มองโลกจากอีกมุมโลก (Book Tag)


        ดิฉันแปลกใจมากที่อ่านหลายบันทึกแล้วพบว่าหลายท่านกล่าวว่าได้อ่านหนังสือพุทธธรรม ที่เขียนโดย ท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)   แล้วชอบ และได้มองเห็นพระพุทธศาสนาจากมุมมองที่กระจ่างขึ้นอีก 

       ดิฉันอธิบายยาวๆไม่ใคร่ถูก แต่ยังคงรู้สึกเสมอมาว่าโชคดีเหลือเกินที่เกิดทันเห็น ทันอ่าน  ทั้งท่านพุทธทาส และท่านพระธรรมปิฎก 

       บางครั้งมนุษย์ก็ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าคำอธิบายให้ตรงตามความเชื่อของตน   แต่บางครั้ง  มนุษย์ก็กล้าสงสัย...ตั้งคำถาม...และหาคำตอบ  ดิฉันคิดว่าเราโชคดีมากที่มีโอกาส และมีเสรีในการหาคำตอบ

                                       ..... นับถึงวันนี้...เรายังโชคดีอยู่มาก!  .....

       และที่ดิฉันแปลกใจเสมอมา คือเมื่อพบว่าคนรุ่นราวคราวเดียว  หรือใกล้เคียงกับดิฉัน  ได้อ่านเรื่องชุด บ้านเล็กในป่าใหญ่ ที่แปลโดย "สุคนธรส" 

      เวลาคุยแล้วนึกเห็นภาพคล้ายกัน   หรือไม่ก็เกิดจินตนาการและอารมณ์ร่วมที่ใกล้เคียงกัน  ทั้งลำห้วย  น้ำค้างแข็ง  ผ้าสักหลาดคันๆ เป็นต้น

       และเป็นเพราะเรื่องชุดนี้ ทำให้ดิฉันรักการอ่าน  ชีวิตของเด็กหญิงและครอบครัวเล็กๆที่แสนอบอุ่นอีกซีกโลก   ทำให้ดิฉันเห็นการอ่านเป็นประตูมหัศจรรย์สู่โลกกว้าง  

                                                และยังเห็นอย่างนั้นอยู่จนทุกวันนี้.....   : )

ขอบคุณอาจารย์ลูกหว้าที่ส่งต่อ  book tag มานะคะ  เลยขออนุญาตตอบในบล็อกใหม่เสียเลยค่ะ :-)

คำสำคัญ (Tags): #สิ่งเล็กๆน้อยๆ
หมายเลขบันทึก: 82088เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2007 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • คนสมัยนี้คงสับสนวุ่นวายกับการดำเนินชีวิตหมดที่พึ่งทางใจจึงหันมาหาธรรมะกันมากขึ้นกระมังครับ ผมว่าหนังสือธรรมะขายดีกว่าแต่ก่อนนะครับ
  • ไม่เคยอ่านเรื่องบ้านเล็กในป่าใหญ่จึงอนุมานว่าอายุเรายังน้อยกว่า อ.ดอกไม้ทะเล :>

รู้งี้ดิฉันเลือกเรื่อง "เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก" ก็ดี  จะได้มีเพื่อนร่วมรุ่นเยอะหน่อยอ่ะค่ะ :-)

มายกมือร่วมรุ่นค่ะ

หนังสือยุค 2505-2516 น่าจะเป็นช่วงทองของหนังสือแปลที่ดีๆ หลายเล่มนะคะ อย่างเช่น

หนังสือชุดบ้านเล็ก โดย ลอรา อิงกัลล์ ไวล์เดอร์ แปลโดย สุคนธรส โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมสาส์น เป็นผู้แทนจำหน่ายเป็นหนังสือที่ออกมารุ่นราวคราวเดียวกับหนังสือแปลดีๆ เช่นเหมาโหลถูกกว่า  ของ Gilbreth & Carey ที่แปลโดยเนื่องน้อย ศรัทธา และจัดจำหน่ายโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดบำรุงสาส์น ฮัคเกิลเบอร์รี ฟินน์ ของ มาร์ก ทเวน  กัลลิเวอร์ ผจญภัย ของยอนาธัน สวิฟต์ เกาะมหาสมบัติของรอเบอร์ต ลุยส์ บัลฟูร์ ทั้ง 3 เล่ม แปลโดยอาษา ขอจิตต์เมตต์ จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ก้าวหน้า และช่วงเดียวกันกับหนังสือแปลของสันตสิริชุดทรัพย์ในดิน ของเพอร์ล เอส. บั๊ค

ในช่วงเดียวกับ หนังสือน้องศรีธนญชัย ของ พ. บางพลี จนถึงช่วงปลาย ของ 2510+ ที่หนังสือแปลของ อ. สนิทวงค์ ก็โลดแล่นครองใจอย่างเรื่อง ไฮดี้ ของ Johanna Spyri 

..

มาอยู่ร่วมรุ่น(หรืออาจสูงวัยกว่า)อาจารย์ค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์จันทรรัตน์มากค่ะ

และขออภัยด้วยนะคะที่บอกชื่อชุดหนังสือผิดไป  (ที่ถูกคือชื่อ บ้านเล็ก)   หนังสือหลายเล่มที่อาจารย์พูดถึงเป็นหนังสือที่อ่านแล้วประทับใจมาก 

ดิฉันชอบเรื่อง "เด็กจอมแก่น"ด้วยค่ะ (ถ้าจำชื่อผิดขออภัยนะคะ)  ผู้แปลถ่ายทอดการสนทนาของเด็กได้อย่างน่ารักเหลือเกิน  จำได้ว่าพระเอกชื่อวิลเลียม  แล้วมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเรียกเขาว่า  "วีเยี่ยม" 

สมันนั้นดิฉันนั่งอ่านในห้องสมุดแล้วเผลอหัวเราะก๊ากๆ  คนอื่นหันมองอายเพื่อนน่าดูอ่ะค่ะ...

เอ่อ...อาจารย์ขา  ขอบพระคุณที่อาจารย์กรุณายกมือร่วมรุ่นด้วยนะคะ    ดิฉันขออนุญาตยืนเข้าแถว "ต่อจากอาจารย์"  นะคะ   (^_^ )

ดิฉันลองทำลิงก์ไปที่วิชาการด็อตคอม  เผื่อมีท่านผู้อ่านสนใจที่มาที่ไปของเรื่องชุด "บ้านเล็ก"  นะคะ   

http://www.vcharkarn.com/include/article/showarticle.php?Aid=323

หวังว่าคงลิงก์ได้นะคะ  อาจารย์บัญชาท่านกรุณาอธิบายให้อย่างดี   แต่ดิฉันมีความสามารถทำผิดๆถูกๆได้อย่างสม่ำเสมอค่ะ  :)

ขอบคุณค่ะ ตามไปที่ลิงค์แล้วนะคะ อ่านที่ทุกคนให้ความเห็น....น่ารักมากค่ะ

เมื่อปี 2546 ได้ข่าวว่า หนังสือชุดนี้ได้รับการบรรจุเข้าเป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมในมลรัฐหนึ่งของสหรัฐ

หนังสือชุดนี้ส่วนหนึ่งจะเห็นการใช้ชีวิตที่พอเพียง ประหยัดช่างประยุกต์ และการสนับสนุนกันในการทำความดีมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดิฉันคิดว่าลึกๆแล้วในใจของทุกคนก็โหยหาและต้องการเป็นต้องการทำ แต่ทำไมโดนใจเด็กๆ ได้เร็ว ก็คงเพราะจิตใจที่อ่อนโยนของเด็กๆ ก็จะรับสื่อสิ่งเหล่านี้ได้เร็วกว่า...นะคะ

ขอบคุณที่ได้คุยกันค่ะ

ยืนหัวแถวอย่างมีความสุข...เพราะว่าตัวเตี้ยค่ะ ยืนปลายแถวมองไม่เห็นครู.....:)

ดิฉันจะรออ่านบล็อกของอาจารย์  จันทรรัตน์ เจริญสันติ นะคะ  

ระหว่างนี้ดิฉันก็จะเขียนถึงหนังสือที่ชอบเหลือเกินต่อไป  ...จนกว่าจะหมดตู้..... (อาจเกินโควต้าที่ อ.ลูกหว้า tag ไว้ นิดๆหน่อยๆ   ราวห้าสิบหกสิบเล่ม)    ^_^

หลายท่านคงได้อ่านหนังสือ คำคมเพื่อการสนทนา Quips&Quotes ที่รวบรวมโดย Richard S. Zera แปลและเรียบเรียงโดยคุณ "คนเดิม" บ้างแล้วนะคะ

หนังสือเล่มนี้รวบรวมเอาคำคมฝรั่งที่คมคายและให้อารมณ์ขัน  ทำให้ดิฉันเห็นมุมมองที่จะใช้บ่นเอ๊ยพูดคุยกับเด็กๆได้เยอะ  เด็กๆก็เห็นขัน ขณะเดียวกันก็ได้แง่คิดติดมือกลับบ้าน(หรือกลับหอ)ไปด้วย

ดิฉันก็เพิ่งมองเห็นตัวเองว่าคำคมที่อ่านแล้วชอบนั้น  มักเป็นการใช้คำแบบขัดความ  หรือเป็นเพราะอ่านแล้วคิด  คิดแล้วเห็นจริง  และเป็นความจริงแบบเหน็บๆด้วยอารมณ์ขัน  ทำให้ยิ้มหรือหัวเราะได้

แล้วก็มักเป็นของ Mark Twain อยู่บ่อยครั้ง .....   เช่นคำคมนี้

" To be good is noble, but to teach others  to be good is even nobler - and less trouble."

การเป็นคนดีนั้นสูงส่ง แต่การสอนคนอื่นให้เป็นคนดีนั้นสูงส่งยิ่งกว่า ....และลำบากน้อยกว่า...

คืออย่างนี้นะคะ ...  ดิฉันอ่านแล้วก็หัวเราะกิ๊กอยู่คนเดียว   ที่สอนๆบ่นๆลูกศิษย์ไปนั้น หลายเรื่องดิฉันก็ยังทำไม่ได้อย่างที่สอน  แต่ก็ต้องสอนเพราะเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องบอกเขา 

มีอีกหลายคำคมที่ดิฉันชอบมาก  อย่างเช่นของ Thomas Fuller ที่ว่า..

"He was a vary valiant man who first adventured on eating oysters."

คนแรกที่หาญเสี่ยงกินหอยนางรมนับเป็นคนเก่งกล้าอย่างยิ่ง

 ดิฉันนั่งคิดอยู่พักหนึ่งถึงได้นั่งยิ้มน้อยยิ้มกลางยิ้มใหญ่อยู่คนเดียว........ !

 

 

 

 

 

 

บางครั้งชีวิตก็ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป .....

ถ้าเข้าใจอย่างนี้ตั้งแต่เล็ก  ดิฉันคงไม่ต้องนั่งอยู่อย่างโดดเดี่ยวในห้องเรียน  เพียงเพื่อจะตั้งคำถามกับทุกสิ่งรอบข้างโดยไม่พบคำตอบที่ต้องการในหนังสือเรียนเล่มใดๆเลย......  แม้แต่เล่มเดียว

ดิฉันกลับพบคำตอบในหนังสืออ่านนอกเวลา...  ตัวละครเหล่านั้นปลอบประโลมใจดิฉัน  และทำให้ดิฉันรู้ว่าเราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวในโลกนี้เสมอไป...

ดิฉันได้คำตอบว่าหนังสือเรียน พรากความเป็นมนุษย์ไป  ดิฉันมองไม่เห็นหัวใจอยู่ในนั้น  แต่ดิฉันบอกใครไม่ได้ ดิฉันไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร.... 

วันหนึ่งเมื่อแก่แล้ว  ดิฉันได้อ่านหนังสือ ชีวิตกับความขัดแย้ง  : ปัญหาจริยธรรมในชีวิตประจำวัน  เขียนโดย  ผศ.ดร.สมภาร พรมทา (ปัจจุบันเป็น รศ.)   อ่านแล้วรู้สึกซาบซึ้งและเห็นจริง

บางเรื่องดิฉันมีคำตอบในใจ  และทำอย่างไรก็ไม่เปลี่ยนคำตอบ  เพราะดิฉันมีจุดตัดสินตามหลักคิดของตนเอง   บางเรื่องดิฉันพยายามหาคำตอบ  แต่ก็ยังคงเป็นคำตอบที่มีข้อแย้งได้ไม่สิ้นสุด

และเป็นข้อแย้งอันเป็นความเห็นตามธรรมดาของมนุษย์  ที่จะเอาผิดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยเด็ดขาดมิได้  เพราะมีเหตุปัจจัยเกี่ยวเนื่องเกื้อหนุนกันอย่างสมแก่เหตุและผล  ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลมาสนับสนุนแนวคิดของตนอย่างกว้างขวาง  และลึกซึ้งแจ่มกระจ่าง  จนได้เห็นจริงว่า

.....บางครั้ง  คำตอบที่ถูกในโลกนี้  ก็มิได้มีเพียงคำตอบเดียว......

หนังสือเล่มนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสือห้องสมุดโรงเรียน ประจำปี 2543 จากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.)

ดิฉันฝัน(และตั้งใจ)ไปว่า หากยังมีโอกาสได้อยู่ในหลักสูตรนิเทศศาสตร์ ก็จะลองเสนอให้มีหนังสืออ่านประจำหลักสูตร  กำหนดไว้เป็นแกนสัก 40 เล่มตลอดหลักสูตร  และจะใส่ชื่อหนังสือเล่มนี้เข้าไปด้วย

ดิฉันคิดว่าเด็กๆนิเทศศาสตร์  ควรได้อ่านหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างยิ่ง  ในฐานะสื่อมวลชน  เขาควรถูกฝึกอย่างหนักให้มีหลักคิด  ก่อนจะมีหลักคิดได้  เขา ควร ถูกฝึกให้คิดอย่างหนัก เสียก่อน 

ดิฉันแอบเข้าข้างตัวเองว่า หากอ่านหนังสือเล่มนี้เข้าใจ  ดิฉันคงฝึกเขาเรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร ได้เร็วขึ้นอีกเยอะ 

ดิฉันชอบตอนท้ายของคำนำในการพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง มากด้วย   แต่ขออนุญาตไม่ยกมาไว้ที่นี่  เพื่อมิให้ความเห็นนี้ยาวเกินไป

และขออภัยผู้อ่านหากทำให้ต้องลำบากเลื่อนสครอลบาร์ยาวๆนะคะ  ดิฉันกะว่าจะเขียนถึงหนังสือที่ชอบอย่างเงียบๆไปเรื่อยๆในบล็อกเดียวกันนี้  เผื่อมีผู้สนใจตรงกันก็จะได้คุยกันในคราวเดียวค่ะ :)

 

ชุดบ้านเล็กของลอร่า อิงกัลส์ไวล์เดอร์ สุดยอดค่ะ

อาจมีพิมพ์ผิดบ้างนะคะ อย่าเพิ่งว่ากัน(ตัวเองชอบไปปากหมาตาผีกับคนอื่น ๆ ไว้เยอะค่ะ..กลัว..กรรมตามสนอง)

แผ่นดินนี้เราจอง, หลายรักของโดบี้,พระจันทร์กระดาษ ฯลฯ แปลโดยอ.เทศภักตร์ นิยมเหตุ

ตอนนี้ยังนึกชื่อผู้เขียนต้นฉบับไม่ออก

ชั่วนิรันดร์ นาตาลี แบบบิสต์(ใช่น่า..)

ต้นส้มแสนรัก ฉบับแปลเล่มแรก ๆ อ.มัทนี เกษกมล

แล้วก็ของไทย..แห้ว โหระพา...ง่า...พระมหาราชา

คุณตาฮิวเมอริสต์อีกหลายเล่ม

ซึ้ง ๆ ก็...อ.สุวรรณี สุคนธานะคะ ความรักครั้งสุดท้าย...ซึ้งบนความเป็นจริงแห่งชีวิต น่าเสียดายที่อาจารย์อายุสั้น..

ดอกไม้และผีเสื้อ นิพพาน

ความสุขแห่งชีวิต..มัทนี เกษกมล..??..อันนี้กระโดดกลับมาเรื่องแปล

ว.วินิจฉัยกุล กฤษณา อโศกสิน..เอ..นี่เราเริ่มเม้นท์ยาวเป็น ติดโรคเจ้าของบ้านหล่าว

 

 

พอก่อนค่ะ คราวหน้าต้องหาขนมมาแกล้ม พี่แอมป์ชงกาแฟรอนะคะ

cappuccino เท่านั้น

 

 

ผีเสื้อและดอกไม้ ค่ะ เมาข้าวกะเพรากลางวัน..เคยเขียนถึงด้วย ที่นี่

ขอฝากอีกสักเรื่อง ความสุขของหนูน้อย..ซีไรท์  กะทิ ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก 

รับแคปุชชิโนร้อนๆสักแก้วก่อนไหมคะ  ... : )   : )    : )  

โอ้โหคุณหมอเล็ก  !! ...เราอ่านหนังสือยุคเดียวกันเลย  แถมยังจำได้มั่งไม่ได้มั่งเหมือนกันเอ๊ยคล้ายกันด้วยค่ะ  คือดูๆไปแล้วคุณหมอเล็กดูจะจำแม่นกว่าพี่แอมป์เยอะ  : ) 

พี่เคยนึกทบทวนเรื่องการอ่านหนังสือของตนเองแล้วก็นึกขำนะคะ  ที่ว่าสมัยเล็กๆเพื่อนว่าพี่เป็นคนพูดไม่รู้เรื่องนั้นเห็นจะจริง เพราะหนังสือปรัชญาทั้งหลายที่พี่อ่านนั้นตัวเองยังอ่านไม่รู้เรื่อง แล้วยังไปถามเพื่อนให้เพื่อนงงไปตามๆกันอีกด้วย  ที่อ่านเพราะเหตุว่ามันวางอยู่ใกล้มือ  หยิบถึง  เหตุผลมีอยู่เท่านี้จริงๆ   แต่เพื่อนๆสมัยโรงเรียนประถมดูจะรับไม่ได้เอาเลย  ...

ถ้อยคำภาษาที่เราใช้ นอกจากจะได้รับอิทธิพลมาจากคนในครอบครัวแล้ว ยังได้มาจากสื่อที่ผ่านหู ผ่านตาและกระทบใจเรา(มากๆ)อีกด้วย  : )

จากนั้นพี่ก็กลับลำมาอ่านนิยายของคุณทมยันตี ซึ่งใช้ภาษา สั้น กระชับ ยอกย้อนคมคาย เดินเรื่องเร็ว   แล้วก็ต่อด้วยนิยายและเรื่องสั้นอีกหลายเล่มของนักเขียนอีกหลายท่าน ที่ทำให้พอคุยกับเพื่อนสมัย ม.ต้น บางคนได้บ้าง  เพราะเป็นเรื่องความรักเป็นส่วนมาก แต่ทันทีที่ตั้งต้นคุยกับเพื่อนเรื่อง โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล นกที่รักในการเรียนรู้นอกกระแส คือพี่แค่จะเล่าให้ฟังว่านกตัวนี้บินได้ตั้งหลายท่า  ไม่เหมือนนกบนฟ้าที่เราเคยเจอ  เพื่อนก็ไล่ออกจากวงกินข้าว ต้องไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวอย่างเหงาๆอยู่คนเดียวเช่นเคย 

การเสพวรรณกรรมแห่งยุคสมัย... แต่ไม่เข้ากับวัย   ก็อาจทำให้เรากำพร้าเพื่อนได้เหมือนกัน : )   ; ) 

วรรณกรรมหล่อหลอมวิธีคิดและวิธีมองโลกของเด็กได้เยอะเหมือนกันนะคะ   พี่ชอบอ่านหนังสือแนวจิตวิทยา ปรัชญา และเรื่องราวอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับจิตใจมนุษย์  และพี่มักให้ความสำคัญกับเรื่องจิตใจก่อนเรื่องอื่นๆ  อาจเป็นเพราะหนังสือบนชั้นที่บ้านมีแต่เรื่องเหล่านี้  ไม่ได้แปลว่ามีเยอะนะคะ  แต่ในจำนวนจำกัดที่มีนั้น  หนังสือแนวนี้จะวางอยู่ใกล้มืออย่างมีนัยยะสำคัญ นอกนั้นก็จะเป็นหนังสือเลขของพ่อ คหกรรม ดอกไม้ใบตอง และอาหารของแม่  ซึ่งพี่ไม่สนใจจะหยิบอ่านแม้แต่เล่มเดียว  เพราะพี่ไม่ชอบเลขที่สุดในโลก  และกลัวชั่วโมงดอกไม้ใบตองอย่าบอกใคร  สองวิชานี้พี่ทำไม่ได้เลย และไม่ชอบอย่างยิ่ง รู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยและด้อยค่า  โดยเฉพาะเมื่อครูบอกว่าทำไมพ่อเก่งเลขแต่ลูกทำไม่ได้  และทำไมไม่เก่งเรื่องดอกไม้ใบตองทั้งที่แม่เป็นครูสอน  ทั้งที่ครูไม่ได้ดุอะไรมากมาย และบางท่านก็พูดอย่างเอ็นดูด้วยซ้ำ   แต่สมัยเล็กๆพี่ก็เจ็บช้ำน้ำใจน่าดู 

พี่เชื่อว่าผู้ใหญ่ไม่ได้ตั้งใจเลย   เราเพียงแต่เห็น"ภาพตัวตน"ไม่ตรงกันเท่านั้น  โลกของพี่จากมุมที่ครูเห็น...เป็นคนละมุมกับที่พี่คิดว่าพี่เป็น   แต่มันน่าช้ำใจตรงที่ว่าพี่พยายามพูดและบอกเท่าไหร่ก็ไม่มีใครอยากฟัง ว่าพี่ไม่ได้เก่งสองเรื่องนั้นอย่างพ่อกับแม่  เพราะการ"อธิบายตัวเอง"ของพี่ด้วยการพูดนั้น มันสับสนวกวนสิ้นดี

อันที่จริง การอธิบายตัวเอง  ซึ่งหมายถึง การสื่อสาร(ด้วยการพูดหรือเขียน)เพื่ออธิบายถึงตัวตน ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ ความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึกลึกๆ ฯลฯ ของเราให้คนอื่นฟังนี้ เป็นปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างหนึ่งของมนุษย์ หากเรามองว่า"การสื่อสาร คือการประกาศว่าเรามีตัวตน"

ลักษณะเฉพาะของพฤติกรรมอธิบายตนเองนั้น  อาจเกิดจากการที่ผู้นั้นมักมีความรู้สึกอยากบอกอยากเล่าให้คนใกล้ชิดเข้าใจ ว่าตัวตนของเขาเป็นเช่นไร  มีอารมณ์มีความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงอย่างไร  และบางสถานการณ์อาจเรียกว่า"การระบายความรู้สึก"ก็ได้  แต่การอธิบายตัวเองที่เกินพอดี (และบางทีเราก็ไม่ทราบจริงๆว่าเกินพอดีไปหรือยังนั้น) อาจทำให้ผู้ร่วมสนทนากับเรา เกิดความเบื่อหน่าย และไม่อยากสนทนาต่อ เพราะเรื่องที่พูดมาเป็นเรื่องของเรา  ที่เราอาจไม่จำเป็นต้องเล่า เพราะไม่มีสาระอันใด แปลว่าเรื่องที่เราเลือกสื่อสารออกไปอาจเป็นเรื่องที่ทราบกันอยู่แล้วโดยทั่วไป ทุกคนก็รู้สึกและ/หรือทำเช่นนั้นเป็นปกติ มิได้จำเป็นต้องยกมาพูดในหัวข้อพิเศษอันใด

บางครั้งการอธิบายตัวเองก็ไม่จำเป็นนะคะ  แต่บางครั้งพี่แอมป์คิดว่าการทำความเข้าใจตนเองให้กระจ่าง   ด้วยการสื่อสารกับผู้ที่เป็นมิตร พร้อมจะฟัง เข้าใจ และเป็นกระจกเงาสะท้อนให้เราได้เห็นตัวตนของเราจากมุมมองของมิตร ก็อาจช่วยให้เราได้คิดและปรับพฤติกรรมให้เกิดสมดุลทางใจ  แทนที่เราจะคิดและมองตัวเองไปข้างเดียวซึ่งก็ไม่รู้ว่าตัวตนของเรา ที่เรามองตัวเราเอง ใช่แบบที่เราเป็นจริงๆตามสายตาผู้อยู่แวดล้อมหรือไม่  พี่ก็เลยชอบการอธิบายตัวเองเป็นพิเศษ  และคาดว่าคงเผลอทำเช่นนี้อยู่บ่อยครั้ง  โดยเฉพาะกับคนที่เราไว้ใจ  คือเราคิดว่ามุมมองที่เรามีต่อตน มีต่อคน มีต่อโลก เป็นเรื่องที่เราอยากพูดถึง อยากเล่าให้ฟัง  แต่เนื้อความยาวๆที่เราคิดว่า"ฟังแล้วเขาคงเข้าใจ" บางครั้งเขาก็ยากที่จะรับได้  เพราะมีความรู้สึกว่าเรื่องบางเรื่องไม่เห็นต้องพูดเลย..ไม่รู้จะพูดทำไม  : ) 

ครั้งหนึ่งเมื่อพี่"อธิบายตัวเอง"ให้น้องสาวที่รักยิ่งคนหนึ่งของพี่ฟัง   น้องฟังแล้วถามตรงๆ(ตามแบบสาวนักบัญชี) ว่า พี่แอมป์ไปพูดแบบนี้กับคนอื่นบ้างไหม  พี่ก็ตอบน้องเขาไปตรงๆว่าไม่เคย  น้องบอกว่าดีแล้ว  เพราะการพูด(อธิบายตนเอง)แบบนี้ คนอื่นอาจไม่เข้าใจเราก็ได้

พี่แอมป์จึงเลือกนำเสนอโลกจากมุมของพี่ด้วยการเขียนนะคะ  การได้มีเวลาอยู่กับตัวเองเงียบๆ และ"พูด"ด้วยการพิมพ์เป็นถ้อยคำภาษานี้ ทำให้พี่ได้เห็นตัวเองจากอีกมุมมองหนึ่ง แม้ว่าพี่ไม่สามารถจะถ่ายทอดตัวตนได้ครบถ้วนในทุกแง่มุมอย่างที่พี่(คิดว่า)พี่เป็น   แต่ถ้อยคำที่พี่เลือกพูด ก็เป็นถ้อยคำที่พี่สบายใจ(ไปเอง)ชั้นหนึ่งก่อน ว่าตรงกับใจที่อยากจะพูดจริงๆ 

ขอบคุณคุณหมอเล็กจริงๆที่แวะมาชวนพี่แอมป์คุยอย่างน่ารักเสมอ แม้ว่าพี่แอมป์จะพูดวนๆๆๆรอบสนามบินเจ็ดรอบเช่นเคยนะคะ  : ) 

อ่า.. สงสัยจะวนรอให้ผู้โดยสารคนพิเศษดื่มแคปุชชิโนหมดแก้ว(ลิตร)ก่อนอะค่ะ  อิๆๆๆๆ  : )   : )   : )   

ปล. ขอบพระคุณสำหรับเรื่อง  ผีเสื้อและดอกไม้  และ ความสุขของกะทิ ที่คุณหมอเล็กนำมาฝากด้วยค่ะ   หนังสือดี(ที่ทำเป็นหนังได้น่าดู)ทั้งสองเรื่องเลย  เสร็จหน้างานรับปริญญาและงานอะไรต่างๆแล้วพี่แอมป์จะตามไปคุยยาวๆนะคะ 

สวัสดีค่ะ

* แวะมาเยี่ยมค่ะ

* การอ่านเป็นการหาคำตอบและประสบการณ์ทางอ้อมอย่างหนึ่ง

* สุขกายสุขใจนะคะ

P สวัสดีค่ะอาจารย์นาง พรรณา ผิวเผือก (ไม่มีชื่อกลาง)

 

ขอบพระคุณที่อาจารย์แวะมาเยี่ยม พร้อมกับถ้อยคำที่มีความหมายลึกซึ้งกินใจนะคะ  แอมแปร์ชอบการหาคำตอบและประสบการณ์ทางอ้อมจริงๆ  เพราะเราไม่ต้องไปยากลำบากฝ่าฟันทำด้วยตนเองในเบื้องต้น  แต่เราจะมองเห็นและจำลองสถานการณ์ได้ว่าหากเราต้องพบประสบการณ์เช่นนั้นบ้าง  เราจะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม  แอมแปร์จึงนึกขอบพระคุณผู้ที่จัดการความรู้ไว้ให้เราได้เรียนรู้ทางอ้อมทุกครั้ง 

นึกถึงการเดินไปในชีวิตจริงนะคะ  "การเดินทางอ้อม"  ถึงแม้จะไกลหน่อย แต่ที่คอยเราอยู่ข้างหน้านั้นก็คือ "เป้าหมาย"  เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเดินไปจริงๆหรือไม่เท่านั้น  ถ้าเราเดินเอาจริง  เราคงถึงเป้าหมายเข้าสักวัน

ขอบพระคุณอาจารย์ มากนะคะที่มาเติมเต็มด้วยประโยคที่ทำให้แอมแปร์คิดอะไรต่อไปได้อีกยืดยาว แถมยังรู้สึก"เอาจริง"ขึ้นมาอีกหนในตอนดึก หลังจากนั่งสัปหงกไปแล้วหลายรอบเพราะง่วงจริงๆ 

คาดว่าหลังจากหายง่วงแล้ว  คงสามารถอ่านหนังสือเพื่ออ้างอิงและพิมพ์รายงานต่อไปได้อีกหลายบรรทัด  ทั้งนี้ต้องขอบพระคุณประโยคเด็ดของอาจารย์ประโยคนี้นะคะ

"การอ่านเป็นการหาคำตอบและประสบการณ์ทางอ้อมอย่างหนึ่ง"

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ : )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท