กรมบัญชีกลางจูงใจ 94 กองทุนเพิ่มรางวัลรายที่บริหารจัดการดี


กรมบัญชีกลางจูงใจ 94

กรมบัญชีกลางอัดเงินรางวัลล่อใจกองทุนภายใต้การบริหารกว่า 94 กองทุน ให้นำเงินหมุนเวียนในกองทุนกว่า 1 แสนล้านบาทไปใช้ เพื่อให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หลังเม็ดเงินดังกล่าวถูกฝากไว้ในธนาคารพาณิชย์และนำเพียงดอกผลมาใช้จ่ายเท่านั้น  พร้อมทยอยประเมินผลงานก่อนตัดสินใจยุบรวมกองทุน หลังบริษัท ทริส เรทติ้ง ส่งผลการประเมินการดำเนินงานของกองทุนในปี 2549 มายังกรมบัญชีกลางแล้ว

นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางมีแนวคิดที่จะให้ผลตอบแทน เป็นเงินรางวัลแก่กองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของกระทรวงการคลัง จำนวน 94 กองทุน ที่มีการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะมีการนำเงินของกองทุนไปใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจูงใจให้กองทุนต่าง ๆ ได้มีการใช้จ่ายเงินที่อยู่ในกองทุนจำนวนมาก ในแต่ละปีก็จะมีเงินจากงบประมาณสมทบเข้ากองทุนทุกปี โดยปีงบประมาณ 2550 นี้ กองทุนต่าง ๆ ได้รับงบประมาณถึง 8.5% ของวงเงินงบประมาณ 1.56 ล้านล้านบาท หรือเป็นจำนวนเงินถึง 1.32 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 กว่า 4 หมื่นล้านบาท    "ปัจจุบันเงินที่อยู่ในกองทุนมีจำนวนมาก โดยทั้ง 94 กองทุนมีเงินหมุนเวียนในกองทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนที่มาก หากไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ       ก็จะส่งผลดีกับระบบ เราจึงมีแนวคิดที่จะสร้างแรงจูงใจให้กองทุนต่างๆ นำเงินที่มีอยู่ในกองทุนออกมาบริหารจัดการ ทั้งเรื่องของการลงทุน หรือนำไปใช้จ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับกองทุน และระบบเศรษฐกิจ ส่วนผลตอบแทนเงินรางวัลจะเป็นจำนวนเท่าใด อยู่ระหว่างการศึกษาปัจจุบันเงินกองทุนส่วนใหญ่จะฝากไว้ในธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำดอกผลมาใช้จ่าย แต่เงินกองทุนจริง ๆ จะไม่ได้มีการนำมาใช้" นายมนัส กล่าว

 

เขายังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางเคยมีแนวคิดที่จะนำเงินจากกองทุนมาเก็บไว้ในเงินคงคลัง เพื่อเป็นเม็ดเงินในการบริหารสภาพคล่องของงบประมาณรายจ่าย หลังจากบางช่วงของปีรายรับมีเข้ามาไม่ทันกับรายจ่าย ส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณจากกรมบัญชีกลางค่อนข้างติดขัด ทำให้เม็ดเงินไม่สามารถอัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ทันการ แต่เนื่องจากการนำเงินของแต่ละกองทุนเข้ามาไว้ในส่วนกลางนั้น มีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะการจัดตั้งกองทุนส่วนใหญ่จะมีกฎหมายการจัดตั้ง  "หากจะนำเงินมาใส่ไว้ในส่วนกลาง ก็จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายซึ่งล่าช้า ทำให้กรมบัญชีกลางยกเลิกแนวคิดดังกล่าว และหันมาใช้วิธีบริหารจัดการเงินกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นายมนัส กล่าว

             เขายังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรมบัญชีกลางได้ว่าจ้างให้บริษัท ทริส เรทติ้ง ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับเครดิต     เข้ามาประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนต่าง ๆ โดยมีตัวแทนจากกรมบัญชีกลางเข้าร่วม ซึ่งทริส เรทติ้ง จะมีตัวชี้วัดผลการดำเนินงานในหลายด้าน เพื่อปรับปรุง และเร่งรัดให้การดำเนินงานของกองทุนดีขึ้น  "หากกองทุนใด

ยังมีผลการดำเนินงานที่ไม่ดีนัก ก็จะให้เวลาในการปรับปรุง ก่อนที่กรมบัญชีกลางจะพิจารณาว่า ควรยุบเลิกกองทุนไปเลยหรือไม่ เพราะหากว่า ยังไม่สามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานได้ ในที่สุดก็จะเป็นภาระต่องบประมาณของรัฐ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ดำเนินการยุบเลิกมาแล้วหลายกองทุน" นายมนัส กล่าว

 

นายมนัส กล่าวด้วยว่า ในรอบสิ้นปี 2549 ที่ผ่านมา ทางบริษัท ทริส เรทติ้ง ได้ส่งผลการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนต่าง ๆ มาให้กรมบัญชีกลางเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ทางกรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างทยอยพิจารณาผลการประเมิน ซึ่งบางกองทุนอาจมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น บางกองทุนอาจแย่ลง เราก็ต้องพิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่เบื้องต้น ในปีนี้ยังไม่มีแผนที่จะยุบรวมกองทุนใดๆ

 คม ชัด ลึกกรุงเทพธุรกิจ  เดลินิวส์  ข่าวสด  5 มี.ค. 50แนวหน้า  สยามรัฐ 3 มี.ค. 50
คำสำคัญ (Tags): #กรมบัญชีกลาง
หมายเลขบันทึก: 82166เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท