เหตุใดต้องมีการจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์?


การจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ : ทำไมต้องมีและมีอย่างไร[1] ทำไมต้องมี โดยอาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์

        ในแต่ละปีมีภาพยนตร์เข้าฉายในประเทศไทยมากกว่า ๒๐๐ เรื่อง ทั้งที่เป็นภาพยนตร์ที่ผลิตในต่างประเทศและนำเข้ามาฉายในประเทศไทย รวมทั้ง ภาพยนตร์ที่ผลิตและฉายในประเทศไทย เช่น ภาพยนตร์เรื่อง นางฟ้าซามูไร หรือ Kill Bill ในภาพยนตร์เรื่องนี้เองมีเนื้อหาของการต่อสู้ รุนแรง การใช้อาวุธ และที่สำคัญ ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงภาพของการ ฆ่า อย่างชัดเจนในบรรดาภาพยนตร์เหล่านั้นส่วนมากมักนำเสนอเนื้อหาที่มีผลต่อการเรียนรู้ พัฒนาการของเด็ก เยาวชนอันนำมาซึ่งปัญหาที่สำคัญ เช่น  การส่งผลต่อความคุ้นชินกับพฤติกรรมของการใช้ความรุนแรง หรือ การกระตุ้นให้เด็ก และเยาวชนมีพฤติกรรมของบริโภคนิยม นิยมสินค้าฟุ่มเฟือย  การส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเพศ เช่นเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และที่สำคัญสื่อเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เด็ก เยาวชนเริ่มห่างไกลจากคำว่าศีลธรรมและจริยธรรมในขณะเดียวกัน ด้วยการอธิบายถึงสมองกับการเรียนรู้ รวมทั้งการอธิบายด้วยทฤษฎีทางวิชาการด้านจิตแพทย์วัยรุ่น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาพยนตร์หรือสื่อที่มีเนื้อหาในลักษณะต่างๆ มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน  เนื่องจากพัฒนาการทางด้านสมองของเด็กและเยาวชนนอกจากการศึกษาเรียนรู้แล้ว การเรียนรู้ในลักษณะระบบการสัมผัสก็มีความสำคัญ เช่นการรับชมสื่อจากการมองเห็น เป็นต้น เมื่อเด็กและเยาวชนรับเอาสื่อภาพยนตร์หรือสื่อต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมกับช่วงอายุเข้าไปในจำนวนมากๆ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัญหาสังคม  เพราะเด็กและเยาวชนมีความเข้าใจว่าพฤติกรรมต่างๆ ที่ได้รับมาจากสื่อภาพยนตร์นั้นเป็นภาวะปกติของสังคม ทำให้เกิดความเคยชินกับสิ่งที่เห็นมา ดังนั้น การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อภาพยนตร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อทำหน้าที่ในการจำแนกเนื้อหาให้เหมาะกับกลุ่มผู้ชม และเพื่อนำมาซึ่งการสนับสนุนการผลิตสำหรับภาพยนตร์ที่ให้การเรียนรู้ที่ดีกับเด็ก เยาวชนและครอบครัว  

        แนวคิดพื้นฐานของการจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์กับรายได้จากการประกอบการ ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสตื่นตัวให้กับวงการภาพยนตร์ไทยก็คือ ต้มยำกุ้ง หรือ Protector ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ผลิตในประเทศไทยและได้มีโอกาสไปฉายในต่างประเทศและสร้างรายได้มหาศาล ปรากฏข้อเท็จจริงว่าภาพยนตร์ที่ถึงแม้จะผลิตในประเทศไทย ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อนำเข้าฉายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ถูกจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุโดยมีหน่วยงานของรัฐที่เรียกว่า Motion Picture Association of America หรือ MPAA  จัดให้ภาพยนตร์เรื่องต้มยำกุ้งของประเทศไทยอยู่ในระดับของ R คือ ช่วงอายุผู้ชมที่ต่ำกว่า 17 ปีต้องดูร่วมกับผู้ปกครอง เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาของความรุนแรงอยู่พอสมควร แต่เมื่อฉายในประเทศไทยภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวกลับไม่ได้รับการจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุ หลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นปรากฏการณ์นี้สร้างความชัดเจนของแนวคิดพื้นฐานระหว่างการจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุเพื่อคุ้มครองเด็ก เยาวชน กับ แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับ คุณค่าเชิงความรู้ และ ความเป็นสาระบันเทิงออกจากกันอย่างชัดเจน

        เรตติ้งบนมาตรฐานเดียวกันหรือต่างกัน จากการสำรวจการจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุในต่างประเทศปรากฏว่า มี ๓๘ ประเทศ   ที่มีการจำแนกเนื้อหาความเหมาะสมของภาพยนตร์ เช่น สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย จีน มาเลเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ เป็นต้น มักมีการตั้งคำถามอยู่เสมอว่า ภาพยนตร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศต่างๆข้างต้น ซึ่งได้รับการจำแนกเนื้อหาไว้แล้ว เมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทย สังคมไทยจะคิดอย่างไรต่อการจำแนกเนื้อหาดังกล่าว ? คำตอบในเรื่องนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า ภาพยนตร์ที่ถูกจัดระดับความเหมาะสมในต่างประเทศนั้น มาตรฐานที่นำเข้ามาไม่อาจนำมาใช้กับสังคมไทยได้เลยทันที เพราะบริบททางสังคมแตกต่างกันออกไปตามลักษณะวัฒนธรรม ประเพณี  มาตรฐานในการจำแนกเนื้อหาในบริบทของสังคมไทยจึงจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมและจารีตประเพณีเป็นสำคัญ หมายความว่า การกำหนดความเข้มข้นของระดับความรุนแรงของต่างประเทศมีรายละเอียดที่ต่างจากระดับความเข้มข้นของสังคมไทยเพื่อสร้างระบบการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อภาพยนตร์ โจทย์ที่ท้าทายของเราก็คือ การกำหนดรายละเอียดของระดับความเข้มข้นของเนื้อหาเพื่อนำมาซึ่งการจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุที่ชัดเจน และมากไปกว่านั้น เราต้องสร้างเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพเนื้อหาภาพยนตร์เพื่อพิจารณาว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นๆให้ความรู้อะไรแก่ผู้ชมดังนั้น ในวันนี้ นอกจากที่จะต้องบอกว่าภาพยนตร์เรื่อง ต้มยำกุ้ง เหมาะสำหรับผู้ชมในวัยใดแล้ว เรายังต้องบอกด้วยว่า ต้มยำกุ้งมีคุณค่าเชิงความรู้เพียงใด ซึ่งหากต้มยำกุ้งตอบโจทย์ที่สำคัญเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ ความจำเป็นที่จะต้องได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นกระบวนการที่ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง 



[1] วันเสาร์ ที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙  ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้มีการจัดงานเสวนาแนวทางในการจัดระดับความเหมาะสมภาพยนตร์ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  โดยมีการระดมแนวความคิดจากภาคประชาสังคม คือ ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคนโยบาย ตลอดจนนักจิตแพทย์วัยรุ่น และผู้ทนรงคุณวุฒิในการทำทำงานด้านเด็ก เยาวชน  และครอบครัว
หมายเลขบันทึก: 81748เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2007 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท