BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

นิพพาน


นิพพาน

อ้างถึง รู้เขารู้เรา ชีวิตและแง่คิดจาก "ต้นไม้"  ของอาจารย์เม้ง ซึ่งตั้งประเด็นว่า สัตว์ร้ายที่เรานำมาเลี้ยงและฝึกจนเชื่องจัดว่านิพพานได้หรือไม่ ? ...ผู้เขียนจึงใคร่เสนอคำนี้ในโอกาสนี้...

นิพพาน เป็นศัพท์บาลีแท้ ซึ่งคนทั่วๆ ไป ก็รับรู้กันว่าหมายถึงจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ...ผู้เขียนขออัญเชิญคำอธิบายจากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ในหน้า ๑๒๕ มานำเสนอดังต่อไปนี้...

นิพพาน การดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นโลกุตตรธรรม และเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ดู นิพพานธาตุ

นิพพานธาตุ ภาวะแห่งนิพพาน ; นิพพาน หรือ นิพพานธาตุ ๒ คือ สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ ๑ อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ ๑

อันที่จริง คำที่ใช้เรียกสภาวะเป็นที่ดับกิเลสทำนองนี้ในวัฒนธรรมอินเดียมีมาก เช่น โมกษะ ไกวัลย์ วิโมกษ์ เป็นต้น ... ส่วนสาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงนำคำนี้มาใช้ทั่วไปในพระธรรมวินัยของพระองค์ มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่พระองค์ยังไม่ได้ตรัสรู้ จะเสด็จออกบวชนั้น ได้ยินคาถาหนึ่งว่า

"นิพพุตา นูน สา มาตา
นิพพุโต นูน โส ปิตา
นิพพุตา นูน สา นารี
ยัสสายัง อีทิ โส ปติ"

รายละเอียดเรื่องนี้ ผู้สนใจลองอ่านดูใน http://www.soonphra.com/topic/bhudda/011.html?PHPSESSID=2baa01da395110a24895adad9ce2debd

.....

ว่าตามนักบาลี นิพพาน มาจาก นิ+วา+ ยุ ..โดย นิ เป็นอุปสัคแปลว่า ไม่มี ออก ปราศจาก... วา รากศัพท์ แปลว่า เป็นไป หรือร้อยกรอง... ส่วน ยุ เป็นปัจจัยตามหลักไวยากรณ์ 

วา ในความหมายว่า เป็นไป หมายถึงเป็นไปด้วยอำนาจบางสิ่งบางอย่างที่ชักนำ ชักจูงไป บางสิ่งบางอย่างนี้คือ ความทะยานอยาก นั่นเอง...

วา ในความหมายว่า ร้อยกรอง หมายถึงร้อยกรองจิตใจให้เป็นไปในความมีความเป็นบางสิ่งบางอย่าง เช่น มนุษย์ สัตว์ เทวดา ยักษ์... หรือเป็นคนดี เลว รวย จน ฉลาด โง่ ...เป็นต้น

 นิ เป็นอุปสัคนำหน้ารากศัพท์ ซึ่งหมายถึง ไม่มี ออก หรือปราศจาก..

.นั่นคือ นิ อุปสัค จะทำหน้าที่สังหารความหมายของ วา รากศัพท์ (ตามธรรมดา อุปสัคนำหน้ารากศัพท์จะทำหน้าที่ ๓ อย่าง คือ สังหาร เบียดเบียน หรือคล้อยตาม รากศัพท์)

นิ (ไม่มี, ออก) + วา (เป็นไป, ร้อยกรอง) = นิพพาน คือ ไม่มีความเป็นไปด้วยอำนาจของบางสิ่งบางอย่างที่จะชักจูงไป... ออกไปจากบางสิ่งบางอย่างที่จะร้อยกรองจิตใจให้เป็นอย่างหนึ่งอย่างใด... ประมาณนี้

ว่าตามศัพท์ นิ + วา +ยุ = นิพพาน

แปลง ว. แหวนที่ วา เป็น พ.พาน จึงได้เป็น พา ...ดังนั้นจึงเป็น นิ + พา จึงเป็น นิพา ...แต่ นิพา ออกเสียงยาก จึงซ้อน พ.พาน เข้ามาอีกหนึ่งตัว เป็น นิพพา เพื่อออกเสียงได้ง่ายยิ่งขึ้น ... ส่วน ยุ ปัจจัย ข้างท้าย แปลงเป็น น. หนู นั่นคือเป็น นิพพา+น ...ดังนั้น จึงเป็น นิพพาน

นิพพาน ว่าโดยศัพท์จึงหมายถึง ธรรมชาติที่ไม่มีสิ่งชักจูงเพื่อความเป็นไป หรือธรรมชาติที่ปราศจากสิ่งที่จะมาร้อยกรองจิตใจไว้ได้ ....ซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่ว่า นี้ คือ ตัณหา ความทะยานอยาก นั่นเอง...

อนึ่ง ศัพท์ว่า นิพพาน นี้ ด้วยความหมายที่งอกเงยขึ้นมาในภายหลัง (รุฬหิศัพท์) แปลว่า เย็น หรือ ดับ ก็ได้ ซึ่งผู้สนใจอาจค้นหาเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง..

สมฺมาสมฺพุทฺเธหิ ทิฎฺฐธมฺมํ วิปสฺสามิ

คำสำคัญ (Tags): #นิพพาน
หมายเลขบันทึก: 81915เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2007 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • นมัสการหลวงพี่ 
  • งง งง ว่าอ่านยังไม่ทันอะไรหลวงพี่นิพพานแล้ว
  • ฮ่าๆๆๆๆ
P

ค่อนข้างแปลกใจ ว่าโพสต์ปุบ มีความเห็นปับ..

เป็นใครเอ่ย?...

เจริญพร

กราบนมัสการหลวงพี่ครับ

  • กราบของพระคุณครับ ที่นำเสนอในสิ่งที่น่าสนใจครับ
  • กระผมมีคำถามต่ออีกครับ ว่าหากในสังคมหนึ่งๆ นิพพานกันหมดทุกคน สังคมนั้นจะเป็นอยางไรครับ สังคมจะดับ หรือว่าเย็น เป็นอย่างไร รบกวนหลวงพี่ช่วยชี้แนะด้วยครับ
  • เพราะบางทีผมกำลังมองสองทางระหว่างการเดินไปสู่นิพพาน กับการเดินไปสู่การแก้ปัญหาสังคม มันจะเป็นทางเดียวกันได้ไหมครับ
  • หรือเราต้องเข้าสู่การหลุดพ้นก่อนแล้วถึงจะสามารถให้คนอื่นหลุดพ้นได้ครับ บางทีผมสงสัยครับ การนิพพานเป็นการแก้ปัญหาให้กับตัวเราเองคนเดียวหรือเปล่า แล้วหากเราไปไม่ถึง กับกรณีเราไม่ไปแต่เราไปผูกกับทางสังคมเพื่อนให้เค้าพ้นทุกข์เบื้องต้นนะครับ
  • กราบขอบพระคุณหลวงพี่มากครับ
  • นมัสการหลวงพี่ 
  • นิพพาน เป็นจุดหมายสูงสุด  ช่วยให้เห็นความเย็น  ช่วยให้เห็นการอยู่เย็นเป็นสุข 
  • ผมเข้าใจ ถูกต้องหรือไม่ 
  • นมัสการหลวงพี่ ชี้แนะด้วย

P

คำถามของอาจารย์เม้ง เป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างแนวคิด ปัจเจกนิยม ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องบุคล กับสากลนิยมหรือสังคมนิยม ซึ่งให้ความสำคัญสังคม...

ประเด็นปัญหาเหล่านี้ ไม่ขอตอบนะ เพราะหลวงพี่ขี้เกียจอธิบาย ทำนอง รู้มาก ยากนาน นะ (5 5 5)...

แต่มีคำแนะนำเบื้องต้น ถ้าสนใจเรื่องนี้ จริงๆ

พระพุทธศาสนาแบ่งแยกเป็น ๒ นิกายใหญ่ คือ

เถรวาท เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม เน้น ปัจเจกนิยม (ไทย พม่า ศรีลังกา....)

มหายาน เป็นฝ่ายประยุกต์นิยม เน้น สากลนิยม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ธิเบต....)

อนึ่ง มีนักคิดที่น่าสนใจ เช่น ส.ศิวลักษณ์ นำมาอธิบายเชิงสังคมนิยม ถ้าสนใจก็ลองค้นหาดูอาจได้คำตอบที่ถามก็ได้...

เจริญพร

 

P

ไม่ผิดครับ ท่านผอ.

ซึ่ง ถ้าอธิบายให้แจ่มแจ้งจริงๆ ก็คงจะเป็นหนังสือเล่มหนึ่งแหละครับ

เจริญพร

กราบนมัสการหลวงพี่ครับ

  • ไว้ผมจะหาอ่านครับ เคยนั่งค้นหาด้วยเมื่อก่อน นั่งหาคำตอบหลายๆ อย่าง ว่าทำไมคนเราต้องนั่งสมาธิ ชักขี้สงสัยครับ
  • ผมยังห่างไกลอยู่อีกมากเลยครับ ต้องศึกษาและผสมให้เข้าปรับใช้เข้ากันได้ครับ
  • กราบขอบพระคุณหลวงพี่สำหรับคำตอบและบทความครับ
  • โอโห เผลอหน่อยเดียว หลวงพี่ hot ไปแล้ว
  • ฮ่าๆๆๆ
ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า  "นิพพาน : ดับกิเลสและกองทุกข์"  แต่ไม่ได้ระบุว่า "ดับเหลือศูนย์" หรือไม่    และถ้าดับลงเหลือศูนย์ แล้ว  เราจะรู้ได้อย่างไรว่า "ดับเหลือเป็นศูนย์" แล้ว ?

ก็โยนมาเล่นๆ นะครับ  แต่ผมคิดว่า เราไม่ควรเถียงกันในเรื่องนี้  เอาที่เห็นกันง่ายๆว่า "กองทุกข์ลดลงหน่อยจนพอเราสามารถนอนหลับได้อย่างไร้กังวล ก็นับว่า เป็นสุข แล้ว เพียงพอแล้ว"   โดยที่เรายังคงโลดแล่นอยู่ในโลกแห่งโลกียวิสัย อย่างมี"ความสุขชั่วคราว" ได้ โดยไม่ต้องมานั่งบำเพ็ญเพียร ก็น่าจะพอแล้ว จริงไหมครับ

P

ตอนนี้มีปัญหาเรื่องหมอ... ซึ่งมีประเด็นเรื่องการทำสมาธิเข้าไปโยงด้วย... หลวงพี่คิดว่าจะเขียนเล่าเรื่องนี้ พอดี...ทำท่าจะลืมแล้ว อาจารย์เม้งพูดถึงเรื่องสมาธิ ก็นึกขึ้นได้...

ประเด็นเรื่องการประยุกต์หลักคำสอนพระพุทธศาสนามาใช้ในเชิงสังคมเศรษฐกิจ ก็มีฝรั่งคนหนึ่งชื่อ จี.เอฟ ชูเมกเกอร์ เขียนไว้นานแล้ว นายคนนี้มีชื่อเสียงด้านนี้อยู่ ถ้าไม่เคยอ่านก็ลองค้นดูได้ ครับ...

 ....

P

hot จริงๆ ด้วย เพราะฝนไม่ตกหลายวันแล้ว และน้ำก็ไม่ได้อาบสองวันแล้ว (...........)

....

เจริญพร

อาจารย์ ดร.ไสว

อาจารย์ผ่านโลกและชีวิตมายาวนาน คงจะเข้าใจดี ไม่จำเป็นต้องอธิบายใช่มั้ยครั้บ

เมื่อยังไปไม่ถึง นิพพานก็จัดว่าเป็นอุดมคติครับ อาตมาได้เขียนเรื่องนี้ไว้ชุดหนึ่ง ซึ่งมาจบที่...

เส้นชัย

ค่านิยมและอุดมคติเชิงพุทธฯ ทำนองนี้ ลางเลือนไปจากสังคมไทยขึ้นทุกวัน ครับ..

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท