ชาวบ้าน ไม่ใช่ของจริง ไม่น่าเชื่อถือ อ้าว!!!! พูดอย่างนี้ได้ไง?


ทุกวันนี้จึงคิดแต่เพียงว่ามันเป็นพรหมลิขิต ที่ทำให้ต้องเจอกัน คำถามคือว่า แล้วเราจะเอาจุดแข็ง จุดเด่น ของแต่ละคนมาร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนากันได้อย่างไร???

ไม่รู้ว่านานแค่ไหน หรือว่าจวบจนสิ้นลมหายใจ ถึงจะได้รู้ว่า บนเส้นทางการพัฒนาสังคม จะไปสิ้นสุดตรงจุดไหน ควรเป็นรูปแบบใด  คำถามนี้ทำเอาผมสงสัยเป็นวักเป็นเวร(จนเครียด!!!!) พักใหญ่  เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้นหรือ?  ก้อยิ่งทำยิ่งเหมือนโจทย์จะยากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาหลายอย่างซับซ้อนมาก แทบหาทางออกไม่เจอ ในมุมของการพัฒนาอาจมองว่า ทุกๆปัญหามีทางออกเสมอ ก็จริงอยู่นะครับ  ผมก็เชื่อเช่นนั้นเหมือนกัน แล้วจะมีใครมองแบบนี้ได้สักกี่คน เพราะทุกวันนี้ผมเปรียบเสมือนว่างานที่ต้องกระทำกับสิ่งที่เรียกว่าคนนั้น ต้องอาศัยหัวจิตหัวใจ ที่เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มากยิ่งขึ้น แต่ความรู้หลายๆอย่างที่นำมาใช้ กลับเป็นความรู้จอมปลอม ไม่สามารถใช้ได้จริง เป็นแค่จินตนาการของคนคิดมาใช้เท่านั้นเอง

ผมสังเกตจากการเข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อค้นหาและพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อพัฒนาจังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 1 - 2 มีนาคม 2550 ที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตร  ซึ่งดำเนินตามโครงการสำนักประสานงานการวิจัยและพัฒนาเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)   ผมเห็นการแลกเปลี่ยนที่ดุเด็ดเผ็ดมัน เอาความคิดของใครของมันมาฉะกันกลางเวทีประชุม โดยเฉพาะประเด็นการทำงานของ "ข้าราชการ"  (บางกลุ่ม)  ยิ่งคุยกันลึกลงไปยิ่งน่าตกใจ นี่นะหรือคนที่ได้ชื่อว่าเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ผมคงไม่ลงรายละเอียดให้ทราบนะครับ เพราะมันไม่ได้มีคุณค่าสำหรับการเรียนรู้สักเท่าไร แถมพูดไปก็พลอยทำให้จิตใจมัวหมอง แต่ประเด็นที่ทำเอาผมแปลกใจเป็นพิเศษก็คือ  การแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยของนักวิชาการ(บางกลุ่ม) ที่มองว่า การทำงานของชาวบ้าน ไม่ใช่ของจริง พูดอะไรออกมาก็ไม่น่าเชื่อถือ  อ้าว!!!! พูดอย่างนี้ได้ไง?  ก็เค้าเป็นผู้ปฏิบัติเรียนรู้ด้วยมือของเค้ามาตลอด  นักวิชาการกลับมองว่าชาวบ้าน "หลงทาง"  อาจจะจริงในแง่ของนักวิชาการ แต่โทษทีเถอะ ชาวบ้านไม่ใช่ตัวละคร ที่ผู้กำกับจะกำหนดกะเกณฑ์การแสดงของเค้าได้  ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยายเสียอีก  ต้องเข้าใจด้วยว่าวิถีชีวิตชาวบ้านมีหลากหลายมิติ จะต้อง "ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมลงทุน ร่วมรับผลประโยชน์"  จาก 4 ภาคี คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาควิชาการ   พัฒนาจากจุดเล็กๆซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหา แล้วขยายไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ  ต้องตั้งคำถามว่า ทำไม? ทำไม? เรื่อยๆจนกว่าจะตอบไม่ได้ นั่นจึงจะเป็นการแก้ปัญหา "เกาถูกที่คัน"  อย่างที่ รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ รองผู้อำนวยการ สกว. ฝ่ายวิจัยและพัฒนา  ได้สรุปทิศทางการวิจัยเพื่อพัฒนาทั้งพื้นที่จังหวัดพิจิตร หลังจากระดมความคิดเห็นกันมา 2 วัน  แต่นักวิชาการ (บางกลุ่ม) ก็อีกแหล่ะกลับมองด้วยทัศนคติ ว่า สุดท้ายผลประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่กลุ่มชมรมเกษตรธรรมชาติฯ ฝ่ายเดียว!!!  กล่าวคือ  กรอบของโจทย์วิจัยนั้นสรุปเรียงลำดับความสำคัญแล้ว ปรากฏว่า ประเด็นเรื่องการเกษตร เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน และมีความเป็นไปได้สำหรับการดำเนินการให้ประสบความสำเร็จได้  ซึ่งประเด็นนี้ถูกคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเบนเข็มมาที่ทิศทางนี้แน่นอน    แล้วจะแปลกอะไร เพราะพิจิตรเองก็เป็นเมืองเกษตรกรรม   อีกทั้งผู้เข้าประชุมก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเกษตรกร หรือนักส่งเสริมด้านนี้อย่างเดียว มีหลากหลายสาขา (แถมอยู่กันไม่ครบกระบวนการด้วยซ้ำ)  แล้วสาขาอื่นจะเรียกร้องให้ได้อะไรขึ้นมา ทำอะไรไม่ค่อยนึกถึงความเป็นจริงเล้ยยยยย  ขนาดนั่งฟัง ร่วมระดมความคิดเห็น ยังไม่ค่อยจะอยู่กันเลย โดยเฉพาะ ข้าราชการ(บางกลุ่ม)  ขายขี้หน้าชะมัด  เชื่อไหมครับหากลองนับผู้เข้าร่วมหลังจากที่ผู้ว่าฯ ปรีชา เรืองจันทร์ มากล่าวเปิดงานแล้ว จำนวนข้าราชการ(บางกลุ่ม)  เหลือน้อยกว่า อาจารย์นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มาร่วมประชุม เสียอีก อายเค้าไหมเนี้ยะ  นี่จึงเป็นกระจกสะท้อนการทำงานของ ข้าราชการ จริงๆ  ผมว่าจะไม่พูดถึงแล้วนะเนี้ยะ สุดท้ายก็ย้อนมาจนได้ (โดยไม่รู้ตัว)      ก็อย่างว่าแหล่ะครับถ้าไม่มีบุคลากรอย่างนี้ เราคงไม่รู้หรอกว่า "เราไม่ชอบอะไร"  อย่าทำอย่างที่เค้าเป็นเองก็แล้วกัน (ย้ำเตือนตัวเองในใจ)       ทุกวันนี้จึงคิดแต่เพียงว่ามันเป็นพรหมลิขิต ที่ทำให้ต้องเจอกัน คำถามคือว่า แล้วเราจะเอาจุดแข็ง จุดเด่น ของแต่ละคนมาร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนากันได้อย่างไร??? นี่คือโจทย์ใหญ่ทีเดียว เพราะเห็นว่าเรื่องแนวความคิด เป็นสงครามจิตวิทยา ที่ปรับความเข้าใจกันไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะส่วนใหญ่ที่คุยกันมักเอาเทคนิควิธีการเป็นตัวตั้ง ใครก็ว่าของตัวเองถูก ดี เด่น ทั้งนั้น  โดยลืมเอา "คน(กลุ่มเป้าหมาย)เป็นตัวตั้ง"   ผมคิดว่าไอ้เรื่องเทคนิควิธีการมันยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการทำงานได้ ไม่ใช่เอะอะอะไรก็บอกว่าไม่ตรงตามทฤษฎี "บ้า!!!ทฤษฎี" อะไรกันนักหนา มันเป็นแค่เครื่องมือเท่านั้นเอง ไปยึดติดกันมาก งานก็ไม่เคลื่อนไปไหนได้สักที     .......รู้ดี แต่ว่าทำไม่ได้เพราะมันไม่เท่ห์ อะไรที่อธิบายให้เข้าใจยากๆถึงจะดี......  (แปลกแฮ่ะ!!!)

จากการเข้าร่วมเวทีประชุมนี้ทำให้ผมได้บทเรียน 3 ข้อครับ

1.กระบวนการระดมความคิดด้วยเทคนิค ABCD : Area-Based  Collaborative Reserch and Development  

2.ได้เห็นคนที่ตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา ทำงานพัฒนาด้วยใจ ไม่ยึดติดอยู่เพียงเทคนิควิธีการ และใช้ข้อมูลความเป็นจริงมาเป็นพื้นฐาน

3.ได้เห็นทัศนคติการทำงานของผู้หลักผู้ใหญ่ (บางกลุ่มบางคน) ที่ไม่ได้เรื่อง ไร้สาระคุณค่าแก่การจดจำ

หลังจากได้กรอบโจทย์วิจัยแล้วทางทีมงานประสานงานวิจัย ก็จะกลับไปเรียบเรียง และนำส่งกลับมายังพื้นที่จังหวัดพิจิตร เพื่อให้ทางนักวิจัยในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ได้เขียนแผนเสนอกระบวนการทำงานตามกรอบดังกล่าว ต่อไป   .......ภาวนาสาธุ ให้ความร่วมมือเกิดขึ้นจริงๆเถอะ บ้านเมืองจะได้ยกระดับการพัฒนาให้ดีขึ้น อย่าให้ขึ้นชื่อว่าทำไปแล้วเหนื่อยเปล่าเล้ยยยยยย.......

หมายเลขบันทึก: 81977เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2007 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีครับ..

แวะมาทักทายและให้กำลังใจกับคนสู้งานเสมอ

  • สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ยุ่งยาก น่าสนใจแต่ก็น่าลำคาญไม่แพ้กัน... แต่เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงทำให้มนุษย์หลีกเร้นไปจากสังคมไม่ได้
  • ผมไม่เห็นด้วยที่มีคนพิพากษาว่า "ชาวบ้านหลงทาง"  จากอดีตมาถึงปัจจุบันย่อมมีร่องรอยการเดินทางที่ชัดเจน  การเปลี่ยนเส้นทางการเดินของชาวบ้านในวันนี้  ย่อมมีเหตุผลและความจำเป็นที่อธิบายได้  โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือแม้แต่การเมือง
  • วิถีที่เปลี่ยนไปเช่นนั้น..ชาวบ้านก็จำต้องปรับตัวให้สอดรับกับภาวะการณ์เช่นนั้นเหมือนกัน  ไม่มีใครทานฝืนภาวะเช่นนั้นได้ตลอดชีวิต
  • และผมไม่เห็นด้วยกับคนที่พิพากษาชาวบ้าน  เพราะมองจากมุมนักคิดนักวิชาการ นักปกครองที่ขาดการลงมือทำจริง ๆ
  • ผมเคยปฏิเสธการรับราชการมาก่อนหน้านี้  เพราะมีทัศนคติที่ไม่ดี..ยิ่งในอดีตเคยอ่านเรื่อง "ฟ้าบ่กั้น"  ของ ลาว  คำหอม  ก็ยิ่งรู้สึกไม่ดีกับคนในระบบราชการ 
  • เคยนะครับ..เห็นข้าราชการบริการชาวบ้านไม่ดี  ผมลุกขึ้นมาว่าต่อหน้าสาธารณะตรงนั้นเลย
  • และเคยเขียนบทกวี ไว้เมื่อนานมาแล้ว

เช้าชามเย็นชาม ต่ำทรามนัก

ทำตัวเยี่ยงสัตว์ชอบ .....(ไม่สุภาพ)

งานหนักไม่ใคร่ใยดี

พองานเบา เร่งรี่ แย่งกันทำ

  • ต้องขออภัยนะครับที่พร่ำบ่นในบันทึกนี้มากกว่าการแลกแปลี่ยน
  • แต่ก็ยืนยันอีกครั้งว่า...มาเติมกำลังใจให้คนทำงานเพื่อสังคมอย่างจริงจังและจริงใจ  ครับ!
  • เห็นด้วยกับทั้ง 4 ภาคี ครับ และต้องไปในทางเดียวกันครับ
  • ปฏิบัติแต่ไม่มีหลักการรองรับ หรือสมเหตุสมผล เค้าบอกว่า ไร้ราก หรือไร้ที่มา (Rootless)
  • มีแต่หลักวิชาการแต่ไม่นำมาปฏิบัติ เค้าว่าไร้ผล (Fruitless)
  • ดังนั้นต้องทำวงจรให้เกิดครับ ทุกฝ่ายมีความสำคัญทั้งสิ้นครับ
  • หากไม่มีภารโรงในโรงเรียน กระดาษก็เต็มโรงเรียน
  • หากไม่มีนักเรียน โรงเรียนก็ร้าง
  • ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ให้แลกเปลี่ยน เสริมการเรียนรู้

คุณแผ่นดิน และ คุณเม้ง สมพร ช่วยอารีย์

ผมว่ายิ่งคุยเรื่องนี้ก็เหมือนเห็นตอ ผุดมาทีละเล็กทีละน้อย อาจเรียกได้ว่าในแหล่งน้ำแห่งนี้อาจเต็มไปด้วยตอทั้งนั้นก็ได้  มันน่าเจ็บใจและน่าช้ำใจ ที่เห็นระบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับข้าราชการ(บางกลุ่มบางคน) มันเป็นอำนาจนิยม ไร้ซึ่งความเอื้ออาทรต่อกัน แบบนี้มันก็แย่นะครับ ผมเห็นทางสำนักงาน ก.พ. และ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มีหลักสูตรมากมายในการอบรมพัฒนาพนักงาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ทราบว่ามีการประเมินติดตามผลกันบ้างหรือเปล่า  ผมอยากเห็นพัฒนาการจริงๆ เห็นความเท่าเทียมกัน(ในเชิงปฏิบัติการ)  เอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน  ทั้งการบริหารและการจัดการ อย่าให้เห็นว่าชาวบ้านต้องกลัวคนที่เค้าควรได้รับการพึ่งพิง ****ตรงนี้คิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงทราบดี   ทำอะไรก็ปรึกษาประชาชนชาวบ้านบ้างนะ ไม่ใช่ฟังแต่พนักงานทำงาน ยังไงเสียเค้าก็พูดแต่ภาพที่สวยงามหลอกตาอยู่ร่ำไป*** ฝากผู้หลักผู้ใหญ่ด้วยนะครับ 

เดี๋ยวนี้ข้าราชการ(บางกลุ่มบางคน) ทำตัวเป็นผู้สั่งการ มากกว่าจะเป็นผู้ให้บริการ ความสะดวกสบาย เป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชน  คิดว่าเรียนมาสูงแล้วจะมาข่มชาวบ้านไม่เห็นหัวแบบนี้ สมควรมั๊ยหล่ะ 

ขอบคุณ "คุณแผ่นดิน" และ "คุณเม้ง" ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนนะครับ ก็พยายามหาจุดดี จุดร่วม ทำงานร่วมกันไป เพราะเราคู่กัน ไม่มีเค้าก็ไม่มีเรา  และเราก็ไม่ดีที่สุดเสมอไป (ต้องย้ำตลอดว่าอย่าพลาดทำเช่นนั้นอย่างที่เราว่าเค้าไว้ก็แล้วกัน) มนต์ดำมันจะเหม็นสาปยิ่งกว่าที่เราว่าเค้าเสียอีก

เข้าใจ,   และเห็นใจทุกฝ่าย ทุกกระบวนการและก็ไม่เคยสิ้นหวัง ...

เป็นกำลังใจให้  นะครับ

ทั้งหมดที่เขียนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติครับ..

และผมคิดว่าหน่วยงาน อย่าง ม.นเรศวร และ สกว. เองก็เข้าใจและเตรียมใจ กับปรากฏการณ์แบบนี้

ด้วยจุดยืนของ สกว. ที่จะร่วม "สร้างสรรค์ปัญญา เพื่อพัฒนาท้องถิ่น" ตรงนั้นก้าวผลของเรื่องอัตตา พ้นเรื่องของ การจัดระดับชั้นในสังคม

ดังนั้นการสร้างปัญญา ก็อยู่ที่จุดเริ่มว่า ใครที่เปิดใจกว้างที่จะยอมรับการพัฒนาศักยภาพตนเอง และเปิดกะลาแห่งความไม่รู้ สู่กระบวนการเรียนรู้

กลุ่มที่ทำงานกับชาวบ้าน ส่วนหนึ่งเป็น ข้าราชการ มักจะมีกรอบคิดการทำงานตามนโยบาย มีปัจจัยหลายอย่างที่รัดตรึงให้เขาไม่สามารถเข้าใจกระบวนการได้ ระยะ เวลาแบบ "ปีงบประมาณ"ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จำกัดกรอบการทำงาน  ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "ไม่เข้าถึง ไม่เข้าใจ และ ไม่พัฒนา" ทำให้การพัฒนาผิดฝาผิดตัวมากกว่าที่ควรจะเป็น

พึ่งได้ยากครับ...ชุมชนคงต้องพึ่งตนเอง

เห็นมั้ยครับ ปัจจุบันมีชุมชนที่พัฒนาเข้มแข็ง(ยั่งยืน)ด้วยตนเองมากมาย เมื่อถอดบทเรียนแล้ว การเข้มแข็งอันเกิดจากการเรียนรู้ตนเองนั้น น้อยมากที่จะมีส่วนของภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง

แม่ฮ่องสอน เรารุกด้วยยุทธศาสตร์วิจัย เช่นเดียวกันครับ ปัญหาแบบที่ เปียโร่ เขียนขึ้นมาจึงเป็น เหตุการณ์สามัญ มากครับ...เป็นแบบนั้นเอง

ที่แม่ฮ่องสอน เราเริ่มจากการ Empowerment คนในชุมชน สร้างคนจากกระบวนการวิจัย และใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน...ค่อยเป็นค่อยไปครับ

จากนั้นเราเกิด นักวิจัยชาวบ้าน เกิดชุมชนวิจัย และในที่สุดแล้ว ภาครัฐเองเข้ามามีส่วนร่วมหลังๆ เป็นส่วนของการสนับสนุน ในรูปงบประมาณและกระบวนการบางอย่างเหนือชุมชน

ชุมชนสามารถต่อรองได้...พึ่งตนเองได้...ตรงนี้หละครับ เป็นผลผลิตที่จะเกิดขึ้น

ผมจึงมองว่า ปรากฏการณ์ที่เปียโร่เจอ...มันธรรมดา และในที่สุดคนที่แก้ไขปัญหาชุมชนได้ดีคือชุมชนนั่นเอง

การแก้ไขกระบวนทัศน์ของคนมันยากมากจริงๆครับ โดยเฉพาะ  คนที่ไม่ยอมเปิดใจ และมีมิจฉาทิฐิ

เรียนรู้และเข้าใจครับ

 

พี่เอกครับ

ตอนนี้ผมทำใจได้แล้วหล่ะครับ แต่ว่าลึกๆในใจก็อยากเห็นอะไรดีขึ้นมากกว่า "การทำใจยอมรับ"  คิดว่ากลไกการจัดการความรู้ น่าจะมีผลเช่นกันหากได้ถูกนำมาใช้ในระบบนี้ แต่ก็กลัวว่าจะเป็นเพียงแค่ทำเพื่อ "ผลงาน"  ที่ผมคิด ไม่ใช่ว่าผลงานไม่ดีนะครับ แต่กลัวก็ตรงที่จะเป็นผลงานแบบฉาบฉวย ไม่มีผลต่อจิตใจ หรือจิตวิญญาณ แน่นอนว่าเรื่องอย่างนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้นๆ คงใช้เวลาพอสมควร ไม่รู้จะนานอีกแค่ไหน เพราะชาวบ้านคงไม่รอแน่นอน ต้องกินต้องใช้ทุกวัน ถ้าหวังจะพึ่งหน่วยงานข้าราชการแต่ฝ่ายเดียวก็คงไม่รอด สุดท้ายก็อย่างที่พี่เอกว่าไว้นั่นแหล่ะครับ "ชาวบ้านน่าจะลุกมาช่วยเหลือกันเอง" ไม่อย่างนั้นโอกาสการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ลำบาก 

ปัญหานี้เป็นปัญหาไหลวนไม่จบไม่สิ้น กลายเป็นเรื่องธรรมที่ไม่ธรรมดา เป็นความจริงที่ไม่มีใครอยากพูดถึงอีกต่อไป (ซ้ำซาก จำเจ น่าเบื่อ!!!)   

เป็นไงบ้างครับ...ช่วงนี้งานเยอะและยุ่งมากมั๊ย

ส่วนผมสัญจรเดินทางแทบทุกวัน...และมีความสุขกับการเดินทางเสมอ  เพราะเป็นการไปเยี่ยมค่ายนิสิต

...รับรู้ได้ถึงความรู้สึกของนักพัฒนาครับ อย่ามัวไปเสียเวลาคิดกับเรื่องพวกนี้เลย มันเป็นธรรมชาติของสังคม ที่ย่อมมีความแตกต่าง คนดีจะเป็นคนดีได้อย่างไรถ้าไม่มีโจร  ผมเองเป็นคนหนึ่งในฐานะของระบบราชการครับ และผมสามารถพูดได้เต็มปากว่าผมเป็นราชการ ... เลยจะอาศัยเวทีตรงนี้มาแลกเปลี่ยนกัน

... ในมุมมองของผม ผมว่ามันเป็นสิ่งท้าทายที่คุณจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือความคิดของใครสักคน คุณชื่นชมกับการทำให้กระบวนความคิดของชาวบ้านเปลี่ยนมาเชื่อพวกเราที่เป็นนักพัฒนา ซึ่งผมยังไม่สรุปว่าจะถูกทิศถูกทางหรือเปล่า แต่มันก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีขึ้นในชุมชน ถ้าผมจะท้าทายคุณไปอีกขั้น ว่า คุณจะสามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของข้าราชการน้ำเน่าให้เข้ามาสู่กระบวนการพัฒนาให้เป็นน้ำดีได้อย่างไร ...

อย่าเสียเวลากับการบ่น และจดจำสิ่งที่ไม่มีค่า คิดแล้วลงมือทำเลยครับ เพราะการโทษกันไปมาไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ รังแต่จะทำให้เกิดความแตกแยก เพราะถ้าราชการเขามาบอกว่า เห็นบ่อยไปที่นักพัฒนาไปดึงคนออกจากชุมชน แล้วสิ่งที่นักพัฒนาทิ้งไว้คือซากอารยธรรมที่ทำอะไรไม่ได้ เหมือนเช่นข้าราชการเหมือนกัน

...สุดท้าย ถ้าเรารู้ว่าเราทำอะไรแล้วเป็นผลดีที่ก่อให้เกิดกับสังคม (เน้นนะ ว่าสังคม) ไม่ใช่ระดับของชุมชน หมู่บ้าน แค่นั้น เราต้องมองให้ไกลและยิ่งใหญ่กว่าเดิมครับ เราจึงจะไม่หลงกับดักของการพัฒนา ว่าจะต้องเข้าไปพัฒนาเฉพาะในพื้นที่ชนบทเท่านั้น สังคมเมืองก้อไม่ได้มีปัญหาน้อยกว่าในชนบทเลย ขอบคุณที่ทนอ่านมาจนจบครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท