ฮีต 3


  บุญข้าวจี่ (บุญเดือนสาม)

ความสำคัญและความหมาย

ข้าวจี่  คือ  ข้าวเหนียวนึ่งให้สุขแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนโตประมาณเท่าไข่เป็ดขนาดใหญ่หรือผลมะตูมขนาดกลาง ปั้นให้แน่นแล้วทาเกลือให้ทั่วเสียบใส่ไม้ย่างไฟหรือจะย่างบนตะแกรงเหล็กก็ได้ด้วยถ่านไฟพลิกไปมาให้สุกเหลืองพอดีจนทั่วจึงเอาออกมาทาด้วยไข่ ซึ่งไข่นั้นจะต้องตีให้ไข่ขาวและไข่แดงเข้ากันดีแล้วทาจนทั่วปั่นข้าวเอาไปย่างไฟให้สุกอีกทีหนึ่ง บางแห่งนิยมใส่น้ำอ้อยด้วยดังคำโบราณที่ว่า “ เดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั่นข้าวจี่ ข้าวจี่บ่มีน้ำอ้อยจัวน้อยเช็ดน้ำตา


    มูลเหตุและความเป็นมา เหตุที่ทำบุญข้าวจี่ในเดือนสามเนื่องจากเป็นเวลาที่ชาวนาหมดภาระในการทำนาและข้าวขึ้นยุ้งฉางใหม่ จึงอยากร่วมกันทำบุญข้าวจี่ถวายพระสงฆ์ ส่วนมูลเหตุดังเดิมที่จะมีการทำบุญข้าวจี่มีเรื่องเล่าว่า ในกาลครั้งหนึ่ง มี นางปุณทาสีได้ทำขนนแป้งจี่ถวายแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอานนท์ครั้นถวายแล้วนางคิดว่าพระองค์คงไม่เสวยและอาจเอาทิ้งให้สุนัขหรือกากินแล้วก็ได้เพราะอาหารที่นางถวายไม่ประณีตน่ารับประทาน เมื่อพระองค์ทรงทราบถึงภาระกิจของนางปุณทาสี จึงรับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดอาสนะ และทรงประทันนั่งฉัน ณ ที่นางถวายนั้นเป็นผลให้นางเกิดปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อนางได้ฟังธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงก็บรรลุโสดาปัตติผล ด้วยอานิสงส์ที่ถวายขนมแป้งจี่ ชาวอีสานทราบอานิสงส์ของการทานดังกล่าวจึงพากันทำข้าวจี่ถวายแด่พระสงฆ์สืบต่อกันมา

ขั้นตอนดำเนินการ
   
สถานที่ สำหรับสถานที่แต่ละแห่งอาจใช้ไม่เหมือนกัน คือบางแห่งใช้ศาลากลางบ้าน บางแห่งใช้วัด พอถึงวันทำบุญชาวบ้านก็จะจัดการจี่ข้าวตั้งแต่เช้ามืดให้เสร็จจากบ้านของตนแล้วจึงนำข้าวจี่ออกไปรวมกันที่วัดหรือศาลากลางบ้าน เพื่อถวายพระสงฆ์ แต่บางแห่งอาจจะนำเอาข้าวและฟืนไปรวมกัน ทำการจี่ข้าวอยู่ที่วัดเพราะถือว่าจะได้รวมกันทำบุญและมีความสามัคคีมากขึ้น
   จำนวนพระ ส่วนใหญ่ชาวอีสานจะนิยมนิมนต์พระ 7 รูป หรือ 9 รูป จะถือเอาเลขคี่จึงจะเป็นมงคลและจะเน้นจำนวน 7 หรือ 9 แต่ถ้าหากไม่มีจริง ๆ ก็อนุโลมให้เท่าไหร่ก็ได้ตามความเหมาะสม
   พิธีกรรม พอถึงวันนัดหมายทำบุญข้าวจี่ ซึ่งจะเป็นวันใดวันหนึ่งของเดือนสามทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจัดเตรียมข้าวจี่ตั้งแต่ตอนย่ำรุ่งของวันนั้นเพื่อให้ข้าวจี่สุกทันใส่บาตรในตอนเช้า ซึ่งตามปกติแต่ละครอบครัวจะนำข้าวจี่ใส่ถาดประมาณ 7 – 9 ก้อนและนอกจากข้าวจี่ก็จะนำ “ ข้าวเขียบ ” ( ข้าวเกรียบ ) ย่างไฟให้โปร่งพองใส่ถาดไปด้วยพร้อมจัดอาหารคาวหวานไปถวายพระที่วัด ข้าวจี่บางก้อนผู้เป็นเจ้าของได้ยัดไส้ด้วยน้ำอ้อยเพื่อให้เกิดรสหวานชวนรับประทาน ครั้นถึงศาลาโรงธรรมพระภิกษุสามเณรทั้งหมดที่นิมนต์มาจะลงมานั้งที่อาสนะ ผู้เป็นประธานในพิธีพาญาติโยมที่มารวมกันอยู่บนศาลาอาราธนาศีลพระภิกษุให้ศีลญาติโยมรับศีลแล้วกล่าวคำถวายข้าวจี่จากนั้นก็จะนำข้าวจี่ไปใส่บาตรพระ ซึ่งตั้งบาตรเรียบแถวไว้ตามจำนวนพระและถวายภัตตาหารพระ พอพระฉันเสร็จก็ให้พรญาติโยมรับพรเป็นอันเสร็จพิธี

คำถวายข้าวจี่  

อิมัสมิง ฐาเน อิมานิ มะยัง ภันเต พาหิระอัณฑานิ ปิณฑะปาตานิ ภิกขุฆัสสะ
โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ พาหิระอัณฑานิ ปิณฑะปาตานิ
ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง อัตถายะ หิตายะ สุขายะ

คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ก้อนข้าวจี่ ทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ขอให้พระภิกษุสงฆ์จงรับก้อนข้าวจี่ทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ


   วิพากษ์พิธีกรรมความเชื่อ ความจริงการจี่ข้าวของชาวอีสานคงมีมาตั้งแต่นานแล้ว นานพร้อม ๆ กันกับการรับประทานข้าวเหนียวของชาวอีสานที่เดียว การจี่ข้าวของชาวอีสานจึงไม่น่าจะมีมาจากประเทศอินเดีย เหตุที่ชาวอีสานจะต้องจี่ข้าวในช่วงเดือนสาม เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จใหม่ ๆ ที่ชาวอีสานเรียกว่า “ ข้าวใหม่ปลามัน ” การจี่ข้าวในช่วงนี้จะทำให้มีความหอม ข้าวเหนียวดี กอปรกับอากาศในระยะนี้จะหนาวผู้คนมักก่อกองไฟผิงกันหนาวเป็นโอกาสเหมาะที่จะผิงไฟไปด้วยจี่ข้าวไปด้วย ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นชาวอีสานจึงรู้พฤติกรรมนี้ดี ปู่จะจี่ข้าวให้หลาน พ่อแม่จะจี่ข้าวให้ลูก และใครต่อใครจะจี่ข้าวรับประทานก็อาศัยช่วงนี้แหละจากการสังเกตพฤติกรรมและเหตุการณ์ตลอดบรรยากาศจึงพอจะสรุปได้ว่าชาวอีสานจี่ข้าวมาในลักษณะนี้ตั้งนมนาน โดยไม่ได้จดจำและมีที่มาจากประเทศอื่นใด เพราะเหตุผลสำคัญที่น่าเชื่อเช่นนั้นประการหนึ่งคือชาวอีสานเป็นลูกข้าวเหนียวแห่งเดียวในโลก เป็นชนเผ่าที่ชอบประดิษฐ์คิดค้นในเรื่องการดัดแปลงอาหารการกินอยู่แล้ว การนำข้าวมาจี่จึงเป็นภูมิปัญญาของชาวอีสานเอง เหตุที่การจี่ข้าวมาเกี่ยวข้องกับพระเป็นพระชาวอีสานเป็นคนมีนิสัยชอบทำบุญกุศลอยู่แล้ว เมื่อมีอาหารของคบเคี้ยวอะไรดี ๆ มักจะคิดถึงพระ ข้าวจี่ก็เป็นอาหารอย่างหนึ่งที่ชาวอีสานชอบ เมื่อตนเองชอบและเห็นว่าพระทำฉันเองไม่ได้ จึงนำข้างจี่ไปถวายพระและกระทำกันจนเป็นประเพณีตราบจนถึงปัจจุบัน ครั้นมีการถวายข้าวจี่กันเรื่อย ๆ และมากขึ้น ย่อมเป็นธรรมดาของนักปราชญ์ที่ต้องหาเหตุผล หาที่มาให้ได้ หรือใกล้เคียงกันกันพฤติกรรมว่าข้าวจี่ที่ชาวอีสานนำถวายพระมีที่มาอย่างไร ในหลักหรือชาดกทางศาสนามีไหม เมื่อสืบค้นก็พบเรื่องของนางปุณทาสีที่เห็นว่าใกล้เคียงกันจึงนำเรื่องดังกล่าวมายึดเป็นที่มาและอานิสงส์ของการทำบุญข้าวจี่ ซึ่งการประกอบกิจกรรมดังกล่าวได้กระทำกันเป็นประเพณีจนปัจจุบัน และปราชญ์อีสานได้รจนาเป็นคำกลอนอีสานว่า

“ ฮีตหนึ่งนั้นเถิงเมื่อเดือนสามได้จงพากันจี่ข้าวจี่ ไปถวายสังฆเจ้าเอาแท้หมู่บุญ กุศลยังสินำค้ำตามเฮามื้อละคาบ หากธรรมเนียมจั่งซี้มีแท้แต่นาน ให้ทำไปทุกบ้านทุกที่เอาบุญพ่อเอย คองหากเคยมีมาแต่ปางปฐมพุ้น อย่าพากันไลถิ้มประเพณีตั้งแต่เก่า บ้านเมืองเฮาสิเศร้าภัยฮ้ายสิแล่นตาม ”

ความหมายครั้งถึงเดือนสามจะต้องพากันทำบุญจี่ข้าว คือนำข้าวเหนียวมาปั้นแล้วจี่ข้าวไปถวายพระหากทำก็จะทำให้ได้บุญกุศลมากความสุขจะเกิดตามมา หากไม่ทำก็จะเกิดภัยร้ายแก่หมู่บ้านชุมชนได้ ดังนั้นชาวอีสานจึงพากันทำบุญข้าวจี่อย่างเคร่งครัดจนปัจจุบัน

 

คำสำคัญ (Tags): #test#ข้าวจี่
หมายเลขบันทึก: 81826เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2007 01:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท