ฝึกอบรม กับ การเรียนรู้....ต่างกันอย่างไร?


"วัฒนธรรมการเรียนรู้" ที่แตกต่างกัน ย่อมเป็นตัวแปรที่สำคัญตัวหนึ่งที่เราต้องศึกษาให้เข้าใจมากที่สุด แล้วจะช่วยให้การออกแบบการเรียนรู้เนียนมากยิ่งขึ้น

http://photos14.flickr.com/17913970_10cbfd403b_t.jpg

ผมเคยอ่านบทความของอาจารย์หมอวิจารณ์ ที่กล่าวถึง ความแตกต่างระหว่าง training mode กับ learning mode  ตอนที่อ่านขณะนั้นดูเหมือนว่าจะเข้าใจ  พอเห็นความแตกต่างของสองขั้วนี้   แต่เมื่อผมเข้าร่วม workshop คุณอำนวยผู้มีประสบการณ์  ที่บ้านผู้หว่าน  อ.สามพราน นครปฐม  เมื่อวันี่ 2-3 มิถุนายน ที่เพิ่งผ่านมา   ทำให้ผมได้คำตอบกับตัวเองว่า  "ที่ผมคิดว่าเข้าใจนั้น  ยังไม่ใช่"   เพราะหากผมเข้าใจ  ผมต้องสามารถบอกได้ว่า learning mode ในทางปฏิบัติเป็นอย่างไร?

แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะเห็นเลาๆ   นั่นก็คือ  หลักสูตรฝึกอบรม  ที่ออกมาเพียงคร่าวๆ  แต่เนื้อในที่จะต้องมาตบแต่งเพิ่มกันอีกมาก   เพื่อให้ training course ที่ว่านี้  มีกลไกของ learning mode มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

หลายครั้งในระหว่างการสนทนาที่มักจะได้ยิน  คือ  เรื่องข้อจำกัดของเวลา   หลายคนกังวลว่าหากจะใส่กลไก learning เข้าไป  ต้องใช้เวลามาก   ซึ่งหากต้องการพัฒนา "คุณอำนวย" รุ่นใหม่  อาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์       กรณี คุณอำนวยในองค์กร  อันที่จริงก็ทำงานอยู่ในองค์กรอยู่แล้ว   หากไม่นับ training ที่เป็นการปูพื้น (หลายคนมักเป็นห่วงเรื่องนี้)  on the job training ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่เลวเลย   คนทำงานก็จะไม่ต้องพะวงว่า  ต้องสละงานประจำเพื่อไป training อีกแล้ว

อีกประการหนึ่ง  เรื่องการปูพื้น  ที่ส่วนตัวรู้สึกแปลกๆอย่างไรไม่ทราบ  เพราะจากประสบการณ์ที่เห็นมา  พอจะเริ่มอะไรสักอย่าง  วิธีที่เรามักจะนึกถึงเป็น pattern เดียวกันเป๊ะเลย  คือ ต้องปูพื้น ให้เข้าใจเสียก่อน     แล้วไอ้การปูพื้นที่ว่าเนี๊ยะ! มักจะเป็นไปในแบบ instructive input  ซึ่งมี learning mode อยู่น้อยมาก  ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเล่าของอาจารย์อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา  ที่เล่าให้ฟังในเวที  "ตลาดนัดความรู้การบริหารสถานศึกษาเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้" ว่า

"การเรียนของเด็กชั้นอนุบาลที่โรงเรียนสัตยาไสนั้น   ครูจะไม่กำหนดหัวเรื่องที่จะสอน  แต่ให้เด็กช่วยกันคิดเองว่าอยากเรียนเรื่องอะไร   เด็กก็จะคุยกันเพื่อหาข้อสรุป  แล้วส่วนใหญ่ที่ออกมาก็จะเป็นเรื่องที่เด็กในวัยนี้สนใจ  เช่น  อยากเรียนเรื่องไดโนเสาร์   เมื่อเด็กได้หัวข้อที่จะเรียน  ครู ก็จะทำหน้าที่ "คุณอำนวย" การเรียนรู้ของเด็ก  โดยมีกติกาเบื้องต้นง่ายๆว่า  ครูจะต้องไม่ให้คำตอบสุดท้ายกับเด็กโดยตรง"     

อาจารย์อาจองเล่าต่อว่า  "ครูจะพาเด็กออกจากห้องเพื่อไปหาไดโนเสาร์  เดินหาจนทั่วโรงเรียนก็ไม่เจอสักที   ครูก็จะใช้คำถามชวนให้คิดต่อ  "แล้วเราจะไปหาร่องรอยไดโนเสาร์ได้จากที่ไหนบ้าง?     เด็กๆก็จะช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่า  ลองไปหาดูในหนังสือที่ห้องสมุด  เพราะเคยเห็นอาจจะพอบอกเราได้บ้าง  บางคนก็จะไปถาม พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือคนอื่นที่รู้จัก  แล้วค่อยมาบอกครูว่าได้คำตอบอะไรมาบ้าง"  

วิธีการเหล่านี้  น่าจะเป็นการเรียนรู้มาจากข้างในจริงๆครับ (ตามความเชื่อของผม) ค้นคว้าเพราะใคร่เรียนรู้  เป็นการเรียนรู้ที่อาจารย์อาจองเรียกว่า "Intuitive Learning"

การออกแบบการเรียนรู้  จึงเป็นสิ่งที่ผมสนใจและคิดว่าหลายท่านก็สนใจเช่นเดียวกัน และชวนให้ติดตามเพราะคงไม่มีสูตรสำเร็จเป็นแน่แท้     และที่อาจารย์เนาวรัตน์ พลายน้อย และพี่ทรงพล เจตนาวณิชย์มักจะพูดถึงบ่อยๆ   คือ  "วัฒนธรรมการเรียนรู้" ที่แตกต่างกัน  ย่อมเป็นตัวแปรที่สำคัญตัวหนึ่งที่เราต้องศึกษาให้เข้าใจมากที่สุด   แล้วจะช่วยให้การออกแบบการเรียนรู้เนียนมากยิ่งขึ้น

 

 

คำสำคัญ (Tags): #learning
หมายเลขบันทึก: 81เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2005 02:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท