สืบเนื่องจาก... การสร้างตัวชี้วัดและการประเมิน KM ในหน่วยราชการ


การพัฒนาตัวชี้วัดของ KM ในหน่วยราชการ ต้องเน้นไปที่แล้ว “แล้วประชาชนได้อะไร” เป็นหลัก เพราะภารกิจของเราที่เป็นหน่วยงานราชการ คือ ทำการเพื่อประชาชนในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นตัวชี้วัดของ KM ก็ควรจะเป็นตัวชี้วัดที่เปิดโอกาสให้คิดนอกกรอบได้ เพื่อมุ่งสู่ “ทำการเพื่อประชาชน” แล้วจะตอบได้ว่า “แล้วประชาชนได้อะไร”

ประเด็น KM ในองค์กร
     ผมยังไม่ชัดเจนอะไรเลยสำหรับเรื่อง KM แต่อยากจะได้ร่วม ลปรร.ด้วย โดยขอเอาสถานการณ์จริง ๆ (สสจ.พัทลุง และส่วนงาน/หน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง) ที่ประสบอยู่มาบอกเล่าให้ฟัง ดังนี้ครับ KM มีการพูดถึงกันมากขึ้นในปี 2548 แต่เพียงลอย ๆ มีคณะทำงานเรียบร้อย (ได้แนวคิดจากทันตแพทย์ประจำ สสจ.) แต่ไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก และที่ประชุมไปครั้งหนึ่งก็เน้นไปที่การวิจัยและอบรมนักวิจัย เท่านั้น ตอนนั้นผมได้นำเสนอว่าควรจะมีเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันบ้าง เอาแบบ เวบบอร์ด ก็ได้ แต่แยกออกจากอันเดิมมาเป็นการจัดการความรู้โดยเฉพาะ ครั้งนั้นผมยังไม่รู้จักกับ GotoKnow.org ทุกวันนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริงครับ

         ส่วนนี้มองว่ายังไม่เข้าใจ KM จริง ๆ (สะท้อนจากตัวเองเป็นหลัก) และการจะทำ KM ทั้งองค์กรในคราวเดียว หากไม่ได้เริ่มจากนโยบายของ (ทีม) ผู้บริหารจริง ๆ จะหนักมาก แต่หากมีการเริ่มต้นจาก (ทีม) ผู้บริหารโดยกำหนดวางเป็นนโยบายเลยก็จะขาดการเรียนรู้ร่วม (เพราะขืนใจทำ) คงไม่สามารถสร้างความยั่งยืนได้ เหมือนในหลาย ๆ เรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และรับรู้กันอยู่

         ข้อเสนอและที่ได้ทำบ้างแล้ว คือ การทำ KM ในโครงการใด ๆ (เช่นที่ได้มีแนวคิดเพื่อเริ่มทำในโครงการ "ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน") นำร่องก่อน เพื่อสร้างแรงกระเพื่อม (Ripple) ของคลื่น KM ให้ไปกระทบกับส่วนอื่น ๆ ให้หันกลับมามองดู จากนั้นก็จะได้เริ่มสังเกตเห็น สนใจ ลงมือทำ ขยายและสานต่ออย่างต่อเนื่องให้กว้างขวางต่อไป ผมคิดว่าอาจจะช้าบ้าง แต่น่าจะยั่งยืนกว่า ที่สำคัญผู้บริหาร (นพ.สสจ.) ได้ให้การสนับสนุนอยู่จึงน่าจะสำเร็จ โดยเมื่อเริ่มเกิดกระแสต่อ KM ที่ไม่หลงทิศหลงทางแล้ว ท่านจะให้เป็นนโยบายที่เด่นชัดขึ้นต่อไป ตรงนี้ได้แนวคิดที่เรียนรู้จากการดำเนินงานรักษาวัณโรคโดย DOTS ที่บอกว่าหากการรักษาโดย DOTS ยังไม่พร้อมจริง ก็อย่างเพิ่งปูพรมการค้นหา ผู้ป่วยรายใหม่ในชุมชน (Case Finding) เพราะจะเสียมากกว่าได้

         ผลที่ได้เมื่อลงมือทำตอนนี้
         1. จาก Blog คือ เกิดชุมชน "วิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุข" โดยมี Blog เกี่ยวกับเรื่องที่ดำเนินการข้างต้น เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพ http://gotoknow.org/his-community ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน http://gotoknow.org/tri-paki พยาบาลชุมชน http://gotoknow.org/aporn-jedow  ทำงานประจำเป็นงานวิจัย http://gotoknow.org/aporn-jedow-2  คนดีของฉัน http://gotoknow.org/aporn-jedow-3  ดอกแก้วพัฒนา http://gotoknow.org/aporn-jedow-5 โรงพยาบาลปากพะยูน http://gotoknow.org/aporn-jedow-4 สุขภาพชุมชน http://gotoknow.org/hroy45  เกร็ดชีวิตจากการทำงานของหมออนามัย http://gotoknow.org/anamai-life  บันทึกประสบการณ์ชีวิตสาธารณสุข http://gotoknow.org/healthrec บันทึกการทำงานชุมชนด้านสุขภาพ http://gotoknow.org/nanta เป็นต้น

         2. จากการขยายเครือข่ายการเรียนรู้ เช่น ชมรมผู้สูงอายุ อ.ปากพะยูน, อ.เขาชัยสน ชมรมหมอนวดแผนไทย อ.ตะโหมด, จว.พัทลุง เครือข่ายพัฒนาสุขภาพชุมชนเกาะเรียน อ.ตะโหมด, ชุมชนลำสินธ์ กิ่ง อ.ศรีนครินทร์, ชุมชนลำกะ กิ่ง อ.ศรีนครินทร์, ชุมชนลานช้าง อ.เขาชัยสน, ชุมชนนาปะขอ อ.บางแก้ว, ชุมชนเขตเทศบาลเมืองพัทลุง ทีมพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอ คปสอ.เขาชัยสน, ชมรมเพิ่มพูนพลังคนพิการ อ.เขาชัยสน, ชมรมเพิ่มพูนพลังคนพิการ จว.พัทลุง สมาคมคนตาบอด จว.พัทลุง

         3. จากการเชื่อมต่อการเรียนรู้ไปยังเครือข่ายอื่น เช่น สวรส.ภาคใต้ มอ., แผนงานคนพิการฯ สวรส., สคส., สปสช., ม.ราชภัฏสงขลา (โปรแกรมวิชาสาธารณสุขชุมชน), เครือข่ายนักพัฒนาชุมชนอิสระในพื้นที่ จว.พัทลุง อบจ.พัทลุง อบต./เทศบาล หลาย ๆ แห่ง ในจังหวัดพัทลุง
     
ประเด็น ตัวชี้วัดและการประเมิน KM ในหน่วยราชการ
         ผมมองว่าตัวชี้วัดของ KM ในหน่วยราชการ เป็นเรื่องที่จะสามารถทำให้ KM ไม่หลงทิศหลงทาง กล่าวในฐานะที่ยังไม่เข้าใจ KM มากนัก จึงน่าจะเป็นคำล่าวที่เกิดจากความต้องการเข็มทิศเป็นหลัก แต่เมื่อเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้เท่าที่รู้ในช่วงที่ผ่านมา ก็เกรงว่าจะเป็นการทำ KM เพื่อให้ผ่านตัวชี้วัดนี้ ซึ่งคงจะเป็นการทำ KM ที่แคบเกินไปเสียอีก เหมือนที่เคยเกิดกับการพัฒนาสถานีอนามัยให้ผ่านตัวชี้วัดในการประเมิน HCA ที่เคยเกิดขึ้นจริง ซึ่งไม่สามารถตอบได้ชัดนักเมื่อนำมาปฏิบัติว่า “แล้วประชาชนได้อะไร” ผมอาจจะมองเชิงลบไปบ้าง แต่ก็เพื่อระลึกว่า การพัฒนาตัวชี้วัดของ KM ในหน่วยราชการ ต้องเน้นไปที่แล้ว “แล้วประชาชนได้อะไร” เป็นหลัก เพราะภารกิจของเราที่เป็นหน่วยงานราชการ คือ ทำการเพื่อประชาชนในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นตัวชี้วัดของ KM ก็ควรจะเป็นตัวชี้วัดที่เปิดโอกาสให้คิดนอกกรอบได้ เพื่อมุ่งสู่ “ทำการเพื่อประชาชน” แล้วจะตอบได้ว่า “แล้วประชาชนได้อะไร” เช่น มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรกับประชาชน หรือ มีกิจกรรมที่ชุมชนหรือองค์กรภาคประชาชน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง ในการดูแลสุขภาพตนเอง เป็นต้น

         การประเมิน KM ในหน่วยราชการ นับว่าเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ในระบบราชการ ที่มีฐานวัฒนธรรมองค์กรแบบราชการที่สั่งสมมานานมาก ยิ่งเมื่อไปอ่านงานเขียนของ นพ.โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์ เรื่องความรู้ อำนาจ และระบบราชการ : บทวิเคราะห์วัฒนธรรมราชการสาธารณสุข รวมถึงงานเขียนอื่น ๆ อีกหลายชิ้น (มีให้ดาวน์โหลดได้ที่ ห้องสมุด สวรส.) คนที่เข้ามาในระบบราชการเพียง 10 กว่าปี อย่างผมคนหนึ่ง ก็ได้เข้าใจ และทำใจได้บ้าง ตามทัศนะของผมเชื่อว่าระบบการประเมินผล จะมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อวัฒนธรรมการปฏิบัติราชการ โดยเฉพาะเมื่อผู้บริหารนำระบบการประเมินมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจริง ๆ

         แต่การประเมินผลใด ๆ เมื่อถูกนำมาใช้ในระบบราชการ ก็จะมี 2 ส่วนเสมออีกเช่นกัน คือ “การพัฒนาอย่างไรดีให้ผ่านการประเมิน” กับ “การทำอย่างไรดีให้ประเมินผ่าน” ฐานคิดใน 2 ลักษณะจากผู้ถูกประเมินดังกล่าวนี้ จึงเป็นฐานคิดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่ของการใช้การกระเมินผลเป็นเครื่องมือในการพัฒนางาน เกิดผลดีที่ยั่งยืนแตกต่างกัน ในที่สุดก็ตอบคำถามเดิมที่ว่า “แล้วประชาชนได้อะไร” ก็จะแตกต่างกันไปด้วย

ประเด็นสรุป
         การสร้างตัวชี้วัดและการประเมิน KM ในหน่วยราชการ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่การพัฒนาตัวชี้วัดนี้ต้องเน้นไปที่ “แล้วประชาชนได้อะไร” เป็นหลัก เพราะภารกิจของเราที่เป็นหน่วยงานราชการ คือ ทำการเพื่อประชาชน และตัวชี้วัดของ KM ก็ควรจะเป็นตัวชี้วัดที่เปิดโอกาสให้คิดนอกกรอบ เพื่อมุ่งสู่ “ทำการเพื่อประชาชน” ได้ อันนี้ควรจะได้ระดมสมองกันจากหลาย ๆ ภาคส่วน ส่วนการนำการประเมิน KM ในหน่วยราชการมาใช้ในระบบราชการ ก็จะต้องมุ่งสร้างให้เกิดฐานคิดที่ว่า “การพัฒนาการจัดการความรู้อย่างไรดีให้ผ่านการประเมิน” แทนคำว่า “การทำอย่างไรดีให้ประเมินผ่าน” ที่ นพ.สสจ.พัทลุง (นพ.ยอร์น  จิระนคร) และผม เลือกใช้คือการสร้างแรงกระเพื่อม (Ripple) การจัดการความรู้ในองค์กร โดย มีเครื่องมือ คือ “โครงการไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน" ครับ

         เฉพาะประเด็นสรุปนี้ ผมได้นำไปแสดงเป็นข้อคิดเห็นไว้ที่ การสร้างตัวชี้วัดและการประเมิน KM ในหน่วยราชการ ซึ่งเป็นบันทึกของ อ.วิบูรณ์ วัฒนาธร ที่น่าจะอ่านก่อนเพื่อเชื่อมโยงกันด้วย http://gotoknow.org/archive/2005/11/26/22/47/34/e8138

หมายเลขบันทึก: 8240เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2005 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
“การพัฒนาอย่างไรดีให้ผ่านการประเมิน” กับ “การทำอย่างไรดีให้ประเมินผ่าน”

แล้วจะทำกันอย่างไรที่ไม่ให้ผู้ประเมินหลงประเด็น

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ทำอย่างไรให้ระบบราชการเก่าๆหายไป  แล้วทำอย่างไรข้าราชการเหล่านั้นจะยอมรับในสิ่งใหม่ๆ และเริ่มเรียนรู้แต่ทุกวันนี้เจอแต่กบที่อยู่ในกะลาไม่ยอมที่จะเรียนรู้เลย  เครียดมากๆ

อีกหนึ่งหมออนามัย
โดนชักชวนมาอ่านเยี่ยมครับว่าแต่เมื่อไหร่จะได้อย่างที่ควรได้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท