น้ำตาลมะพร้าว


เรื่องเล่าชาวสวน

                  ทุกคนคงจะรู้จักน้ำตาลปี๊บดีเพราะเป็นส่วนหนึ่งในการทำอาหารคาวหวานในชีวิตประจำวัน แต่น้อยคนที่จะรู้จักที่มาและวิธีการในการทำน้ำตาลปี๊บ ในที่นี้จะกล่าวถึงที่มาและวิธีการทำน้ำตาลปี๊บจากต้นมะพร้าวไม่ใช่น้ำตาลโตนด จังหวัดสมุทรสงครามเป็นแหล่งที่ทำน้ำตาลจากต้นมะพร้าวที่มีชื่อจังหวัดหนึ่ง        การทำน้ำตาลปี๊บที่กล่าวมานั้นเริ่มตั้งแต่ เมื่อต้นมะพร้าวโตเต็มที่ ออกดอกออกผลแล้ว จึงจะทำน้ำตาลได้ เขาจะใช้ส่วนที่จะเป็นผลมะพร้าว ก่อนจะมีผลจะมีลักษณะเป็นดอกมะพร้าวมีเปลือกหุ้มชาวสวนที่ทำน้ำตาล เรียกมันว่า งวงมะพร้าว จะโน้มงวงให้โค้งลงดิน ใช้มีดปาดงวง สำหรับมีดทีใช้ปาด เป็นมีดที่มีลักษณะเฉพาะของชาวสวน มีความคมมาก เพราะเวลาปาดงวงมะพร้าวต้องปาดทีเดียวให้ขาด การปาดงวงต้องดูว่า งวงจะไม่อ่อนมากและจะไม่แก่เกินไป ชาวสวนจะชำนาญมากในการนี้    หลังจากปาดงวงแล้วจะใช้กระบอกไม้ไผ่(ซึ่งปัจจุบันชาวสวนหันมาใช้กระบอกพลาสติกแทนเนื่องจากกระบอกไม้ไผ่หายากขึ้น)รองน้ำตาลโดยสวมเข้าไปในงวงมะพร้าวที่ปาดไว้กระบอกต้องทำหูเพื่อจะได้ใช้ผูกเวลารองน้ำตาลและสำหรับใช้หาบน้ำตาลนำกลับมาที่โรงเคี้ยวน้ำตาล     การเก็บน้ำตาลจะทำ สองครั้งต่อวัน คือเวลาเช้ามืดและเวลาเย็น ก่อนที่จะใช้กระบอกรองน้ำตาลจะต้องใส่ไม้พะยอมซึ่งสับเป็นชิ้นเล็กๆลงไปในกระบอกก่อนเพื่อกันน้ำตาลบูดไม้พะยอมจะมีรสฝาด แต่ละสวนจะมีต้นมะพร้าวที่ทำน้ำตาลจำนวนมากตั้งแต่ 30 ต้นขึ้นไป  การขึ้นต้นมะพร้าวเพื่อเก็บน้ำตาลนั้นจะทำกันในสองวิธี คือ การบากต้นมะพร้าวให้เป็นขั้นบันไดสลับเป็นฟันปลาซ้ายขวาจนถึงยอดสำหรับปีนขึ้นไปรองน้ำตาล อีกวิธีใช้พะองพาดลำต้นพะองก็ คือ ใช้ไม้ไผ่ลำยาวๆเจาะรูเหนือข้อไม้ไผ่นำไม้เสียบที่เจาะรูสลับซ้ายขวาทำเหมือนขั้นบันไดพาดถึงยอดต้นมะพร้าวสำหรับปีนขึ้นไป การแต่งกายของชาวสวนเวลาจะออกไปขึ้นต้นมะพร้าวเพื่อเก็บน้ำตาลเป็นเอกลักษณ์ของชาวสวน มองดูโก้เก๋ไม่เบา ส่วนใหญ่จะนุ่งกางเกงขาก๊วยม้วนขาบางคนจะม้วนขาข้างเดียวบางคนม้วนสองข้างใช้ผ้าขาวม้าผูกกับมีดปาดตาลคาดที่เอวโดยให้มีดอยู่ทางด้านซ้ายมือ ถ้าถนัดมือซ้ายให้มีดอยู่ขวามือ ส่วนมากจะไม่ค่อยสวมเสื้อ (ปัจจุบันการแต่งกายเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หลังจากปาดตาลลงจากต้นแล้วก็ถึงวิธีการแปรสภาพน้ำตาลดิบให้เป็นน้ำตาลปี๊บ  ชาวสวนก็จะหาบน้ำตาลที่เก็บจากต้นเข้าโรงเคี้ยวน้ำตาลก็คือที่บ้านนั่นเอง   จากสวนถึงบ้านก็ต้องหาบกันถึง 2-3 กิโลเมตรวิธีการหาบก็คือ นำกระบอกน้ำตาลมารวมกัน ข้างละเท่าๆกันใช้ไม้คานสอดเข้าไปในเชือกกระบอกน้ำตาลแล้วหาบเข้าโรงเคี้ยว วิธีการเคี้ยวน้ำตาล ก็คือ นำน้ำตาลที่เก็บมาจากสวนมา กรองด้วยผ้าขาวบางหรือกระชอนขนาดใหญ่เพื่อกรองเอาเศษไม้พะยอมออกจากน้ำตาล นำน้ำตาลทีกรองแล้วใส่กะทะใบใหญ่ตั้งกะทะบนเตาซึ่งสร้างพิเศษโดยชาวสวนจะออกแบบเตาซึ่งก็ก่อกันเองเตาหนึ่งจะตั้งกะทะได้สามใบด้านหน้าเตาสำหรับใส่ฟืนทางด้านท้ายจะทำปล่องสูงเพื่อควันออกทางปล่อง จากนั้นก็เคี้ยวจนกว่าน้ำตาลงวด สังเกตได้จากลักษณะของน้ำตาลจะออกสีเหลืองแก่เหนียวๆก็ยกลงจากนั้นใช้ที่สำหรับกระทุ้งทำเป็นลวดขดๆคล้ายกับที่ตีไข่ทำขนมเค๊กแต่ใหญ่กว่ามากด้ามที่ถือความยาวประมาณอกกระทุ้งจนน้ำตาลแล้ง จึงเทใส่ปี๊บหรือถ้าจะทำเป็นน้ำตาลปึกก็หยอดใส่แบบหรือถ้วยเล็กๆ เมื่อใส่ปี๊บต็มแล้วก็จะประทับตราของเจ้าของซึ่งตราก็จะใช้สัญลักษณะแต่ละเจ้า ปี๊บหนึ่งมีน้ำหนัก 30 กิโลกรัม     การจำหน่าย แต่ก่อนก็จะมีเรือมารับน้ำตาลถึงที่บ้านเดือนละ 4 ครั้ง ต้นทุนในการผลิตน้ำตาลก็มากอยู่ ต้องลงทุนซื้อฟืน ปี๊บใส่น้ำตาล และจ้างคนขึ้นแม้ต้นทุนจะสูงแต่ชาวสวนก็คงทำน้ำตาลกันอยู่เพราะชาวแม่กลองมีอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นส่วนใหญ่ คงจะเหมือนกับชาวนาบางปีขาดทุนก็คงยังทำนาอยู่ น้ำตาลแม่กลองมีชื่อเสียงมานาน เพราะน้ำตาลที่แม่กลองจะมีกลิ่นหอมไม่ปนน้ำตาลทรายที่ปัจจุบันมักนิยมทำกันเพื่อเพิ่มน้ำหนักแต่รับประทานไม่ได้รสชาติของน้ำตาลปี๊บเลย ขอแถมท้ายของดีเมืองแม่กลองสักหน่อย  นอกจากน้ำตาลหอมอร่อยแล้วแม่กลองยังมีกะปิคลองโคนที่ใช้กุ้งแท้ๆทำ ลิ้นจี่ และอาหารทะเลทีไม่แพงมาก  สถานที่ท่องเที่ยว อุทยาน ร.2 ตลาดน้ำดำเนินสะดวก  ดอนหอยหลอด   วัดเพชรสมุทรวริวิหาร หรือวัดหลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อบ้านแหลมพระคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวแม่กลองและจังหวัดใกล้เคียงนับถือ แม่กลองยังมีของดีที่เที่ยวอีกมาก  วันนี้ขอเล่าเพียงแค่นี้ก่อน                    สวัสดี                                   

                                                                                ลัดดา   พวงชะบา                         

คำสำคัญ (Tags): #น้ำตาล
หมายเลขบันทึก: 80965เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2007 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จะเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคตแทนน้ำตาลที่ได้จากอ้อยเลยครับถ้าโลกไม่แตกซะก่อนนะ การอยู่อย่างพอเพียงควบคู่กับการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมไปด้วย ผมลองประมาณเล่นเล่นนะครับใน 10ไร่ที่ปลูกอ้อยใน 1ปีได้ประมาณ100ตันแปลงเป็นน้ำตาลทรายประมาณ10ตันได้มั่งครับคิดเอาเอง ถ้าใน10ไร่มีมะพร้าว กล้วย แล้วก็รังผึ้ง จะได้น้ำตาลจากมะพร้าวใน1ปีน่าจะไม่ถึง1ตันแล้วก็ต้นกล้วยที่ขึ้นเยอะจนต้องฟันทิ้งเพราะเอาไปเป็นอาหารสัตว์ส่งโรงงานไม่ได้ แล้วก็รังผึ้งที่ทำไว้เล่นเล่นเพลินดีครับ

เป็นเว็ปที่ดีแต่ผมอยากได้ข้อมูลกับชนิดพันธุ์กับรูปถ่ายมากกว่านี้อ่ะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท