จงอย่าเอาอย่างครู แต่ให้ทำตามที่ครูสอน


"การเรียนการสอนที่ขาดความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างสิ่งที่ครูสอนกับสิ่งที่ครูกระทำนับเป็นความหายนะเลยทีเดียว" เปาโล แฟร์, ครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม

นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตต้องเรียนวิชาการจัดการชีวิต โดยในเทอมแรกเป็นวิชาการวางเป้าหมายและแผนชีวิต ซึ่งนักศึกษาทุกคนต้องทำ port folio ของตนเอง อาจารย์เสรี พงศ์พิศ ให้เรียกว่า "แฟ้มชีวิต" นักศึกษาต้องวิเคราะห์ตัวเองว่าเป้าหมายในชีวิตของตัวเองคืออะไร แล้วเขียนด้วยลายมือ(เท่านั้น)ลงในหน้าแรก

SettingLifeGoal_ChiengdaoLo.jpg

 ต่อจากนั้นก็เขียน "เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้า" ตามด้วยการจัดทำแผนงบประมาณครอบครัวที่ทุกคนต้องทำ เช่นเดียวกับต้องทำบัญชีครัวเรือน โดยใช้สมุดจดบัญชีครัวเรือนที่ขอได้ฟรีได้สำนักงาน ธกส.ทั่วประเทศ บางคนรู้สึกอึดอันในตอนแรก ผมไปเข้าห้องน้ำได้ยินนักศึกษาชายกลุ่มหนึ่งบ่นว่าอาจารย์มาแล้วไม่เห็นสอนอะไร (ผมจะเล่าเรื่องมหาวิทยาลัยชีวิตที่ "สอนน้อย เรียนมาก" ในวันต่อไป) มีนักศึกษาที่ศูนย์เรียนรู้ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ คนหนึ่งเขียนในเรียงความที่ต้องส่งหลังจากทำกิจกรรมนี้มาครบเทอมแล้ว ว่า ตอนแรกก็ไม่อยากทำเพราะรู้สึกว่าบัญชีเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่เพื่อนบอกว่าทำแล้วดี อีกทั้งหากไม่ทำก็จะไม่ผ่านวิชานี้ ก็เลยทำดู พอทำไปได้พักหนึ่งก็พบว่าดีจริงและเริ่มเชื่อคำโฆษณาของ ธกส. ที่โฆษณาทางโทรทัศน์ว่า จดแล้วไม่จน ว่าเป็นของจริง เขาเขียนว่า หากได้ทำบัญชีครัวเรือนตั้งแต่ ๑๐ ปีที่แล้ว ป่านนี้คงไม่มีหนี้สินขนาดนี้ ส่วนอีกคนหนึ่งเขียนเล่าว่ารู้สึกภูมิใจในตัวเองขึ้นมาเมื่อสามารถเป็นแบบอย่างให้ลูกได้เรื่องหนึ่ง คือไปเห็นลูกจดรายรับ-รายออม-รายจ่ายประจำวันของตัวเองตามพ่อ แม้จะได้เงินไปโรงเรียนวันละไม่กี่บาท

Payao_Save_and_buy.jpg

นักศึกษาเสนองานกลุ่มเปรียบเทียบข้อมูลการซื้อแบบ "ใช้ก่อนผ่อนทีหลัง" กับ "ออมก่อนแล้วค่อยซื้อเงินสด" ที่ศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตดอกคำใต้ จ.พะเยา 

นอกจากต้องวางเป้าหมายชีวิตด้านเศรษฐกิจแล้ว นักศึกษาก็วางแผนชีวิตด้านสุขภาพด้วย โดยผมเล่าประสบการณ์ของตัวเองที่เคยกินยาลดไขมันและยาลดกรดยูริคในเลือดตามหมอสั่งอย่างมีวินัยมาเป็นสิบปี แต่ละปีก็เพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งหมอเก่าที่เคยหาอยู่ทุกเดือนย้ายไป มีหมอคนใหม่มา คนนี้ยังหนุ่มมาก หมอดูประวัติการรักษาผมแล้วบอกว่าผมต้องตรวจตับเพราะกินยาลดไขมันในเลือดติดต่อกันมา ๑๐ ปี ยานี้ทุกตัวมีผลข้างเคียงต่อตับ ผมตกใจเพราะ ๑๐ ปีไม่เคยมีหมอคนไหนบอกผมมาก่อน แต่โชคดีที่ตับผมยังไม่เสียหายถึงขั้นที่ต้องรักษาตับเพิ่มขึ้นมาอีกโรค หมอหนุ่มคนนี้ให้ผมหยุดยาทุกชนิด แล้วให้ออกกำลังพร้อมวางแผนการกินให้ดี เน้นที่เลือกอาหารที่จะกินไม่ใช่อดอาหาร ให้ไปศึกษาจากหนังสือหรือเว็บไซต์และลองทำดู ผมกลัวตายเลยตั้งใจทำอย่างเต็มที่จนน้ำหนักกับส่วนสูงเริ่มเข้ามาตรฐาน น้ำหนักตัวลดลงเกือบ ๑๐ กิโล แขนขาและหน้าท้องเริ่มมีมัดกล้ามขึ้น รู้สึกเป็นหนุ่มกระชุ่มกระชวยขึ้น ทั้งปีเกือบไม่เป็นหวัดอีกเลย จนวันหนึ่งหมอลุกจากเก้าอี้มาเช็คแฮนด์กับผม บอกดีใจกับผมด้วย ผมไม่ต้องกินยาอะไรแล้ว จากนี้ไปปีหนึ่งมาตรวจทีหนึ่งก็พอ ผมเคยอ่านพบงานวิจัยว่ามนุษย์ถึงร้อยละ ๕๐ ทีโรคหายได้เองหากออกกำลังและกินให้ดี ทำให้ส่วนสูงกับน้ำหนักตัวสัมพันธ์กัน (body mass) เรื่องที่เป็น"เส้นผมบังภูเขา"นี้คนจำนวนมากไม่รู้ จึงเล่าให้นักศึกษาทุกกลุ่มที่ไปพบฟัง ปรากฏว่า มีนักศึกษาหลายคนทำตาม มีคนหนึ่งเป็นนายดาบตำรวจตระเวณชายแดนที่อำเภอเชียงคำ ชื่อ ดต.เชาวฤทธิ์ สุคนธา เขียนอีเมล์เล่าว่า เขาลองปฏิบัติดูก็ได้ผล หมอให้เลิกกินยาลดไขมันในเลือดและยาลดกรดยูริก(โรคเกาส์)ไปทั้งตัวเขาและภรรยา นักศึกษาหญิงอีกคนหนึ่งอายุ ๕๔ ปี เป็นแม่บ้านอยู่ที่อำเภอสตึก จ.บุรีรัมย์ ชื่อคุณอโณทัย ก็เล่าให้ฟังว่าหลังจากลดน้ำหนักจาก ๗๕ กิโล เหลือ ๖๕ กิโล โรคความดันโลหิตสูงดีขึ้น หมอให้ลดยาลงจากวันละ ๓ เวลาเหลือเวลาเดียว ไขมันในเลือดก็ลดลง ยาแก้ปวดหัวก็ไม่ต้องกินอีกเลย ทุกคนพบเรื่อง "เส้นผมบังภูเขา" นี้ด้วยตนเองทุกคน

Anothai.jpg

ในภาพซ้ายมือสุดคือผม ผู้หญิงซ้ายมือสุดสวมแว่นคือคุณอโณทัย 

เมื่อปลายปีที่แล้วผมไปพบกลุ่มนักศึกษาที่ศูนย์เรียนรู้ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ อาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ประจำศูนย์เรียนรู้วิชาการวางเป้าหมายและแผนชีวิต ที่นั่น ชื่อ อาจารย์รุ่งนภา การบุญ เล่าให้ฟังว่าเป็นโรคภูมิแพ้ทนทุกข์ทรมานกับการตื่นขึ้นมาแล้วต้องจามเป็นสิบครั้งทุกวัน แล้วยังเป็นโรคนั้นโรคนี้อีก แต่เมื่อได้มาเป็นอาจาย์วิชานี้แล้ว คิดว่าต้องทำทุกอย่างไปด้วยกันที่ให้นักศึกษาทำ หลังจากออกกำลังทุกวันไม่ถึงเทอม อาการจามจากภูมิแพ้เริ่มหายไป รู้สึกตัวเองแข็งแรงสดชื่นขึ้น ไม่อยากกลับไปอยู่ในสภาพนั้นอีกต่อไป

rungnapa_utit.jpg

เมื่อต้นปีนี้เองผมไปสัมมนาที่เชียงราย พบผู้อำนวยการเรียนรู้จากหลายศูนย์เรียนรู้ ผอ.เรียนรู้จากอำเภอดอกคำใต้ ชื่อ อ.อุทิศ วิไลแก้ว อายุ ๖๓ ปี ท่านเคยเป็น ผอ.กศน.ในภาคเหนือมาหลายจังหวัด ก่อนมาเกษียณที่จังหวัดพะเยา ท่านบอกว่าท่านกำลังทำอย่างที่นักศึกษาทำอยู่เช่นเดียวกัน โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดน้ำหนักลงในเทอมนี้ให้ได้ ๕ กิโลกรัม ท่านชี้ให้ดูพุงที่แฟบลงแล้วเล็กน้อยด้วย หน้าตาท่านก็ดูหนุ่มขึ้น

เรื่องราวของอาจารย์รุ่งนภา อาจารย์อุทิศ และอาจารย์ประจำศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตอีกหลายร้อยคน (ผมอยากเรียกว่าเป็นชุมชนนักปฏิบัติการศึกษาเพื่อชีวิต) นี้ ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของเปาโล แฟร์ ในหนังสือชื่อ ครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม: จดหมายถึงผู้ที่กล้าสอน (แปลโดย สดใส ขันติวรพงศ์) ที่เขียนไว้ในจดหมายฉบัยที่ ๖ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนว่า การเรียนการสอนที่ขาดความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างสิ่งที่ครูสอนกับสิ่งที่ครูกระทำนับเป็นความหายนะเลยทีเดียว (หน้า ๑๐๕) แฟร์เห็นว่าผู้เรียนจะรู้สึกไวมากหากครูทำตรงข้ามกับสิ่งที่ตนพูด คำพูดประเภท "จงทำตามที่ครูพูด แต่อย่าทำตามที่ครูทำ" เป็นคำพูดของคนหน้าไหว้หลังหลอกที่มือถือสากปากถือศีล คำพูดที่ออกมาอย่างขาดชีวิตจิตใจนี้จึงไม่มีพลังที่จะกระตุ้นผู้เรียนได้ และ "...ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนที่จะต้องขาดสะบั้นไป"

Seminar_Learning_Facilitato.jpg

ภาพจากการสัมมนาอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ประจำศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต ก่อนเปิดภาคเรียนที่ ๒/๒๕๔๙ 

ตอนปฐมนิเทศนักศึกษาเมื่อต้นปีที่แล้ว ผมพูดกับนักศึกษาว่า มาเรียนในโครงการนี้แล้วจะต้องสวยต้องหล่อกันทุกคน มาเรียนในโครงการนี้แล้วสุขภาพไม่ดีขึ้น ยังต้องกินยาวันละเป็นกำ หนี้สินไม่หมดไป หรือลดลง ครอบครัวไม่ดีขึ้น ก็ควรจะเลิกโครงการไป ตอนนั้นนักศึกษาคิดว่าผมพูดเล่น แต่ปีหนึ่งผ่านไป นักศึกษาเราทั้งหล่อทั้งสวยกันขึ้นมาหลายพันคนแล้ว หากนับรวมรอบเอวที่ลดลงของทุกคนรวมกันก็หลายพันนิ้ว ไขมันในตัวหายไปนับหมื่นกิโลกรัม ค่ายาก็ลดลงไม่รู้กี่แสนบาทกี่ล้านบาทต่อปี หลายคนเริ่มพูดว่ามาเรียนแล้วเริ่มเชื่อที่อาจารย์เสรี พงศ์พิศ บอกว่าต้องได้ทั้ง "ปัญญา" และ "ปริญญา" และขณะนี้ก็ได้ชีวิตคืนมาด้วย บางคนก็บอกว่าถึงตอนนี้ปริญญาเอาไว้ข้างหลังก็ได้

เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ ได้รายงานผลการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตที่ร่วมมืออยู่กับ ๔ มหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ในที่ประชุมกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน คุณหมอประเวศ วะสี (ประธานที่ปรึกษา) บอกว่า ที่กำลังทำกันอยู่นี้เป็นการปฏิรูปการศึกษาในรอบร้อยปีเลยทีเดียว ท่านบอกว่า ที่ทำอยู่นี้ในแง่ความคิดแล้วไม่มีอะไรใหม่ เพราะพูดกันมาตลอดเรื่องการศึกษาที่ไม่ใช่การท่องความรู้ การศึกษาที่ต้องสัมพันธ์กับชีวิต ที่แนวคิดทฤษฎีสัมพันธ์กับการปฏิบัติ และเรียนโดยการปฏิบัติจริง ที่ใหม่ก็คือมีคนทำขึ้นมา.

หมายเลขบันทึก: 81918เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2007 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ อาจารย์สุรเชษฐ

         ดิฉันเพิ่งมีโอกาสแวะเข้ามาสวัสดีอาจารย์ในบล็อก  หลังจากตามอ่านมาระยะหนึ่ง  ด้วยความสุขใจ  โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต เป็นโครงการที่ดีมาก และทำให้ดิฉันรู้สึกเหมือนเห็นผลของ   แนวคิดและการกระทำ(โดยลงมือทำกับชีวิตตนจริงๆ)ที่ดี  และทำให้อยากทำตาม   และชื่อบันทึกนี้ของอาจารย์ จับใจดิฉันมาก.....

         ดิฉันอ่านหนังสือ ครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม แล้วชอบจดหมายฉบับแรก  อ่านโลก/อ่านถ้อยคำ  ค่ะ ที่ชอบมากคือวิธีคิดของนักปฏิบัติ  ดิฉันคิดว่า เราสามารถศรัทธาผู้ที่ คิด เขียน และ ทำ เป็นเนื้อเดียวกันได้  โดยสะดวกใจ  ไม่ต้องมีคำถามแบบเมื่อเห็นคำพูดกับการกระทำที่ไม่ตรงกัน           และที่ท่านเปาโล แฟร์กล่าวว่า    "การเรียนการสอนที่ขาดความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างสิ่งที่ครูสอนกับสิ่งที่ครูกระทำนับเป็นความหายนะเลยทีเดียว"  ดิฉันรู้สึกเห็นจริงอย่างยิ่ง

       ในปริบทสังคมและวัฒนธรรมไทยนั้น  ยึดพยุงกันไว้โดยศรัทธามากกว่าโดยกติกา   (ยึดพยุง คือทำให้อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้ในระดับหนึ่ง  โดยไม่ปฏิเสธหรือพยายามลบบทบาทนั้นให้หมดสิ้นไป แต่เห็นคุณค่าจึงอยากให้มีต่อไป)     เราแสดงสัญลักษณ์ "การยึดพยุง" ไว้  โดยการยกมือไหว้อาชีพที่เราศรัทธา (ว่าได้สร้าง หรือช่วยชีวิตเรา)  คือครู หมอ(รวมคุณพยาบาลและผู้เกี่ยวข้อง)  และพระ

       และอาชีพที่คน(ไทย)ยกมือไหว้นี้   ดิฉันได้เห็นว่า ครูกับ พระ นั้นมีกิจกรรมการสื่อสารใกล้เคียงกันอยู่  คือสื่อสาร เพื่อสอนคน    คำสอนที่ดี คือที่มาของศรัทธา        ...... การปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ตนสอน หรือพูด ( หรือให้คุณค่าไว้  หรือบอกว่า อะไร ดี ชั่ว ถูก ผิด ไว้)   ก็จะเป็นที่มาของความเสื่อมศรัทธา  ซึ่งน่ากังวลมากทีเดียว  เพราะผู้ที่ควรทำตน ให้สมกับที่ผู้อื่นศรัทธา ได้แยกตัวตนที่เป็น  ออกจากการปฏิบัติตนที่ดี ที่ถูก ที่ควร หรือที่รู้ผิดชอบชั่วดี เสียแล้ว  

       และหากเด็กๆของเรา ได้ซึมซับเอาความไม่ศรัทธาไว้เต็มที่ โดยไม่มีความเคารพกติกาด้วยแล้ว .... ก็ทำผู้ประกอบอาชีพครูบ้านนอกอย่างดิฉันหนักใจเป็นที่ยิ่ง

      อย่างไรก็ตาม  ได้อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์  ก็ทำให้ดิฉันเบาใจขึ้นมาก   เพราะเห็นทางออกที่ดีมากขึ้นค่ะ.   และต้องขออภัยที่ใช้คำว่าอาชีพ โดยรวมพระเข้าไปด้วยนะคะ ดิฉันจนปัญญาค่ะอาจารย์   ไม่ทราบจะเลือกใช้คำใดดี 

                     ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ  :)

       

       

P
ดอกไม้ทะเล เมื่อ อ. 01 พฤษภาคม 2550 @ 12:20

สวัสดีครับคุณครูดอกไม้ทะเล

ขอบคุณครับที่อ่านแล้วแสดงความเห็น

ความเห็นของอาจารย์ทำให้ผมนึกถึงคำไทยๆ สมัยผมเด็กๆ ที่เราเปรียบเทียบคนที่มีอาชีพครู ว่า "แม่พิมพ์" (หรือพ่อพิมพ์ก็ได้) ซึ่งเราคงหมายถึงการเป็น "ตัวอย่าง" หรือ "ตัวแบบ" สำหรับศิษย์

และตัวแบบนั้นก็คือ วิถีชีวิต วิถีปฏิบัติของเรานั่นเอง

นึกถึงเพลงที่ทำนองไพเราะจับจิตพร้อมเนื้อหาที่จับใจอย่างยิ่ง "แสงเรื่องๆ ที่ส่องประเทืองอยู่ทั่วเมืองไทย คือแม่พิมพ์อันน้อยใหญ่ ..."

คุณครูดอกไม้ทะเลคิดว่าครูทุกวันนี้ยังเชื่อในอุดมคติเรื่อง "แม่พิมพ์" นี้อยู่หรือเปล่าครับ หรือว่าเราสามารถแยกได้ระหว่าง "ตัวเรา" กับ "อาชีพ" ของเรา คือทำแต่ "บอกความรู้" อย่างเดียวก็ได้

แม้ว่าในทางปฏิบัติเราจะอยู่ใกล้หรืออยู่ไกลกับอุดมคติแตกต่างกัน แต่ถ้าเราต่างยังยึดในอุดมคติอันนี้กันอยู่ ก็เท่ากับว่าเรายังมีหลักยึดที่จะไปให้ถึงอยู่นะครับ

อาจารย์สุรเชษฐคะ

ดิฉันคิดว่าความเชื่อ(และอุดมการณ์) เรื่อง "แม่พิมพ์" ยังเป็นความเชื่อในอุดมคติ ของคุณครูอนุบาล ประถม และมัธยม   แต่สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น  ดิฉันรู้สึกว่าความเชื่อนึ้จะค่อยๆจางลงไป     ......ต้องขออภัยอาจารย์และทุกท่านที่แวะผ่านมาด้วยนะคะ  เนื่องจากเรื่องนี้  ดิฉันพูดไปตามความรู้สึก   จึงไม่ทราบจะอ้างหลักฐานใดมายืนยัน

และ   "แม้ว่าในทางปฏิบัติเราจะอยู่ใกล้หรืออยู่ไกลกับอุดมคติแตกต่างกัน แต่ถ้าเราต่างยังยึดในอุดมคติอันนี้กันอยู่ ก็เท่ากับว่าเรายังมีหลักยึดที่จะไปให้ถึงอยู่"

ขอบพระคุณสำหรับข้อคิดที่อาจารย์ทิ้งท้ายไว้นะคะ   ดิฉันก็หวังที่จะได้เห็นเช่นกันค่ะ    :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท