อาจารย์เปรม บุญเรือง ครูนอกห้องเรียนของผมอีกคนหนึ่ง


ผมรู้จักอาจารย์เปรม  บุญเรือง  ครั้งแรกราวๆในปี 2537-38    ตอนนั้นผมทำงานในโครงการพัฒนาชนบทผสมผสานจักราช  นครราชสีมา   อาจารย์ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมประเมินโครงการ    อีกทั้งมาเป็นโค๊ชในด้านเศรษฐศาสตร์  ให้แก่ทีมงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในโครงการ    เพราะว่าตอนนั้น  เจ้าหน้าที่ของเราทั้งหมดส่วนใหญ่มีพื้นฐานการศึกษาทางด้านเกษตร  ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมศาสตร์ กันเป็นส่วนใหญ่    แต่พอเราทำงานในพื้นที่  โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการสร้างรายได้ของกลุ่มเป้าหมายในชุมชน    ทำให้เราเห็นข้อด้อยของทีมงานก็คือ  การมองในมิติ "เศรษฐศาสตร์"    ในตอนนั้นได้อาจารย์เข้ามาช่วย  ลงพื้นที่ด้วยกันและเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน  ประชุมพูดคุยกันไปหลายครั้ง   เป็นจุดที่ทำให้เกิดการพัฒนางานในหลายๆด้าน

อาจารย์เปรม  บุญเรือง  เคยเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยมาก่อน  แต่ตอนหลังลาออกมาทำงานเป็นผู้ประสานงานให้แก่องค์การต่างประเทศแบบเต็มตัว       จุดเด่นของอาจารย์ที่ผมได้เรียนรู้  และเห็นว่ามีน้อยคนนักที่พัฒนาเรื่องพวกนี้ได้   นั่นก็คือ   เครือข่ายทางสังคม  ทั้งในและต่างประเทศ     อาจารย์เปรมทำงานประสานงานเพียงคนเดียว  โดยมีเลขานุการ อีก 1 คนที่คอยช่วยเหลือ    แต่สามารถทำงานได้รอบตัว   วิ่งรอกทั่วประเทศและต่างประเทศ   และที่เด่นมากๆ  คือ  ทักษะในการเจรจาต่อรอง   ยากที่จะลอกเลียนแบบได้จริงๆครับ

หน่วยงานต่างประเทศที่อาจารย์เป็นผู้ประสานงานนั้น  เป็นมูลนิธิสังกัดพรรคการเมืองในต่างประเทศ    ดังนั้น  ดูเสมือนว่าภารกิจที่ทำก็น่าจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับด้านการเมือง     แต่ปรากฏว่าคนละเรื่องครับ   งานที่ทำ 80% เป็นงานที่เปลี่ยนมาเป็นการสนับสนุนโครงการในภาคชุมชน  ภาคสหกรณ์    ผมเคยคุยถามเรื่องนี้กับอาจารย์ว่า  ทำไมอาจารย์ถึงเอาเงินฝรั่งมาทำเรื่องนี้ได้  ทั้งๆที่เป็นมูลนิธิทางด้านการเมือง     อาจารย์เล่าให้ฟังว่า   ตอนทำงานกับมูลนิธินี้ใหม่ๆ  อาจารย์ก็จับประเด็นเรื่องการเมือง   เช่น  จัดเวทีให้นักการเมืองมาเสวนากันว่า  ทำอย่างไร  จึงจะลดการซื้อเสียงได้       แต่ผลที่ออกมากลับเป็นคนละด้าน   ยิ่งทำ  ก็ยิ่งเกิดมีประเด็นการซื้อเสียงแรงขึ้น     อาจารย์จึงได้คุยกับมูลนิธิว่า  การทำงานกับการเมืองโดยตรงนั้น   อาจจะไม่เหมาะสำหรับบริบทในสังคมไทย   และอีกอย่างระบบการเมืองไทยมีทุนสนับสนุนมากพอแล้ว    จึงเจรจากับมูลนิธิว่าให้เปลี่ยนแนวการทำงาน   หันมาช่วยเหลือกลุ่มคนเล็กคนน้อย   ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศจะดีกว่า     อาจารย์เล่าว่าให้เหตุผลกับฝรั่งว่า   หากชาวบ้านเขาพึ่งตัวเองได้มากกว่าที่เป็นอยู่   การซื้อเสียงก็จะลดไปเอง    จึงขอให้มูลนิธิหันมาสนับสนุนให้ชาวบ้านพึ่งตนเองจะดีกว่า     มูลนิธิก็เลยเห็นด้วย 

ธวัช  หมัดเต๊ะ

หมายเลขบันทึก: 82240เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมอีกคนครับที่เคยร่วมงานกับอาจารย์เปรม บุญเรือง และเคยร่วมงานกับคุณธวัช หมัดเต๊ะ ผมยังคงคิดถึงทุกคนอยู่ครับ

แต่ผมได้ลาออกจากงานประจำแล้ว และยังคงเป็นพี่เลี้ยงให้กลุ่มทางสังคมและกลุ่มทางเศรษฐกิจ ของภาคสหกรณ์ สหกรณ์หลายสหกรณ์ก็ยังคงกล่าวถึงความดีของ อ.เปรมอยู่ครับ เพราะเขามักจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนกิจกรรมของสหกรณ์อยู่เสมอ ๆ

ขอบพระคุณอาจารย์มากที่เมตตาผมกันพี่น้องชาวสกลนคร และจัด

สรรงบประมาณมาให้

ผมได้มีโอกาสช่วยประสานงานกับอาจารย์ ท่านเป็นคนน่ารักเท่าที่ได้พูดคุยท่านอยากพัก อยากให้อาจารย์กลับมาทำงานอีก ผมว่าประเทศเรายังรอคนอย่างอาจารย์อยู่ครับ ท่านสุดยอดมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท