BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๗ : เตรียมตัวเองเพื่อครองเรือน (ต่อ)


มงคลสูตร

ประการแรกคือ พาหุสัจจะ ความเป็นผู้มีการศึกษามาก จัดเป็นความจำเป็นพื้นฐานสำหรับผู้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อมีการศึกษามาก มีความรู้รอบด้าน ก็จะเป็นการเพิ่มสายตาให้มองได้กว้างไกลยิ่งขึ้น นั่นคือ จะทำให้เป็นผู้ฉลาดยิ่งขึ้นนั่นเอง...

ในหิโตปเทศสอนไว้ว่า ไม่มีลูก ๑ มีลูกแล้วลูกตาย ๑ มีลูกโง่ ๑ สามอย่างนี้ควรเลือกเอาสองอย่างแรก เพราะสองอย่างแรกพ่อแม่จะเป็นทุกข์เพียงครั้งเดียว ส่วนประการสุดท้ายพ่อแม่จะเป็นทุกข์ร่ำไป... นั่นคือ ผู้เป็นพ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกได้รับการศึกษาเพื่อจะได้ไม่เป็นคนโง่ เพราะถ้าลูกเป็นคนโง่แล้ว พ่อแม่ก็อาจจะต้องพลอยเป็นทุกข์กับลูกไม่สิ้นสุดนั่นเอง...

ความเป็นผู้มีการศึกษามากนี้ จะบังเกิดได้ก็ต้องพร้อมด้วยองค์ประกอบ ๕ ประการ คือ

๑. พหุสุตา นั่นคือ อ่านมาก ฟังมาก หรือเป็นผู้ใคร่ในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ เป็นปรกติ ....

... เคยฟังเรื่องเล่ามาว่า หลวงวิจิตรวาทการ สมัยที่ท่านทำงานด้านเลขานุการทูตในประเทศหนึ่ง ก็มีผู้หวังดีแนะนำให้ไปเรียนที่สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเค้าจะสอนสิ่งที่ตนเองอยากจะเป็น..

ท่านขัดผู้แนะนำไม่ได้จึงลองไปสมัคร โดยท่านกรอกในใบสมัครว่า ต้องการจะเป็นผู้บัญชาการหอสมุดแห่งชาติ (ตำแหน่งเรียกสมัยนั้น) ... และท่านก็ได้รับการอบรมจากที่นี้จนจบหลักสูตรเมื่อท่านกลับมาเมืองไทย ก็ไปสมัครทำงานที่หอสมุตฯ ผู้บัญชาการฯ ก็ไม่รับ โดยอ้างว่างานเดิมที่หลวงวิจิตรฯ กำลังทำอยู่ก็ดีแล้ว ...ท่านก็เลยล้มเลิกความหวังในด้านนี้ (การเป็นผู้บัญชาการหอสมุตฯ) ...

เกินสิบปีต่อมา ท่านก็ได้รับคำสั่งให้ไปเป็นอธิบดีกรมศิลปากร... ท่านก็ระลึกถึงคำสอนที่ไปอบรมในครั้งนั้นได้ (กรมศิลปากรจะดูแลหอสมุดฯ ด้วย) ... ว่าท่านได้มาถึงสิ่งที่ต้องการจะเป็นแล้ว...

ฟังมาว่า ประการหนึ่งที่หลวงวิจิตรฯ ได้รับการอบรมมาในสมัยนั้นคือ ต้องอ่านหนังสือทุกวัน อย่างน้อยวันละ ๑๐๐ หน้า...

 ๒. ธตา นั่นคือ จำได้ บางคนแม้จะอ่านมาก ฟังมาก แต่ถ้าไม่รู้จักกำหนดจำ สิ่งที่ได้อ่านได้ฟังมาก็ย่อมไร้ค่า ฉะนั้น การกำหนดจำเรื่องต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่จะต้องฝึกหัดหรือสร้างให้มีให้เป็นขึ้นมา ...

๓. วจสา ปริจิตา นั่นคือ ท่องไว้ได้ด้วยวาจา ประเด็นนี้ แตกต่างจากข้อก่อน กล่าวคือ การจำได้นั้นอาจไม่จำเป็นต้องท่อง แต่การท่องจำเป็นต่อการจำได้ ...เช่น นิทานบางเรื่องที่เราเคยฟังมา เราก็อาจกำหนดจำ เพื่อนำมาเล่าต่อได้ หรือนำมาเป็นคติสอนใจได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเหมือนแบบ... แต่บทร้อยกรอง บทสวดมนต์ หรือวาทะปราชญ์บางประโยค เป็นต้น เราจะต้องท่องไว้ได้ด้วยวาจา เพราะการผิดเพี้ยนเพียงเล็กน้อย อาจทำให้ฉันทลักษณ์ผิดพลาดไป หรือเนื้อหาประเด็นนั้นๆ มีความหมายแปรเปลี่ยนไปเป็นต้น ... ดังนั้น การท่องจำไว้ด้วยวาจา จึงจัดเป็นองค์ประกอบพิเศษแตกต่างจากการทรงจำตามธรรมดา...

... เมื่อว่าตามข้อวิพากษ์ของนักปรัชญาฝรั่งบางท่าน เค้าอาจบอกว่าสามข้อข้างต้นนั้น จัดเป็น ความรู้แบบถังเก็บของ ซึ่งแม้มีประโยชน์ แต่ก็มีคุณค่าน้อยในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ... ซึ่งผู้เขียนคิดว่า โบราณาจารย์ในพระพุทธศาสนาอาจมองเห็นประเด็นนี้มานานแล้ว จึงได้เพิ่มองค์ประกอบของพหุสัจจะ นี้ออกไปอีก ๒ ข้อ คือ

๔. มนสานุเปกขิตา นั่นคือ การเอาใจจดจ่อ สิ่งที่เราเคยได้อ่าน ฟัง หรือรับรู้มา ถ้าขาดการเอาใจใส่จดจ่อเรื่องนั้นๆ ก็อาจค่อยๆ เลือนหายไป... อีกประการหนึ่ง สิ่งเหล่านั้น ใช่ว่าจะถูกต้อง เป็นจริง หรือเที่ยงแท้ ทันสมัยเสมอไป ถ้าเราไม่รู้จักเอาใจจดจ่อ ยึดถือสิ่งนั้นว่าถูกต้องเป็นจริงเสมอไปแล้ว เราก็อาจถูกครหาว่า ไดโนเสาร์ เต่าล้านปี ...

การเอาใจจดจ่อ เพื่อให้ทรงจำสิ่งนั่นๆ ไว้ และจะต้องมีข้อสุดท้ายเพื่อตรวจสอบสิ่งเหล่านั้น คือ

๕. ทิฎฐิยา สุปปฏิวิทธา นั่นคือ ผ่านตลอดด้วยความคิดเห็น ถ้าเรารู้จักขบคิดสิ่งต่างๆ ที่ได้เล่าเรียนมา ก็จะทำให้เราตรวจสอบสิ่งนั่นๆ ว่า ถูกต้องเป็นจริง เหมาะสมหรือไม่ และควรจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรบ้าง เป็นต้น ... ดังใครบางคนเคยพูดว่า เรียนแต่ไม่รู้จักคิดไร้ประโยชน์ คิดแต่ไม่เรียนอันตราย...

... ผู้เขียนคิดว่า สองข้อหลังนี้ เป็นองค์ประกอบในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้น เป็นประดุจ ความรู้แบบไฟฉาย นั่นคือ สอดส่องว่าสิ่งต่างๆ ยังคงอยู่หรือสูญหาย สิ่งเหล่านั้น ดำรงอยู่อย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ หรือควรจะลดหรือเพิ่มในจุดใดบ้าง ...ประมาณนี้  

สรุปได้ว่า พหุสัจจะ คือ ความเป็นผู้มีการศึกษามากจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ เพื่อก่อให้เกิดความรู้แบบถังเก็บของและความรู้แบบไฟฉายให้เกิดขึ้น ...นี้เป็นประเด็นในการเตรียมตัวเพื่อจะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า...

ดังได้กล่าวไว้เบื้องต้นว่า พหุสัจจะเป็นการเตรียมตัวด้านทฤษฎีเท่านั้น เราจะต้องมีศิลปะในปฏิบัติด้วย ซึ่งผู้เขียนจะนำมาบอกเล่าในหัวข้อต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #มงคลสูตร
หมายเลขบันทึก: 81572เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2007 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ในที่สุดก็กลับมาพบกันซะที...แต่สัปดาหฺหน้า(ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป...ผมต้องไปตามคำเชิญ(ประมาณว่ากิจนิมนต์...555)...ต้องหายไปถึงเสาร์หน้าเลยครับ...

 

มีลูกโง่นี่น่าจะมีความหมายว่า มีลูกเป็นคนพาล...คนที่มีทิศทางเดินสู่อวิชชา นะครับพระอาจารย์...

 

เพราะลูกอาจฉลาดในทางโลก...แต่ก็มีสิทธิ์หลงในอวิชชาเช่นเรื่องคุณไสยได้อ่ะครับ....อิอิ

  • ไม่มีลูกครับ แต่อยากมีฮ่าๆๆๆหาแม่ของลูกไม่ได้ครับ
  • ทำอย่างไรดี
  • ฮ่าๆๆๆ
P

ปุพฺพาว สนฺนิวาเสน ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน วา

เอวนฺตํ ชายเต เปมํ อุปลํว ยโถทเกติ ฯ

ความรัก เมื่อเกิด ย่อมเกิดเพราะสาเหตุ ๒ อย่าง คือ เพราะการอยู่ร่วมกันในการก่อน และเพราะการเกื้อกูลกันในปัจจุบัน...เหมือนดอกบัวอุบลเป็นต้น ย่อมเกิดเพราะอาศัยสาเหตุ ๒ อย่าง คือ เพราะเปลือกตมด้วย เพราะน้ำด้วย จึงเกิดในน้ำ...ฉันใดฉันนั้น ฯ

ปิยโต ชายเต โสโก ปิยโต ชายเต ภยํ

ปิยโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยนฺติฯ

ความโศรกย่อมเกิดเพราะคนรัก ความกลัวย่อมเกิดเพราะคนรัก เมื่อพ้นจากคนรักแล้วย่อมไม่มีความโศรก ความกลัวจักมีแต่ที่ไหน

ให้อาจารย์ขจิต อ่านเล่นๆ

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท