สำรวจพื้นที่ตรัง นครฯ พัทลุง (5) .....ลุ่มน้ำปะเหลียนเกี่ยวอะไรกับเศรษฐศาสตร์


การทำงานครั้งนี้ จึงมิใช่การหาคำตอบทางวิชาการ แต่เพื่อนำข้อมูลการทำงานของชุมชนในพื้นที่ไปบอกกล่าว...อันจะมีผลสร้างความชอบธรรมให้แก่วิถีชาวบ้านที่อยู่ร่วมกับป่า และสร้างความเข้าใจต่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรมจริงรูปแบบหนึ่ง

ช่วงนี้ดูเหมือนบันทึกที่เขียนจะเดินเรื่องช้ากว่างานที่ทำอยู่มาก  วันนี้ต้องเขียนเรื่องย้อนหลังที่ยังบันทึกไม่จบ คือ การลงพื้นที่ภาคใต้

  

อันที่จริง ตรังเป็นจังหวัดแรกที่เราเดินทางไปถึงในแผนการเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ช่วงวันที่  20-24 กุมภาพันธ์

    

เดิมผู้ร่วมเดินทางจะมีท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย เป็นหัวหน้าทีม พร้อมกับคณะนักวิชาการจากสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI)  และตัวแทนจาก IUCN  แต่ท่านผู้หญิงติดภารกิจด่วนจึงไม่ได้ร่วมเดินทางตามแผน 

   

ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ ถือว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทยก็ว่าได้   นอกจากผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์ร่วมนักวิชาการชื่อดังต่างชาติ เช่น การประเมินค่าป่าชายเลนแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้ว ท่านยังมีบทบาทในการใช้ข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนการเคลื่อนไหว เช่น เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีป่าสักอุดมสมบูรณ์  ปัญหาขยะข้ามชาติ  ปัญหาข้อตกลง FTA ไทยญี่ปุ่นที่อาจมีผลให้ไทยเสียเปรียบกลายเป็นที่รองรับปัญหาสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม เป็นต้น

  

การลงพื้นที่ลุ่มน้ำปะเหลียนครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิสถาบันธรรมรัฐฯ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ท่านผู้หญิงเป็นประธาน --  IUCN ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศสนับสนุนการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ --  และสมาคมหยาดฝนของอาจารย์พิศิษฐ์ ชาญเสนาะ ซึ่งเป็นเอ็นจีโอที่ทำงานในพื้นที่มานานนับสิบปี  ทั้งนี้เพื่อประสานงานวิชาการ งานเคลื่อนไหวระหว่างประเทศ และงานเคลื่อนไหวในพื้นที่ ให้เกิดพลังสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำปะเหลียน

  ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายหรือหน่วยงานที่มุ่งเน้น การพัฒนาพื้นที่ อาจตื่นเต้นกับผลประโยชน์ที่ได้รับจากแปลงผืนป่าชายเลนเป็นท่าเรือ เขตอุตสาหกรรมหรืออื่นๆ     นักเศรษฐศาสตร์จะช่วยบอกได้ว่า ผลประโยชน์ที่ได้รับนั้น จะต้องแลกกับอะไรบ้าง เป็นมูลค่าที่คุ้มกันหรือไม่  

โดยปกติ  คนมักเข้าใจผิดกันว่า  นักเศรษฐศาสตร์ตีมูลค่าเพราะเห็นสิ่งแวดล้อมเป็นสินค้า แต่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า การประเมินมูลค่าเป็นเพียงทำให้หน่วยวัดประโยชน์กับหน่วยวัดต้นทุนมันเป็นหน่วยเดียวกันที่เทียบกันได้  เพื่อไปชี้แจงกับผู้กำหนดนโยบาย  ไม่งั้นจะให้เทียบ ท่าเรือ (และคนที่จะได้ประโยชน์) กับ ป่า (และคนที่อยู่ในป่า)    ได้อย่างไร 

อาจารย์พิศิษฐ์นั้น  ท่านเห็นประโยชน์จากการทำงานของนักเศรษฐศาสตร์ในเรื่องนี้  ท่านจึงยกเอาตัวเลขมูลค่าป่าชายเลนที่ท่านผู้หญิงประเมินไว้ มาคุยให้ชาวบ้านฟังเสมอๆ เพื่อให้ชาวบ้านเกิดกำลังใจว่า การอนุรักษ์ป่าชายเลนของชาวบ้านได้สร้างคุณประโยชน์มากมายเพียงใด 

การลงพื้นที่ในวันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ เป็นการแนะนำตัวแก่ชุมชน ก่อนที่จะส่งนักวิจัยมาอยู่ในพื้นที่ในระยะต่อไป  แต่โจทย์ครั้งนี้จะไม่ใช่การประเมินค่า หากเป็นเรื่องว่า วิถีเศรษฐกิจพอเพียงของชาวบ้านนั้นสามารถช่วยอนุรักษ์ป่าได้อย่างไร   

การทำงานครั้งนี้ จึงมิใช่การหาคำตอบทางวิชาการ แต่เพื่อนำข้อมูลการทำงานของชุมชนในพื้นที่ไปบอกกล่าวสู่วงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมในวงกว้างถึงระดับระหว่างประเทศ  อันจะมีผลสร้างความชอบธรรมให้แก่วิถีชาวบ้านที่อยู่ร่วมกับป่า และสร้างความเข้าใจต่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรมจริงรูปแบบหนึ่ง

 ***************

หมายเหตุทางวิชาการ 

 มูลค่าป่าชายเลนในทางเศรษฐศาสตร์ จะมองทั้งจากประโยชน์จากการใช้โดยตรง (เช่น การประมงชายฝั่ง  การเก็บหอยปูของชาวบ้าน ความมั่นคงทางอาหาร)  ประโยชน์จากการใช้ทางอ้อม (คือ คุณค่าของระบบนิเวศ  การอนุบาลสัตว์น้ำ การป้องกันชายฝั่งไม่ให้พังทลาย ฯลฯ)  ประโยชน์ที่อาจจะได้ใช้ในอนาคต (เก็บไว้ไม่ทำท่าเรือในวันนี้  วันข้างหน้าก็ยังเอามาทำท่าเรือได้   แต่ถ้าทำท่าเรือเสียตั้งแต่วันนี้ ประโยชน์อื่นๆในปัจจุบัน เช่น ด้านประมง ด้านระบบนิเวศ ก็หายวับไปทันที ทำท่าเรือแล้วจะทำให้ประโยชน์เหล่านี้ย้อนกลับมาก็ยาก) ประโยชน์จากการคงอยู่ (เช่น คนกรุงเทพฯรุ้ว่ามีป่าชายเลนอยู่ในเมืองไทยก็รู้สึกว่าดี  มีความหวงแหน แม้จะไม่เคยมาอยู่มาดู) และ ประโยชน์จากการเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน

  
หมายเลขบันทึก: 82316เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ดี ๆ ๆ อยากรักษาไว้ในลูกหลานเรา ชาวเมืองคอน และเมืองลุง

และจะเป็นมรดกสำหรับลูกหลานเราเมืองอื่นๆด้วยค่ะ  คนรุ่นหลังจะได้รู้จักต้นจาก ต้นสาคู (แป้งสาคูทำขนมได้ รวมทั้งขนมจีนด้วย) ต้นโกงกางและอื่นๆ  

โดยเฉพาะสาคู เป็นพืชเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ลงไปแถบอินโดนีเซีย ด้วยค่ะ  (ทราบมาจากคุณด้วง สมาคมหยาดฝนค่ะ)

เรียนอาจารย์ที่เคารพ...

ดิฉันนางสาวไอร์นี แอดะสง เคยมีโอกาสพบอาจารย์ครั้ง้หนึ่งตอนที่เป็นนักศึกษา หลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัครมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 39 ปี2550-2551

ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขาการจัดการทรัพยากรชีวภาพ

คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

มีความสนใจในการศึกษาในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลน

หรือป่าพรุเป็นอย่างมาก โดยฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินค่าทางเศรษฐศาสตร์

ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญต่อการจัดการ อนุรักษ์หรือการใช้ประโยชน์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด...

จึงอยากขอความกรุณาอาจารย์ให้คำแนะนำ หรือแนวทางในการเรียนรู้ที่เหมาะสม

ทั้งแก่ตนเองและสังคมต่อไป เพราะในฐานะที่เป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่มาจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่นอกจากมีปัญญหาในเรื่องเหตุการณ์การความไม่สงบ

ประเด็นปัญหาในการจัดการทรัพยากรก็ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤตเช่นกัน

และเป็นปัญหาที่ถูกละเลยมาอย่างยาวนาน ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญของตนเอง

ในการตอบแทนคุณแผ่นดินในการศึกษาและหาแนวทางที่ดีแก่ชุมชนท้องถิ่น

แม้จะเป็นแค่คนเล็กๆ เสี้ยวหนึ่งของสังคมก็อยากมีส่วนร่วมในตรงจุดนี้

ทั้งในฐานะนักศึกษา ชาวบ้าน คนในชุมชนที่ยังคงต้องพึ่งพาทรัพยากรเหล่านี้ไปอีกนานแสนนาน ..ด้วยความเคารพ..ไอร์นี แอดะสง

มาเจอกันที่คณะเศรษฐศาสตร์ ท่าพระจันทร์ดีกว่า นัดหมายกันทางอีเมล์อีกทีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท