบล็อกครับ ขอบคุณครับ  อ.อาลัม
  • ขอแสดงความยินดีกับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ด้วยนะคะ
  • และขออนุญาตนำบล็อกของท่านเข้าแพลนเน็ตรวมบล็อก
  • อ.คงจำลูกและหลานสาวที่อยู่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งได้นำ อ.ไปกราบนมัสการกรมหลวงชุมพรได้นะ สาว แสงนภา สุทธิภาค คะ
  • *ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับอาจารย์

    *อ.เมื่อไรอาจารย์จะมาที่พิจิตรอีกครับ...ผมเคยเจอกับอาจารย์ครั้งหนึ่งที่ศาลากลางพิจิตรครับ

    อาจารย์คือแม่แบบที่ดีสำหรับประชาชนและคนทำงานเพื่อชุมชนครับ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท