การจัดระดับความเหมาะของภาพยนตร์โดยภาคประชาสังคม


เครือข่ายครอบครัว เด็ก และเยาวชน ระบุว่าต้องมีการจัดระดับความเหมาะสมภาพยนตร์
การจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ สถานการณ์ของภาพยนตร์ในสังคมไทยปัจจุบันนั้น  ภาพยนตร์ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งมีอิทธิพลต่อสังคม  ความหลากหลายของวัฒนธรรมต่างๆ ในสังคมที่ออกมากับภาพยนตร์นั้นมีผลต่อการดำรงชีวิตของคนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่านิยม และเศรษฐกิจ   ในแต่ละปีมีภาพยนตร์เข้าฉายในประเทศไทยมากกว่า ๒๐๐ เรื่อง ทั้งที่เป็นภาพยนตร์ที่ผลิตในต่างประเทศและนำเข้ามาฉายในประเทศไทย รวมทั้ง ภาพยนตร์ที่ผลิตและฉายในประเทศไทย โดยที่ระบบการกลั่นกรองความไม่เหมาะสมของเนื้อหาภาพยนตร์ในประเทศไทยเองก็ไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร  ซึ่งในทางวิชาการด้านสมองระบุว่าสมองของเด็กและเยาวชนต้องได้รับการเรียนรู้อย่างเหมาะสม  แต่ปัจจุบันภาพยนตร์ตอบสนองเรื่องของการเรียนรู้น้อยมาก และกลับนำเสนอเรื่องของความบันเทิงที่ไม่เหมาะสมในเรื่องของเพศ ภาษา และพฤติกรรมความรุนแรงรวมอยู่ด้วยจำนวนมาก            
        จากที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้มีการประเมินคุณภาพเนื้อหาของสื่อนั้น  ภาพยนตร์ก็เป็นอีกเป้าหมายสำคัญที่เห็นว่าต้องได้รับการจัดระดับความเหมาะสม  การจัดระดับความเหมาะของภาพยนตร์จึงได้ถูกเริ่มขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มของเครือข่ายครอบครัว สภาเด็กและเยาวชน และภาคประชาสังคม  ซึ่งในการทำการประเมินการจัดระดับความเหมาะสมนั้นได้มีการเข้าชมภาพยนตร์ทุกเรื่องที่มีการเข้าฉายทั้งภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศ  โดยใช้ทฤษฎี ๖+๑ เข้าไปประเมิน  กล่าวคือ ประเมินว่าภาพยนตร์เรื่องใดมีเรื่องของเกณฑ์ความรู้ ๖ เรื่อง คือ ระบบคิดและสติปัญญา ความรู้ด้านวิชาการ คุณธรรมจริยธรรม ทักษะในการใช้ชีวิต และความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว  เกณฑ์  ๖ เรื่องดังกล่าวจะนำไปสู่การสนับสนุนเรื่องของกองทุนในการผลิต  และเรื่องของ +๑ คือเกณฑ์ต้องห้าม  ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการจำแนกเนื้อหาของภาพยนตร์ให้เหมาะสมกับช่วงอายุของผู้ชม  คือเรื่องของเพศ ภาษา และพฤติกรรมความรุนแรง  เมื่อภาคประชาสังคมได้มีการประเมินร้อยละ ๙๘% มีความเห็นตรงกันว่า ภาพยนตร์ที่มีเกณฑ์ต้องห้ามในระดับความถี่และเข้มข้นของเนื้อหา ในระดับที่ ๑ เหมาะสำหรับช่วงอายุ ๑๓ ปีขึ้นไป หากต่ำกว่า ๑๓ ปีต้องมีผู้ปกครองแนะนำ และในระดับ ๒-๓ เหมาะสำหรับช่วงอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป
        หลังจากที่เครือข่ายครอบครัว สภาเด็กและเยาวชนได้ทำการประเมินพบว่า ภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาฉายในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่มีการจัดระดับความเหมาะสมมาแล้วจากต่างประเทศ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Snakes on a plane ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกาและถูกจัดระดับความเหมาะสมจาก Motion Picture Association of America หรือ MPAA ไว้ที่ Rate R หมายความว่า เหมาะสำหรับช่วงอายุ ๑๗ ปีขึ้นไป แต่ในประเทศไทยไม่ได้จัดระดับความเหมาะสมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เมื่อเครือข่ายครอบครัว สภาเด็กและเยาวชน ทำการประเมินภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีความเห็นตรงกันร้อยละ ๙๕ % ภาพยนตร์เรื่อง Snakes on a plane เหมาะสำหรับช่วงอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป เพราะด้วยเนื้อหาที่แสดงพฤติกรรมความรุนแรงในระดับ ๓ และการแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมาะสมในระดับ ๒ และภาพยนตร์ที่ผลิตในประเทศไทยอีกหลายเรื่องที่เครือข่ายครอบรัว สภาเด็กและเยาวชน และภาคประชาสังคมได้ทำการประเมิน เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Delivery sexy love ภารกิจบิดระเบิดรัก แล้วมีร้อยละ ๙๙% ของผู้เข้าประเมินทั้งหมดเห็นตรงกันว่า เหมาะสำหรับช่วงอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป เพราะเครือข่ายครอบครัว สภาเด็กและเยาวชน เห็นว่าเรื่องของเพศ ภาษา และพฤติกรรมอยู่ในระดับ ๓ ทั้งหมด    ดังนั้นเครือข่ายครอบครัว เด็กและเยาวชนที่ทำการประเมินจึงมีความเห็นตรงกันว่า ภาพยนตร์มีความสำคัญและจำเป็นต้องได้รับการจัดระดับความเหมาะสมจากภาคประชาสังคม  และภาคประชาสังคมเห็นว่าการจัดระดับความเหมาะภาพยนตร์ในต่างประเทศนั้นไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้เลย  ด้วยเงื่อนไขของบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน  การจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์นั้นต้องคำนึงถึงบริบทของสังคมไทยเป็นสำคัญ                  
หมายเลขบันทึก: 81750เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2007 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นคนอย่างนี้เหรอ...

เขียนดีเหมือกันนะ

แต่..เป็นแมวจริงๆรึนี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท