เก็บมาฝาก การกัดเซาะตามแนวชายฝั่งเกิดขึ้นได้อย่างไร โดย ดร.วัฒนา กันบัว


ลม คลื่น และกระแสน้ำตามชายฝั่งทะเลเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการกัดเซาะตามชายฝั่งทะเล

Songklaพี่วัฒนาครับ ผมมีคำถามครับ 

         การกัดเซาะตามแนวชายฝั่งเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ

ดร. วัฒนา กันบัว (หัวหน้าศูนย์อุตุนิยมวิทยาทางทะเล) กล่าวว่า

"การกัดเซาะตามชายฝั่งทะเลมีผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างหาดทรายกับมหาสมุทร รวมไปถึงกิจกรรมที่มาจากน้ำมือมนุษย์ ระบบหาดทรายคือสิ่งซึ่งได้รับการพิจารณาให้มีความสมดุลทางไดนามิค หมายความว่าทรายที่ถูกเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แต่ทรายเหล่านั้นไม่ได้ออกจากระบบของหาดทราย เป็นต้นว่าพายุฤดูหนาวอาจจะย้ายทรายอย่างเห็นได้ชัด การสร้างมูลทรายให้สูงขึ้น หรืออาจทำให้หาดทรายแคบลง ส่วนในฤดูร้อนคลื่นที่มีขนาดไม่ใหญ่ได้นำทรายกลับมายังบริเวณชายหาด หรือทำให้หาดทรายมีพื้นที่กว้างขึ้น และอาจสร้างเนินทรายเตี้ยๆในบริเวณชายฝั่งทะเล เพราะว่ามีปัจจัยจำนวนมากมายที่เกี่ยวข้องกับการกัดเซาะชายฝั่งทะเล รวมไปถึงกิจกรรมเกี่ยวข้องกับมนุษย์สร้างขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การผันแปรของฤดูกาล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเคลื่อนตัวของทรายตามบริเวณชายฝั่งทะเล  การเคลื่อนย้ายของทรายบริเวณชายฝั่งทะเลจะไม่คงที่หรือเหมือนเดิม ในแต่ละปีในพื้นที่เดียวกัน

ลม คลื่น และกระแสน้ำตามชายฝั่งทะเลเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการกัดเซาะตามชายฝั่งทะเล การเคลื่อนย้ายของตะกอนทรายเหล่านี้ และการพัดพาของทรายออกนอกบริเวณชายฝั่งทะเลอย่างถาวร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของชายฝั่งทะเล หรือชายหาด และโครงสร้างต่างๆ การเคลื่อนที่ของทรายทำให้เกิดเป็นเนินทราย หรือเกิดเป็นคูในมหาสมุทรลึก หรือเกิดเป็นหาดทรายอื่นๆ และเกิดเป็นก้นมหาสมุทรลึก การกัดเซาะตามชายฝั่งทะเลสร้างปัญหามากมายให้แก่ชุมชนบริเวณชายฝั่งทะเลทั้งยังมีการสูญเสียทรัพย์สมบัติอันมีค่า เนื่องมาจากพลศาสตร์ของระบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาสมุทรกับชายฝั่งทะเล จริงๆแล้วปัญหาการกัดเซาะตามชายฝั่งทะเลเกิดมาจากน้ำมือมนุษย์โดยเฉพาะการไปศึกษาผลกระทบของบริษัทที่ปรึกษาอย่างมืออาชีพ การไม่ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์จำลองการไหลเวียนของกระแสน้ำ และขายการตรวจสอบจากภาครัฐ ดังนั้นรัฐบาลกลาง หรือรัฐบาลท้องถิ่นควรออกกฏหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตามชายฝั่งทะเล และการปลูกสร้างสิ่งต่างๆบริเวณชายหาด เพื่อลดการกัดเซาะ และพังทลายบริเวณชายฝั่งทะเล

ถ้าเรามองย้อนหลังไปหลายๆปี ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ชายทะเลประเทศทั้งทะเลอันดามัน และทะเลอ่าวไทยได้แก่ป่าโกงกาง ป่าชายเลน ป่าแสม ธรรมชาติเหล่านี้ดูดซับพลังของคลื่นที่ถาถมเข้ามายังชายฝั่งทะเลปีแล้วปีเล่า เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น พื้นที่ทำกินต้องมีการขยายตัวจากแผ่นดินมายังบริเวณริมทะเล และรุกลงไปในทะเลในบางพื้นที่ และยังมีการถางป่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์โดยไม่ได้ศึกษาถึงสภาพภูมิอากาศรวมไปถึงคลื่นลมในอดีต มีการดัดแปลงพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เป็นป่าให้เป็นชายหาดสวยงามโดยหาทรายสีขาวมาถมก็มีหวังจะเป้นที่ท่องเที่ยว แต่หารู้ไม่ว่าสักวันหนึ่งธรรมชาติจะมาทวงพื้นที่ชายฝั่งทะเลนั้นกลับไป  เนื่องจากป่าผู้มีพระคุณได้หายไปแล้ว ไม่มีสิ่งใดดูดซับพลังงานคลื่นทะเลได้ "

ขอบคุณมากครับ

ผมมีตัวอย่างมาเสริมยกเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพนิดหนึ่งครับในเยอรมันทางทะเลเหนือครับ

นั่นคือ เกาะซิลท์ Sylt นั่นเอง เกาะซิลท์จะได้รับการเติมทรายลงไปบนหาดเพื่อป้องกันการกัดเซาะ ในขณะเดียวกัน ทรายจะถูกพัดพาไปกองรวมกันเป็นชายหาดทางเกาะในทาง ตอนเหนือของเกาะซิลท์ และทางตอนใต้ ท่านสามารถเห็นหาดทรายสีขาวอย่างเห็นได้ชัดครับ

ภาพจาก Google Earth (Image from Google Earth)

การกัดเซาะชายฝั่ง

แล้วประเทศไทยเราหล่ะครับ

ผมจะพูดและแสดงคำตอบจากมุมมองของนักคณิตศาสตร์และแนวทางการอนุรักษ์ชายฝั่งเท่านั้นครับ ผมไม่ใช่นักธรณี หรือวิศวะชายฝั่ง หรือนักอุตุนิยมวิทยานะครับ

มาดูเมืองไทยกันก่อนครับ

Thailand

ดูแนวชายฝังตะวันออกฝั่งอ่าวไทยนะครับ

ต่อมาซูมลงไปดูรายละเอียดในภาคใต้ครับ

Southern Thailand

คราวนี้มาดูแนวชายฝั่งตั้งแต่นครศรีธรรมราชไปถึงปัตตานีนะครับ

Nakorn-Pattani

เป็นไงครับ มองไรออกบ้างครับ

 เดี๋ยวมาซูมแถวๆ นครศรีธรรมราชกันดูครับโดยเฉพาะบริเวณแหลมตะลุมพุกครับ

 Nakorn si Thammarat

มาดูแถวๆ สงขลาบ้างนะครับ

 Songkla

 ไปดูรายละเอียดกันในแนวที่ลงลึกไปอีกนะครับ

Songkla

 เป็นไงครับ ในภาพเห็นอะไรบ้างเปล่าครับ แนวกำแพงที่เคยสร้างไว้กันคลื่นสามท่อนที่โดนกระแสน้ำชายฝั่งกัดกินจนอยู่ห่างจากชายหาดไปเยอะทีเดียว ไม่แน่ใจว่าตอนสร้าง ได้สร้างไว้ห่างจากทะเลขนาดไหนครับ (ใครมีข้อมูลคงน่าสนใจครับ ว่าสร้างปีไหนและตอนนั้นแนวชายหาดเดิมเป็นอย่าง คิดว่าคงเอามาทำการจำลองได้ครับเพื่อศึกษาและเข้าใจคลื่นทะเล)

มาดูอีกที่หนึ่งครับ

Songkla

โดยปกติแล้วคลื่นจะวิ่งเข้าหาฝั่ง โดยเข้าหาเป็นแนวตั้งฉากกับเส้นความลึกน้ำที่ชายฝั่งครับ ในทางคณิตศาสตร์อาจจะพูดได้ว่า มันจะเข้าหาฝั่งในแนวขนานกับนอร์มอลเวกเตอร์ของแนวความลึกน้ำ นั่นคือ บริเวณที่เป็นส่วนที่ยื่นออกไปในทะเลที่เรียกว่า Convex จะเป็นที่ที่คลื่นมารวมตัวกันที่ส่วนที่ยื่นออกไป ทำให้มีเส้นทางหรือแนวแรงของการชนกระทบมากกว่าส่วนที่เป็นอ่าว Concave ดังนั้นเราจะเห็นว่าบริเวณแหลมส่วนใหญ่มันจะมีรอยแหว่งๆ ของชายฝั่งเสมอ

มาลองดูอีกตัวอย่างครับ จะเห็นว่ามันจะเป็นรอยแหว่งที่แนว Convex ของชายฝั่ง เห็นแนวริ้วคลื่นไหมครับ

Songkla

 ต่อไปเราลงไปดูที่แหลมตาชีบ้างครับ ที่ปัตตานี

Pattani

 หน้าตาแหลมตาชี คล้ายๆ กับกรณีของแหลมตะลุมพุกเลยใช่ไหมครับ ส่วนใหญ่บริเวณอีกฝั่งที่ปลายแหลมชี้ไป จะเป็นบริเวณที่ดินงอกออกไป ดินนั้นมาจากไหน ก็จากตะกอนที่มีการพัดพาไปถมไว้ตามชายฝั่งนะครับ แต่ที่ปัตตานีจะพิเศษหน่อยที่มีตะกอนจากแม่น้ำไหลลงสู่อ่าวปัตตานีด้วย เลยมีชายหาดทะเลโคลนเกิดขึ้นบริเวณมหาวิทยาลัย

สำหรับทางแก้ในเรื่องนี้ คงมีหลายๆ วิธีและแต่ละวิธีก็จะมีข้อดีข้อเสียเหมือนกัน แต่วิธีที่น่าจะยั่งยืนมากที่สุดก็คงเป็นการปลูกป่าในแนวชายฝั่งที่มีการยื่นแผ่นดินออกไปในทะเล เพื่อรองรับหรือดูดซับพลังงานคลื่น ไม่ให้หลุดผ่านไปกระทบฝั่ง และป้องกันการชนชายฝั่งแล้วเกิดกระแสน้ำที่กลายเป็นสาเหตุของการกัดกินชายฝั่ง

หากจำกรณีสึนามิได้ จะเห็นว่าบริเวณไหนที่มีชายป่าสีเขียวหรือป่าหนาแน่นบริเวณชายฝั่ง เช่นป่าโกงกาง คลื่นพวกนี้จะกลัว เพราะคลื่นพวกนี้จะผ่านป่าเหล่านี้ไปไม่ได้ เพราะรากของโกงกางนะครับ เห็นโครงสร้างของต้นไม้ชนิดนี้แล้วบอกว่า สุดยอดครับ ทั้งนี้ระบบการขยายพันธุ์ ธรรมชาติของต้นไม้โกงกางได้ออกแบบและพัฒนามาชนชาญฉลาดมาก ก็คือ ว่าหากบริเวณไหนเป็นดินที่นิ่ม เมื่อใดที่ฝักโกงกางตกลงไปมันจะปักติดดินอยู่เลยแล้วส่วนที่ปักลงไปในดินก็เป็นส่วนที่จะเกิดรากต่อไป และมีรากจากส่วนบนด้วย วิ่งลงมาช่วยพยุงลำต้นอีกทีหนึ่ง แล้วด้านบนก็จะกลายเป็นลำต้นต่อไป ที่สุดยอดไปกว่านั้นคือรากโกงกางพวกนี้ มีการพัฒนาให้เป็นรากที่หายใจได้ด้วย ยังกะปลาตีนเลย หายใจทางผิวหนังได้ด้วย (ปลาตีนเป็นปลาสะเทิร์นน้ำสะเทิร์นบก อาศัยอยู่ตามป่าชายเลน มีตาโปนๆ น่ารักสุดๆ)

การแก้ปัญหาโดยการเติมทรายบริเวณหน้าหาดที่โดนกัดเซาะ ก็เป็นอีกทางหนึ่งเพื่อชะลอการกัดเซาะแต่ตัวทรายอาจจะมีการเคลื่อนย้ายไปเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ลักษณะของชายฝั่งด้วยครับ ปกติชายหาดที่ราบเรียบไม่ชันมากนัก มักจะอยุ่กับเราไปนาน เพราะว่าคลื่นที่วิ่งเข้ามามันจะมีการแตกกระจายก่อนจะเข้าชนฝั่งคือพลังงานจะลดน้อยลงเรื่อยๆและหมดไปในที่สุดเมื่อมาถึงปลายชายหาด ส่วนกรณีที่ฝั่งชันมันจะชนแล้วแตกเป็นกระแสน้ำ ดังนั้นฝั่งจะมีโอกาสในการโดนทำลายสูงกว่าหาดแบบลาดเรียบ แต่หากสึนามิมาบริเวณหาดที่ราบเรียบ คลื่นจะวิ่งเข้าไปในแผ่นดินได้ง่ายกว่าเช่นกัน เพราะสึนามิมีพลังงานสูงมากเกินกว่าคลื่นธรรมดาจะเทียบเทียมได้

การสร้างเขื่อนกั้นคลื่น กรณีนี้ก็สามารถทำได้ แต่ (ย้ำนะครับ ว่าแต่) เพราะว่า หากเราไม่ศึกษาตัวสิ่งแปลกปลอมที่จะเอาไปวางตามแนวชายหาดนั้น แล้วตัวเขื่อนนั้นไม่สามารถจะดูดซับพลังงานได้หมด แล้วสะท้อนกลับออกไปแล้วนั้นจะอันตรายต่อบริเวณใกล้เคียงดังที่เห็นตัวอย่างใน ภาพที่สงขลานะครับ มันจะกัดกินเพราะว่าคลื่นพอชนของแข็งแล้ว มันจะมีคุณสมบัติในการเลี้ยวอ้อมได้ครับ ลองจินตนาการเกาะฮาวายก็ได้ครับ ในแปซิฟิก คลื่นสึนามิที่เคยเกิดที่ชิลีเมื่อปี 1960 มันวิ่งผ่านเกาะฮาวายแล้วนึกว่าจะวิ่งผ่านไปแล้ว แต่มันก็เลี้ยวแล้วหมุนอยู่รอบเกาะทำให้คนโดนอีกรอบครับ (ดูจากสารคดีที่ออกในทีวีเยอรมันนะครับ)  ดังนั้นต้องทำการวิจัยโดยเฉพาะการจำลองแบบทางคณิตศาสตร์ครับ ในเรื่องการจะสร้างสิ่งแปลกปลอมที่ชายหาดนะครับ แม้ว่า ทรายหรือตะกอนไม่มีการสูญหายก็จริงครับ แต่จะมีการถูกพัดพาจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง บางคนพูดว่า ได้มาเสียไป หากไม่ดูแลชายหาดให้ดีและเข้าใจธรรมชาติของคลื่น เราก็จะเสียชายหาดที่งอกมาไปอีก เพราะมันเปลี่ยนได้ตามปัจจัยดังที่ ดร.วัฒนาได้กล่าวไว้แล้วครับ

ที่พูดมาทั้งหมดนี่ ไม่ใช่มาหาคนผิดครับ และผมเองก็ไม่ได้จะสร้างปรปักษ์กับใครนะครับ เพียงแต่ว่าหากเป็นไปได้ ควรจะมีการศึกษาอย่างจริงจังและจริงใจต่อประชาชน ในระดับ อบต. อบจ. ก็ต้องทำงานร่วมกันกับนักวิจัยและอาจจะมีกฏหมายดังที่ ดร.วัฒนากล่าวไว้ก็ดีครับ เพื่อเอาไว้ใช้และดูแลชายฝั่งของบ้านเราต่อไป ไม่งั้นวันหนึ่งเราจะลำบากมากกว่านี้ และการกัดเซาะมันขึ้นกับปัจจัยลมด้วยครับ เพราะลมที่พัดมาจากทะเลจีนใต้ พัดผ่านมาที่อ่าวไทย มันทำให้เกิดคลื่น ลมทำให้เกิดคลื่น (นึกถึงในหนองน้ำก็ได้ครับ เวลาลมพัดมาเราจะเป็นริ้วคลื้นน้ำเล็ก ที่เรียกว่า Ripple) ลมพัดเข้ามาคลื่นส่งออกไปต่อ ส่งต่อไปเรื่อยๆ จนไปถึงชายฝั่งบ้านเราไงครับ กลายเป็นพลังงานที่สะสมและส่งมาอย่างต่อเนื่อง ก็เกิดเป็นพวกคลื่นใต้น้ำที่เรียกว่า สเวล swell ไงครับ (จริงๆสึนามิก็เป็นคลื่นใต้น้ำ แต่พลังงานมันมหาศาลกว่า คิดดูครับ ซัดรถไฟขาดท่อน กระจัดกระจายได้ ก็ไม่ธรรมดาหล่ะครับ)

สิ่งที่ผมจะเน้นคือการปลุกป่าบริเวณชายฝั่ง โดยเน้นบริเวณที่เป็นส่วนที่ยื่นออกไปในทะเลครับ เพราะตรงนั้นจะรับคลื่นมากกว่าบริเวณชายหาดแบบเว้า concave เพราะมันจะทำให้คลื่นกระจาย

สำหรับความสำคัญของคณิตศาสตร์และการจำลองแบบมีความสำคัญต่อการนำมาประยุกต์และช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิด เช่นปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ครับ ดังนั้น หากมีการสร้างคันกันคลื่นแบบเรียบราบ ไม่มีการออกแบบที่ดี ผลกระทบก็จะเกิดตามมาครับ อีกไม่นานและไม่ช้า ดังตัวอย่างที่กล่าวไว้ด้านบนครับ จากแนวคอนกรีตที่เราเห็นกันแถวๆ ชายหาดวันหนึ่งมันจะไปอยู่ในทะเล (ไม่ใช่ว่า คลื่นมันดึงแนวคอนกรีตลงไปนะครับ แต่เป็นเพราะชายหาดโดนกินเข้าไปเรื่อยๆ แล้วคนก็ต้องถอยร่นกันออกมา ส่วนคอนกรีตสร้างไว้ตรงไหนมันก็อยู่ตรงนั้นหล่ะครับ)

ผมอยากให้ประเทศไทย มีการรณรงค์ปลูกป่านะครับ ก่อนที่เราจะสายเกินไปครับ ไม่ใช่แค่ชายฝั่งนะครับ ตรงไหนก็ได้ครับ ปลูกไปให้เยอะๆครับ อีสานก็ปลูกให้เต็มไปเลยครับ น้ำมันจะไม่ได้ท่วม ต่อให้มันท่วมต้นไม้ก็จะเป็นเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ให้เรา ซึ่งต้นไม้จะสูบน้ำทั้งวันและคืน แต่แสงอาทิตย์ช่วยเราได้แค่กลางวันเท่านั้น หากกลางวันไม่มีแสงอาทิตย์ ต้นไม้เท่านั้นที่จะช่วยได้

ต้นไม้จะดูดน้ำจากดินขึ้นไปปล่อย ผ่านทางท่อน้ำเพื่อเอาน้ำไปคายทางปากใบนะครับ โดยมันจะดูดแล้วคายทิ้งประมาณ 99% ส่วนแค่ 1% นั้นมันใช้เพื่อการสังเคราะห์แสงนะครับ เห็นแล้วต้นไม้สำคัญมากใช่ไหมครับ ปลูกต้นไม้กันเถิดครับแล้วท่านจะไม่จน ไม่มีเงินในกระเป๋าแต่ก็มีอาหารให้กระเพาะของเราย่อยได้

ไม่มีแสงอาทิตย์ ไม่มีต้นไม้  ไม่มีต้นไม้ ไม่มีชีวิต

อิๆๆๆ ยาวมากๆ เลยผมคิดว่า บทความนี้ คิดดูครับ

พูดจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง มาออกการปลูกป่า แล้วผสมไปด้วยคณิตศาสตร์นิดๆครับ ไม่อยากจะใส่คณิตศาสตร์มากๆ เกรงว่าจะน่าเบื่อไปครับ เพราะสมการคลื่นเป็นสมการเชิงอนุพันธ์นะครับ

ไว้โอกาสหน้าจะรับใช้บริการใหม่ครับ สิ่งที่เขียนมาทั้งหมด โปรดใช้วิจารณญาณในการทำความเข้าใจ อาจจะมีส่วนหนึ่งส่วนใดผิดไป จงอย่าเชื่อทั้งหมด เพราะผมก็แค่นักวิจัยธรรมดาที่ยังด้อยประสบการณ์ครับ

ภาพทั้งหมดนี้ ขอขอบคุณ Google Earth, และ Point Asia มากๆ ครับ

ด้วยความเคารพนับถือและห่วงใย

สมพร ช่วยอารีย์

หมายเลขบันทึก: 81274เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2007 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (41)
  • พี่กลับไปประชุมที่ ม.อ ตานีปีนี้พบว่าได้พื้นที่ตรงบริเวณห้องสมุด และคณะมนุษย์เพิ่มขึ้นมากมายในขณะที่ อ.ปากพนัง นำกัดเซาะพื้นที่ชาวบ้านกลายเป็นทะเลแทน  ขอคำอธิบายค่ะ
  • ขอบคุณมาก
เหตผลไปคู่กันครับ ชายฝั่งด้านหนึ่ง ถูกทะเลกัดเซาะ แต่อีกด้านหนึ่ง ทะเลจะพาทรายและตะกอนมาทับถมไงครับ
พอดี มอ.วิทยาเขตปัตตานี อยู่ในฝั่งหลังไงครับ เลยมีพื้นที่เพิ่มขึ้นมาทุกปี
ขอบคุณค่ะคุณสายลมแสงแดด คำตอบชัดเจน น้องสมพรมีคำตอบเพิ่มเติมอีกหรือเปล่าคะ?

สวัสดีครับ

     เดี๋ยวผมจะอธิบายเพิ่มให้นะครับ จะได้ใส่รูปเข้าไปได้ด้วยครับ มาดูชายฝั่งอ่าวไทยกันครับ ว่าเป็นไงครับ เราจะเห็นอะไรอีกมากครับ ที่เกิดจากที่คนเราไม่เข้าใจธรรมชาติแล้วทำให้เกิดผลกระทบครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่อัมพร

    ตอบให้แล้วนะครับผม ไม่แน่ใจผมเขียนรู้เรื่องหรือเปล่าครับ พี่มีไรเสนอได้เต็มที่นะครับ แต่ผมยังอ่อนประสบการณ์ครับ ต้องศึกษาอีกเยอะครับ

ขอบคุณครับ

สมพร

เข้าใจมากที่เดียวค่ะ พี่นักภูมิศาสตร์เก่านะ (แอบยิ้ม....ยิ้มพี่เคยเรียน MARINE SCINCE และภาพถ่ายอากาศมาก่อนตอนป.ตรี ขอบคุณมากเลยที่มีความตั้งใจหามาให้อ่าน หากน้องสมพรไม่มีความรู้จริงหรืออ่อนประสบการณ์คงค้นหาไม่ถูกหรอกค่ะ (พี่บอกว่าเคยเรียนมาก่อนยังหาไม่ถูกเลยนะ อายจัง!) พี่มีประสบการณ์ตรงโดยการพานักศึกษาไปปลูกป่าโกงกางและป่าชายเลน (ไม้ใหญ่) แถวท่าสะอ้านและสิงหนคร จ.สงขลา มา 2 -3 ปี โดยใช้วิธีใช้ปลูกหรือใช้ฟักพุ่งไปในป่าโคลน สนุกดี ปัจจุบันหากมีมีเวลาว่างมักชวนครอบครัวไปเก็บตกความภาคภูมิใจเสมอมา พูดถึงปลาตีน พี่พบกับปลาชนิดนี้ครั้งแรกในชีวิตที่ชายหาดม.อ ตานีนะ (ชอบจำความหลังค่ะ) ขอบคุณมาก ๆ ที่นำสิ่งดี ๆ มาเล่า อ้อ!ลืมตรงชายหาดสงขลาตรงเก้าเส้งปัจจุบันชายฝั่งถูกนำทะเลกัดเซาะไปมากที่เดียวนะ (จากคำบอกเล่าผู้เฒ่าจังหวัดสงขลา)

สวัสดีครับ พี่อัมพร

     ผมก็กำลังทำความเข้าใจเรียนรู้เหมือนกันครับ กะว่ากลับไปแล้วจะหาทางทำแบบจำลองการกัดเซาะชายฝั่งดูครับ ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหนครับ ซึ่งคิดว่าคงมีความเป็นไปได้ครับ แล้วจะเล่าให้ฟังนะครับ

    ผมจินตนาการตอนที่พี่บอกว่าเคยไปปลูกฝักโกงกาง คงสนุกนะครับคือปลูกป่าพวกนี้ ไม้ใหญ่นะครับ มันจะช่วยนอกจากรับคลื่นแล้วก็ยังรับลมด้วยครับเพื่อป้องกันพื้นที่ด้านใน ตามแหล่งคนอาศัยภายในด้วยครับ แต่หากให้ป่ามีความหนาก่อนซักระดับก็คงดีครับ หากเราปลูกบ้านที่ชายฝั่งโดยไม่ได้คำนึง ปัญหาก็เกิดครับ ปกติหากแหลมโดนทำลายและไม่มีคนท่องเที่ยวไปหรือว่าคนอาศัยอยู่ โดยไม่มีคนค้นพบ ข่าวการกัดเซาะก็ไม่เป็นข่าวครับ ดังนั้นพอคนไปอาศัยเยอะ ก็ได้รับความเดือดร้อนกันนะครับ ดังนั้นควรศึกษาพื้นที่ออกจะไปทำการปลูกสร้างบ้านชายทะเลครับ

   จริงๆ นากุ้งทั้งหลายก็ควรจะมีแนวป่าที่ปลูกกันคลื่นด้วยให้เป็นแนวที่ไว้รับลม รับคลื่น ไม่งั้นเกิดคลื่นมาซักลูกใหญ่ ก็ท่วมหมดทั้งลายเลยครับ ลองขึ้นไปดูภาพแถบนครศรีธรรมราชครับ บริเวณแนวด้านในของแหลมตะลุมพุกครับ

ผมมีข่าวอีกข้อแจ้งพี่ครับ

คือ พี่โดน Trick Tag ของผมนะครับ ไปอ่านได้จากที่นี่ครับ ไม่แน่ใจว่าโดนซ้ำซ้อนหรือเปล่าครับ อิๆ

ขอบคุณมากครับ

เม้ง

พี่ชอบศาสตร์นี้มากเลย ว่างๆพี่ก็ชอบเข้า Google Earth และ Point Asia ดูพื้นที่ดงหลวง ครับดูแล้วคิดอะไรได้ตั้งเยอะ อยากทำโน่นทำนี่ไปหมด เฮ่อ ขนาดนี้ก็ล้นมือแล้ว

ผมกำลังดู ดงหลวงของพี่ไพศาลอยู่ครับ

ว่าแต่อยู่ ต.อะไรครับ ต.ดงหลวงด้วยหรือเปล่าครับ ผมว่าดีครับ ได้ดูภาพรวมครับ มองถึงการบริหารได้ครับ ขอบคุณมากครับ ดูแล้วเหมือนมีแนวภูเขาเยอะนะครับใน อ.ดงหลวงครับ

เรียน คุณสมพร ที่นับถือ

     ดีใจที่ได้รู้จักกันและเรียนรู้ร่วมกันทาง website ขอเชิญคุณสมพรและมิตรสหายทั้งหลาย แวะชม web Beach Watch Network (BWN) ที่

http://www.geocities.com/psboon02/bwn.html

เพื่อร่วมหาหนทางรักษาชายหาดที่มีคุณค่ายิ่ง ที่บรรพบุรุษของชาติได้รักษาไว้ให้เรา จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรักษามรดกนี้ไว้ให้ได้เพื่อลูกหลาน

    แล้วผมจะเขียนมาใหม่นะครับ

ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์

Ocean Engineering & Coastal Resource Mangament

 

ไม่มีรูป
Somboon

กราบสวัสดี ท่าน อ.สมบูรณ์

  • ขอบพระคุณมากๆ นะครับ ที่เข้ามาเพิ่มข้อมูลให้ครับ จะตามไปดูทันทีครับ
  • เห็นด้วยให้มีการทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับชาวบ้าน ครับ ตลอดจนการปลูกป่าในบริเวณต่างๆ เพื่อเอาไว้ดูดซับพลังงาน และผลดีผลเสียในการสร้างคันกันคลื่นด้วยนะครับ เรื่องพวกนี้สำคัญมากนะครับ ต้องเรียนรู้ธรรมชาติและอยู่อย่างเข้าใจครับ
  • กราบขอบพระคุณอีกครั้งครับ คงได้พูดคุยกันอีกในอนาคตครับ

ได้อ่านบทความใน blog ของคุณสมพรแล้ว ผมมีความเห็นว่า คนทั่วไปมีความเข้าใจสับสนระหว่างคำว่า "ธรรมชาติ" กับคำว่า "ปัญหา"

      ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคลื่นลมกับชายฝั่งนั้นเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีอะไรเป็นปัญหา มันเป็นอยู่อย่างนั้นนับพันปี ส่วนปัญหานั้นเกิดจากการที่คนบางกลุ่มที่เห็นแก่ตัวไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเดิมๆ  จึงเกิดการปรับตัวใหม่และกระทบกับคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่รู้เรื่องด้วย จึงเกิดปัญหาขึ้น

       เพื่อความเข้าใจเรื่องนี้ ผมได้ใส่ slide การกัดเซาะชายฝั่ง จ.สงขลา พร้อมคำบรรยาย ที่เหมาะกับใช้ในการสอน ไว้ใน web BWN แล้ว โปรดเข้าชมและ load ไว้ใช้ต่อได้เลยครับ ที่
http://www.geocities.com/psboon02/bwn.html

Make Our Beach Alive

 

  • ครับผม ขอบคุณท่าน อ.สมบูรณ์มากๆ เลยนะครับ
  • ผมก็เป็นห่วงเรื่องนี้มากๆ เลยครับ สู้ๆ ต่อไปนะครับผม เพื่อสิ่งที่ดีๆ จะได้อยู่ต่อไปครับ

ผมเสียดายว่าได้คุยกับเม้งในประเด็นนี้ค่อนข้างช้าไปสักหีด

คือว่าพรรนี้ครับ

ผมไม่รู้ว่าใครได้เก็บภาพ  สภาพชายฝั่งหลังซึนามิใหม่ๆบ้างๆ      ถ้าเม้งมี  จะดีมากครับ   ไอเดียคือว่า

หลังซึนามิใหม่ๆ    ชายฝั่งจะมีสภาพการถูกทำลายที่ต่างกัน    บางที่น้อย  บางที่มาก   บางแห่งน้อยเพราะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ดี    และบางแห่งถูกทำลายน้อยเพราะ  กันชนทางธรรมชาติ  เช่นไม้ชายฝั่ง   หรือ ลอนทรายที่เป็นตัวเบรกความเร็วของคลื่น

ผมเห็นภาพต้นเตยปาหนันที่ขึ้นตามชายเล   เม้งคงนึกภาพออก    หลังซึนามิ   รากมันอุ้มทรายไว้ได้เป็นตันเลย    นั่นเพียงต้นเดียวนะครับ   ลองหลับตาว่าถ้าหลายๆต้นจะพันพรือ      แต่ต่างจากกำแพงหินซีเมนต์ของรีสอร์ท  โรงแรมที่สร้างบนทรายอย่างแน่นหนายังล้มคลืนเลยครับ

ไอเดียที่ว่า  คือ  สภาพ best practce ทางธรรมชาติ  น่าจะเก็บเอามาไว้เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม    คนจะเรียนรู้เรื่องพวกแบบเข้าไปในใจ   คนที่ปลูกต้นไม้แต่ละต้น  ด้วยหัวใจ  หายากครับ

เราต้องหาวิธีให้เขาปลูกมันด้วยหัวใจ  ไม่ใช่คนปลูกต้นไม้  เพราะว่าชุมชนได้เงินสนับสนุน

พอดีเห็นเทคโนโลยีของเม้งน่าสนใจหลายตัว   ผมว่าเอามาต่อยอดได้มากเลยครับ

 

P

สวัสดีครับพี่ธวัช

  • ขอบคุณมากนะครับพี่ พี่ไม่ได้เข้ามาช้าหรอกครับ
  • เพราะผมตั้งใจว่า กลับไปจะจับเรื่องนี้จริงจัง เอาสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ไปต่อยอดอีกทีครับ
  • เพราะโมเดลที่ใช้อยู่ มันอธิบายชายฝั่งได้ไม่หมดครับ เลยคิดว่าต้องมีตัวใหม่มาอีกตัวครับ ออกมารับช่วงต่อหลังจากคลื่นซัดเข้าไปยังชายฝั่งครับ แล้วนำไปสู่กระแสน้ำบริเวณชายฝั่งครับผม
  • เห็นด้วยทุกประการเรื่อง แหล่งดูดซับพลังงานคลื่น ทั้งน้ำ และลมครับ ทั้งตะวันตกและชายฝั่งตะวันออกครับ
  • ผมมีข้อมูลอยู่ส่วนหนึ่งเรื่องสึนามิครับ และวีดีโอ หากมีข้อมูลอัพเดตเรื่องการพัดพาของตะกอน การเปลี่ยนแปลงก็จะดีมากๆ นะครับ
  • ผมก็รอ ทางอเมริกาเค้าอัพเดตข้อมูลพื้นโลกชุดใหม่เหมือนกันครับ ผมจะลองเทียบความแตกต่างระหว่างรอยแตกเก่าก่อน สึนามิ กับหลังครับ เพื่อดูว่า ส่วนต่างมันต่างกันแค่ไหนครับ
  • แล้วมาลองศึกษาดูครับ ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปครับ
  • มีให้ทำเพียบเลยครับ งานวิจัยบ้านเรานะครับ โดยเฉพาะเรื่องภัยพิบัติ เพราะว่า หากไม่สามารถรับรู้ได้เท่าทัน ทั้งตัวเราและธรรมชาติ เราจะเจอศึกหนักครับ โดยเฉพาะศึกษาที่ทำไปโดยไม่รู้นะครับ
  • ขอบคุณพี่มากๆ นะครับ เข้ามาใส่ไว้ได้นะครับ หากส่วนไหนที่เป็นประโยชน์นะครับผม

สวัสดีครับคุณเม้ง สมพร ช่วยอารีย์

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆและขอนำลิ้งบันทึกนี้ไปใช้ในการอ้างอิงข้อมูลนะครับ 

สวัสดีครับน้องแมน

ด้วยความยินดีครับผม สบายดีไหมครับผม

สนุกในการทำงานและศึกษานะครับ 

เรียน   ผู้สร้างสรรค์ร่วมเสนอแนะให้ความคิดเห็นดีๆ

         โครงการวิจัยปะการังเทียมเพื่อบูรณาการชายหาด          กระผมนายพยอม รัตนมณี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (E-mail : [email protected] มือถือ 081-5999655 เปิด 24 ชั่วโมง) อาจารย์ผู้สอนรายวิชา วิศวกรรมชลศาสตร์ (Hydraulic Engineering) และวิศวกรรมชายฝั่งทะเล (Coastal Engineering) ทำงานทางทะเลและชายฝั่งมาร่วม 10 ปีแล้วครับ เห็นว่าปัญหาทางด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีการถดถอยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกุ้งหอยปูปลา และแถมด้วยปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงปัญหาด้านความขัดแย้งด้านการใช้ทรัพยากรทางทะเลอีกหลากหลาย ในฐานะที่ผมสัมผัสงานด้านนี้มาบ้าง กระผมเชื่อว่าการแก้ปัญหาทางทะเลและชายฝั่ง ยังต้องการงานวิจัยเชิงปฏิบัติ (Action Research) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของคนไทยเองอีกเยอะ            เมื่อปลายปี พ.ศ. 2548 กระผมจึงได้ค้นคว้าและศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาชายฝั่งทะเลแบบบูรณาการ โดยได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์คนึงนิตย์ ลิ่มจิรขจร อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ภาควิชาวาริชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้รับคำแนะนำเรื่อง การวางปะการังเทียมเพื่อบูรณาการระบบนิเวศทางทะเล ต่อมาเมื่อปลายปี 2549 กระผมได้รับแนวความคิดจากอาจารย์ชาวต่างประเทศ (ที่ฟลอริดา) ท่านทำงานด้านทะเลมามากว่า 30 ปี ท่านเป็นนักทฤษฎีและปฏิบัติอย่างแท้จริง ได้แนะนำถึงวิธีการใช้ปะการังเทียมเพื่อการป้องกันชายฝั่งทะเลด้วย กระผมคาดว่าหลักการดังกล่าวน่าจะเหมาะสมที่จะนำมาดัดแปลง/ประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเราได้ กระผมได้นำเสนอแนวความคิดอันนี้ต่อหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนหลายแห่ง เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านวัสดุและอุปกรณ์การวิจัยในการนี้ ทางกรมทรัพยากรธรณีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการศึกษาวิจัยลักษณะดังกล่าว จึงได้ให้ความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้ให้ทุนการศึกษาวิจัยแก่ทางมหาวิทยาลัยเพื่อ ก่อสร้างอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการทดลองในศึกษาด้านการใช้ปะกาเทียมเพื่อบูรณาการชายฝั่งทะเลของประเทศไทยเป็นการเร่งด่วน นอกจากจะใช้ปะการังเทียมในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้ว จะทำการดัดแปลงปะการังเทียมให้สามารถด้านทานแรงจากคลื่นลมด้วย เพื่อประโยชน์ทางด้านการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้วย เนื่องจากประเทศเราประสบปัญหาการกัดเซาะอย่างต่อเนื่องและอย่างรุนแรง การก่อสร้างโครงการป้องกันขนาดใหญ่ใช้งบประมาณสูงเหลือเกิน คงไม่เหมาะสมกับประเทศจนๆ อย่างเรา นอกจากกนี้การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ยังทำให้ภูมิทัศน์ริมหาดเสียไปด้วย ทั้งยังมีผลกระทบด้านสังคมอีกมากมาย เช่นทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และกลุ่มคนหลายกลุ่ม ถ้าผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ให้ผลในทางดี ก็อาจจะดำเนินโครงการนำร่องที่หาดสมิหลา แต่คงต้องอาศัยประชามติเป็นส่วนใหญ่ด้วย ฉะนั้นอย่าตื่นตูมไป เราแค่คิดและศึกษาวิจัยครับ ยังไม่ก่อสร้าง รอผลการศึกษาวิจัยก่อนครับ งานลักษณะนี้ต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ก่อนออกแบบครับในกรณีที่ท่านต้องการเข้าเยี่ยมชมการศึกษาทดลอง กราบเรียนเชิญที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ. โทร 081-5999655 (ตรงอาจารย์พยอม) หรือ 074-287135 (ติดต่อคุณสุกานดา) กรุณาแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ทางคณะผู้ศึกษาวิจัยยินดียิ่งที่จะต้อนรับบุคคลหรือคณะกลุ่มคนผู้สร้างสรรค์ร่วมเสนอแนะ ทั้งนี้กระผมในนามหัวหน้าคณะวิจัยยินดีเลี้ยงต้อนรับด้วยอาหารเพียง 1 มื้อ แต่เบียร์สิงห์ตลอดการดำเนินโครงการบูรณาการชายฝั่งเราใช้ทรัพยากรชายฝั่งทะเลมายาวนาน โอกาสนี้จะน่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะได้ร่วมมือกันทำประโยชน์เพื่อทะเลไทยอย่างเป็นรูปธรรม ปล่อยวางจาก (1) การวิจารณ์เชิงทำลาย (2) เลิกอิจฉาตาร้อนชิงดีชิงเด่น (3) เลิกยุแยงตะแยงรั่ว (4) ลดการคุยโวโอ้อวด พูดน้อยลงทำมากขึ้น (5) ลดฐิถิแห่งตัวข้า ลดความอวดรู้ เพิ่มความอยากรู้ (6) ปล่อยวางจากการทะเละวิวาทกับคนชาติเดียวกัน พฤติกรรมเหล่านี้เป็นบ่อยทำลายชาติ หันมาร่วมออกแรงกาย ร่วมแรงใจ และแรงสมอง เพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อองค์กรและประเทศชาติ ต่างประเทศเขาเจริญไปไกลแล้ว เรายังทะเลาะกันอยู่ ไม่นานประเทศลาวก็คงจะแซง เชิญพวกเรามาร่วมกันสร้างสรรค์และฟื้นฟูบูรณาการทรัพยากรชายฝั่งจะดีกว่า          เคารพยิ่ง

          พยอม  รัตนมณี

 

ปล. รักและคิดถึงพี่วัฒนา กันบัว เสมอ ว่างๆ เรียนเชิญที่หาดใหญ่ หรือให้ผมไปเยือนที่บางกอกสักหนึ่งเมา เคารพยิ่ง

สวัสดีครับ อ.พยอม

      ขอบคุณท่านอาจารย์มากๆ นะครับที่เข้ามาร่วมวงสนทนาเรื่องที่เราคนไทยควรจะหันหน้ามาร่วมกันสร้างสรรค์งานเพื่อส่วนรวมมากๆ นะครับ

ผมเคยเอางานนำเสนอของ อ.สมบูรณ์ ขึ้นไปแขวนไว้ น่าสนใจที่เคยได้รับจากรุ่นน้อง ซึ่งทำให้ทราบว่าชายฝั่งอ่าวไทยนั้น โดนกัดเซาะไปอย่างน่าเป็นห่วงครับ แต่ทั้งนั้นและทั้งนั้น โลกเราก็โดนกัดเซาะเซาะมาตลอดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตครับ ทำให้เราต้องทำความเข้าใจหลายๆ อย่างเพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

ผมเองความรู้ไม่พอใช้ครับตอนนี้ ต้องศึกษาอีกเยอะเลยครับ ตอนนี้ผมสนใจเรื่องการจัดการ ออกแบบและป้องกันการกัดเซาะโดยใช้ธรรมชาติรับธรรมชาติเพื่อป้องกันธรรมชาติ อยู่ครับ ยังไม่รู้ว่าจะมีความรู้พอจะทำความเข้าใจเรื่องน้ำได้แค่ไหนครับ

ดีใจที่ได้รู้จักท่านอาจารย์และทีมงานที่ ม.อ.หาดใหญ่หลายๆ ท่านครับ ที่เชี่ยวชาญในด้านนี้ครับ

ขอบพระคุณมากครับ

เม้งครับ

ที่จริงแล้วเรื่องทะเลนั้น ซับซ้อนยิ่งนัก แม้ผมจะเรียนและวิทยานิพนธ์ด้านนี้ แต่ก็ยังต้องเรียนรู้อีกมาก ด้านนิเวศน์คงต้องอาศัยทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านปูๆ ปลาๆ กุ้งๆ หอยๆ และปะการัง ทาง ม.อ. จึงมีความยินดียิ่งที่จะน้อมรับข้อเสนอแนะเพื่อสร้างสรรค์งานดีๆ ให้กับแผ่นดินก่อนจะลาโลกไป (ในอีก 20,000 วัน ฮา!) เมื่อเช้าตรู่ผมเลยได้ยินเสียงสวรรค์จากพี่วัฒนา (ที่เคารพยิ่ง) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่คงช่วยได้มาก จะขึ้นไปเยี่ยมบางกอกในเร็ววัน (หลัง Final Exam น่ะครับ)

                       Cheers!

สวัสดีครับ คุณพยอม

        ขอบคุณมากๆ ครับ ตอนนี้สถานการณ์ชายฝั่งเป็นอย่างไรบ้างครับ ฝั่งเลหวันออกและเลหวันตกนะครับ หวันออกคลื่นซัดชายฝั่ง หวันตกผวากับการจะมาเยี่ยมของสึนามิ เป็นไปได้ไหมครับ ที่จะนำธรรมชาติไปรอรับธรรมชาติเพื่อรักษาธรรมชาติ เคยลองเขียนโมเดลจำลองรอรับคลื่นการโจมตีแล้วเอาแนวธรรมชาติดักรอรับดูไหมครับ แบบที่ลดแรงคลื่นก็จมตัวลงบนทรายหรือชายฝั่ง หรือเกิดกระแสน้ำที่ไม่ไปทำลายในพื้นที่อื่นนะครับ

        น่าจะมีทางออกนะครับผม ตอนนี้ผมจำลองการทำลายอย่างเดียวครับ

เอามาฝากอันหนึ่งครับ

http://www.schuai.net/TsunamiSim/Tsunami3D-time.gif

ขอบคุณมากๆ ครับ ขอให้ท่านอาจารย์สนุกกับการเรียนและวิัจัยในด้านนี้นะครับ วิจัยที่ทรงคุณค่าและเกิดประโยชน์กับสังคมไทยครับ

ขอบคุณครับ 

น้องเม้งและทีมงานที่เคารพครับ         ประเทศเราประสพปัญหาในหลายๆ ด้านขั้นวิกฤติ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลนั้น
ก็จัดเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผสมกับผลกระทบอันเกิดจากมนุษย์ได้ก่อสร้างวัตถุแปลกปลอมบนหาดทรายขึ้น 
      ดังที่ได้ทราบมาว่าการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetties) และรอดักทราย (Groins) นั้นก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างหนัก โดยเฉพาะการก่อสร้างในบริเวณหาดทรายที่เป็นแนวตรง ผลกระทบมากจนมิสามารถคาดการณ์ได้ (Infinity) และมากขึ้นตามวันเวลาด้วย        มองอีกด้านหนึ่ง Jetties ก็มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย คนเรา(ชาวประมงน่ะ) ต้องอยู่ต้องกินทุกวัน ถ้าไม่มี Jetties ปากร่องน้ำจะตื้นเขิน เรือประมงก็จะเข้าออกไม่ได้ เนื่องจากปากร่องน้ำจะตื้นเขิน พี่ได้นำนักศึกษาที่เรียนวิศวกรรมชายฝั่งทะเลและผู้สนใจไปเยียมชุมชนชายฝั่งหลายพื้นที่ จากการพูดคุย หลายคนก็ยินดี ชอบ เห็นด้วย กับการก่อสร้าง  Jetties เพราะทำให้เขามีอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวได้ ครับ และก็มีอีกกลุ่ม ที่ไม่ชอบการก่อสร้าง  Jetties เอาเลย เนื่องจากที่ดินของตนอยู่ทางด้านท้ายน้ำ (Downcoast) จะโดนกัดเซาะ  และก็ โดนกัดเซาะอย่างหนักมาแล้วหลายพื้นที่ 
       ความขัดแย้งเหล่านี้ยิ่งทวีคูณมากขึ้น และเริ่มกลายเป็นประเด็นเดือดร้อนของสังคมในระดับกว้าง ผมเป็นห่วงประเด็นนี้มาก ต้องการให้มีคนทำงานมากขึ้น ภารกิจการสอนของมหาวิทยาลัยก็หนักอึ้ง (5 วิชาครับ) มีงานบริการวิชาการอีก 2-3 โครงการ และที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือ งานวิจัยเชิงบูรณาการชายฝั่งทะเล เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เป็นของคนไทย เพื่อคนไทย ไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคใช่กลไกการคำนวณที่ยุ่งยาก แต่วิจัยเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับคนไทย         ประเด็นนี้ทำให้ผมครุ่นคิดอยู่หลายปี ต้องการคนหลายๆ คนที่มีแนวคิดเดียวกัน มีความมุ่งหวังเดียวกัน คือ ให้ประเทศเราพัฒนาขึ้น ลดความขัดแย้งในสังคม ผมพยายามหาแนวทางลดความเดือดของปัญหา ถ้าคนไทยแตกแยกกันในสภาวะที่วิกฤติ ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลย ฉะนี้พวกเราจึงต้องทำงานให้หนักขึ้น ในฐานะอาจารย์ด้านนี้ที่พึงจะทำได้ก็แค่งานวิจัยที่จะเป็นคุณต่อชาวบ้าน           ดีใจและยินดียิ่ง ที่มีคนและกลุ่มคนอย่างน้องเม้งและทีมงานอยู่บนพื้นแผ่นดินไทยด้วย                                 เพื่อมาตุภูมิและท้องทะเลไทย                                        จารย์ยอม                                   081-5999655

เรียน คุณสมพร ที่นับถือ

     ดีใจที่ได้รู้จักกันและเรียนรู้ร่วมกันทาง website ขอเชิญคุณสมพรและมิตรสหายทั้งหลาย แวะชม web Beach Watch Network (BWN) ที่

http://gotoknow.org/blog/bwn/88438

เพื่อร่วมหาหนทางรักษาชายหาดที่มีคุณค่ายิ่ง ที่บรรพบุรุษของชาติได้รักษาไว้ให้เรา จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรักษามรดกนี้ไว้ให้ได้เพื่อลูกหลาน

    แล้วผมจะเขียนมาใหม่นะครับ

         เพื่อประเทศไทยที่เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

                       มุ่งหน้า 

 

Ocean Engineering & Coastal Resource Mangament

สวัสดีครับ น้องเม้งและมิตรสหาย

                 ตามที่แจ้งใน E-mail ล่ะครับ คณะผู้ศึกษาวิจัยเรื่อง ปะการังเทียมป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง กราบเรียบเชิญน้องเม้งเข้ามาช่วยในงานวิจัยด้วย เชื่อว่าหลายแรงหลายเสียงคงจะทำให้งานมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น พี่อยากเห็นความสัมฤทธิ์ผลที่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงกายของคนไทย เพื่อคนไทย เพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน ลดความขัดแย้ง

                 ส่วนมิตรสหายที่ประสงค์ขอดู TOR และ Proposal และ Project Action Plan ให้ติดต่อผม (081-5999655) หรือคุณสุกานดา (074-287135) น่ะครับ ไม่มีความลับครับยินดีให้ทุกท่านช่วยๆ กันดู การใช้จ่ายเงินของประเทศจะได้เกิดประโยชน์สูงสุด

                               อาจารย์พยอม ขอรับ           

สวัสดีค่ะ เพิ่งเข้าเป็นครั้งแรกเลยค่ะ

คือสนใจด้านการกัดเซาะชายฝั่งมาก ได้มาอ่านบมความนี้ทำ ให้ได้รู้อะไรมากขึ้น

ดีใจค่ะที่มีคนที่เหนคุณค่าของชายฝั่ง

ไว้จะเข้ามาใหม่นะคะ

สวัสดีคับทุกท่าน พี่พยอม คุณ army คุณมุ่งหน้า

    ขอบพระคุณมากๆ เลยนะครับ ชายฝั่งโดยกัดกินมาตลอดนะครับ เพราะคลื่นลม และการที่คนบุกรุกชายฝั่ง สร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาโดยขาดความเข้าใจในบางครั้งก็ส่งผลเสียได้นะครับ

ผมเคยทำแบบจำลองไว้ เปิดดูเล่นๆ ได้ที่

http://www.youtube.com/profile_videos?user=csomporn&p=r

ขอบพระคุณทุกท่านนะครับ

สวัสดีครับคุณเม้ง

      ผมตามไปดูแบบจำลองคลื่นที่อ่าวปัตตานี ขอเสริมดังนี้ครับ

  • คลื่นที่เห็นในแบบจำลองเป็นคลื่นในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงหนือที่พัดประมาณ พ.ย. - เม.ย. ของทุกปีครับ  และลมมรสุมในฤดูนี้เองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่ง  ช่วงเวลานอกจากนี้จะเป็นฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้  คลื่นลมใกล้ชายฝั่งจะสงบเป็นส่วนมาก นอกจากช่วงมีพายุฝนฟ้าคะนอง
  • ปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการงอกของชายฝั่งที่ปัตตานี ยังมีดินตะกอนที่มากับแม่น้ำอีกครับ  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับปากแม่น้ำปัตตานีที่ทำให้ดินหยุดงอกคือ โครงการเขื่อนบางลางและเขื่อนปัตตานี  ที่ลดความเชี่ยวกรากของน้ำในแม่น้ำลง  ทำให้ตะกอนดินที่มากับน้ำลดหายไปด้วย  แต่ไปตื้นเขินหลังเขื่อนปัตตานีแถวๆ ยะลาครับ  ถ้ามีโอกาสจะถ่ายรูปดินตะกอนหลังเขื่อนปัตตานีให้ชมครับ  ตอนผมเด็กๆ จำได้ว่าดินงอกบริเวณมหาวิทยาลัยขยายออกเร็วมาก  ระยะ 10 ปี  ได้พื้นที่ออกไปเป็น กิโลเมตรเลยครับ  เดี๋ยวนี้งอกช้าแล้วครับ
  • ความพยายามจะทำอ่าวปัตตานีให้เป็นท่าเรือน้ำลึก เป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติอย่างมากเพราะในอ่าวเป็นพื้นที่ตะกอนปากแม่น้ำ  มีความพยายามจะดูดโคลนจากปากอ่าวออก  แต่ท้ายที่สุดก็จะมีโคลนจากข้างๆ ไหลเข้ามาแทนที่  ถ้าสังเกตุเห็นในแบบจำลองเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมขาวๆ อยู่ด้านซ้ายมือของปากแม่น้ำปัตตานี  นั่นแหละครับ ดินโคลนที่เกิดจากการดูดร่องน้ำ เขาเอามาถมไว้ด้านซ้ายของปากแม่น้ำ  พื้นที่ร่วม 4-500 ไร่เลยทีเดียว  ถ้ามาปัตตานีไปที่สวนสมเด็จ มองออกทางขวามือจะเห็นพื้นที่ดังกล่าว  หลังจากถมพื้นที่ตรงนั้น พื้นที่แถวมหาวิทยาลัยก็ไม่ค่อยได้พบคลื่นแล้วครับ
  • กระแสน้ำที่หน้าแหลมตาชีไหลขวางทิศทางคลื่นครับ หรืออาจกล่าวได้ว่าไหลตามแนวชายฝั่งภาคใต้   บริเวณที่เห็นในแบบจำลองผมเคยดำน้ำอยู่กับชมรมดำน้ำกู้ภัยใต้ทะเล นอกชายฝั่งประมาณ 1000 เมตร ได้ลงไปเห็นพื้นทะเลที่มีความลึกประมาณ 30-40 ฟุต  เป็นดินทรายที่ไม่ขาวครับ  ลักษณะเป็นทรายขาวผสมทรายดำ  ถ้าลงไปแตะพื้นจะเป็นตะกอนขุ่นขึ้นมา  แต่ถ้าเป็นระยะ 3000 เมตรจากชายฝั่ง ความลึกอาจถึง 60 ฟุต ทรายที่ท้องทะเลจะขาวขึ้น  ถ้าเป็นช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ วันที่ลมสงบน้ำจะใสมาก
  • พื้นที่หลังปลายแหลมตาชี มาจนถึงปากแม่น้ำ  พื้นที่ร้อยละ 99 น้ำลึกเพียงไม่เกิน 2.00 เมตร เป็นที่อยู่ของหอยแมลงภู่ หอยนางรม และหอยหวาน  ตลอดจนหอยลายปัตตานี (ซึ่งไม่เหมือนหอยลายแถบสมุทรปราการ)  พื้นที่รอยต่อระหว่างอ่าวกับทะเล ชาวบ้านจะปักไม้ไผ่ทำโพงพางดักปลาตลอดแนวน้ำไหลตามจังหวะน้ำขึ้นน้ำลง  แถวนี้ผมรู้จักทรากเรือใต้น้ำทุกจุด เพราะเป็นที่เล่นวินเซิฟ และตกปลาเก๋า-ปลากะพงข้างปานครับ
  • สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็คือการเอาหินมาถมขวางทางน้ำไหลที่ห่างจากปลายแหลมประมาณ 1000 เมตร  นัยว่าเพื่อกันทรายไม่ให้ไปปิดร่องน้ำเดินเรือที่สุดปลายแหลมตาชี  แต่หลังจากทำเขื่อนหินได้ 4 - 5  ปี เห็นทรายเต็มเขื่อนในระยะ ประมาณ100-200 เมตร  แล้วทรายก็ล้นเขื่อน  ต้องเอาแบคโฮมาตักออก ขนออกจากแหลมไปไหนก็ไม่ทราบ  ในขณะที่ปลายแหลมมีทรายเกิน  ลึกเข้าไปที่บ้านตะโละ ซึ่งเป็นโคนแหลมตาชี  พื้นดินก็ถูกกัดเซาะจนต้นมะพร้าวหายไปเป็นแถบๆ เหตผลเดียวกับที่  2. สายลมแสงแดด ว่าไว้ที่179301 ครับ
  • วันหลังค่อยมาแจมใหม่ครับ  เอาประสบการณ์ที่คลุกลีอยู่กับพื้นที่มาขยายความ / ให้เหตุผล / อธิบายเสริมให้ครับ

สวัสดีครับพี่ ชนันท์

    ดีใจมากๆ เลยครัีบ ที่พี่มาช่วยให้ข้อมูลเชิงลึก แล้วจะไปปรึกษาข้อมูลนะครัีบ อาจจะมีโอกาสได้ทำอะไรร่วมกันบ้างครับ ผมได้ลองจำลองอะไรเล่นๆ ไ้ว้ที่นี่นะครับ

http://www.youtube.com/profile_videos?user=csomporn&p=r

ภาพที่เกี่ยวกับคลื่นนะครัีบ มีจำลองไว้เล่นๆ ที่ปัตตานีด้วยครัีบ จริงๆมีอีกอันครับคือ กรณีแหลมโพธิ์ครัีบ ว่าแหลมโพธิ์ขาด กับไม่ขาดครัีบ หากแหลมโพธิ์ขาดจะ่ส่งผลอย่างไรกับอ่าวบ้างครับ หากพี่มีข้อมูลแหลมโพธิ์ อาจจะขอรบกวนด้วยนะครับ

ผมสนใจอยากได้ความลึกน้ำในอ่าวปัตตานี และบริเวณหน้าแหลมตาชี เพราะอยากจะทราบครัีบ ว่ามันลึกอย่างไรบ้าง ผมมีแต่ข้อมูลไม่ละเอียดครัีบ หากสามารถจัดเป็นงานวิจัยชายฝั่งได้คงจะดีมากๆ ครับผม

ขอบคุณพี่มากๆ เลยครับ สำหรับข้อมูลแบบคนรู้ลึกรู้จริงครับผม ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนครัีบ

ขอบคุณมากๆ เลยครับ

 

   ผมว่ากระแสน้ำมีส่วนสำคัญเหมือนกันนะครับ  เมื่อคลื่นซัดชายหาดแล้ว ทำให้ดินจากชายหาดที่หายไป ไปงอกที่อื่นได้ เพราะทิศทางของคลื่นกับทิศทางของกระแสน้ำไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันเสมอไปครับ  ถ้าเคยตกปลา / ดำน้ำ จะเห็นความจริงข้อนี้ครับ  ที่ปัตตานีมีทั้งกระแสน้ำในทะเล  กระแสน้ำที่ไหลเข้าและออกจากอ่าว ออกจากปากแม่น้ำปัตตานี  มีพื้นดินที่งอกจากทะเลโคลน มีพื้นดินที่พญานาคดูดตะกอนมาถมให้

      ไม่น่าจะไปฝืนธรรมชาตินะครับ  ที่ลงทุนทำเขื่อนกันทราย ลอกร่องน้ำเพราะจะทำให้เกิดร่องน้ำลึกไว้เดินเรือ  ทำร่องน้ำในดินเลนเลยต้องฝืนธรรมชาติทั้งปีครับ

 

สวัสดีครัีบพี่ชนันท์

     ขอบคุณมากๆ เลยครับ ชัดเจนมากๆ นะครัีบ  ผมทำจำลองกำหนดเอาคร่าวๆ ดูเพลินๆ ก่อนนะครัีบ ส่วนที่จำลองแบบแหลมโพธิ์ขาด ยังไม่ได้เอาขึ้นครับผม

ขอบคุณมากๆ นะครัีบ ร่วมคิดต่อนะครับ ผมเองไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับการสร้างคันคอนกรีตนะครับ หากไม่ศึกษาให้ดีเพราะจะมีปัญหากับการกระทบและโยกย้ายที่ของตะกอนได้ครัีบ

   ผมว่ากระแสน้ำมีส่วนสำคัญเหมือนกันนะครับ  เมื่อคลื่นซัดชายหาดแล้ว ทำให้ดินจากชายหาดที่หายไป ไปงอกที่อื่นได้ เพราะทิศทางของคลื่นกับทิศทางของกระแสน้ำไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป ครับ  ถ้าเคยตกปลา / ดำน้ำ จะเห็นความจริงข้อนี้ครับ  ที่ปัตตานีมีทั้งกระแสน้ำในทะเล  กระแสน้ำที่ไหลเข้าและออกจากอ่าว ออกจากปากแม่น้ำปัตตานี  มีพื้นดินที่งอกจากทะเลโคลน มีพื้นดินที่พญานาคดูดตะกอนมาถมให้

      ไม่น่าจะไปฝืนธรรมชาตินะครับ  ที่ลงทุนทำเขื่อนกันทราย ลอกร่องน้ำเพราะจะทำให้เกิดร่องน้ำลึกไว้เดินเรือ  ทำร่องน้ำในดินเลนเลยต้องฝืนธรรมชาติทั้งปีครับ

 

สวัสดีครับพี่ชนันท์

    ขอยกภาพและคำอธิบายมาต่อนะครัีบ จากแนวทางช่องทางเดินเรือนั้น โอกาสที่จะโดนตะกอนมาปิดสูงมากครับ เพราะผมว่า ทรายที่เอาไปถมๆ ไว้บริเวณแหลมโพธิ์ น่าจะโดนซัดแล้วเดินทางมาที่ปลายแหลมได้สบายๆ ครับ อาจจะทดลองโดยเอาอะไรบางอย่างไปลอยไว้ก็ได้ครับ ตามหลักการแล้วจะเป็นแบบนั้นครับ คราวนี้หากแหลมโพธิ์ขาดปัญหาอาจจะเกิดได้ขึ้นกับช่องกว้างแค่ไหนและลึกแค่ไหนครัีบ

    วิธีการในการทำให้คลื่นแตกตัวแล้วไม่เกิดการกัดเซาะก็มีวิธีได้หลายๆ วิธีครับ ส่วนการสร้างแนวคอนกรีต ผมว่าติดตามได้ที่ของสงขลานะครับ จะเห็นผลกระทบได้ชัดครับ เดี๋ยวจะเอาภาพจำลองมาให้ดูคร่าวๆ ครัีบ

สวัสดีครับ น้องเม้งและทีมงานที่รัก

ว่าด้วยชายฝั่งปัตตานี

ผมยังเข้าเยี่ยมชม http://gotoknow.org/blog/mrschuai เกือบทุกสัปดาห์ แต่ยุ่งมากที่สุดเลย พี่สอนตั้ง 5 วิชาครับ จึงไม่ได้เขียนประเด็นอะไรเพิ่มเติม บังเอิญได้ยินข่าวมาว่าทางโยธาธิการและผังเมืองปัตตานีมีความสนใจและต้องการความช่วยเหลือจากผู้รู้

พี่มองแล้ว Web ของน้องเม้งจัดทำได้ดีอยู่แล้ว มีหลายคนที่ให้ความสนใจและตระหนักถึง ธรรมชาติและปัญหาของทะเล แม้ข้อความจริงที่ว่า "ปัญหา คือ ธรรมชาติ" จะเป็นจริง (เช่น ทะเลสาบสงขลาตื้นเขินเป็นเรื่องธรรมชาติ แฮ่ๆๆ แต่ดันชาวบ้านบางกลุ่มเดือดร้อน นักวิชาการจึงมิอาจอยู่เป็นสุขได้) การจะอยู่เฉยอาจจะไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดเสมอไป

ถ้าน้องเม้งไม่ยุ่งมาก (เชื่อว่าอาจารย์ทุกท่านคงยุ่งมาก) อยากให้น้องช่วยเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำแก่ทางโยธาธิการและผังเมืองปัตตานีด้วย น้องเม้งคงจะช่วยเค้าได้เยอะ และกรณีที่จะให้พี่สนับสนุนประการใดก็ยินดียิ่งครับ

เคารพทีมงานทุกท่าน

พยอม รัตนมณี

081-5999655

"มองกระจกเมื่อเช้า" จึงเชื่อว่า "รูปังอนัตตา"

๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘

สวัสดีครับพี่พยอม

สบายดีไหมครับ กลับมาได้สองเดือนแล้วครับ ช่วงนี้ยุ่งหน่อย แต่มีโอกาสยินดีจะรับใช้นะครับ หากผมช่วยเหลือได้ ด้วยความยินดีเสมอนะครับ มีโอกาสจะแวะเยี่ยมที่หาดใหญ่นะครับ หากพี่มาปัตตานี แวะเข้ามาได้นะครับ ยินดีเสมอครับ

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ เม้ง ส่งการบ้านละเอียดมาก เราต้องช่วยกันทุกฝ่ายล่ะครับไม่ชายฝั่งเราแย่เลย และจะกระทบกันทั้งหมด จะหาโอกาสถ่ายภาพแนวต้านคลื่นแถวหัวไทรส่งมาให้ดู 

น้องเม้ง

ว่าด้วยชายหาด และทรัพยากรชายฝั่ง.............

น้องเม้งครับ...... ในฐานะที่เราเป็นอาจารย์ พี่ว่าพวกเราคงช่วยประเทศชาติได้ระดับหนึ่งในแง่ของการศึกษาวิจัยนี่ล่ะ ประยุกต์ศาสตร์ทั้งหลาย มาสร้างองค์ความรู้ในบ้านเรา

ว่าด้วยศาสตร์ทางทะเล นั้นใช้งบประมาณสูงมาก อุปกรณ์แต่ละตัวเป็นล้านบาท ออกสำรวจภาคสนามแต่ละครั้งหลายวัน บางครั้งแทบเอาชีวิตกลับขึ้นฝั่งไม่รอด ค่าตอบแทนนักวิจัยก็ไม่มี นักวิจัยหลายคนท้อไปแล้ว บางครั้งพี่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ารัฐบาลเราสนับสนุนการวิจัยจริงหรือไม่ การให้ทุนนักวิจัยสองสามหมื่นต้องพิจารณาหกเจ็ดเดือน แต่การก่อสร้างโครงการหลายร้อยล้าน ดูแป๊บเดียว

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ประเทศไทยดีขึ้น ขอให้คิดว่า "จงทำภารกิจหน้าที่ตนเองให้ดีที่สุด" แล้วประเทศเราจะเจริญขึ้นชัวร์

ว่าแล้ว ก็สอนหนังสือกันต่อ เร็ววันนี้พี่อาจโทรปรึกษาน้องเม้งว่าจะทำวิจัยลักษณะอย่างไรดี แนวใหนดี เนื่องจากมีหลายเรื่องเหลือเกินที่ควรจะทำ

เคารพยิ่ง

พี่พยอม

ช่วยหน่อยคับ

มีเรื่องเกี่ยวกับ breakwater(port and harbour breakwater) ป่าวคับ หามาเป็นอาทิตย์แล้วไม่ได้เลย จะส่งอยู่แล้ว เครียด หาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรส่ง ช่วยหน่อยคับ

  • ได้ยินว่า แถวพังงา กำลังมีเรื่องนี้เป็นประเด็นร้อน...

ขอบคุณนะคะ สำหรับคำอธิบาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท