แผนฯ 10 โดย ดร.ไสว บุญมา


หากผ่านเลยไปอีกครั้ง และแผนฯ 10 ก็ได้ประกาศใช้ออกมาแล้ว เดี่ยวจะกลายเป็นเรื่องของคนส่วนน้อยแต่ถูกนำมาใช้กับคนส่วนใหญ่อีก

     ผมได้เคยเขียนในประเด็นปีนี้เป็นปีสุดท้ายของแผนฯ 9 ไว้ที่บันทึก ปีส่งท้ายแผนฯ 9 ครั้งหนึ่งแล้ว วันนี้จึงขอนำเรื่อง แผนฯ 10 โดย ดร.ไสว บุญมา จาก http://www.bangkokbiznews.com/2005/11/26/w017l1_55181.php?news_id=55181 มาบันทึกไว้ เพื่อเชื่อมโยงกัน ดังนี้ครับ

          สื่อรายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (กศช.) ได้เริ่มตระเตรียมงานเกี่ยวกับการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (แผนฯ 10) มาชั่วระยะหนึ่งแล้ว และข้อมูลจากการพบปะกับประชาชนกว่า 2 พันคนใน 108 หมู่บ้านทั่วประเทศที่เลขาธิการ กศช. นำมาแถลงชี้ให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง ผมหวังว่ารายงานดังกล่าวจะตรงกับคำแถลงของท่านเลขาฯ เพราะบ่อยครั้งเมื่อเกิดประเด็นโต้เถียงกันขึ้นมา สื่อจะถูกกล่าวหาว่ารายงานไม่ตรงกับสิ่งที่แหล่งข่าวพูด ดังเช่นเรื่องเกี่ยวกับข้อเสนออันแสนอัปยศของผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย ที่จะส่งคนขาดแคลนพื้นที่ทำกินลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้และข้อเสนอย้อนยุคซึ่งทำให้ชาวบ้านหัวเราะกันงอกลิ้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จะให้ภรรยากราบเท้าสามีก่อนเข้านอน

          ข้อมูลของ กศช. บ่งว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่กลับมีความสุขในชีวิตน้อยลง เพราะปัญหาการทำมาหากินและภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ชาวบ้านมีพฤติกรรมเลียนแบบบริโภคนิยมกันอย่างกว้างขวาง นั่นคือ พวกเขาซื้อทุกอย่างรวมทั้งสินค้าจำพวกฟุ่มเฟือย ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาไม่มีความรู้และความใส่ใจในเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีแต่กลับมีโทรศัพท์มือถือกันอย่างแพร่หลาย ความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชนและในครอบครัวลดลง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มีการเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือกับการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน

          เลขาฯ กศช. แถลงด้วยว่า กศช. จะเร่งปรับเปลี่ยนแนวคิดให้ชาวบ้านหันกลับมาพึ่งพาตนเองและนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวดำเนินชีวิต แผนฯ 10 จึงจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ในที่สุด กศช. ไปพบสภาพความเป็นจริงในหมู่บ้านด้วยตนเอง ทั้งที่เรื่องทำนองนี้มีผู้นำมารายงานมากต่อมากแล้ว แต่ดูจะไม่ได้รับความใส่ใจจากภาครัฐ เพราะมันขัดกับแนวคิดที่ติดอยู่กับตัวเลขจำพวกการสร้างความร่ำรวย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยอดขายของโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์และเมกะโปรเจค

          ผมหวังว่า ข้อมูลนี้จะชี้ย้ำอีกว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมานั้น เกิดจากภาวะฟองสบู่ แต่เป็นฟองสบู่ที่แตกต่างจากเมื่อครั้งก่อนปี 2540 นั่นคือ เมื่อคราวนั้นคนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในเมืองยืมเงินจากต่างประเทศมาใช้ในกิจการเก็งกำไร เช่น ในอสังหาริมทรัพย์และในตลาดหุ้น กิจการเก็งกำไรทำให้บางคนร่ำรวยขึ้นอย่างฉับพลัน พวกเขาจึงบริโภคอย่างเมามันโดยไม่สำนึกว่าความร่ำรวยนั้นเกิดจากยืมเงินผู้อื่นมาเล่นแชร์ลูกโซ่ เมื่อยืมเงินผู้อื่นต่อไปไม่ได้ฟองสบู่ก็แตก  คราวนี้ฟองสบู่เกิดจากการที่รัฐบาลหลอกให้ชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความรู้กู้เงินจากโครงการสารพัดโดยใช้คำของนายกรัฐมนตรีที่ว่า การเป็นหนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะมันจะทำให้ร่ำรวยเช่นตัวท่าน ชาวบ้านก็เลยกู้เงินกันใหญ่แต่ส่วนมากนำเงินนั้นไปใช้ในการบริโภค รวมทั้งการซื้อโทรศัพท์มือถือ ซึ่งไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันของพวกเขาเลย แน่ละ หนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อการบริโภคทำให้ความเป็นอยู่ดูดีขึ้นและเศรษฐกิจขยายตัว แต่นั่นเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ฟางเพราะเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ลูกหนี้ที่ไม่มีเงินชำระย่อมจะมีความสุขน้อยลง การที่รัฐบาลต้องวิ่งวุ่นเพื่อหาแหล่งเงินใหม่อยู่ในขณะนี้พร้อมกับพยายามลดภาระหนี้ดังที่เห็นกันอยู่ก็เพราะฟองสบู่กำลังจะแตกอีกครั้ง

          แน่นอน การที่จะนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักยึดของแผนฯ 10 และการดำเนินชีวิตของคนไทยย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น กศช. จะต้องทำการบ้านอีกมาก ในเบื้องแรกยังมีคำถามคาใจของผู้ที่ติดตามการทำแผนฯ 9 ของ กศช. ครั้งนั้นก็มีการพบปะกับประชาชนทั่วประเทศ และพูดถึงการนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการพัฒนา แต่แผนฯ 9 ที่ กศช. เขียนออกมาและการนำไปปฏิบัติหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะ กศช.ให้ความสำคัญแก่แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแต่ปาก ดังจะเห็นได้จากหนังสือเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง : พื้นฐานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง กศช. จัดพิมพ์ หนังสือหนา 168 หน้าเล่มนี้มีชื่อว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" แต่เนื้อหามีเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดอันสำคัญยิ่งนั้นเพียง 1 หน้ากระดาษ ส่วนที่เหลือเป็นการพูดถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา เสริมด้วยคำปราศรัยของเลขาฯ สศช. นั่นเป็นการตั้งชื่อหนังสือแบบไม่ตรงเนื้อหาอย่างน่าละอายอย่างยิ่ง จริงหรือที่ กศช. จะนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการร่างแผนฯ อย่างจริงจัง จะไม่ใช้วิธีศรีธนญชัยเช่นครั้งที่แล้ว?

          สมมติว่า ข้าราชการใน กศช. แน่ใจในการที่จะยึดแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก กศช. วางกลยุทธ์ไว้อย่างไรที่จะชักจูงให้บรรดานักการเมืองคล้อยตาม? ในช่วงเวลา 5 ปีที่บรรดามหาเศรษฐีบริหารประเทศ ไม่มีอะไรชี้ให้เห็นว่ามหาเศรษฐีพวกนี้เห็นดีและจริงใจกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตรงข้ามพวกเขามุ่งหน้าแสวงหาความร่ำรวยและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบสุดโต่งรวมทั้งจากกลวิธีต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ระดับรากหญ้าด้วย ข้าราชการของ กศช. จะสามารถชักจูงให้รัฐมนตรีมหาเศรษฐีหยุดบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยอวดกันได้หรือ โดยเฉพาะพฤติกรรมจำพวกการซื้อรถยนต์ราคา 15 ล้านบาท เพื่อนำมาสวมป้ายทะเบียน 4 ล้านบาท แล้วขับมาอวดนักข่าว ?

          ผมเห็นว่า บรรดามหาเศรษฐียังจะมุ่งสร้างความร่ำรวยแบบสุดโต่งกันต่อไป พร้อมกับกดดันให้ กศช. ร่างแผนฯ เชิงศรีธนญชัยอีกครั้ง นั่นคือ แผนฯ จะประกอบด้วย ข้อความงามหรูเกี่ยวกับการนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลัก แต่ไม่มีมาตรการอะไรที่จะนำไปสู่การปฏิบัติตามแนวคิดนั้นอย่างจริงจัง หลังจากนั้น ก็จะมีข้าราชการผู้ใหญ่ใน กศช. ทำหน้าที่เป็นกองเชียร์ให้รัฐบาลดังที่ผ่านมา ทำให้ศรัทธาใน กศช. เสื่อมลงไปอีกจน กศช. กลายเป็นองค์กรศรีธนญชัยคล้ายเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง การทำแผนฯ 10 จึงเป็นโอกาสดีที่ กศช. จะกู้ความศรัทธาให้กลับคืนมาอีกครั้ง และเหนือสิ่งอื่นใด การทำตามแผนที่วางไว้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มิฉะนั้น แผนจะมีค่าเพียงเศษกระดาษ

     จากย่อหน้าที่เยื้องเข้าไปเป็นสิ่งที่ ดร.ไสว บุญมา ได้เขียนไว้ ซึ่งผมได้ทำ link ที่มาไว้แล้วข้างต้นที่ย่อหน้าแรก ท่านจะเห็นเป็นอย่างไรก็อิสระอยู่แล้ว แต่ผมเห็นด้วย โดยเฉพาะผมเกรงว่าหากผ่านเลยไปอีกครั้ง และแผนฯ 10 ก็ได้ประกาศใช้ออกมาแล้ว เดี่ยวจะกลายเป็นเรื่องของคนส่วนน้อยแต่ถูกนำมาใช้กับคนส่วนใหญ่อีก อยากจะเรียกร้อง เชิญชวน ให้ผู้รู้ออกมาปลุกกระแสการยกร่างแผนฯ 10 เสียแต่เนิ่น ๆ ลำพังผมตัวเล็ก ๆ คงทำได้มากไปกว่านี้ไม่เท่าไหร่ อยากเชิญชวนจริง ๆ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 8244เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2005 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอสักหนึ่งเสียงร่วมเรียกหาด้วย

คุณเก่ง

     ขอบคุณสำหรับหนึ่งเสียงที่สนับสนุน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท