เคี่ยวน้ำอ้อย:กรำน้ำใจ


ความหวานหอมจากผลผลิตธรรมชาติที่เก็บไว้ได้นาน ที่ต้องผ่านการเคี่ยวกรำ ผ่านความร้อนจนที่สุดตกผลึก ที่มีเบื้องหลังเป็นภูมิรู้ ความชำนาญ เจนจัด ผ่านการลงมือปฏิบัตินานหลายสิบปี เป็นความรู้ของคนนอกระบบรู้หนังสือที่อธิบายให้ฟังได้ยากยิ่งแม้พยายามอธิบาย เราก็ฟังไม่เข้าใจ แต่พวกเขาสามารถปฏิบัติให้เห็นได้ เป็นความรู้แบบพิเศษ

น้ำอ้อย

อ้อย

 

น้ำอ้อยจากแรงน้ำใจ แรงน้ำมือ แรงปัญญา ที่หมู่พวกสมาชิกได้ร่วมชีวิตกันทำ ๓ วัน ๒ คืนที่นาพ่อสถาน

 

ฟืน

เคี่ยว

หยอด

 

ความหวานหอมจากผลผลิตธรรมชาติที่เก็บไว้ได้นาน ที่ต้องผ่านการเคี่ยวกรำ ผ่านความร้อนจนที่สุดตกผลึก ที่มีเบื้องหลังเป็นภูมิรู้ ความชำนาญ เจนจัด ผ่านการลงมือปฏิบัตินานหลายสิบปี เป็นความรู้ของคนนอกระบบรู้หนังสือที่อธิบายให้ฟังได้ยากยิ่งแม้พยายามอธิบาย เราก็ฟังไม่เข้าใจ แต่พวกเขาสามารถปฏิบัติให้เห็นได้ เป็นความรู้แบบพิเศษที่เมื่ออยู่ในขบวนการทำงานจะรู้ว่าจะทำอะไรได้บ้าง รู้ได้บอกได้ว่า ทำถูกต้องหรือไม่ เมื่อเห็นแล้วทำแล้วก็บอกได้ว่าจะทำอะไรต่อไป ขณะนี้น้ำอ้อยใช้ได้หรือยัง จะดูแลความร้อนขนาดไหนถึงจะเหมาะสม

 

อิ้ว

อิ้ว

 

 

 

 

 

 ช่างชาวยางคำเป็นคนติดตั้งเครื่องมือ แต่ครั้นชาวบ้านเหล่ามาเห็น เห็นการทดลองอิ้ว ก็รีบทักท้วง

ผิดแล้ว การอิ้วน้ำอ้อยต้องอิ้วไปทางซ้าย
ต้องทำไม้คานที่จะดึงอิ้วให้หมุน ยาวกว่านี้ ไม่งั้นจะหนักและเหนื่อยมาก
เอาอ้อยสอดเข้าให้ถูกช่อง ช่องของอิ้วมันมีช่องใหญ่ ช่องเล็ก

พอมาถึงตอนนี้แล้ว ต้องตัดไม้ทันทีเพราะงานรออยู่ข้างหน้าแล้ว ได้ไม้มาใหม่ยาวทีเดียว ใช้เป็นแขนทั้งสองข้าง คนเข้าหมุนได้ทั้งสองด้าน
ส่วนพ่อสางสาธิตให้ดูวีธียัดลำอ้อยใส่เครื่องอิ้ว และวิธีที่จะทำให้ได้น้ำอ้อยเต็มที่ โดยในรอบสองของการอิ้ว จะบิดท่อนอ้อยเป็นเกลียวทำให้การรีดน้ำออกทำได้เต็มที่จนลำอ้อยเกือบแห้งสนิท
ระวังมือเราเป็นที่สุด เวลาสอดอ้อยเข้าอิ้ว มันจะเพลิน แล้วนิ้วมือเข้าไปด้วย
พ่อสางเตือน

 

ตัดอ้อย

 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายตัด เร่งงานตลอดทั้งสามวัน เป็นฝ่ายงานที่เสร็จก่อนเพื่อน

ครัว

 

ปากท้องของพวกเราขึ้นอยู่กับพวกเธอเหล่านี้ ที่มิรู้เหน็ดรู้เหนื่อยกับการเตรียมของอยู่ของกินให้เพื่อน เราเปลี่ยนการกินใหม่ จากประเพณีที่ต้องกินพร้อมกัน เป็น ใครพร้อมกินก่อน เสร็จก่อนทำงานก่อน ทยอยมากินตามลำดับ

 

น้ำร้อน

 

จุดพักเอาแรง กินน้ำร้อน ดูแลโดยหมอยาใหญ่ ของเรา พ่อมูน แม่ทน ยาต้มเที่ยวนี้ ทั้งสีสวย ทั้งอร่อย ลูกค้าตรึม!

 

พัก

 

เหนื่อยนักก็พักก่อน งานของเรา เราไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร เราเหนื่อย เราพัก เราง่วงเรานอน เราหิว เราก็กินครับผม เมื่อเรียบร้อยแล้วเราก็ทำงานกันต่อ ...ลุย

 

ดนตรี

 

หอบขนกันมา คุยกันตอนแรกกับคณะยางคำ คิดว่า ไม่ต้องมีดนตรีเกรงจะเป็นภาระ แต่พอเพื่อน ๆ บ้านอื่นรู้ ก็บอกว่าไม่ได้ ไม่มีได้ไง มีเสียงเพลงก็ทำให้ไม่เหนื่อยมาก ดงหลวงก็พากันหอบกันขนมา ก็ได้อาศัยบรรเลงยามราตรี พอได้สังสรรค์ สนุกสนาน ตามกำลัง ตามเงื่อนไข

 

พระ

 

หลวงปู่ชวน ก็มาร่วมให้กำลังใจแก่อดีตเพื่อนสมัยเป็นฆราวาส ที่มาร่วมแรงวันนี้ ให้โอกาสคณะแม่ออกเป็นตัวแทนเพื่อนถวายภัตตาหาร

 

เด็ก

 

เด็ก ๆ ก็มาร่วมสร้างสีสันให้กับคณะพวกผู้ใหญ่ มาทดลองกำลังตัวเองด้วยความกระตือรือล้น

เกือบ ๖๐ ชีวิตหลอมรวมกันทำสิ่งที่เรียกว่า การอิ้วน้ำอ้อย ที่มีความหมายไม่เพียงได้น้ำอ้อย แต่เป็นการฟื้นขีดความสามารถที่เคยมี ฟื้นสิ่งที่พ่อแม่เคยถ่ายทอดให้ให้มีชีวิตอีก สร้างสิ่งที่หลายคนไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต ก่อนจะมาเป็นก้อนน้ำอ้อย ผ่านอะไรบ้าง งานเที่ยวนี้ได้ทำให้หลายคนกลายเป็นส่วนหนึ่งของน้ำอ้อยด้วยน้ำมือแห่งตน และท้ายสุดเป็นการทดสอบพลังแห่งความมุ่งมั่นของกลุ่มของเรา .....ปีหน้าเราจะอิ้วน้ำอ้อยอีก...

 

คณะ

 

การร่วมงานกันคราวนี้ ดิฉันได้เรียนรู้ครั้งใหญ่ อีกครั้งหนึ่ง ได้เห็นบุคลิกการเรียนรู้ของชาวบ้านอีกแบบหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ชาวบ้านเมื่อมาถึงบริเวณอิ้วน้ำอ้อย ทุกคนพากันแยกย้ายกันทำงาน ตามกำลังของตนเองโดยมิได้มีการเตรียมการนัดหมายอะไรแต่อย่างใด


และเมื่อเสริมด้วยการจัดแบ่งหน้าที่ให้ชัดยิ่งขึ้น เป็นอันว่าจบ ทุกคนเข้าประจำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง และงานก็หมุนเกลียวไปตามกาลเวลา
ตอนท้ายดิฉันถาม
ทำไมเที่ยวนี้ ดิฉันไม่ต้องทำอะไร เตรียมอะไร แล้วทำไมพวกพ่อ ๆ แม่ ดูเหมือนจะรู้หน้าที่ เข้าใจงานกันหมดเลย ไม่ต้องบอกอะไร
พ่อวิเชียร
ก็พอเห็นปุ๊บก็รู้เลยว่า จะทำอะไรบ้าง ก็ทำไปเลยตามงานได้เลย
ดิฉัน
แล้วเวลาเราสรุปงานประจำปีอยากให้เป็นแบบนี้ ทำอย่างไร
พ่อวิเชียร
มันไม่เหมือนกันนะหัวหน้า อันนั้นมันไม่รู้ว่ามันจะไปอย่างไร ไม่รู้ว่าจะทำอะไรบ้าง

ซึ่งที่จริงแล้วมีการเตรียมเหมือนกัน เตรียมแบบในระบบ เช่น จัดแบ่งหน้าที่ จัดแยกแยะงานออกมา แล้วจัดให้มีคนรับผิดชอบ มีการทำกำหนดการออกมาให้ดู แต่เมื่อถึงเวลา มันก็ต้องได้ซักซ้อมกันอีกหลายรอบเพื่อให้งานเป็นไปตามที่กำหนด การเตรียมแบบนี้คงไม่เข้าไปในใจของชาวบ้านมากนัก แต่พวกเขาก็พยายามที่จะเรียนรู้อย่างที่สุด  แต่เมื่อมาถึงงานอิ้วน้ำอ้อย พวกเขาดำเนินมันไปได้โดยไร้การเคี่ยวเข็ญ มันเป็นไปเอง.....

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 81646เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2007 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท