ฝึกเด็กปริญญาตรี...จัดเก้าอี้...เก็บขยะ


การที่ครูทุกท่านช่วยกันฝึกนิสัยและทักษะพื้นฐาน ใช้สำหรับการดำรงชีวิต แม้ว่าจะดูไม่สำคัญ อาจจะไม่ใช่ทักษะที่ทำให้นักศึกษาได้เงิน หรือมีเกียรติยศชื่อเสียงทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แต่ก็จะทำให้นักศึกษาที่มีทักษะพื้นฐานนั้นดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดี มีวุฒิภาวะ และไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่นในภายหน้า

(21)

 

 

 

สืบเนื่องจากเรื่องที่ 20  " ฝึกเด็กปริญญาตรี จัดเก้าอี้  เก็บขยะ"

เด็กๆที่จบไปแล้วบ่นขันๆว่า ...อาจารย์ยังสอนน้องจัดเก้าอี้อยู่อีกเหรอ ดิฉันบอกเธอว่า ครูก็เปรียบเหมือนป้าเอ๊ยแม่ที่ต้องสอนทักษะพื้นฐานการดำรงชีวิตให้ลูก การป้อนข้าวใส่ปากตัวเองเป็นทักษะพื้นฐานที่แม่ต้องสอนลูก แล้วลูกก็ต้องหัดป้อนเอง จะหกจะหล่นจะเลอะไปบ้างก็ต้องยอม โตขึ้นก็จะป้อนข้าวเองได้ ไม่เป็นภาระแก่ใคร พ่อแม่ล้วนฝึกด้วยความรักความหวังดี และไม่หวังอะไรมากไปกว่าให้ลูกได้มีทักษะที่เหมาะการดำรงชีวิต

เปรียบเหมือนการที่ครูทุกท่านช่วยกันฝึกนิสัยและทักษะพื้นฐาน ใช้สำหรับการดำรงชีวิต แม้ว่าจะดูไม่สำคัญ อาจจะไม่ใช่ทักษะที่ทำให้นักศึกษาได้เงิน หรือมีเกียรติยศชื่อเสียงทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แต่ก็จะทำให้นักศึกษาที่มีทักษะพื้นฐานนั้นดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดี มีวุฒิภาวะ และไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่นในภายหน้า

เมื่อลูกศิษย์โตขึ้นเป็นคนดี มีวุฒิภาวะ รู้กาลเทศะ และไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่นในภายหน้า ก็เป็นสิ่งน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับครูแล้ว
(เธอรับพร้อมๆกันว่า ซ้า..า...ธุ ! ดิฉันก็ได้แต่หัวเราะขำพวกเธอ )

ถามว่า "การฝึกจัดเก้าอี้ เกี่ยวข้องกับทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารอย่างไร?"

ตอบว่า การฝึกจัดเก้าอี้ โดยให้เด็กๆแต่ละคนตัดสินใจเอง เป็นการฝึกการสื่อสารภายในใจของบุคคล เมื่อมีการตัดสินใจร่วมกันระหว่างเพื่อน ก็เป็นการฝึกการสื่อสารระหว่างบุคคล การฝึกจากกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อน เป็นวิธีการอย่างง่ายที่จะทำให้เธอมองเห็นเส้นทางการสื่อสารในการทำงาน มองเห็นความขัดแย้ง และมองเห็นอุปสรรคในการสื่อสาร มองเห็นคุณและโทษของการสื่อสาร เมื่อเธอได้ทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ครูต้อง

  • ถอดรหัสการสื่อสารออกมาให้เด็กๆเห็นคุณและโทษของการสื่อสารแต่ละชุด
  • และชี้ให้เด็กๆเห็นอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงกับประสบการณ์ชีวิตชุดอื่นๆที่สอดคล้องกัน

 

สิ่งเล็กๆน้อยๆที่เธอไม่ได้ใส่ใจคิด (การสื่อสารภายในจิตใจตน การละเลยเพิกเฉย) อาจกลายมาเป็นอุปสรรคชีวิตครั้งใหญ่ได้ในสักวันหนึ่ง ทั้งเก้าอี้ระเกะระกะที่เธอไม่ได้สนใจ ขยะที่อยู่ตรงหน้า และเศษชอล์กที่หล่นบนพื้น

พฤติกรรมการสื่อสารบางอย่าง อาจติดเป็นนิสัย หากเธอไม่ได้ฉุกใจคิด ไม่รู้เท่าทันการสื่อสารในจิตใจตนและผู้อื่น และไม่หัดปรับปรุงแก้ไขอย่างกัลยาณมิตร เช่น เพื่อนที่เอาเปรียบยืนเฉยไม่ยอมยกเก้าอี้ หรือเพื่อนที่ยกแต่เก้าอี้ของตัว เสร็จแล้วก็ไม่สนใจใคร หรือเมื่อลมพัดประตูปิดดังปัง เพื่อนที่นั่งใกล้ประตูก็ไม่สนใจที่จะลุกไปหาอะไรดันประตูไว้ ไม่ให้ลมพัดกระแทกปังๆๆอีก เพราะคิดว่าธุระไม่ใช่ หรือหัวหน้าที่ไม่รู้จักสื่อสารให้เกิดความร่วมมือ ลูกน้องที่ไม่ฟังใคร จะเอาความคิดตนเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น

เหล่านี้ เป็นปรากฏการณ์การสื่อสารอย่างง่ายในที่ทำงาน ซึ่งเด็กๆต้องเจอแน่นอน และอาจจะเจอตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาอยู่ในโรงเรียนด้วยซ้ำ ถามว่าวิชาความรู้ทั้งหมดที่เด็กๆเรียนไป คิดเป็นคะแนนและเกรดไปเรียบร้อยแล้วนั้น ได้รวมถึงการวัดระดับการสื่อสารพื้นฐานในจิตใจ ที่จะทำให้เกิดจิตสำนึกตระหนักต่อส่วนรวมไปแล้วด้วยหรือไม่

และถามว่าจริงๆแล้วการสื่อสารโดยพื้นฐานของจิตสำนึกตระหนักเหล่านี้ ได้รวมอยู่ในเกณฑ์วัดและประเมินผลของทุกรายวิชา อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติหรือไม่ ?

ถ้ามี แปลว่าเด็กๆที่เป็นผลผลิตของระบบการเรียนการสอนทุกวันนี้ ก็จะเป็นเด็กที่มีพื้นฐานของการสื่อสารเป็น และรู้เท่าทันการสื่อสาร รู้จักคิด มีน้ำใจ มีจิตสำนึกตระหนักต่อส่วนรวม นั่นก็เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง

แต่หากพบว่าสิ่งเหล่านี้ยังขาดไปบ้าง หรือพร่องไปอยู่บ้าง ก็คงเป็นหน้าที่ของครูที่มองเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกฝังทักษะพื้นฐาน ทักษะการสื่อสาร และการรู้เท่าทันการสื่อสาร ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการเป็นมนุษย์ที่ดีของสังคมภายหน้า และคงต้องช่วยกันแสวงหาวิธีการต่างๆมาฝึกมาสอน เด็กๆที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราต่อไป

อย่างไรก็ตาม ดิฉันเองก็มิใช่ผู้ที่เข้าใจชีวิตโดยลึกซึ้ง อย่างผู้มีประสบการณ์หรือผู้รู้ และไม่เคยเรียนรู้เรื่องกระบวนการฝึกคนอย่างเป็นระบบ ได้แต่ศึกษาเองแบบลองผิดลองถูก ข้อมูลและวิธีการที่นำเสนอแบบเล่าสู่กันฟังนี้คงมีข้อบกพร่องอยู่มาก หากท่านผู้รู้และท่านที่สนใจแวะเข้ามาอ่าน จะกรุณาช่วยชี้แนะดิฉันด้วยก็จะเป็นพระคุณยิ่งค่ะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 81894เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2007 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท