ระดับของการรู้เท่าทันการสื่อสาร : ระดับกลาง


การรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับกลาง คือการฝึกให้รู้เท่าทันจุดมุ่งหมายของผู้ส่งสาร แปลว่าต้องอ่านเจตนาของผู้ส่งสารให้ออก ให้รู้เจตนาแท้ๆของเขา

(25)

 

 

 

          การรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับกลาง คือการฝึกให้รู้เท่าทันจุดมุ่งหมายของผู้ส่งสาร แปลว่าต้องอ่านเจตนาของผู้ส่งสารให้ออก ให้รู้เจตนาแท้ๆของเขา

           เหตุที่จัด การรู้เท่าทันจุดมุ่งหมายของผู้ส่งสาร ไว้ใน การรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับกลาง เพราะผู้สื่อสารต้องใช้ทักษะขั้นสูงขึ้นไปอีก และเน้นที่การวิเคราะห์จุดมุ่งหมายที่แท้จริง  ซึ่งต้องพิจารณากันหลายชั้น   

          คือนอกจากรู้เรื่องว่าเขาสื่อสารว่าอะไรแล้ว (รู้ความหมาย) ยังต้องรู้ว่า เขามีเจตนาอะไร    หรือมีจุดมุ่งหมายที่แท้จริงอย่างไรด้วย ด้วย

          ถามว่าต้องมีวิธีคิดอย่างไรจึงจะเกิดการรู้เท่าทันจุดมุ่งหมายของผู้ส่งสาร
          ตอบว่าผู้รับสารจำเป็นต้องรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ รู้จักคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ และสังเคราะห์เกิดเป็นความหยั่งรู้ชุดใหม่ในใจตน โดยมีเป้าหมายให้รู้เท่าทันความจริงที่อยู่เบื้องหลัง(เจตนาที่แท้จริง)

          เขา หรือผู้ส่งสาร ที่ว่านี้ จะเป็น”ใคร” ก็ได้ จะเป็น “อะไร” ก็ได้
ผู้รับสารจึงจำเป็นต้องถูกฝึกให้รู้กว้าง  รู้ลึก  และรู้หลากมิติ  แบบพหุปัญญา  รวมถึงฝึกการวิเคราะห์เจตนาให้มาก และฝึกด้วยวิธีการที่ถูกต้องด้วย

          แปลว่าเมื่อเรียนวิชาความรู้ใดๆ  จะเจาะแต่ความรู้ดิ่งเดี่ยว(linear) ไม่ได้    ต้องฝึกให้เรียนรู้แบบ โกลาหล ด้วย (non linear - chaos learning ) และต้องฝึกคู่กันไปตั้งแต่เล็กจนโต  ไม่ให้มองอะไรด้านเดียว  หรือมองด้วยวิธีคิดชุดเดียวโดยมิได้ไตร่ตรองเป็นอันขาด

         ไม่เช่นนั้นก็อาจกลายเป็นดังคำคมฝรั่งที่ว่า 

          If all you have is a hammer,everything looks like a nail.

          ถ้าหากทั้งเนื้อทั้งตัวคุณมีค้อนอยู่ด้ามเดียว, ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดูเหมือนตะปูไปหมด

          .... เอ่อ...อันนี้คือดิฉันก็ว่าไปตามจินตนาการของดิฉันนะคะ

         

          อนึ่ง  สำหรับในโรงเรียน  วิชาภาษาไทย มีหัวข้อการฝึกวิเคราะห์จุดมุ่งหมายของผู้เขียนและจุดมุ่งหมายของผู้พูด ที่เน้นว่าเมื่ออ่านหรือฟังสารใดๆ ก็พึงวิเคราะห์ได้ว่า ผู้เขียนต้องการบอกอะไร หรือเขียนด้วยเจตนาใด ซึ่งจะช่วยฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารได้โดยตรง 

         (ที่จริงวิชาอื่นๆก็คงมีแทรกอยู่อีกมาก โดยเฉพาะสายศิลป์และสังคมศาสตร์ และศาสน์ ทั้งหลาย สำหรับทางสายวิทย์ดิฉันไม่มีความรู้จึงไม่ทราบจะอ้างอิงวิชาใดนะคะ )

          อย่างไรก็ตาม การอ่านข้อเขียนนั้นยังง่าย เพราะมีลายลักษณ์อักษรสื่อความหมาย พอให้แปลความ ตีความ และสืบค้นหลักฐานแวดล้อมให้สอดคล้องกับการตีความของเราได้

           แต่การอ่านเจตนาในใจคนนั้นยาก.. ยากจนดูเหมือนแทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังที่โคลงโลกนิติบทหนึ่ง ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระใหม่เมื่อประมาณ ปี พศ. 2374 ความว่า
                                   

                                    พระสมุทรสุดลึกล้น      คณนา
                         สายดิ่งทิ้งทอดวา                    หยั่งได้
                         เขาสูงอาจวัดวา                      กำหนด 
                         จิตมนุษย์นี้ไซร้                        ยากแท้หยั่งถึง

            ถึงกระนั้นก็ตาม ด้วยความรู้ด้านจิตวิทยา ด้านการสื่อสาร และเจาะลึกไปที่จิตวิทยาการสื่อสาร หรือจากถ้อยคำภาษา ท่าที การแสดงออก หรือด้วยประสบการณ์การพิจารณาพฤติกรรมคนคนนั้นเป็นความถี่ซ้ำๆ หรือด้วยสถิติพฤติกรรมที่เราสามารถประมวลผลเพื่อแปลความหมายของเจตนา ก็อาจช่วยให้เราประเมินหรืออ่านเจตนาของผู้อื่นได้

          การรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับกลาง เน้นที่การอ่านใจคนให้ออก ว่าเขามีจุดมุ่งหมายอย่างไร มีเจตนาอย่างไร เจตนานั้นจะให้คุณหรือให้โทษแก่เราอย่างไร เราควรวางท่าทีความสัมพันธ์อย่างไรให้เหมาะสม และเกิดเป็นคุณแก่ชีวิตเรา

สรุปเป็นคำสั้นๆว่า คิดทัน รู้ทัน และหยั่งรู้ได้

          สำหรับสิ่งอื่น ที่ไม่ใช่คน อันนี้นอกเหนือความสามารถที่ดิฉันจะกล่าวถึง 

          จึงขอละไว้ในฐานที่ไม่เข้าใจนะคะ    :)         

 

          (และดิฉันเริ่มจะอยากเปลี่ยนเป็นการรู้เท่าทันการสื่อสารระดับไกลตัว กับระดับใกล้ตัว และระดับในตัวตน ซึ่งดูจะใกล้เคียงกับที่พรรณนามามากกว่าคำว่า ระดับต้น กลาง และสูงค่ะ)

............................................................................

ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์ วิชาการด็อตคอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) ความเห็นเพิ่มเติมที่ 39 (12 ธ.ค.49)

หมายเลขบันทึก: 81922เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2007 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท