โตแล้ว.....ทำไมต้องฝึกกันทุกเรื่อง?


คนที่มีการศึกษาถึงระดับที่จิตใจพัฒนาแล้วนั้น ควรพิจารณาโดยแยบคาย ให้เห็นคุณค่าของการกระทำอันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม แล้วก็ลงมือทำได้เป็นอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรอให้บอก ไม่ต้องรอให้เตือน หรือไม่แม้แต่จะรอให้ผู้อื่นเห็นความดีของเราเสียก่อน แล้วจึงลงมือทำ

(34)

 

 

 การรู้เท่าทันการสื่อสาร : การสอนย้ำซ้ำ VS การฝึกกันทุกเรื่อง

ดิฉันต้องอธิบายพี่ น้องๆและเพื่อนๆ จำนวนหนึ่ง อยู่หลายครั้งว่า ทำไมถึงต้องสอนเรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) และการสอนเด็กระดับปริญญาตรี ซึ่งไม่ใช่เด็กเล็กๆแล้ว ....ทำไมต้องฝึกกันทุกเรื่อง? และทำไมต้องเสียเวลาฝึกเด็กนานๆด้วย?...

บางทีดิฉันก็เผลอ ตอบซ้ำไปซ้ำมา หรือไม่ก็อธิบายไปยาวๆ ทำให้คนฟังเสียเวลามาก จนต้องพิมพ์เป็นสคริปต์ไว้ เผื่อว่าใครถาม จะได้อ้างอิงสรุปในกระทู้ เป็นข้อๆได้

คืออย่างนี้นะคะ เหตุที่ดิฉันต้องสอนเรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) และต้องฝึกเด็กนานๆ ฝึกกันทุกเรื่อง .....เพราะดิฉันพบว่าเด็กๆจำนวนหนึ่ง ที่มิได้มาจากสังคมเมืองที่ต้องแข่งขันกันเอาชีวิตรอดตั้งแต่ลืมตาตื่นจนถึงหลับตานอน หรือมิได้มาจากครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการคิดโดยแยบคาย เด็กๆเหล่านี้ก็อาจมองไม่เห็น”วิธีคิด” บางชุดที่จะให้คุณให้โทษแก่ชีวิตของเขา

เด็กๆที่ขาดวิธีคิด เขาจะทำตามสั่งได้ แต่เขาจะคิดเองไม่เป็น ต้องรอให้สั่ง หรือรอให้ผู้อื่นคิดแทนแล้วก็สั่งให้เขาทำ เขาอาจสั่งตัวเองไม่เป็น หากปล่อยให้เขาเป็นเช่นนี้ สักวันหนึ่งก็ง่ายเหลือเกินที่จะตกเป็นทาสความคิดของผู้อื่น เพราะวิธีคิดจะนำไปสู่วิธีทำ... คนเราหากมีวิธีคิดแบบทาสเสียแล้ว ก็จะนำไปสู่วิธีทำที่เป็นทาสด้วย ...ซึ่งดิฉันคิดว่าอันตรายมาก

ดิฉันจึงให้ความสำคัญกับการฝึกวิธีคิด “ที่ดี” เพื่อนำไปสู่วิธีทำ “ที่เหมาะสม”และจะไม่มองข้ามสิ่งเล็กๆน้อยๆที่ละเอียดอ่อนเป็นอันขาด

โดยเฉพาะการละเลยเพิกเฉย การคิดว่าธุระไม่ใช่ หรือพฤติกรรมที่ทำให้เห็นชัดว่าทำเพียงเพื่อให้ตนได้มาโดยไม่ระลึกว่าจะต้องเบียดเบียนหรือสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้ผู้อื่นไปมากเพียงใด เป็นต้น ดิฉันจะให้ความสำคัญมาก ในการเพียรพยายามฝึกให้เด็กๆมองเห็นสิ่งเหล่านี้ แล้วฝึกให้เกิดความตระหนักรู้ เกิดความไหวระวัง และเกิด (ที่จริงต้องบอกว่า อยากให้เกิด)ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารในที่สุด
ขณะเดียวกัน ดิฉันอยากให้เด็กๆตระหนักรู้ว่า คนที่มีการศึกษาถึงระดับที่จิตใจพัฒนาแล้วนั้น ควรพิจารณาโดยแยบคาย ให้เห็นคุณค่าของการกระทำอันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม แล้วก็ลงมือทำได้เป็นอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรอให้บอก ไม่ต้องรอให้เตือน หรือไม่แม้แต่จะรอให้ผู้อื่นเห็นความดีของเราเสียก่อน แล้วจึงลงมือทำ

ดิฉันเชื่อว่า
 

“ ...หากเด็กๆรู้เท่าทันการสื่อสารอย่างแท้จริงแล้ว เขาจะทำความดีโดยอัตโนมัติ และไม่เรียกร้องผลตอบแทนจากการทำความดีนั้น เพราะเขารู้แล้วว่าสิ่งนั้นดี เขาจึงทำ การทำความดี เป็นมงคลอยู่ในตัวเองแล้ว... “

ดิฉันเคยอ่านโพสต์ติ้งของครูไผ่ และอาจารย์ Mathguy   ในเว็บวิชาการด็อตคอมแล้วรู้สึกประทับใจมาก จึงขออนุญาตนำมาสรุปรวมกันดังใจความข้างต้นนี้นะคะ

 ....................................................................
 ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์วิชาการด็อตคอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร(Communication Literacy)  ความเห็นเพิ่มเติมที่ 67 (29 ม.ค. 2550)  
หมายเลขบันทึก: 82290เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท