เมื่อเมืองจีนเขย่าโลก ตอนที่ 3 มีด้วยหรือความแตกต่างอย่างลงตัว


"ถ้าปฏิรูปเร็วเกินไป มันก็จะทำให้วุ่นวาย แต่ถ้าช้าเกินไป มันก็เกิดความลำบากกับคนในประเทศ"

ตอนนี้คงจะเป็นตอนจบของหนังสือเรื่อง China shakes the world ของ James Kynge นะครับ ตอนนี้เราจะมาเน้นหนักกันในเรื่องของคอมมิวนิสต์ทุนนิยม ว่าจะลงตัวกันได้ขนาดไหน

ระบบทุนนิยมที่เน้นเรื่องผลกำไร กับคอมมิวนิสต์ที่เน้นแต่การผลิต ไม่สนกำไรขาดทุน มันจะไปด้วยกันได้อย่างไร ในเมื่ออุดมการณ์ทั้งสองอย่างนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง

เจมส์ยกตัวอย่างง่ายๆครับ เจมส์ยกตัวอย่างถึงตลาดหุ้น ตามหลักแล้วในประเทศประชาธิปไตย ในระบบทุนนิยม ตลาดหุ้นนั้นจะผันผวนไปตามตามต้องการของหุ้นโดยผู้ลงทุน ซึ่งก็อาจจะเกิดจากนโยบายของผู้บริหาร ชื่อเสียงของผู้บริหาร ผลประกอบการ เป็นต้น

แล้วตลาดหุ้นในประเทศจีนนั้นเป็นอย่างไร เจมส์บอกว่าตลาดหุ้นในประเทศจีนนั้นน่าตื่นเต้นมากกว่า เพราะว่าบริษัทของจีนนั้น ส่วนมากก็เป็นการร่วมทุนระหว่างเอกชนและรัฐบาลจีน ดังนั้นซีอีโอของบริษัทเหล่านี้ ก็เคยมีตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์หรือรัฐบาลมาก่อน แล้วถ้าหมดวาระ ซีอีโอ ก็กลับไปทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์อีก

แต่หุ้นจะขึ้นนั้นก็มาจากการป่าวประกาศ โฆษณาชวนเชื่อ ของพวกซีอีโอ พวกคนในรัฐบาลทั้งนั้นแหละ ต่อให้จะเจ๊งขาดทุนซักแค่ไหน และถึงแม้จะขาดทุน เดี๋ยวรัฐบาลก็หมกเม็ดสั่งให้แบงค์มาอุ้มอยู่ดี ไม่มีล้ม

แต่อ่านแล้วตะหงิดๆไหมครับ ไม่ใช่ว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่มี ก็แล้ว Enron ที่ตกแต่งบัญชีตัวเลข หรือ Worldcom ที่ก็โกงเหมือนกัน จนทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องออกมาประกาศ good governance หรือธรรมาภิบาล

ผมว่ามันก็ไม่ต่างกันหรอกครับ จะต่างก็แค่ตลาดหุ้นจีนบริษัทไม่เจ๊งเพราะรัฐบาลช่วยแล้วก็เกือบทุกบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่กับตลาดหุ้นในระบบทุนนิยม บริษัทล้มแล้วผู้ลงทุนหนาวครับ (แต่ผมไม่ได้บอกว่าลงทุนในตลาดหุ้นจีนไม่เสี่ยงนะครับ)

ปัญหาที่มากับการปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์

เนื่องจากว่าระบบคอมมิวนิสต์นั้นมีอยู่พรรคเดียว ดังนั้นมีการเลือกตั้งหรือไม่มีการเลือกตั้งมันก็ไม่ต่างอะไรกันใช่ไหมครับ เมื่อคุณไม่มีการเลือกตั้ง มุมมองของคุณเจมส์แกก็บอกว่า นี่แหละคือต้นตอของปัญหา

เมื่อการเลือกตั้งทำให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลย์ เมื่อมันไม่มีแล้วใครหล่ะจะตรวจสอบ ใครหล่ะจะถ่วงดุลย์ ไม่มี ไม่มีเลย ในเมื่อมันไม่การตรวจสอบและถ่วงดุลย์ปัญหาต่างๆเช่น โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจหลักๆ ที่ส่งผลต่อคนส่วนใหญ่ของชาติ อาจจะไม่ได้รับการเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ แล้วถ้าคนส่วนใหญ่ไม่ชอบ ไม่มีอำนาจถ่วงดุลย์ก็ยิ่งปล่อยกันไปเลยตามเลย ปัญหาเหล่านี้นั้นสำคัญมาก เช่น

  1. การตรึงค่าเงินหยวนกับดอลล่าร์
  2. การไม่มีสหภาพแรงงาน
  3. ค่าสาธารณูปโภค เช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ที่ต่ำติดดิน
  4. การไหลเข้าของเงินทุนที่มากมายสู่ภาคอุตสาหกรรม
  5. การไม่สนใจปราบของเถื่อนอย่างจริงจัง
  6. มลภาวะเป็นพิษ
  7. ป่าไม้ที่หดลงๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ปัญหาเหล่านี้นั้นสำคัญมาก แต่เพราะความเป็นคอมมิวนิสต์เนี่ยแหละที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้มันบานทะโร่ ส่งผลเสียกับเมืองจีนโดยรวม

แล้วปัญหาเหล่านี้มันส่งผลกับเมืองจีนโดยรวมจริงหรือ

ผมได้พูดถึงปัญหาเรื่องการตรึงค่าเงินหยวนไปแล้วว่า ประเทศจีนได้ประโยชน์ตรงที่ของเขาถูก ทำให้เป็นที่นิยมของคนทั่วไป แต่ปัญหานี้นั้นไม่ดีกับผู้ผลิตอื่นที่ไม่ใช่คนจีน เพราะทำให้ของประเทศอื่นๆนั้นแพงไปโดยปริยาย แต่กับคนจีนก็ดีไม่ใช่หรือครับ

ปัญหาเรื่องการไม่มีสหภาพแรงงานนั้น ส่งผลเสียต่อคนจีนตรงที่คนจีนนั้นไม่มีสวัสดิการ ไม่มีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม แต่เหตุผลหนึ่งที่ผมเชื่อว่าถึงอยากจะมีก็มีไม่ได้เนื่องจากว่า อัตราการว่างงานของคนจีนนั้นเยอะมากครับ

ชาวนาอยากเข้ามาทำงานในโรงงาน เป็นกรรมกรก่อสร้างเพื่อค่าแรงที่สูงขึ้นกว่าการเป็นชาวนา ในเมื่อตลาดแรงงานมี supply มากกว่า demand สหภาพแรงงานจะมีหรือไม่มีก็ไม่ต่างกัน เพราะไม่มีทางที่จะไปต่อรองอะไรกับนายจ้างได้อยู่แล้ว

ค่าสาธารณูปโภคที่ต่ำ ใครได้ประโยชน์ครับ ถ้าไม่ใช่คนจีน แล้วคนที่เสียประโยชน์ก็คือบริษัทที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในเมืองจีนทั้งนั้น

ปัญหาเรื่องการไหลเข้าของเงินทุนมหาศาลสู่ภาคอุตสาหกรรม ก็เป็นผลประโยชน์โดยตรงต่อคนจีนอีกนั่นแหละ คุณเอ๋ได้กรุณาตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมืองจีนนั้นเงินล้นระบบ ซึ่งผมเองได้เขียนไว้ว่านี่เป็นลักษณะหนึ่งของคนจีนที่ทำงานหนัก เพราะอยากกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดก็เลยทำงานหนัก แล้วก็ออมเยอะๆ โดยออมถึง 40% ของรายได้

เมื่อเงินล้นระบบ ทำให้เมืองจีนนั้นปล่อยดอกเบี้ยกู้ได้ในอัตราที่ต่ำครับ นอกนั้นพอเหลือก็เอาไปซื้อบอนด์ประเทศต่างๆ ที่เยอะหน่อยก็ของประเทศสหรัฐครับ ทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐนั้นต่ำมากๆ ทำให้สหรัฐเองก็พลอยได้อานิสงค์ไปด้วย ทำให้ธุรกิจอสังหานั้นบูมขึ้นมา

ปัญหาเรื่องขายของเถื่อนก็เหมือนเดิมครับ คนส่วนใหญ่ของจีนก็ได้ประโยชน์ แต่ไอ้ที่เสียประโยชน์ก็บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ แต่ถ้ามองในระยะยาว นี่ก็อาจจะเป็นปัญหาก็ได้ เพราะอาจจะทำให้คนจีนนั้นขาดความคิดที่จะผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ  

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น กระทบกันทั้งโลกครับ เจมส์พูดได้อย่างน่าสนใจว่า คอมมิวนิสต์นี่แหละที่เป็นต้นกำเนิดของปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะว่าเจ้าหน้าที่นั้นจะเติบโตได้ ก็ต้องผ่านการวัดผลจากส่วนกลางซะก่อน ซึ่งเมื่อคุณไม่ได้ผ่านการเลือกมาจากประชาชน เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ทิ้งอุจจาระ ไว้โดยการพยายามทำงานให้เข้าเป้าที่ส่วนกลางสร้างดัชนีไว้ ไม่สนใจปัญหาระยะยาวเรื่องสิ่งแวดล้อม

ก็ในเมื่อสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้อยู่ในดัชนีหลักในการวัดผล แต่การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจนั้นอยู่ ก็เสร็จสิครับ เจ้าหน้าที่ก็หลับหูหลับตา เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ น้ำเสีย อากาศเสียก็ปล่อยกันเข้าไป ตอนนี้รัฐบาลปักกิ่งเองก็รู้แล้ว และก็พยายามที่จะปรับตัวต่อไปครับ  

ปัญหาหนึ่งที่สำคัญก็คือศาลครับ เมื่อเจ้าหน้าที่สูงสุดของเมืองนั้นตั้งศาลขึ้นมาได้ ก็ทำให้ศาลนั้นไม่ค่อยจะเป็นที่สิงสถิตของความยุติธรรมเท่าไร ตาเจมส์ก็เลยบอกว่า คอมมิวนิสต์เนี่ยแหละคือสาเหตุ

ดังนั้นถ้าจะว่ากันจริงๆ รัฐบาลจีนเองก็พยายามปกป้องผลประโยชน์ของคนจีนทุกวิถีทางเหมือนกัน แล้วมันจะต่างกับประเทศประชาธิปไตยตรงไหน

แล้วทำไมจีนไม่เป็นประเทศประชาธิปไตย

เจมส์ถามว่าในเมื่อปัญหามาถาโถม รุมเร้า มากมาย ปัญหาก็เกิดจากเพราะไอ้ความไม่เป็นประชาธิปไตยนี่แหละ แล้วทำไมประเทศจีนไม่เป็นประชาธิปไตยซะ เจมส์พูดถึงเรื่องบริษัทซีนุ้ก (CNOOC) ซึ่งเป็นบริษัทค้าน้ำมันใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศจีน ที่จะมาซื้อ UNOCAL ของสหรัฐอเมริกา ว่าที่ deal นี้ล้ม ก็เพราะว่าความเป็นคอมมิวนิสต์ ความที่คนอเมริกานั้นเชื่อว่า ซีนุ้กนั้นเป็นของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ และได้รับการหนุนหลังอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูจากรัฐบาลจีน คนอเมริกันก็เลยไม่พอใจ เพราะว่าบริษัทอื่นๆนั้นไม่มีทางที่จะมีทุนหนาอย่างรัฐบาลจีน คนอเมริกันรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม

ดีลนี้ก็เลยล้ม เพราะสภาคองเกรสของอเมริกานั้นออกเสียงว่า การขาย Unocal ให้ซีนุ้กนั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

โปะเชะไหมครับ เรื่องการค้าอยู่ดีๆ ไหงกลับมาลงเป็นเรื่องการเมืองซะนั่น แล้วคำว่า Free Trade จะอยู่ที่ตรงไหนล่ะเนี่ย

เจมส์ได้ยกคำพูดของนาย เคา (Cao) ครับว่า "ถ้าปฏิรูปเร็วเกินไป มันก็จะทำให้วุ่นวาย แต่ถ้าช้าเกินไป มันก็เกิดความลำบากกับคนในประเทศ" (When reform is too fast, there is chaos, when reform is too slow, there is stagnation.)

ดังนั้นรัฐบาลจีนก็จะเลือกปฏิรูปสิทธิ เสรีภาพของคนจีน เฉพาะตอนที่เศรษฐกิจเริ่มที่จะถดถอย แต่พอเศรษฐกิจนั้นดีรัฐบาลจีนก็จำควบคุมค่อนข้างเข้มงวดครับ

เจมส์นั้นตั้งคำถามต่อครับว่า ทำไมต้องขยักๆหยุดๆ ทำไมไม่ทำให้ต่อเนื่องไปเลยทีเดียว เล่นทำอะไรแบบกระปริบกระปรอย แบบนี้ ทำไมไม่ทำให้มันสุดๆไปเลย เจมส์คิดว่า มันมีเหตุผล 2 ข้อครับ

  1. รัฐบาลมีเงินจ่ายสำหรับความไม่มีประสิทธิภาพของระบบ
  2. กลัวเสียอำนาจ

แต่เจมส์ก็บอกต่อไปอีกว่า ไม่แน่นะ อาจจะเป็นเพราะคอรัปชั่นก็ได้ ก็ในเมื่อมันยังมีระบบพวกพ้องน้องพี่ผองเพื่อนอยู่ในรัฐบาลจีน สังคมจีน การที่ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ก็เท่ากับตัดช่องทางอำนาจ ช่องทางทำกินไปเลยสิ

ในมุมมองของผม ผมคิดว่าเรื่องมันยากนะครับที่จะทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งที่ถูกปกครองโดยผู้มีอำนาจมาตลอดเป็นร้อยๆ เป็นพันๆปี จะมาเป็นประเทศชาติประชาธิปไตยนั้นมันไม่ใช่ง่ายๆครับ และที่สำคัญต้องมาจากการเรียกร้องของคนหมู่มากในประเทศซะก่อน มันไม่ได้มาจากการที่คนกลุ่มเล็กๆเรียกร้องแต่คนส่วนมากไม่รู้ว่าคืออะไร หรือว่าการกดดันจากภายนอกประเทศ

อ่านความคิดคนอเมริกาไปมากๆ ก็ให้คิดนะครับว่า แล้วคำว่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค จริงๆของคนอเมริกานั้นอยู่ที่ไหน ถ้าไม่สามารถยอมรับสิทธิ เสรีภาพของการปกครองของประเทศต่างๆได้ แล้วมันอยู่ตรงไหนกันแน่

การปกครองโดยคอมมิวนิสต์ ปัญหาหลักในมุมมองอเมริกาจริงหรือ

ปัญหาของเมืองจีนในสายตาโลกตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาก็คือเมืองจีนเป็นคอมมิวนิสต์ครับ แล้วหลายๆคนอาจจะสงสัยว่ามันไปหนักส่วนไหนของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ทราบ

เหตุผลหลักๆก็คงเป็นแค่ว่าสหรัฐนั้นเป็นประเทศส่งออกประชาธิปไตยครับ ดังนั้นก็เลยพล่ามไปเรื่อยๆครับ นอกจากว่ารัฐบาลประเทศที่ไม่ปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นให้ผลประโยชน์ที่สหรัฐอเมริกาพอใจ 

จะว่าไปก็อาจจะเป็นไปได้ว่า เพราะว่าถ้าเป็นประเทศประชาธิปไตยนั้น ประเทศสหรัฐอเมริกาอาจจะมีสามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้ แบบไม่น่าเกลียดเท่าไร (คืออาจจะสนับสนุนผู้สมัครคนที่ให้ผลประโยชน์กับอเมริกา โดยการช่วยการรณรงค์หาเสียง)  แต่ถ้าไม่ได้ปกครองแบบประชาธิปไตย ก็อาจจะต้องทำรุนแรงหน่อย แบบที่ฟิเดล คาสโตรออกมาบ่นว่า ซีไอเอ พยายามฆ่าเขา ซึ่งผลลัพธ์ก็อาจจะแย่มากๆอย่างเช่นเหตุการณ์ที่อ่าวหมู [http://en.wikipedia.org/wiki/Bay_of_Pigs] ที่อเมริกานั้นถึงขั้นส่งทหารจะไปล้มคาสโตรในสมัยของประธานาธิบดีเคเนดี้

แต่ถ้าตัดความเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ออกไป มองแค่ว่าคอมมิวนิสต์เป็นการปกครองโดยมีคณะกลุ่มหนึ่ง ถ้ามองกันแค่นี้เราก็อาจจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ายังมีประเทศหลายๆประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกา อย่างเช่นหลายประเทศในตะวันออกกลางอย่างซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต หรืออย่างปากีสถานที่ประธานาธิบดีมูชาราฟ ก็ปฏิวัติมา แต่สหรัฐก็ยังให้การสนับสนุนต่อไป

หรือว่าประเทศประชาธิปไตยแท้ๆแต่ก็ไม่ได้เป็นที่ถูกโฉลกกับสหรัฐมากนักอย่างอิหร่าน ที่สหรัฐนั้นฮึ่มๆใส่อยู่ทุกวัน หรือเวเนซุเอลล่า ที่ประธานาธิบดีชาเวซถึงขั้นไปด่าอเมริกากลางเวทีสหประชาชาติ

ดังนั้นผมคิดว่ามันไม่ใช่ปกครองด้วยระบอบอะไร แต่รัฐบาลประเทศไหนให้ประโยชน์สหรัฐอเมริกามากกว่า คำอ้างประชาธิปไตยก็คงเป็นคำอ้างสวยหรูต่อไป 

จีนกับความสัมพันธ์นานาชาติ

จีนนั้นเรียกได้ว่า ก้าวข้ามมาเป็นประเทศมหาอำนาจ ยักษ์ใหญ่ของโลกแบบเต็มภาคภูมิเลยทีเดียว ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่มหึมา รวมไปถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆที่ก้าวไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ

สิ่งเหล่านี้ได้ท้าทายประเทศอเมริกาอย่างมาก และอเมริกาก็ได้ตั้งตาดูอย่างใกล้ชิดซะด้วย โดยเฉพาะเรื่องการสะสมอาวุธของประเทศจีน ซึ่งอเมริกาได้ พยายามที่จะบอกว่า จีนนั้นสะสมอาวุธมากไปแล้ว แต่จีนก็โต้กลับมาว่า อั้วะอ่ะสะสมได้น้อยกว่าลื้อเยอะ แล้วที่ลื้อบอกให้เปิดว่ามีอาวุธไรบ้างอ่ะ ลื้อก็ไม่เห็นประกาศบอกชาวบ้านเลย 

เรื่องที่สำคัญที่สุดที่อเมริกาจับตาดูจีนอย่างใกล้ชิด ก็คือเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศที่อเมริกาเหม็นขี้หน้าครับ อย่างเช่นซูดาน อิหร่าน 

แต่เจมส์บอกว่า มันมีเหตุผลนะ ที่จีนต้องไปคบค้ากับพวกนี้ เจมส์บอกว่า ก็ในเมื่อประเทศที่มีน้ำมันอื่นๆ มันเป็นเด็กในคอนโทรลสหรัฐกันไปเกือบหมดแล้ววววววววววววว ทำให้อเมริกานั้นสามารถคอนโทรลเด็กในอาณัติได้ และทำให้เมืองจีนนั้นเสี่ยงกับการโดนอเมริกากลั่นแกล้ง โดยบอกผ่านเด็กว่าอย่าขายน้ำมันให้จีนนะ

แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นจริง จีนคงตายแหงแก๋ ซี้เลี้ยว สถานเดียว ดังนั้นจีนก็เลยต้องพยายามขยายความสัมพันธ์ด้านเซ็งลี้ไปยังประเทศที่อเมริกานั้นเหม็นขี้หน้า เพื่อที่ตัวเองจะได้มีน้ำมันสำรอง เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศจีนเอง

ด้านอาวุธก็เหมือนกันครับ จีนนั้นเสริมอาวุธไปที่ด้านช่องแคบมะละกา เพราะว่าต้องการคุ้มครองการขนส่งน้ำมันของตัวเอง จะว่าไปแล้วเหตุผลของจีนนั้นก็เน้นการเซ็งลี้อย่างเดียวครับ ซึ่งจะว่าไปแล้ว อเมริกาก็สนใจด้านเซ็งลี้เหมือนกันนะครับ แต่ว่าอาจจะชอบแส่เรื่องอื่นเข้าไปด้วย แต่เมืองจีนไม่ใช่ครับ ไม่ค่อยไปยุ่งเรื่องในบ้านเขามากนัก

นอกจากความสัมพันธ์แบบยักษ์ข่มกันระหว่างจีนกับอเมริกาแล้ว เจมส์นั้นกล่าวว่าประเทศจีนนั้นก็พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างชาติ โดยเฉพาะคนใหญ่ๆโตๆ เพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์ที่ต้องการ

อย่างเช่น Edgar Snow นักหนังสือพิมพ์ชาวตะวันตกคนแรกที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประธานเหมา และได้อยู่กินกับเหมาเกือบทุกฝีก้าว และสิ่งที่ออกมา ก็คือหนังสือที่ชื่อ Red Star over China ที่ทำให้คนมองเหมาในทางที่ดีขึ้น หรือการเกณฑ์คนมาต้อนรับ ซีอีโอ ของอินเทล และทำให้อินเทลมาลงทุนในจีนอย่างมหาศาล

จะว่าไปมันก็อาจจะเป็นลักษณะความคิดของคนตะวันออกก็ได้นะครับ ที่พยายามต้อนรับแขกผู้มาเยือน เพื่อให้เขาได้รับความประทับใจออกไป แต่ด้วยความเป็นคนตะวันตกเจมส์อาจจะไม่ได้รับรู้ถึงจุดนี้มากนัก

เจมส์ได้พูดว่า ปักกิ่งเกมส์ปี 2008 เนี่ย น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับจีนมากเลยทีเดียว นอกจากเศรษฐกิจในประเทศที่บูมอย่างต่อเนื่องจากการสร้างสนามกีฬา ยังรวมไปถึงการสร้างภาพให้กับคนต่างชาติด้วย และนั่นจะมีผลอย่างยิ่งต่อการสร้าง Brandname China

เจมส์บอกว่าใช่บริษัทจีนนั้นใหญ่จริง แต่บริษัทจีนนั้นไม่มีแบรนด์เนม และที่สำคัญการเติบโตของบริษัทเหล่านั้นนั้นประหลาดมากกกกกกกก

เจมส์พูดต่อไปว่า ตามหลักแล้วเนี่ย ถ้าคุณบริษัทคุณโต เป็นบริษัทชั้นนำในประเทศ สร้างฐานอันมั่นคงมีกำไรที่มั่งคงในประเทศ คุณก็อาจจะไปเทคโอเวอร์ชาวบ้านชาวช่อง แล้วก็ใช้แบรนด์เนมตัวเอง เหมือนกับที่บริษัทใหญ่ๆจากญี่ปุ่นทำ

แต่ไม่ใช่เลยครับ บริษัทจีนนั้น ซื้อบริษัทต่างชาติ แล้วก็ใช้แบรนด์เนมต่างชาติด้วย แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ เขาซื้อมาเพื่อรักษาตลาดภายในประเทศของตัวเองครับ

เจมส์ยกตัวอย่าง Lenovo ที่ซื้อ IBM แผนก PC มา สาเหตุที่ซื้อก็คือต้องการเอาแบรนด์เนม IBM นี่แหละครับ มาช่วยประคองส่วนแบ่งทางการตลาดที่หดตัวลงของ Lenovo หลังจากที่ Dell และ Hewlett Packard เข้ามา เจ้าของ Lenovo พูดไว้น่าคิดว่า แต่ก่อนนั้นมันเป็นการแข่งระหว่างเต่ากับกระต่าย แต่ตอนนี้นั้นกระต่ายนั้นแบกเต่าวิ่งไปแล้ว

ผมชอบคำพูดของเจมส์ที่ว่า "Not so much how China's rise will affect the world but to what extent the world will allow China to continue its ascent." ก็แปลได้ความว่า ตอนนี้มันไม่เกี่ยวกับว่าความเจริญของเมืองจีนนั้นจะมีผลต่อโลกขนาดไหน แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าเราจะยอมให้เมืองจีนโตขนาดไหนต่างหาก

เพราะว่าผลกระทบของการเติบโตของเมืองจีนนั้นมันระบาดไปทุกที่แล้วววววว หนังสือยกตัวอย่างว่า อยู่ดีๆ ฝาท่อก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย ในหลายๆเมือง จากหลายๆประเทศทั่วโลก เพียงเพราะว่าเหล็กนั้นมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากจีนต้องการเหล็กไปใช้ในการก่อสร้าง

เมืองจีนเขย่าโลก ประเทศไทยก็สั่นไปด้วย

การเติบโตของจีนนั้นทำให้ทุกประเทศสั่นไปหมด ในขณะที่หลายๆคงมองว่าการเติบโตของประเทศจีนนั้นน่าจะสร้างปัญหามากกว่าจะช่วยเหลือเรา บ่อยครั้งเรามองไปที่ของรอบตัวว่าการจ้างงานที่หดตัวลง คนตกงานเพิ่มขึ้นเพราะหลายบริษัทย้ายไปเมืองจีน โชคดีนะครับที่ประเทศไทยยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเจอแบบนั้นหรือเปล่า

ผมโชคดีที่ได้รับรู้ปัญหา เนื่องจากว่าคุณพ่อนั้นทำงานเกี่ยวกับพวกผ้า คุณพ่อพูดว่า ผ้าสำเร็จรูปที่นำเข้ามาเมืองไทยจากเมืองจีนนั้น ยังถูกกว่าราคาการผลิตผ้าดิบของเมืองไทยซะอีก อุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นเป็นอุตสาหกรรมแรกๆในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเมืองจีน

ยิ่งตอนนี้เมืองจีนนั้นพัฒนาไปในทุกๆด้านแล้วเราจะเอาอะไรไปสู้กับเขา

หลายคนชอบบอกว่าเราต้องสร้างแบรนด์ไปสู้ บางคนก็ตอบว่าเราต้อง differentiation บางคนก็บอกว่าเราต้องสร้างนวัตกรรม ขายของที่เมืองจีนไม่ขาย

สำหรับผมแล้ว ผมว่าเราก็ต้องเริ่มจากการบริหารการจัดการที่เป็นระบบระเบียบ สร้างวินัยในการทำงานกับลูกจ้าง ผมเคยคิดว่าสักวันหนึ่งค่าแรงของหลายๆประเทศนั้นต้องลดลง เหตุผลหนึ่งก็คือว่า คุณไม่มีทางที่จะผลิตสินค้าไปสู้กับประเทศจีนได้ เพียงแต่ผมไม่ทราบว่าใครจะยอมลดค่าแรงลง เพื่อที่จะให้ตัวเองมีงานทำ อีกทั้งผมก็ไม่แน่ใจว่า ลดค่าแรงลงมาแล้ว จะสู้เมืองจีนได้หรือเปล่า

ผมพูดในเรื่อง จากแขกสู่เจ๊กตอนที่ 1 ว่าสินค้าเกษตร ในระยะยาวดูจะมีภาษีดีที่สุด ส่วนเรื่องอุตสาหกรรมนั้น ทางรอดหนึ่งที่ผมคิดไว้ก็คือการสร้างจุดขายจากการการันตีเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานของคนงาน รวมไปถึงจุดขายของโรงงานในด้านรักษาสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ค่อนข้างต่อจาก Wal-Mart ครับ เมื่อไม่นานมานี้ Wal-Mart นั้นถูกฟ้องว่าใช้แรงงานทารุณ เยี่ยงทาส สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคนั้นตระหนักถึงเรื่องสินค้าแบรนด์เนมกับกระบวนการผลิต

คนส่วนมากคิดว่าสินค้าแบรนด์เนม นั้นมีกระบวนการผลิตที่สะอาดทันสมัย ใช้แรงงานมีคุณภาพ ไม่ได้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส แต่ตอนนี้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงานทำงานหนัก นั้นมีมากขึ้น ผมมองว่านี้อาจจะเป็นจุดขายจุดหนึ่งสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยก็ได้นะครับ คือ ผลิตสินค้ามีคุณภาพ ราคาถูก สมราคา ไม่มีการใช้แรงงานทาส แรงงานเด็ก มีสวัสดิการให้คนงานพอสมควร และไม่ปล่อยของเสีย ทำลายสิ่งแวดล้อม

พูดถึงสิ่งแวดล้อม ขอต่อท้ายนิดหนึ่งครับว่า ประเทศที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาในปัจจุบันและอนาคตนั้น ไม่สามารถที่จะผลาญทรัพยากร และทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างที่ชาติพัฒนาแล้ว เคยทำได้ในอดีต เพราะว่าโลกเราวิปริตเกินกว่าที่จะทำลายเพิ่มต่อไปได้

ดังนั้นการคาดหวังว่าประเทศจีนจะโตไม่หยุดยั้งนั้นอาจจะไม่ใช่การประเมินที่รอบด้านมากนัก เมื่อการประเมินนี้คิดจากการใช้ทรัพยากรน้ำมัน หรือทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่จริงๆแล้ว ต่อไปพลังงานและทรัพยากรที่ใช้อาจจะต้อง conservation, recycle ที่เป็นการอนุรักษ์พลังงานมากกว่าการผลาญไม่บันยะบันยังแบบนี้ครับ

ผมคงจบเรื่อง China shakes the world หรือเรื่องเมืองจีนเขย่าโลกไว้แค่นี้ครับ

ตอนต่อไปผมคงพูดถึงเรื่องการเปรียบเทียบระหว่างประเทศจีนกับอินเดียครับผม ต่อจากตอนหน้านี้ผมก็ยังคงวนเวียนอยู่ใกล้ๆประเทศจีนครับ เพราะเรื่องต่อไปที่ผมเล็งไว้ว่าจะอ่านคือเรื่องเจงกีสข่านครับ เรื่องนี้จะเกี่ยวกับอะไร เดี๋ยวผมจะเกริ่นไว้ตอนหน้านะครับ ;)

คำสำคัญ (Tags): #จีน#หนังสือ
หมายเลขบันทึก: 82259เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2012 01:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
ตามมาอ่านค่ะ  แหมยกตัวอย่างเพรียบเลยค่ะ 
ขอบพระคุณอาจารย์ Ranee มากนะครับที่ตามมาอ่านและเป็นกำลังใจให้ผมเสมอครับ :D
  • ตามมาทักทาย
  • นึกว่าชวนผมมาอ่านหนังสือ
  • จริงๆแล้วมาอ่านบันทึกนี่เอง
  • ชอบมากครับ

ขอบคุณมากครับอาจารย์ขจิตที่ได้กรุณาสละเวลามาอ่านครับ ผมจะพยายามหาหนังสือเจ๋งๆน่าสนใจๆ มาเล่าให้ฟังอีกครับ

 

 

  • เข้ามาทักทายครับ
  • วันก่อน มีเพื่อนเล่าให้ฟังว่า เค้าไปสัมภาษณ์ เด็กอังกฤษ ตัวเล็กๆ พูดภาษาจีนปร๋อเลยครับ
  • แล้วไปสัมภาษณ์ คุณแม่ คุณแม่บอกว่าจำเป็นมากๆ ที่ลูกเค้าจะต้องรู้ภาษาจีน สำหรับในอนาคตครับ นี่เป็นการเตรียมตัวกันแล้วครับ
  • ต่อไปจะเป็นอย่างไรกันต่อไปครับ หากวันนี้จีนผลิตเองทำเองใช้เอง ไม่นำเข้ามีแต่ส่งออก แล้วไทยเราหล่ะครับ วางแผนอย่างไรกันดีครับ

เอ้อ จบสักที ยาวดีจริง ๆ แต่ก็ได้ความรู้ดีครับ

สำหรับหัวข้อนี้ไม่มีประเด็นเสริมอะไร ไม่ค่อยสันทัดเท่าไร

น่าสนใจมากค่ะ ตอนนี้ลม(เงินทุน)พัดหวลกลับไปทางตะวันออกแล้ว นอกจากต้นทุนทางเศรษฐกิจแล้ว จีนยังมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่ง

ปัญหาที่ผู้เขียนระบุมา ๕-๖ ข้อนั้น ที่น่ากลัวน่าจะเป็นเรื่องมลภาวะเป็นพิษและเรื่องป่าไม้ เพราะขนาดของประเทศ จำนวนประชากรขนาดนี้ size is matter จริงๆค่ะ

รออ่านเรื่องต่อไปอยูค่ะ

ขอบพระคุณทุกๆท่านสำหรับข้อคิดเห็นนะครับ

สิ่งแวดล้อมดูจะเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดตอนนี้สำหรับคนทั้งโลกครับ ถ้าไม่มีการแก้ไข เราอาจจะเห็นหิมะตกที่เมืองไทยก็ได้ครับ ใครจะรู้

พูดไปพูดมา มีใครเคยคิดบ้างไหมครับว่า ต่อไปเราอาจจะเห็นศาลโลกประทับรับฟ้องเรื่องวิบัติสิ่งแวดล้อมข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่โดนภัยวิบัติสิ่งแวดล้อมเข้าไปอย่างจัง

ถ้าเกิดแบบนั้นจริงก็น่าคิดนะครับว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท